เพราะยึดมั่นถือมั่น


ข้าพเจ้าจะคุยกับท่านผู้อ่านเรื่องการยึดถือในความรู้สึก ซึ่งภาษาวิชาการเรียกว่า เวทนา เวทนาก็คือ ความรู้สึก มีอยู่ ๓ อย่าง คือ รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์  และเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ สุขทุกข์นั้นมีทั้ง ๒ ด้าน คือทั้งทางกายและทางใจ

เพราะเหตุว่าเรายึดถือในเรื่องความรู้สึก ยึดเอาเป็นจริงเป็นจัง รู้สึกเป็นสุขเมื่อพบหรือได้รับสิ่งใดที่พอใจอยากได้ อยากเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นให้ตลอดไป การอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นเจ้าตัวก็ต้องแสวงหาโดยวิธีธรรมดาถูกทํานองคลองธรรมโดยอาชีพที่สุจริตไม่ได้ ก็หาด้วยวิธีทุจริตโกงเบียดเบียนเอา แค่รู้สึกชอบใจอยากได้ก็เริ่มเป็นทุกข์แล้ว ยิ่งต้องอยู่ระหว่างการแสวงหาก็ยิ่งเป็นทุกข์ทวีขึ้นเรื่อยๆ

ในทํานองเดียวกัน ความรู้สึกเป็นทุกข์ ไม่สบาย ไม่ชอบใจ ทําให้พยายามผลักไสสิ่งที่เป็นต้นเหตุไปให้ห่างไกล ถ้ายึดถือในความไม่พอใจนั้นเหนียวแน่น ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะการหาวิธีการกําจัด การพยายาม กำจัด กำจัดโดยวิธีธรรมดาสุจริตไม่ได้ก็ใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยมหักล้างกันด้วยความรุนแรง เป็นบาปอกุศล

ข้าพเจ้าจะเล่าตัวอย่างความยึดถือในเวทนา ยึดในความรู้สึกอย่างเหนียวแน่นสักเล็กน้อย ตอนสายของต้นเดือนมีนาคม ปี๒๕๓๓ นี่เอง สตรีชราอายุราว ๗๑ ปี ซึ่งเคยเป็นคนรู้จักกับมารดาข้าพเจ้ามาเยี่ยม พร้อมด้วยขอร่วมทําบุญกับข้าพเจ้า ๗๐๐ บาท ปกติแล้วครอบครัวท่านผู้นี้มีฐานะค่อนข้างดีมาตั้งแต่สมัยมารดาของข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ คือตั้งแต่ครั้ง ๓๐ ปีก่อนโน้น     ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็นท่านมาตั้งแต่เริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นเวลา ๒๐ ปีมาแล้ว จึงได้ไต่ถามสารทุกข์ของผู้คนในครอบครัวของท่าน

คุณน้าคะ คุณน้าผู้ชายอยู่สบายดีหรือคะ คงไม่เจ็บป่วยอะไรนะคะ ปกติแล้วคนรูปร่างผอมๆ อย่างคุณน้าผู้ชายมักจะแข็งแรง ส่วนคนอ้วนๆ อย่างคุณพ่อของหนูกลับขี้โรคจนตายไปตั้งแต่อายุ ๗๕”

ทางร่างกายเรื่องอื่นๆ ไม่มีโรคอะไรหรอกค่ะ นานๆ ปวดหัวสักครั้ง แต่ทางจิตใจ ชั้นว่าเค้าเป็นโรคประสาทนะคุณ”

สตรีชราที่ข้าพเจ้าเรียกว่าน้าชี้แจงอาการของสามี     เมื่อข้าพเจ้าสอบถามอาการที่เรียกว่าโรคประสาทเป็นอย่างไร ท่านผู้นั้นก็ตอบข้าพเจ้าว่า

เค้าพาลหาเรื่องโกรธ เสียใจ น้อยใจ คุณรู้มั้ย นี่กินยานอนหลับฆ่าตัวตายติดๆ กันมา ๓ ครั้งแล้ว ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง เดี๋ยวนี้ต้องคอยระวังกันแจ

ตายจริง! โธ่เสียใจอะไรกันหนักหนา ครอบครัวของคุณน้ามีฐานะดีออก ลูกๆ ทั้ง ๓ คน ก็มีนิสัยดี มีงานมีการทําเป็นหลักฐาน ไม่น่ามีเรื่องกลุ้มใจถึงกับต้องทําอย่างนั้น อายุคุณน้าผู้ชายก็เกือบ ๘๐ ปีแล้วไม่ใช่เหรอคะ” ข้าพเจ้าส่งเสียงอุทานด้วยความตกใจ อีกฝ่ายอธิบายต่อไปว่า

