หมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งแรก ในประเทศญี่ปุ่น


“...งานที่พวกเราจะต้องทำต่อไปในอนาคตเป็นงานที่สำคัญ เป็นงานสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับโลก เป็นสิ่งที่หลวงพ่อย้ำอยู่เสมอว่า งานนี้สืบเนื่องมาจากมโนปณิธานของหลวงปู่   วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่ท่านมีความตั้งใจจะขยายธรรมกายไปทั่วโลก เพราะท่านเห็นคุณค่าของธรรมกาย ว่าเป็นสิ่งประเสริฐ และเป็นสิ่งเดียวในโลกที่จะทำให้มนุษย์ทั้งหลายเข้าถึงความสุขที่แท้จริง ท่านจึงตั้งมโนปณิธานอย่างนี้เรื่อยมา ตั้งแต่วันที่ท่านบรรลุธรรมจนกระทั่งวาระสุดท้าย และได้มอบภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้สืบทอดผ่านกันมา โดยเฉพาะผ่านทางคุณยายของเรา แล้วก็มาถึงหลวงพ่อและหมู่คณะ เพราะฉะนั้นพวกเราจะต้องทำหน้าที่สืบทอดเจตนานี้ต่อไป จนกว่ามโนปณิธานที่ตั้งใจเอาไว้จะบรรลุเป้าหมาย  (พระธรรมเทศนา หลวงพ่อธัมมชโย ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๔)

ย้อนไปเมื่อครั้งที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี  (สด จนฺทสโร) ยังมีชีวิตอยู่  ท่านมุ่งมั่นสอนธรรมปฏิบัติแก่ประชาชนทั้งที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และส่งพระภิกษุ แม่ชี ออกไปสอนธรรมปฏิบัติเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย ด้วยหวังให้มหาชนทั้งหลายเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในและได้พบกับความสุขที่แท้จริง


ในครั้งนั้น มีผู้คนสนใจมาร่วมปฏิบัติธรรมและมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเป็นจำนวนมาก ต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ไปลงชื่อในสมุดที่พระเดชพระคุณหลวงปู่จัดไว้ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าถึงธรรมหลายหมื่นคน

กระแสการปฏิบัติธรรมแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางและคึกคัก จากในประเทศกระจายออกไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และมีชาวญี่ปุ่นคนแล้วคนเล่าชักชวนกันเดินทางมาศึกษาธรรมปฏิบัติที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า ในประเทศญี่ปุ่นยังมีชาวญี่ปุ่นที่อยากศึกษาธรรมปฏิบัติอยู่อีกไม่น้อย แต่ไม่สะดวกในการเดินทางมายังประเทศไทย พระเดชพระคุณหลวงปู่จึงมีดำริที่จะส่งพระภิกษุชาวญี่ปุ่นไปสอนธรรมปฏิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า   “...ฝรั่งมังค่ายังเข้ามาเป็นที่พึ่ง มาพึ่งพาอาศัย มาเล่าเรียนศึกษา แล้วเอาไปประกาศ เวลานี้กำลังไปประกาศอยู่ที่ลอนดอน ที่เรียกว่าประเทศอังกฤษ ณ เวลานี้กำลังไปประกาศอยู่ นี้มานำเอาธรรมวัดปากน้ำไปประกาศ เหมือนอาจารย์ที่ไปสอนอยู่วัดจันทร์ปะขาวนั่นแหละ ไปประกาศธรรมอย่างนั้นแหละ เวลานี้ไปประกาศอยู่ประเทศอังกฤษโน่น   ต่อแต่นี้ไม่ช้าเท่าใดจะส่งไปญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่ง  มีวิชชาแบบเดียวกัน...” (๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๗)


นอกจากส่งพระภิกษุไปประกาศธรรมแล้ว   พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังมีโครงการสร้างวัดไทยในประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (นิกายเถรวาท)   แต่เนื่องจากท่านมรณภาพเสียก่อน โครงการจึงถูกระงับไปชั่วคราว

ในยุคต่อ ๆ มา มีพระภิกษุผู้เป็นศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่จากวัดต่าง ๆ เดินทางไปเผยแผ่ธรรมะและสร้างวัดในประเทศญี่ปุ่น สมดังที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ตั้งความปรารถนาไว้

