สัมมนาพระไตรปิฎก การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน



คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตมาตลอดกว่า ๒,๖๐๐ ปี เหล่าพุทธสาวกในยุคแรกรักษาสืบทอด คำสอนอันล้ำค่าโดยวิธีมุขปาฐะ (การท่องด้วยปาก) และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในคัมภีร์ใบลาน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๔๕๐ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป คัมภีร์ใบลานเหล่านี้ก็ผุกร่อนตามกาลเวลา บ้างก็สูญหาย บ้างก็ถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย



ภาพบน : การเสวนา
ภาพล่างซ้าย : ประธานฆราวาส
ภาพล่างขวา : ผู้เข้าร่วมงานนานาประเทศ

ด้วยตระหนักถึงสภาวการณ์ดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ วัดพระธรรมกายจึงจัดทำโครงการรวบรวมถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานและจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานให้คงอยู่เป็นมรดกธรรมของโลกไปตลอดชั่วกาลนาน และเพื่อจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสำหรับการศึกษาค้นคว้าแก่ผู้สนใจทั่วไป

นอกจากนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของโครงการซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุและฆราวาสจากนานาประเทศแล้ว ทางโครงการยังได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะด้านวิชาการอันทรงคุณค่าจากคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิที่ล้วนมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในวงการบาลี เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ได้พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่สุด

ด้วยความตั้งใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย จึงทำให้พระไตรปิฎกบาลีฉบับสาธิตเล่มแรก คือ สีลขันธวรรค แห่งทีฆนิกายในพระสุตตันตปิฎกแล้วเสร็จ และได้จัดพิธีถวายพระไตรปิฎกฉบับดังกล่าวไว้เป็นมรดกธรรมแก่วงการพระพุทธศาสนาเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในโอกาสนี้มีการจัดสัมมนาพระไตรปิฎกในหัวข้อการสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน อีกด้วย

พิธีในครั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระพรหมเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส คุณนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงานแด่ประธานสงฆ์ และคุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ประธานอุปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎก เป็นผู้นำกล่าวถวายพระไตรปิฎกแด่คณะสงฆ์

ในงานสัมมนามีการเชิญนักวิชาการบาลีชั้นนำของโลกมาเป็นวิทยากร ได้แก่ ศาสตราจารย์ Richard Gombrich จากมหาวิทยาลัย Oxford ศาสตราจารย์ Oskar von Hinüber ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลาน ศาสตราจารย์ Rupert Gethin ประธานสมาคมบาลีปกรณ์แห่งประเทศอังกฤษ และศาสตราจารย์ Masahiro Shimoda จากมหาวิทยาลัยโตเกียว มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการสืบทอดพระพุทธวจนะตั้งแต่ยุคมุขปาฐะ ยุคคัมภีร์ใบลาน ยุคพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ จนถึงยุคพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า ๕๐๐ ท่าน

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และพระไตรปิฎก ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ร่วมงาน

การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของทั้งด้านวิชาการและวงการพระพุทธศาสนา ในการสืบทอดขุมทรัพย์ทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ ให้คงอยู่เป็นแสงประทีปแก่บุคคลรุ่นหลังสืบไป

คำนิยมจากนักวิชาการชั้นนำของโลก


ศาสตราจารย์ Oskar von Hinüber
ปรมาจารย์ด้านภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลาน
ผู้แต่งตำราที่วงการบาลีโลกใช้อ้างอิง

"ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ผมเดินทางมา และสิ่งที่ผมประทับใจมาก คือ โครงการมีความก้าวหน้าอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการมาคราวก่อน และนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว"


ศาสตราจารย์ Richard Gombrich
ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ

"นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่งานด้านจัดทำคัมภีร์บาลีให้ได้มาตรฐานน่าเชื่อถือโดยใช้กระบวนการวิชาการสมัยใหม่ยังคงทำกันอยู่น้อยมาก ปริมาณเนื้องานของงานด้านนี้มากมายมหาศาลจนน่ากลัว ดังนั้นวัดพระธรรมกายจึงสมควรได้รับคำขอบคุณ และคำแสดงความยินดีที่ได้สนับสนุนทุนวิจัย และดำเนินโครงการขึ้นมา โครงการนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นก้าวสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่างานสัมมนา และงานเฉลิมฉลองอื่นใด"


Dr.Mark Allon
อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

"โครงการพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกายนับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรอื่น ๆ ในการดำเนินการ แต่รูปแบบการนำเสนอและการเก็บรักษาข้อมูลก็สามารถทำออกมาได้ดีมาก โดยเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงตัวใบลานจริงได้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิชาการ"



ศาสตราจารย์ Masahiro Shimoda
ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

"ความพยายามที่จะจัดทำพระไตรปิฎกฉบับดิจิทัล ที่โครงการพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกายกำลังดำเนินการอยู่นั้น จะเชื่อมโยงกับนักวิชาการยุคต่อไปในอนาคต ผมเชื่อมั่นว่าแม้โครงการจะต้องเผชิญกับงานยากที่ท้าทาย แต่ก็จะผ่านพ้นไปจนสามารถขยายความรู้ไปสู่คนรุ่นใหม่ได้"

Cr. Tipitaka / ภาพ : วัลลภ เกียรติจานนท์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๖ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖
สัมมนาพระไตรปิฎก การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน สัมมนาพระไตรปิฎก การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:52 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.