จักรแห่งธรรมยังคงหมุนต่อไป ในแผ่นดินมองโกเลีย
รอบโลกสีน้ำเงิน
มาตา
จักรแห่งธรรมยังคงหมุนต่อไป
ในแผ่นดินมองโกเลีย
ใช่หรือไม่ว่า
เมื่อกล่าวถึง
“มองโกเลีย” คนส่วนใหญ่มักนึกไปถึง “เจงกิสข่าน” วีรบุรุษผู้รวบรวมและแผ่ขยายอาณาจักรมองโกลให้ยิ่งใหญ่ด้วยการรบบนหลังม้า...
มีไม่กี่คนที่รู้ว่า “มองโกเลีย” ยังมีมุมตรงข้าม ที่ลูกหลานเจงกิสข่านพากันวางศัสตราวุธ หันมาถือศีลบำเพ็ญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดา
เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ จนกระทั่งครั้งหนึ่งศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองขนาดที่เกือบทุกครอบครัวต่างส่งลูกชายออกบวชเป็นพระ
(ลามะ)
แต่เมื่อวันเลวคืนร้ายมาถึง
พระพุทธศาสนาก็ถูกแช่แข็งโดยคนใจบอดจนแทบจะเหลือแต่ชื่อ และต่อมาแม้มีการฟื้นฟูศาสนาพุทธแล้ว
ศรัทธาของชาวมองโกลก็ยังไม่เหมือนเดิม...
แรกเริ่มเดิมที
ชาวมองโกลนับถือลัทธิชามาน (Shaman :
คนทรง, หมอผี) ซึ่งเป็นวิถีความเชื่อเก่าแก่
ต่อมา “พระพุทธศาสนาดั้งเดิม” จากอินเดียเข้ามาตามเส้นทางสายไหมเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๓ แต่ช่วงนี้ผู้คนยังนิยมลัทธิชามาน ทำให้ศาสนาพุทธไม่แพร่หลายจึงเลือนหายไปในที่สุด
ต่อมา ยุคกุบไลข่าน (หลานเจงกิสข่าน) มีการนำพระพุทธศาสนา (นิกายวัชรยาน) จากทิเบตเข้ามา และค่อย ๆ เจริญรุ่งเรืองขึ้น จนกระทั่งยุคหนึ่งมีการส่งเสริมให้พ่อแม่ส่งลูกชายออกบวชครอบครัวละ
๑ คน ช่วงนั้นประชากรมีไม่ถึงล้านคน แต่มีลามะกว่าแสนรูป ในยุคถัดไปพระพุทธศาสนายิ่งทวีความรุ่งเรือง
เพราะผู้นำทางศาสนากับผู้นำประเทศเป็นคนเดียวกัน
หนทางของพระพุทธศาสนากำลังราบรื่น
น่าเสียดายที่มาถูกแช่แข็ง เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?
หายนะเกิดขึ้นเมื่อมองโกเลียรับระบอบสังคมนิยมจากรัสเซียมาใช้
ช่วงนี้ลามะถูกฆ่า พระคัมภีร์ถูกเผา วัดวาอารามถูกทำลายเป็นจำนวนมาก วัดในเมืองหลวงที่เหลืออยู่วัดเดียวถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑ์
ลามะที่ยังหลงเหลืออยู่ต้องมานั่งประกอบฉากสวดมนต์ให้ชาวต่างชาติชม เพื่อหารายได้เข้ารัฐ
มองโกเลียปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับทุกศาสนาในช่วง
พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๕๓๓ ซึ่งเท่ากับว่าศาสนาถูกแช่แข็งอยู่
๖๖ ปี ต่อมาเมื่อนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ องค์กรของท่านทะไลลามะแห่งทิเบตจึงเข้ามาฟื้นฟูศาสนา
แต่การที่ศาสนาพุทธขาดช่วงถึง ๖๖ ปี ซึ่งใกล้เคียงกับหนึ่งช่วงอายุคน ทำให้ชาวพุทธยุคนั้นล้มหายตายจากไปพร้อม
ๆ กับความรู้ ความเข้าใจ และศรัทธาที่เหนียวแน่นในพระพุทธศาสนา แต่ยังดีที่ในปัจจุบันแม้ศรัทธาหย่อนลงแล้ว
ชาวมองโกลประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็ยังนับถือศาสนาพุทธ แม้ว่าหลายเปอร์เซ็นต์เป็นพุทธเพียงแค่ในทะเบียนบ้านก็ตาม
ระยะเวลา ๖๖
ปี ทำให้อะไร ๆ เปลี่ยนไปมากมายจริง ๆ
ยุคหลังนี้
