หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๔)

ก่อนอื่น ผู้เขียนต้องขออนุโมทนากับสาธุชนทุก ๆ ท่าน ที่ได้ร่วมกันสวดบทธัมมจักกัปปวัตนสูตรอย่างต่อเนื่อง นับเนื่องจากวันอาสาฬหบูชาปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์การสร้างบารมีร่วมกันของหมู่คณะด้วยสามัคคีธรรม และอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่จะถึงนี้ ซึ่งก็จะครบรอบ ๑ ปีและกำลังมุ่งสู่เป้าหมายให้ได้ ๙๐ ล้านจบ ด้วยจิตใจที่ผ่องใสร่วมกันของพุทธศาสนิกชนทุกพื้นที่ทั่วไทยและทั่วโลก

ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้นเป็นบทพระธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ หลังจากที่ตรัสรู้ได้เพียง ๒ เดือน ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเมืองพาราณสี ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คำว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้น โดยความหมายแล้วแปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนกงล้อแห่งธรรมหรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายพระธรรมจักรให้กว้างไกล ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อนยุคพุทธกาลเป็นต้นมา ชมพูทวีปในสมัยโบราณกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าทุก ๆ ด้าน ในสังคมสมัยนั้นต่างก็เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งชนชั้นที่มั่งคั่งร่ำรวย นักพรตนักบวชเป็นจำนวนมากที่ต่างก็พัฒนาความเชื่อและปรัชญาของตนขึ้นมา ฯลฯ การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์เท่ากับเป็นการประกาศหนทางที่ถูกต้องที่จะนำสัจธรรมและคุณค่าอันแท้จริงมาส่ชีวิตมนุษย์ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นครั้งแรกนี้ ส่งผลให้ท่านอัญญาโกณฑัญญะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพยานแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นท่านแรก ซึ่งหลังจากที่พระพุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้ว ท่านอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนานับตั้งแต่นั้น1

1 ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๔ ภาค ๑ และในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต กล่าวว่า ในวันที่สองของการประทับ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระบรมศาสดาโปรดประทานธรรมิกถาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา ด้วยธรรมิกถานี้ ทำให้ท่านมหานามะและท่านอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล จนถึงวันแรม ๔ ค่ำ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้บรรลุโสดาปัตติผลครบทั้ง ๕ รูป ครั้นถึงในวันแรม ๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ทำให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดบรรลุอรหัตผล

เกี่ยวกับความสำคัญของบทพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของเรานั้น ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่เคยสาธยายถึงคุณค่าและความสำคัญไว้เช่นกันโดยได้แสดงไว้เป็นบทพระธรรมเทศนาในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๘ เรื่อง ธัมมจักกัปปวัตนสูตรโดยตรงซึ่งในความเห็นของพระเดชพระคุณหลวงปู่ บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้นับเป็น ธรรมที่ลุ่มลึกสุขุมอย่างยิ่ง ไม่ใช่ธรรมที่พอดีพอร้ายอีกทั้งยังสามารถใช้เป็นตำรับตำราของพุทธศาสนิกชนสืบต่อไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่นำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องนั้น จะสามารถ เอาตัวรอดได้ในธรรมวินัยของพระบรมศาสดาเลยทีเดียว

จุดที่ควรพิจารณาอย่างยิ่งในบทพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนั้น นอกจากที่ท่านได้กล่าวถึงสาระสำคัญของบทพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่ว่าชีวิตมิใช่การดำเนินไปตามหนทางที่สุดโต่ง ๒ อย่างหนทางที่ถูกที่ควรคือการวางตนให้ปฏิบัติตามหนทางสายกลางอันเป็นการดำเนินด้วยปัญญา คือ มรรคมีองค์ ๘ การกล่าวถึงความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คืออริยสัจ ๔ อันเป็นเป้าหมายของชีวิตที่ทุกคนควรศึกษาและเข้าใจเพื่อให้เกิดความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่งคือพระนิพพาน ฯลฯ แล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังได้พยายามเชื่อมโยงให้เราเห็นถึงวิธีปฏิบัติที่จะทำให้สาธุชนได้รู้จักการวางใจให้ถูกต้องในมัชฌิมาปฏิปทา หรือ ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางไว้อีกด้วย ซึ่งมิใช่เพียงการอธิบายโดยหลักการธรรมดาเท่านั้น แต่ต้องถือว่าเป็นการอธิบายโดยหลักวิชชาและโดย หลักในการปฏิบัติธรรมเลยทีเดียว