สำหรับหมู่คณะวัดพระธรรมกาย  ขณะนี้ไปสร้างวัดที่ประเทศญี่ปุ่นไว้เป็นจำนวน ๑๐ วัด และศูนย์ปฏิบัติธรรม ๑ แห่ง เพื่อรองรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  วิชชาธรรมกาย   ในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ คณะศิษยานุศิษย์จากวัดพระธรรมกายยังร่วมแรงร่วมใจกันสร้างหมู่บ้านปฏิบัติธรรมสำหรับชาวญี่ปุ่นไว้ที่วัดพระธรรมกายกุมมะ จังหวัดกุมมะ  ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่นแห่งแรกในโลก และทำพิธีเปิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘  โดยมีหลวงพ่อทัตตชีโว  วัดพระธรรมกาย เมตตาเดินทางไปเป็นประธานในพิธี และมีพระภิกษุไปเป็นเนื้อนาบุญจำนวน ๕๓ รูป  มีสาธุชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่นกว่า ๔๐๐ ท่าน ไปร่วมงานบุญใหญ่ในครั้งนี้

พิธีเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น  จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๒ ประการ คือ  ๑. เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่ชาวญี่ปุ่นที่ไปปฏิบัติธรรมและช่วยเหลืองานพระศาสนาทั้งในวัดพระธรรมกาย ๑๐ วัด และที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม  ๒. เพื่อให้สาธุชนทั้งหลายมีโอกาสสั่งสมมหากุศลครั้งใหญ่ด้วยการทอดผ้าป่าสร้างหมู่บ้านปฏิบัติธรรม

กิจกรรมในวันนี้เริ่มด้วย  พิธีเปิดป้ายหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น  (Thai Meisou Villageโดยมีประธานฝ่ายฆราวาส คือ กัลยาณมิตรพรสรร กำลังเอก และกัลยาณมิตรโมหงิ มิคิโอะ

จากนั้นเป็น  พิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ  แก่ชาวญี่ปุ่นที่มีอุปการคุณช่วยงานพระศาสนา จำนวน ๖๒ ท่าน โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นผู้มอบ

ตามด้วย  พิธีปลูกต้นไม้มหามงคล  ในโอกาสนี้  พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้อธิษฐานจิตว่า ขอให้ร่มไม้มงคลต้นนี้ นำความเย็นกายเย็นใจมาสู่มหาชนทั้งหลาย ให้สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม บุคคลใดได้มาปฏิบัติธรรม ณ หมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ขอให้เทวดาปกป้องคุ้มครองรักษา ขอให้บรรลุธรรมได้โดยง่าย โดยเร็วพลัน  ขอให้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงแผ่ขยายไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น ทั่วทั้งโลก โดยเร็วพลันเทอญ

พิธีถวายสังฆทานและพิธีตักบาตร   นำบิณฑบาตโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ        

พิธีทอดผ้าป่าสร้างหมู่บ้านปฏิบัติธรรม  ประธานในพิธี คือ กัลยาณมิตรพรสรร กำลังเอก


เนื่องในวาระเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่นแห่งแรก ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย  หลวงพ่อทัตตชีโวได้เมตตาแสดงพระธรรมเทศนาโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้...

ประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจในโซนเอเชีย เพราะบรรพบุรุษของคนญี่ปุ่นเข้าใจหลักการสร้างชาติให้มีความเจริญว่าต้องเริ่มต้นจากการสร้างคนให้มีคุณภาพ และสิ่งที่เป็นพื้นฐานก็คือ วินัย ดังนั้นวินัยจึงสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองได้ ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองได้ปฏิบัติตามหลักความสะอาด ความสุภาพ ความเป็นระเบียบ ความตรงต่อเวลา อันจะนำพาจิตใจให้เป็นสมาธิในระดับเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ได้นั่งสมาธิก็ตาม

ดังนั้น ถ้าหากคนญี่ปุ่นได้ฝึกสมาธิอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็จะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางด้านจิตใจต่อไปในอนาคต


บันทึกของผู้เข้าถึงวิชชาธรรมกายรุ่นเก่าในสมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ได้บันทึกไว้ว่า วิชชาธรรมกายจะเจริญรุ่งเรืองได้ในผู้ที่มีวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีวินัยหรือประเทศที่มีวินัย ซึ่งประเทศที่มีวินัยดีในโลกมีอยู่ ๒ ประเทศ ในทวีปเอเชีย คือ ประเทศญี่ปุ่น ในยุโรป คือ ประเทศเยอรมนี สำหรับประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักอยู่แล้ว ส่วนประเทศเยอรมนี  ยังนับถือศาสนาอื่นอยู่ ต่อไปในภายภาคหน้าถ้าจะเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปให้ทั่วโลก ก็ต้องไปเริ่มกับประเทศที่มีวินัยเคร่งครัดในยุคนั้น ๆ

ขณะนี้ ทั่วโลกยอมรับว่าทั้งประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีเป็นประเทศที่มีวินัยเคร่งครัด ดังนั้นการมาเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งนี้  จึงเป็นการทำตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้สั่งไว้ว่า จะขยายวิชชาธรรมกายได้ ต้องขยายไปยังประเทศที่มีวินัย

ตราบจนถึงวันนี้ ภารกิจสร้างโลกทั้งใบให้มีสันติสุขตามมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ยังคงเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง และสามารถดำเนินการรุดหน้าไปได้ด้วยดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการริเริ่มสร้างหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่นขึ้น  ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้เกิดการสร้างหมู่บ้านปฏิบัติธรรมสำหรับประชาชนในประเทศต่าง ๆ ตามมาในอนาคต  และจะช่วยให้มหาชนชาวโลกมีโอกาสสัมผัสความสุขภายในกันมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการปูทางให้ผู้คนอีกมากมายเข้ามาสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ในการสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติร่วมกัน จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ มวลมนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ เข้าสู่นิพพานแดนเกษม

อยากเป็นน้ำหยดนิ่งติดปลายหญ้า                       ให้แสงฟ้าพาระเหยสู่สวรรค์
กลั่นเป็นก้อนเมฆใสโดยเร็วพลัน                          แล้วพาฉันโปรยปรายสายธารา
ให้ส่ำสัตว์ทั้งหลายได้ดื่มกิน                                 นกมีแรงโบยบินสู่เวหา
ส่วนมนุษย์หยุดได้กลางกายา                               แสวงหาจนพบสบนิพพาน
                                                                                                      (สุนทรพ่อ)

ความรู้สึกนึกคิดของผู้มีบุญชาวญี่ปุ่น

คุณมิคิโอะ


วันนี้ได้รับเชิญให้มาร่วมในพิธีเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรม ผมมีโอกาสได้พบหลวงพ่อทัตตชีโวด้วย รู้สึกประทับใจในรอยยิ้มของหลวงพ่อมากครับ วันนี้ผมยังได้รับโอกาสพิเศษร่วมกับท่าน ในการทำพิธีตัดริบบิ้นเปิดงาน ผมอยากจะกล่าวขอบคุณที่วันนี้ผมและครอบครัว ทั้งลูกและหลานของผมได้รับใบประกาศเกียรติคุณครับ นอกจากนี้ผมอยากให้หมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งนี้มีชาวญี่ปุ่นมาร่วมกันปฏิบัติธรรมมาก ๆ และจากนี้ไปครอบครัวของเราจะปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความสุขภายในให้ได้ครับ

คุณอิตะบะชิ


ครั้งแรกที่ได้พบหลวงพ่อ รู้สึกว่าท่านยิ้มแย้มแจ่มใส สูงใหญ่ สง่างาม ผิวพรรณผ่องใส แม้ผมฟังภาษาไทยไม่ได้ แต่ทราบผ่านผู้แปลว่า ท่านบอกให้พวกเราขยันปฏิบัติธรรม นี้เป็นสิ่งที่ผมประทับใจครับ

เมื่อวานนี้ ผมได้ฟังการเทศน์ของหลวงพ่อ เรื่องการฝึกนิสัยด้วยกิจวัตรในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เรื่องการทำความสะอาด  การรักษาความเป็นระเบียบ การใช้คำพูดอย่างสุภาพ การทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นประจำทุกวัน ฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำอีกหลาย ๆ ปี สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้ นี้เป็นคำสอนของท่านที่ผมประทับใจครับ โอกาสที่จะได้ฟังการเทศน์สอนแบบนี้ไม่ค่อยมีในญี่ปุ่น จึงขอขอบพระคุณอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ครับ

พวกเราขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยเป็นอย่างสูงด้วยครับ ที่เมตตาสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมอันยอดเยี่ยมแห่งนี้ขึ้น  และเมตตาถ่ายทอดวิธีทำสมาธิอันมีคุณค่าให้พวกเราอีกด้วย

คุณยาสึดะ


ผมภูมิใจมากที่ได้สร้างวัดขึ้นในจังหวัดกุมมะร่วมกับพวกเราทุกคน ผมคิดว่า  วัดนี้เป็นสถานที่หลอมรวมวัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน และเป็นที่ที่เกิดขึ้นได้ยากในญี่ปุ่นครับ ในชีวิตประจำวันที่ยุ่งเหยิง เมื่อได้มาที่นี่ ได้ปฏิบัติธรรมร่วมกันและใช้เวลาในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า ทำให้ลืมปัญหาทุกอย่าง ผมอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่ทุกคนได้สนิทสนมกัน เป็นที่ที่ได้สนุกกับการทำใจว่าง ๆ การนั่งสมาธิ และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ผมอยากให้คนทุกคนมาที่นี่ ไม่ใช่เพียงแต่คนญี่ปุ่นนะครับ

คุณโอซากะ


ผมมาวัดพระธรรมกายที่ญี่ปุ่นได้สิบกว่าปีแล้ว ตอนนี้ลูกชายผมบวชเป็นสามเณรอยู่ที่ประเทศไทย วันนี้ผมได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากหลวงพ่อ ผมดีใจมากครับ และขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ยอดเยี่ยมอย่างนี้ แค่จินตนาการว่าจะมีคนมาปฏิบัติธรรมที่นี่กันอีกมากมาย ผมก็สุขใจมากครับ และเพื่อให้หมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมอยากให้มีชาวญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศมาใช้สถานที่นี้มาก ๆ และได้ปฏิบัติธรรมกันจนกระทั่งใจใสสะอาดบริสุทธิ์ครับ ผมเองก็ตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิให้มากขึ้น และจะเผยแพร่การทำสมาธิไปให้คนอื่นให้มากขึ้นครับ

คุณคุวาบาร่า


ฉันมาที่วัดตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เลยค่ะ ฉันกับแม่เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างวัดที่โตเกียว ฉันดีใจมากที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่ได้มาวัด ตอนนี้ฉันเป็น staff ช่วยงานศูนย์เผยแผ่ชาวญี่ปุ่นที่นิปโปริค่ะ คนญี่ปุ่นเป็นคนที่เครียดง่าย ฉันก็เครียดง่ายและเอาความเครียดออกไปไม่ง่ายเลยเวลาที่ไม่นั่งสมาธิ

หมู่บ้านปฏิบัติธรรมที่นี่ดีมาก ๆ เลยค่ะ ทิวทัศน์งดงาม อากาศดี และมีพระอาจารย์ที่สอนสมาธิให้พวกเราเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ เวลามาปฏิบัติธรรมที่นี่รู้สึกใจสงบมาก ลืมเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจหมดเลยค่ะ ฉันอยากให้ชาวญี่ปุ่นได้พบกันในสถานที่ดี ๆ เช่นนี้ และอยากให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นค่ะ

คุณทากิซาว่า


ผมรู้สึกประทับใจพิธีเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรมในวันนี้มากครับ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกท่าน สถานที่นี้จึงเกิดขึ้นได้ ต่อไปสถานที่นี้จะเป็นที่ปฏิบัติธรรมที่ยอดเยี่ยมที่สุด พวกเราชาวญี่ปุ่นรู้สึกดีใจมากครับ และผมขอเป็นตัวแทนของชาวญี่ปุ่นกล่าวขอบคุณทุก ๆ ท่านครับ

Cr. มาตา
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๑  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘
หมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งแรก ในประเทศญี่ปุ่น หมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งแรก  ในประเทศญี่ปุ่น         Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:17 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.