คนที่ไปวัดส่วนใหญ่คือคนเฒ่าคนแก่ที่ได้รับการปลูกศรัทธาจากบรรพบุรุษเมื่อครั้งเยาว์วัย
ส่วนคนที่เกิดในช่วง “แช่แข็ง” และยุคต่อ ๆ มา ส่วนใหญ่ไปวัดปีละไม่กี่ครั้งในวันสำคัญหรือวันที่มีปัญหาชีวิต
โดยมีกิจกรรมขณะไปวัดก็คือ ฟังพระสวดมนต์
นอกจากการปลูกศรัทธาที่ขาดช่วงแล้ว
ลามะยุคใหม่ยังมีครอบครัวและทำมาหากินเหมือนคนทั่วไป กิจกรรมบางอย่างก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา
เช่น เวลาใครจะฟังลามะสวดมนต์จะต้องบริจาคเงินก่อน ทำให้คนรุ่นใหม่คิดว่าศาสนากลายเป็นธุรกิจไปแล้ว
แต่ในมุมของลามะ ท่านบอกว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็อยู่ไม่รอด เพราะนอกจากรัฐบาลไม่ได้ช่วยวัดแล้ว
วัดยังต้องจ่ายภาษีให้ทางการอีกด้วย
นอกจากนี้ การเทศน์สอนก็เป็นปรัชญาชั้นสูงที่ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ
การตักบาตรก็ไม่มี สมาธิไม่ค่อยได้นั่ง ส่วนเรื่องศีลก็ไม่ค่อยรักษา เพราะชาวมองโกลถือว่าศีลเป็นสิ่งที่สูงส่ง
ใครรับศีลมาแล้วต้องรักษาให้ได้ ถ้าพลาดถือว่าแย่
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวมองโกลถดถอยลงกว่าในอดีต แต่ความเป็นพุทธยังฝังอยู่ในใจของพวกเขา
และพร้อมที่จะงอกงามเมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสม ดังนั้นวัดพระธรรมกายจึงส่งพระภิกษุไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในมองโกเลีย
จะได้ช่วยกันรดน้ำพรวนดินให้เมล็ดพันธุ์แห่ง “พุทธะ” ในใจของพวกเขางอกงามขึ้นมาอีกครั้ง
เรื่องราวข้างต้นและที่จะเล่าต่อไปนี้
มาจากถ้อยคำของพระอาจารย์ชาญวิทย์ วรวิชฺโช เจ้าอาวาสวัดภาวนามองโกเลีย แห่งกรุงอูลานบาตาร์ (Ulaanbaatar)
พระอาจารย์ชาญวิทย์ไปเผยแผ่ศาสนาที่มองโกเลียมา
๕ ปีแล้ว และปัจจุบันท่านเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติมองโกเลีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ
“จุดแรกเริ่มของการไปอยู่มองโกเลีย เกิดจากหลวงพี่เห็นภาพชาวมองโกลลอยโคมวิสาขประทีปแล้วเขาปีติจนร้องไห้
ก็คิดว่า เราโชคดีที่ได้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต แต่ชาวมองโกลขาดแคลนสิ่งนี้
จะดีเพียงใดถ้าเรานำความรู้ที่ศึกษาร่ำเรียนมาไปถ่ายทอดให้เขารู้เหมือนเราบ้าง เพราะนอกจากเป็นการให้ในสิ่งที่เขาขาดแล้ว
ยังทำให้สิ่งที่เราเรียนมาเป็นประโยชน์มากขึ้น”
ด้วยความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ประดุจดวงอาทิตย์ที่พร้อมจะให้ความสว่างแก่ผู้คนไม่เลือกหน้า
ทำให้พระอาจารย์ชาญวิทย์ตัดสินใจไปเผยแผ่พระศาสนาที่มองโกเลีย และเมื่อไปแล้วท่านก็รู้ว่าคิดไม่ผิด
“มีชาวมองโกลที่อยากเรียนรู้พระพุทธศาสนาเถรวาทจริง ๆ ด้วย หลายคนพอเจอเราก็ดีใจมาก
บางคนบอกว่าสนใจจะมานั่งสมาธิกับเรา บางคนเห็นวัดเราจากเฟซบุ๊กก็ตามมาที่วัด บางคนเดินผ่านหน้าวัดก็เข้ามาหาเราเลย
แล้วยังมีคนมานิมนต์หลวงพี่ไปสอนสมาธิที่ต่างจังหวัดด้วย แต่พระมีน้อยและมีภารกิจประจำรัดตัว
จึงรับนิมนต์ไม่ได้”
มีวิธีสร้างคนอย่างไร ?