เค้ายึดถือมากไปน่ะคุณ เคยเป็นหัวหน้าครอบครัว บังคับให้ลูก ให้ชั้นทำยังงั้นยังงี้ตามที่เค้าเห็นว่าดี เมื่อก่อนนี้พวกลูกๆ ยังเล็กๆ อยู่เค้าก็ยอมทำตาม เดี๋ยวนี้เค้าโตกันแล้ว บางคนก็มีครอบครัวแล้ว ต่างคนต่างก็มีความคิดเห็นมีเหตุผลของตนเอง จะให้เค้าทําตามใจไปเหมือนก่อน ก็เป็นไปไม่ได้ เราต้องฟังความคิดเห็นและเหตุผลของลูกบ้าง อย่างชั้นเองชั้นเข้าใจ สมัยนี้กับสมัยก่อนไม่เหมือนกัน เราฟังเหตุผลของลูกแล้วก็ต้องพิจารณาด้วยว่าควรไม่ควรอย่างไร ก็ว่ากันไปตามเหตุผล ก็ไม่มีเรื่องผิดใจอะไรกัน แต่เนี่ยเค้าไม่เคยฟังความคิดเห็นของใครเลย ยึดเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นใหญ่ พอไม่มีใครตามใจ ก็กลุ้มใจ  ปวดหัวมาก ไม่อยากมีชีวิตอยู่

“ขัดใจเรื่องอะไรเข้าล่ะคะ ตอนกินยาตายครั้งสุดท้ายเนี่ยค่ะ

“มัน ๒ เรื่องค่ะ กับชั้นเรื่องหนึ่ง กับลูกสาวคนโตเรื่องหนึ่ง กับชั้นน่ะ เรื่องทำกับข้าวให้เค้ากิน ทําต้มส้มปลา ชั้นแบ่งทําเป็นสองหม้อ เค้าเป็นคนชอบกินรสอ่อนๆ ชั้นก็ปรุงให้รสอ่อน ส่วนอีกหม้อนึงชั้นกับลูกกินรสจัดหน่อย ก็แยกปรุงแตกหาก พอเห็นยกออกมาแยกหม้อกันเท่านั้น

โวยวายว่าชั้นกะลูกรังเกียจเค้า ไม่ยอมให้กินแกงร่วมหม้อเดียวกัน อธิบายยังไงๆ ก็ไม่ยอมเชื่อ จนต้องออกไปตามคนข้างบ้านมาชิมแกงทั้งสองหม้อ แล้วยืนยันเรื่องรสแกง ขนาดหาพยานยืนยันยังงั้นเค้าก็ไม่ยอมฟัง คงยึดมั่นความรู้สึกของตัวเองว่าถูกชั้นรังเกียจ น้อยใจไม่พูดกันไปทีเดียว

ยังเคืองชั้นไม่ทันหาย ก็เกิดเรื่องใหม่กะลูกสาวคนโต เค้าขายที่ดินให้ลูก ราคาจริง ๓ แสนเศษ แต่คิดเอาเงินจากลูกเพียงแสนสองหมื่น ลูกยังไม่มีเงินให้ แกก็ขอผ่อนส่งพ่อ ส่งเงินหมดแล้วจึงค่อยให้พ่อโอนโฉนดให้ ฝ่ายพ่อก็ไม่ยอม เกรงว่าเดี๋ยวตนเองปุปปับเป็นอะไรตายไปจะโอนโฉนดให้ก่อนเลย เรื่องเงินผ่อนส่งทีหลังก็ไม่ว่าอะไร ลูกก็ตามใจไปโอนโฉนดกันเรียบร้อย ทีนี้เกิดกลัวลูกโกงขึ้นมาอีก ไปทวงหนี้ ลูกยังหากู้ให้ไม่ทันใจ ก็กลุ้มใจ เลยกินยาตาย เอาไปให้หมอรักษา ๒ วันแน่ะค่ะถึงฟื้น ตอนนี้ฟื้นหายดีแล้ว กลับมาอยู่บ้านดูซึมๆ ไป

ข้าพเจ้าฟังเรื่องแล้ว ก็คิดถึงเวทนา คือความรู้สึกของคุณน้าผู้ชายคนนั้น ช่างเป็นเวทนาในทางร้าย คือรู้สึกต่อใครๆ โดยเฉพาะคนในบ้านในแง่ไม่ดี แล้วก็ยึดถือในความรู้สึกนั้นอย่างเหนียวแน่น ไม่พยายามเข้าใจผู้อื่น ไม่ยอมเปลี่ยนความรู้สึกของตน ทําให้ความไม่สบายใจ กลุ้มใจนั้นเพิ่มทับทวียิ่งขึ้น ความกลุ้มใจนั้นเป็นเวทนาที่เป็นทุกข์ ตอนแรกก็เป็นที่ใจก่อน เมื่อยึดถือเหนียวแน่นมากเข้าว่า เมียรังเกียจ เมียรังเกียจ ลูกขี้โกง ลูกขี้โกง ความไม่สบายนั้นก็ต่อเนื่องมาถึงร่างกาย ทําให้ปวดศีรษะเป็นกําลัง ทุกขเวทนาทางกายเมื่อมีมากเข้า ก็เบื่อชีวิต เบื่อโลก คิดไม่อยากอยู่ ถึงกับฆ่าตัวตายในวัยอายุเกือบ ๘๐ ปีได้ลง ช่างไม่มีสติปัญญาทําชีวิตให้มีคุณค่าอย่างอื่นขึ้นมา