คำว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านอธิบายนั้น ท่านกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปเลยว่า หมายถึง การเอาใจไปหยุดไว้ ณ ตำแหน่งที่เป็น ศูนย์กลางกายมนุษย์เลยทีเดียว เพราะตำแหน่งดังกล่าวนั้น มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ตั้งอยู่ การนำเอาใจไปหยุดอยู่ ณ ตำแหน่งนั้นได้จริงจะถือว่าเป็น มัชฌิมาปฏิปทาที่แท้จริง และในตำแหน่งนี้เองที่ในวาระพระบาลีเรียกว่า ตถาคเตนอภิสมฺพุทฺธาคือ เป็นตำแหน่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งของพระองค์ ซึ่งคำว่า ตถาคเตนในที่นี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังอธิบายจำเพาะเจาะจงลงไปอีกว่า หมายความถึง ธรรมกายนั่นเอง เพราะการเข้าถึงพระธรรมกายก็คือ การเข้าถึงตถาคตแท้ ๆ ดังพุทธดำรัสที่พระองค์ได้ตรัสรับรองไว้ว่า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิเราตถาคตผู้เป็นธรรมกาย ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํดังนี้ฯ

ในพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ที่ว่าด้วย ธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ ท่านได้คลี่คลายขยายความให้เราทราบถึงวิธีการทำใจให้เป็นกลาง การหยุดใจหรือการเอาใจน้อมเข้าไปในกลางดวงธรรมต่าง ๆ จนถึงพุทธรัตนะที่สถิตอยู่ภายใน ฯลฯ ซึ่งการที่บุคคลสามารถปฏิบัติดังนี้ได้ย่อม เท่ากับว่าได้ ดำเนินเข้ามาสู่หนทางแห่งอริยมรรคและจะสามารถ ประจักษ์แจ้งในความจริง ๔ ประการ หรืออริยสัจ ๔ ได้ซึ่งถือได้ว่าสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้ได้นั่นเอง ฯลฯ

อนึ่ง การกล่าวถึงมัชฌิมาปฏิปทาหรือ ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางตามการอธิบายของพระเดชพระคุณหลวงปู่นี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของหัวข้อธรรมทั้งหมด เนื่องจากมัชฌิมาปฏิปทานี้เปรียบเสมือนประตูที่จะเชื่อมไปสู่หนทางที่ถูกต้อง คือ มรรคมีองค์ ๘ และอริยสัจ ๔ ประการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งโดยความมุ่งหมายที่แท้จริงของพระธรรมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านนั้น แน่นอนว่ามิได้ทรงมุ่งแสดงให้แก่ผู้ที่คิดครองเรือนนำไปใช้ในการครองชีวิตแบบฆราวาสแต่อย่างใด แต่ทรงมุ่ง เปิดประตูใหสาวกของพระองคก้าวเดินไปสู่หนทางแห่งอริยมรรคเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ภาษาธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้  จึงควรกล่าวได้ว่าเป็นภาษาแห่งการปฏิบัติอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศส

พระธรรมจักรศิลา

ดังนั้น จึงขอย้ำอีกครั้งหนึ่งในที่นี้ว่า บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่เราเหล่าพุทธบริษัทกำลังสวดร่วมกันอยู่นี้ ไม่ใช่บทสวดธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ย่อมเป็นเหมือนการสาธยายถึง หลักปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน” ไปด้วยในตัว ซึ่งได้มีการค้นพบหลักฐานสำคัญคือ คาถาธรรมกาย ที่จารึกไว้เป็นภาษาเขมรโบราณ จนได้มีการนำมาศึกษาถอดความและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า ธมฺมกายสฺส อตฺถวณฺณนา” มาก่อนแล้ว โดยท่านศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศส และในเวลาต่อมาศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ก็ยังเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับ พระธรรมจักรศิลา อายุเก่าแก่กว่า ๑,๔๐๐ ปี และได้สรุปว่า ข้อความในพระธรรมจักรศิลานี้เกี่ยวข้องกับอริยสัจ ๔ ประโยชน์แห่งมรรค และญาณ ๓ ประการ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติโดยตรง ข้อยืนยันดังกล่าวจึงเป็นข้อยืนยันที่มีคุณค่ามาก เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันของ ธัมมจักกัปปวัตนสูตรและการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายอย่างชัดเจน สมดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านได้ค้นพบและเผยแผ่มาตลอดชีวิตของท่าน เช่นเดียวกับภารกิจที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI)ได้ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น ก็เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะช่วยยืนยันถึงความมีอยู่ของ วิชชาธรรมกาย ที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานประเภทต่าง ๆ ในภาคปริยัติ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของคัมภีร์พุทธโบราณภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกหรือในรูปของศิลาจารึกและงานพุทธศิลป์ที่ปรากฏอยู่ทั้งภายในและต่างประเทศ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่ภาคปฏิบัติและปฏิเวธให้มากที่สุด และเป็นการยืนยันให้ได้มากที่สุดว่าธรรมกายนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ดีจริงต่อชีวิตและสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงนั่นเอง



สำหรับในปีนี้ (พุทธศักราช ๒๕๖๐) หากท่านสาธุชนผู้เป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายยังจำกันได้ดี ปีนี้เท่ากับเป็นปีอันเป็นมงคลด้วยเช่นกัน กล่าวคือเป็นปีที่ครบ ๑๐๐ ปีแห่งการบรรลุธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ที่ท่านได้ผ่านการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมกายภายในตัวได้ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ณ อุโบสถวัดโบสถ์บน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งการบรรลุธรรมของท่านได้ก่อให้เกิดคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพระพุทธศาสนา เพราะถือว่าท่านเป็นบุคคลที่ค้นพบวิชชาธรรมกายอันเป็นหลักปฏิบัติธรรมตามคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เลือนรางหายไป นับจากวันที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๕๐๐ ปีให้กลับคืนมา ดังนั้นการร่วมกันรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่และความศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของท่าน ก็นับได้ว่าเป็นการกตัญญูต่อทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมหาปูชนียาจารย์ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของเราด้วย สมดังพุทธพจน์ที่ว่า ปูชา จปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” (การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ถือเป็นมงคลอันสูงสุด)


ในการนี้ ผู้เขียนทราบดีว่า พวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ต่างตั้งใจที่จะสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและบูชาธรรมแด่พระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยความปลื้มปีติใจจึงขอให้ทุกท่านตั้งจิตเสมือนหนึ่งว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้มาสถิต ณ ศูนย์กลางกายของเราให้ชัดใสสว่าง ดังนี้ย่อมเท่ากับว่าเรากำลังปฏิบัติบูชาท่านไปพร้อมๆ กับการสวดสาธยายหลักธรรมคือบท ธัมมจักกัปปวัตนสูตรอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจึงย่อมมีมากมายมิอาจประมาณได้ และเมื่อเราได้ทำตามคำสอนอย่างถูกต้องต่อเนื่อง วางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนเราก็จะได้ประสบการณ์ภายใน เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงขอให้เราอย่าทอดทิ้งการปฏิบัติธรรม อย่าละความเพียร เราจึงจะพิสูจน์ดังคำกล่าวในพระธรรมคุณที่ว่า เอหิปสฺสิโก จงมาพิสูจน์เถิดต่อไปเราก็จะได้เป็นประจักษ์พยานของการมีอยู่จริงของวิชชาธรรมกายในยุคปัจจุบัน เป็น หลักฐานธรรมกายที่มีชีวิต และจะได้ช่วยกัน หมุนกงล้อแห่งธรรมจากยุคปัจจุบันนี้ไปสู่อนาคตได้อย่างเป็นอัศจรรย์เทอญฯ

ขอเจริญพร

Cr. นวธรรม และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๔) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๔) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 06:31 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.