“หลวงพี่กับพระเพื่อนไปก่อตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติธรรมมองโกเลีย”
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น
“วัดภาวนามองโกเลีย” ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตอนนี้มีพระอยู่ประจำ ๓ รูป ในมองโกเลียขณะนี้มีวัดไทยแค่วัดเดียว
“ในการสร้างคนก็ดูจากวัดพระธรรมกาย ที่เริ่มจากนิสิตนักศึกษามานั่งสมาธิกับคุณยายและมาเป็นกำลังในการสร้างวัด
เราก็เริ่มจากนิสิตนักศึกษาเหมือนกัน คือ กลุ่มอาสาสมัครช่วยงานวิสาขบูชา ต่อมาเราเปิดคอร์สสอนสมาธิ
ก็ได้คนจากกลุ่มนี้ด้วย อีกส่วนมาจากกลุ่ม Wisdom Power รวมเป็น
๓ กลุ่มหลัก
“กลุ่ม Wisdom Power นี้ ตั้งขึ้นมารองรับการทำกิจกรรมของอาสาสมัครและสาธุชน
ทุกปีหลวงพี่จะพาคนกลุ่มนี้มาอบรมที่เมืองไทย (เขาออกค่าเดินทางเอง)
โครงการนี้มีมา ๓ ปีแล้ว ได้ผลดีมาก ทำให้ชาวมองโกลซึ่งไม่มีพื้นฐานเรื่องพุทธเถรวาทและธรรมเนียมปฏิบัติมีความเข้าใจว่า
เราเป็นใคร ไปทำอะไรที่มองโกเลีย และรู้จักวัฒนธรรมชาวพุทธมากขึ้น เมื่อก่อนเขามองไม่เห็นภาพ
พอมาเห็นของจริงก็ประทับใจ
อยากจะเป็นแบบนี้หรือมีแบบนี้บ้าง และหนักแน่นในการสั่งสมบุญยิ่งขึ้น เวลากลับไปก็ไปเป็นกระบอกเสียงให้เรา
ไปชวนคนใหม่มาวัด และอธิบายเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง”
ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ?