อย่างนี้แหละที่เรียกกันว่าแก่แดดแก่ลม คือแก่เพราะอยู่มานาน ผ่านแดดผ่านลมมาหลายเดือนหลายปี เป็นความแก่ที่ไร้ความหมาย ความแก่ที่มีคุณค่าต้อง แก่บุญแก่บารมี คือยิ่งมีอายุเพิ่มขึ้นยิ่งสร้างอบรมให้มีบุญเพิ่ม ให้บุญกลั่นตัวเป็นบารมียิ่งขึ้นทุกวันไป คนมีปัญญาต้องแก่อย่างนี้

เอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังข้างต้น เป็นตัวอย่างความยึดถืออันเหนียวแน่นของเวทนาฝ่ายเลว ทําให้ทุกข์เกิด แม้การยึดถือในเวทนาฝ่ายดี ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ในทํานองเดียวกัน ดังตัวอย่างที่จะเล่าให้ฟังนี้

วันนี้คุณจะไปวัดรึเปล่าค่ะ ไม่มีธุระเรื่องอื่นไม่ใช่หรือ ไปวัดด้วยกันเถอะ

ข้าพเจ้าออกปากชวนคนรู้จักคนหนึ่งเพราะวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ถ้าเขาไป ข้าพเจ้าจะได้อาศัยติดไปกับรถส่วนตัวของเขา เพราะรถที่บ้านของข้าพเจ้าไม่มีคนขับ ลูกชายมีธุระไปต่างจังหวัดยังไม่กลับ

“ไปทำไมอาทิตย์นี้ ไม่ใช่อาทิตย์ต้นเดือนซักหน่อย อาทิตย์ธรรมดายังงี้หลวงพ่อท่านไม่ลงหรอก หลวงพี่องค์อื่นๆ สอนก็ยังงั้นแหละ ไม่อิ่มใจ” คำว่าหลวงพ่อท่านไม่ลง หมายถึงไม่ออกแสดงธรรมเอง

ข้าพเจ้าเคยเห็นเวลาท่านผู้นี้ฟังธรรมเทศนาจากหลวงพ่อ ท่านดูเต็มอกเต็มใจยิ้มแย้มแจ่มใส จําถ้อยคําสอนได้ละเอียดถี่ถ้วน จำได้แล้วก็นำมาคุยอวดคนนั้นคนนี้ คุยแล้วก็แสดงท่าทางมีความสุข ความรู้สึกเป็นสุขใจดังกล่าวเป็นเวทนาฝ่ายดี แต่เมื่อยึดถือเหนียวแน่นว่าต้องเป็นเสียงหลวงพ่อ เป็นคําเทศนาของท่านจึงจะเต็มใจฟัง ก็ทําให้จิตใจเป็นทุกข์ได้เมื่อไม่ได้ฟังตามต้องการ

สำหรับรายที่เล่าให้ฟังอยู่นี้ ท่านจะต้องตามหาตามซื้อเทปเสียงของหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมาเก็บไว้เปิดฟังตามโอกาสทุกม้วน บางครั้งซื้อไม่ทัน เทปหมดเสียก่อน ฝ่ายห้องเสียงยังอัดให้ไม่ทันก็กลุ้มใจด้วยความอยากได้

ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นแก่เรา หากเอาใจยึดถือโดยเหนียวแน่น ความอยากจะเกิดตามมา อยากได้ความรู้สึกดีๆ ให้คงที่อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง อยากให้ความรู้สึกไม่ดีหมดไป ความอยากได้ ไม่อยากได้ ผลักดันออกจากใจให้มาถึงทางวาจา ทางกาย ให้ต้องมีคำพูดและการกระทําวุ่นวายไปตามความอยากนั้นๆ ได้สมใจอยากก็ดีไป ไม่ได้ตามปรารถนาก็ทุกข์ร้อน

นี่แหละอํานาจยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกที่เรียกอีกชื่อว่า เวทนา

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๔ บทที่ ๑๔
เพราะยึดมั่นถือมั่น เพราะยึดมั่นถือมั่น Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:48 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.