“หลัก ๆ ก็สอนทำสมาธิ เราเปิดคอร์สพื้นฐานค่ำวันอังคารกับวันพฤหัสฯ เปิดได้
๓๐ กว่ารุ่นแล้ว
เข้าคอร์สไป ๑,๐๐๐ กว่าคน วันพุธกับวันศุกร์สอนสมาธิสมาชิกเก่า วันจันทร์อบรมอาสาสมัคร วันเสาร์ทำภารกิจอื่น
ๆ ส่วนวันอาทิตย์นั่งสมาธิพร้อมกับทางวัดพระธรรมกาย ประเทศไทย
“หลวงพี่สอนการนั่งสมาธิ ให้เขานั่งให้ได้อารมณ์สบายเป็นเบื้องต้น หลายคนมีผลการนั่งที่ดี
โล่ง โปร่ง เบา สบาย รู้จักความสุขภายใน ใจเย็น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้นท่ามกลางสภาวะกดดันของสังคมในเมืองหลวง
ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทั้งเรื่องงาน การเรียน อีกทั้งเศรษฐกิจก็ไม่ดี
“หลวงพี่สอนให้เขารักษาศีลด้วย โดยอธิบายให้เขาฟังว่า มนุษย์ต้องมีคุณธรรม ๕
ประการนี้ เมื่อเขาเข้าใจก็ตกลงรักษาศีล ๕ เรายังชวนพวกเขามาร่วมกิจกรรม เช่น พิธีบูชาข้าวพระ
ปฏิบัติธรรมในวันพระจันทร์เต็มดวง (เป็นวันพระวันเดียวในแต่ละเดือนของเขา)
พิธีลอยโคมวิสาขประทีปในวันวิสาขบูชา ฯลฯ
“นอกจากนี้ เรายังมีกิจกรรมกับองค์กรอื่น ๆ เช่น จัดพิธีลอยโคมวิสาขประทีปถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกับวัดดาโชลิน
ซึ่งเป็นวัดดังอันดับสองของเขา จัดงานวันสันติภาพสากลร่วมกับองค์การสหประชาชาติและผู้นำของศาสนาต่าง ๆ ในประเทศมองโกเลีย ฯลฯ”
ใช้เทคนิคอะไรเปิดใจชาวมองโกล ?
“หลวงพี่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ขนบประเพณีและภาษาของเขา ตั้งใจเรียนจนกระทั่งถ่ายทอดธรรมะได้ด้วยภาษาของเขา
การที่เราใช้ภาษาเดียวกับเขา เข้าใจวัฒนธรรมประเพณีของเขา แล้วนำมาใช้ให้ถูกโอกาส
ทำให้เขาประทับใจและยอมรับเรา รู้สึกเหมือนกับว่าเราเป็นพวกเดียวกัน ทำให้การปฏิสัมพันธ์ราบรื่นขึ้น”
วิธีนี้ได้ผลจริงและมีความเป็นสากลด้วย
ดังที่อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณพูดกับใครสักคนด้วยภาษาที่เขาเข้าใจ
คำพูดเหล่านั้นจะถูกส่งผ่านไปยังสมองของเขา แต่ถ้าคุณพูดกับใครสักคนด้วยภาษาของเขา
คำพูดเหล่านั้นจะถูกส่งผ่านไปยังหัวใจ”
การเผยแผ่สำเร็จในระดับไหน ? อนาคตอยากทำอะไร
?
“เราเข้าถึงคนมองโกลได้ระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้เรามีขาประจำมากขึ้น แต่วัดเราอาจจะโตช้ากว่าวัดในประเทศที่มีฐานคนไทยเยอะ
ตอนนี้ในมองโกเลียมีคนไทยไม่เกิน ๕๐ คน ส่วนใหญ่ทำงานในเหมืองแร่ตามต่างจังหวัด มีอีก ๔-๕ คนเป็นลูกจ้างร้านนวดแผนไทยในเมืองหลวง คนที่มาร่วมกิจกรรมกับวัดเราจึงเป็นชาวมองโกล
๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
“เป้าหมายต่อไปคือสร้างฐานคนให้มั่นคง และหาที่ปักหลักแบบถาวร ปัจจุบันวัดอยู่ในอาคารสำนักงานรวม
ขนาดเล็กมาก อยากขยายให้ใหญ่ขึ้น จะได้ปักหลักพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย และสามารถรองรับคนได้มากขึ้น
จัดกิจกรรมได้หลายอย่างพร้อม ๆ กัน ที่ผ่านมาบางวันมีเด็กนักศึกษาอยากมานั่งสมาธิ แต่หลวงพี่ต้องประชุมงาน
เขาก็ต้องสละที่ให้เรา”
มีประสบการณ์อะไรที่ตื่นเต้นบ้าง ?
“ตื่นเต้นที่ว่า ช่วงแรกพูดและฟังภาษามองโกลไม่ได้เลย ใช้ภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาจีนบ้าง
สรรพวิชาทั้งปวงที่มีอยู่นำออกมาใช้หมด ดำน้ำกันไป จึงตั้งใจว่าจะต้องสื่อสารด้วยภาษาของเขาให้ได้เร็วที่สุด
“และก่อนหน้านี้หลวงพี่เป็นพระเด็ก ๆ มีพระอาจารย์คอยดูแล พอไปอยู่ที่โน่นเหมือนเราเป็นตัวแทนของหมู่คณะวัดพระธรรมกาย
อะไรที่เกี่ยวข้องกับหมู่คณะคือความรับผิดชอบของเราทั้งหมด ไม่ว่าการประชุม การเข้าร่วมพิธีต่าง
ๆ หรือการไปพบปะองค์กรทั้งหลาย เราต้องไปพูด ไปแสดงทัศนคติ ไปทำกิจกรรม จากอะไรที่ไม่เคยรู้
ไม่เคยเป็น ก็ต้องรู้ ต้องเป็น เหมือนปลูกปุ๊บโตปั๊บ ต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณอย่างสูง”
รู้สึกปลื้มอะไรบ้าง ?
“ปลื้มที่เขานำวิธีทำสมาธิที่เราสอนกลับไปฝึก บางทีก็มานั่งสมาธิที่วัดเอง และทุกครั้งที่หลวงพี่เห็นเขานั่งสวดธรรมจักรกันเองโดยที่เราไม่ต้องบอกก็ปลื้มใจ
เพราะว่าเขานำสิ่งที่เราข้ามน้ำข้ามทะเลมาถ่ายทอดให้ไปปฏิบัติ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำลงไปไม่สูญเปล่า
“หรือเวลามีคนมาถามเรื่องสมาธิหรือธรรมะ แล้วเราใช้ความรู้ที่ฝึกฝนอบรมจากวัดพระธรรมกาย
ทั้งเรื่องพระธรรมคำสอนและการปฏิบัติธรรมไปอธิบายให้เขาเข้าใจได้ ซึ่งเท่ากับเราได้เป็นตัวแทนของหมู่คณะนำแสงสว่าง
นำธรรมะ และวิชชาธรรมกาย ไปเผยแผ่จนเขาเข้าใจและปฏิบัติตาม จนกระทั่งเกิดผลดีแก่ชีวิตของเขา
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หลวงพี่ปลื้มใจมาก”
ขอเป็นคำถามสุดท้าย
การเผยแผ่ที่มองโกเลียมีปัญหาหรือลำบากอย่างไรบ้าง ?
“ลำบากที่เวลาสื่อสารต้องใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ จะเผยแผ่ได้ดีต้องเรียนรู้ภาษาให้เข้าใจ
ซึ่งต้องอาศัยเวลามาก เวลาส่วนหนึ่งของพระทุกรูปจึงหมดไปกับการเรียนภาษา ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยหลวงพี่ก็เรียนภาษามา
๒ ปี ตอนนี้คุยกับเขารู้เรื่อง ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว
“มองโกเลียเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าไทยประมาณ ๓
เท่า มีประชากรแค่ราว ๆ ๓ ล้านคน สภาพดินฟ้าอากาศก็ต่างจากเมืองไทยมาก
อุ่นอยู่ปีละ ๓ เดือน ฤดูหนาวอุณหภูมิติดลบ ๓๐-๔๐ องศาเซลเซียส ฤดูร้อนพุ่งไปถึง
๓๕-๔๐ องศาเซลเซียส อากาศแปรปรวนด้วย บางวันเหมือนมี
๔ ฤดู เช้าหิมะตก สายฝนตก บ่ายร้อน เย็นมีลมแรง ทำให้เรากำหนดแผนงานที่ชัดเจนไม่ค่อยได้
และเป็นอุปสรรคต่อการมาร่วมงานของสาธุชน
“หลวงพี่อยู่ในอูลานบาตาร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีอากาศเป็นพิษมากที่สุดในโลกและหนาวที่สุดในโลก
อากาศที่หนาวแบบแห้ง ๆ และมีมลพิษมาก ทำให้เสียสุขภาพ หายใจไม่สะดวก ตื่นขึ้นมามักเจ็บคอ
คอแห้ง จมูกแห้ง หายใจขัด ๆ ช่วงแรกที่ไม่ชินอากาศหลวงพี่ไม่สบายหนักเลย ตอนนี้พอปรับตัวได้แล้ว
“วัฒนธรรมเรื่องการกินก็ต่างกัน การปรับตัวเข้ากับอาหารของชาวมองโกลสำหรับชาวต่างชาติไม่ใช่เรื่องง่าย
ขณะที่เรากินข้าวเป็นปกติ ชาวมองโกลกินเนื้อเป็นหลัก จำพวกเนื้อแกะ ม้า อูฐ วัว แพะ
เพิ่งมากินข้าวกินผักในช่วงหลัง ๆ พืชผักผลไม้ก็ปลูกเองไม่ค่อยได้
ต้องนำเข้าเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาแพงมาก หลวงพี่คิดว่าการกินไม่ครบ
๕ หมู่น่าจะมีผลเสียต่อสุขภาพมาก ตอนนี้ชาวมองโกลอายุขัยเฉลี่ยแค่ ๖๐-๖๕ ปีเท่านั้น
“และถึงแม้ว่าเป็นพุทธเหมือนกัน แต่วิถีปฏิบัติเราต่างกัน ชาวมองโกลไม่เข้าใจธรรมเนียมการถวายภัตตาหาร จึงไม่ค่อยมีใครถวายภัตตาหาร
ประเพณีตักบาตรก็เลือนหายไปนานแล้ว แม้ว่าบางคนมีศรัทธานำภัตตาหารมาถวาย แต่เนื้อที่เขาเอามาบางอย่าง
ตามพระวินัยพระฉันไม่ได้ ทำให้บางครั้งพระก็ขาดแคลนอาหารขบฉัน ประกอบกับมีปัญหาอื่น ๆ เข้ามาบ้าง
ทำให้พระต้องใช้ความอดทนสูงกว่าขีดสามัญ”
เป็นธรรมดาว่า
การไปอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความแตกต่างจากประเทศของเรามากย่อมต้องพบเจอปัญหามากมาย
แต่พระอาจารย์ชาญวิทย์ไม่ค่อยเก็บมาใส่ใจ ในเมื่อเราถามท่านก็ตอบให้ฟัง เพราะท่านคิดว่า
พระอาจารย์ชาญวิทย์ วรวิชฺโช เจ้าอาวาสวัดภาวนามองโกเลีย นำสาธุชนเวียนประทักษิณในวันมาฆบูชา
|
“ลำบากหรือสบายอยู่ที่เอาไปเปรียบกับอะไรมากกว่า ถ้าเทียบคุณภาพชีวิตกับญี่ปุ่น
เกาหลี ยุโรป เราสู้ไม่ได้ แต่ถ้าเทียบกับชาวมองโกล เราสบายกว่าเยอะ หลวงพ่อเคยบอกไว้ว่า
‘ให้เราไปเป็นแสงสว่างให้เขา ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สมบูรณ์พร้อม
ถ้าใจเราไม่สงบ อยู่ที่ไหนก็ไม่สงบ ให้ปรับที่ใจของเรา ถ้าใจมีความสุข อยู่ที่ไหนก็มีความสุข’
หลวงพี่ก็เห็นจริงอย่างที่ท่านกล่าวมา และนำมาเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า
สิ่งสำคัญก็คือใจของเรานี้แหละ”
หากมองจากหลาย
ๆ ด้าน มองโกเลียถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ไม่ง่ายนัก แต่พระอาจารย์ชาญวิทย์ก็เลือกที่จะไปเผยแผ่ที่นั่น
และอยู่มาได้ถึง ๕ ปีแล้ว เพราะว่าท่านมีธงที่แน่วแน่ในใจ คือการนำจักรแห่งธรรมและวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปขับเคลื่อนความเป็น “พุทธะ” ที่อยู่ในใจของชาวมองโกลให้เติบโตและเจริญงอกงามรุดหน้าไปไม่แพ้สมัยบรรพชน...
Cr. มาตา สำนักสื่อธรรมะ
วารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
วารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
5
จักรแห่งธรรมยังคงหมุนต่อไป ในแผ่นดินมองโกเลีย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:38
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: