เราจะเริ่มต้นปรับปรุงนิสัยให้ดีขึ้นอย่างไร เพื่อความสุขและความเจริญในชีวิตประจำวัน ?
พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนรักการพัฒนาตัวเอง
เพราะความเจริญก้าวหน้าหรือความตกต่ำในชีวิตของเรานั้น
ขึ้นอยู่กับนิสัยดีและนิสัยชั่วของตัวเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ
หรือเทวดานางฟ้า ภูต ผี ปีศาจ มาดลบันดาลให้ยากจนหรือร่ำรวย ให้รุ่งเรืองหรือตกต่ำ
แต่เป็นเพราะนิสัยของเราทั้งสิ้น
นิสัยเกิดมาได้อย่างไร?
หลวงพ่อใช้เวลาเป็นปี ๆ ค้นไปจนเจอว่า นิสัยเกิดจากการคิด การพูด
การทำอะไรซ้ำ ๆ จนกระทั่ง “ติด” แล้วกลายเป็น
“นิสัย” นิสัยนั้นก็เลยเป็น “โปรแกรมชีวิต”
มีทั้งโปรแกรมบุญโปรแกรมบาปติดตัวเราขึ้นมา
เมื่อถึงเวลาของโปรแกรมนี้เป็นต้องทำตามนั้น
สิ่งที่บังคับให้เราคิด พูด ทำซ้ำ ๆ ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การรักษาสุขภาพ งานอาชีพ
สิ่งเหล่านี้เพาะนิสัยของเราได้ทั้งนั้น ทีนี้ก็มาว่ากันถึงสถานที่หรือพื้นที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
ซึ่งก็คือ ๕ ห้องชีวิต
มนุษย์ ถึงใครจะร่ำรวยปานใด อดอยากยากจนเพียงไหน
ชีวิตก็ยังต้องดำเนินไปอยู่ภายใน ๕
ห้องชีวิต คือ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องครัว ห้องทำงาน
ด้วยเหตุนี้ ความดี ความชั่ว ความผิด
ความถูก บุญ บาปต่าง ๆ ของเราแต่ละคนต่างก็ออกมาจาก ๕ ห้องนี่เอง
ไม่ได้ออกจากที่อื่นเลย แม้แต่นิสัยดี นิสัยเลว ก็ออกมาจาก ๕ ห้อง
คนจะดีจะชั่วอยู่ที่นิสัย ไม่ใช่อยู่ที่อย่างอื่น ไม่ได้อยู่ที่ความรู้ ความรวย
ความสวย ความหล่อ ตระกูลสูง ตระกูลต่ำ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เหตุเกิดของนิสัย
นิสัยดีเกิดมาจาก ๕ ห้องชีวิตที่ดี
นิสัยเลวก็เกิดมาจาก ๕ ห้องชีวิตที่เลว
บางท่านเกิดข้อสงสัยขึ้นว่าทำไมจึงดี ทำไมจึงเลว
ในเมื่อมันเกิดจากที่เดียวกัน คำตอบก็คือนิสัยดีเกิดเพราะการใช้ห้องทั้ง ๕
ถูกวัตถุประสงค์และถูกวิธี นิสัยเลวเกิดเพราะใช้ ๕ ห้องผิดวัตถุประสงค์และผิดวิธี
ด้วยเหตุนี้
เมื่อต้องการจะแก้ไขปรับปรุงนิสัย
เราจึงจำเป็นต้องมาปรับปรุงความเข้าใจถูกเกี่ยวกับห้องทั้ง ๕ ก่อน
ให้เข้าใจวัตถุประสงค์แท้จริงของพื้นที่แต่ละแห่ง ว่าใช้ฝึกนิสัยอะไร
ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ๕ ห้อง ชีวิตนี้จะไม่ได้อะไร
ห้องที่ ๑ คือ ห้องนอน
จริง ๆ แล้วห้องนอนคือห้องอะไร
ถ้าบอกว่าห้องนอนก็มีเพื่อเอาไว้นอนพักผ่อนแค่นั้น นั่นยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์
เพราะคนประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ใจและกาย
ถ้ามองว่าห้องนอนมีไว้นอน นั่นแสดงว่าให้ความสำคัญที่กาย แต่ใจสำคัญกว่ากาย
ฉะนั้น ห้องนี้ใช้สำหรับใจอย่างไร ห้องนี้ใช้ ปลูกสัมมาทิฐิ ปลูกสัมมาสมาธิ
พ่อแม่ลูกจะให้ความเข้าใจถูกต่อหลักธรรม
ต่อศาสนา หรือสามีภรรยาจะตักเตือนกัน หรือเข้าใจถูกซึ่งกันและกันก็อยู่ที่นี่
มันจึงไม่ใช่แค่ห้องนอน เพราะว่าสัมมาทิฐิซึ่งเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิต
สัมมาสมาธิซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนของชีวิตของความดี เกิดจากห้องนี้
ดังนั้น ห้องนอน จึงสมควรให้ชื่อใหม่ว่า ห้องมหามงคล
ห้องที่ ๒ คือ ห้องน้ำ
หากมองเพียงว่าห้องน้ำเป็นห้องถ่ายทุกข์ หรือห้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นั่นคือให้ความสำคัญแก่กายมากกว่าใจ
แต่ใจก็ใช้ทุกที่ที่กายใช้ ดังนั้น ห้องนี้จึงไม่ใช่แค่ห้องถ่ายทุกข์
ห้องนี้ที่ถูกต้องเรียกว่าเป็น ห้องมหาพิจารณา
เพราะคนเราต่อให้หล่อ สวย รวย ฉลาด ปานใด สิ่งที่ออกมาจากตัวไม่ว่าของแข็ง
ของเหลว หรือก๊าซ ไม่มีหอม ไม่มีสวยเลย ทุกคนเหมือนกันหมด
ยิ่งกว่านั้นกายเรายังมีความเสื่อมโทรม เสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา
ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วจะเริ่มคิดได้ว่า ตัวของเราจะเหลืออะไรดี เว้นจากความดีแล้ว
ไม่มีอะไรงามเลยในตัวมนุษย์
ถ้าได้คิดตรงนี้แล้ว ความระมัดระวังจะเกิดอีกมาก
แนวทางในการคิดของคนจะเริ่มตรงไม่หลงตัวเอง
ไม่เปรียบเทียบตนกับคนอื่นว่าเหนือกว่า ต่ำกว่า หรือเท่ากันกับใคร
แต่จะหมั่นดูตัวเองให้เห็นถึงความไม่งาม ความไม่ยั่งยืนของสังขาร
แล้วรีบผลิตความดีออกมาจากตัวให้มาก ห้องนี้จึงเป็นห้องที่สามารถ ปลูกสัมมาสังกัปปะ
คือคิดถูก คิดเป็นให้กับใจได้
ห้องที่ ๓ คือ ห้องครัว
ถ้ามองห้องครัวว่าเป็นแค่ห้องกินข้าวก็ดูเบาเกินไป
ห้องนี้เป็นที่สะสมอารมณ์ของทุกคนได้ง่าย โดยเฉพาะอารมณ์บูด ๆ
ที่พกพามาระบายที่ห้องนี้
บางคนเมื่อคืนนอนไม่หลับ
บางคนหลับดึกเกินไป บางคนท้องผูก บางคนท้องเสีย บางคนหงุดหงิด รอคิวเข้าห้องน้ำ
บางคนจะรีบไปทำงาน บางคนหิวจัด บางคนอาหารไม่ถูกปาก บางคนอาหารอร่อยแต่มีน้อยไป
แต่ละคนที่อารมณ์บูดก็พร้อมจะพรั่งพรูวาจาไม่สุภาพ
กิริยาหยาบกระด้างต่อผู้อื่นออกมาได้ง่าย ๆ
ห้องครัวจึงเป็นที่ใช้ฝึกความรู้ประมาณ มีชื่อว่า ห้องมหาประมาณ
เริ่มตั้งแต่การฝึกพูด ก็ต้องประมาณในคำพูด จะติก็ต้องประมาณ จะชมก็ต้องประมาณ
จะกินก็ต้องประมาณ แม้งบประมาณประจำบ้าน ถ้าประมาณไม่ดี ก็มักจะรั่วไหลแถว ๆ
ห้องนี้
ห้องนี้มีไว้ ปลูกสัมมาวาจา และ ปลูกสัมมากัมมันตะ
เมื่อจะชมก็ชมที่นี่ จะติกันก็ติที่นี่
แต่สำคัญคือทำให้พอดี ทำดี ๆ วาจาก็ไพเราะ กิริยาอาการก็นุ่มนวล
แต่ถ้าตรงนี้ทำไม่ดี ห้องนี้จะนำมาซึ่งความแตกร้าวของครอบครัว แม้แต่พี่น้องก็ไม่รักกัน
สามีไม่กลับมากินข้าวบ้าน ปล่อยให้ภรรยากินข้าวกับน้ำตาที่ร่วงเผาะ ๆ ก็มีมาแล้ว
ห้องที่ ๔ คือ ห้องแต่งตัว
ถ้ามองแต่กาย
คิดแต่จะแต่งตัวประทินโฉมให้หล่อ ให้สวย ให้คงความหนุ่มความสาว นั่นพลาดแล้ว
ห้องนี้จะกลายเป็นห้องหลอกตัวเอง จะโง่ข้ามชาติกันคราวนี้
แต่ถ้าใช้ห้องนี้เป็นห้อง ปลูกสติสัมปชัญญะ ของเราขึ้นมา
เตือนใจตัวเองไม่ให้ประมาท ไม่มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่มัวเมาในอายุ
ไม่มัวเมาในความแข็งแรงไม่มีโรค พอเลิกหลอกตัวเองได้เท่านั้น เวลาในชีวิตจะมีเหลือเฟือ มีเวลาสำหรับการทำสมาธิ
ปรารภความเพียร สั่งสมบุญให้ตนเอง ห้องนี้จึงมีชื่อว่า ห้องมหาสติ
ห้องที่ ๕ คือ ห้องทำงาน
ถ้าคิดเพียงว่าห้องนี้คือห้องที่ใช้ทำงาน อย่างนี้จะได้แค่เหนื่อย
ความจริงแล้ว ห้องนี้คือ ห้องมหาสมบัติ สำหรับเลี้ยงชีวิต เลี้ยงกาย
ถ้าขยันทำงานและเป็นสัมมาอาชีวะด้วย
จะมีโลกิยสมบัติ มีเงินทองสำหรับเอามาเลี้ยงชีวิต
ถ้าขยันสร้างบุญด้วย
จะได้อริยสมบัติคือบุญ เกียรติยศชื่อเสียงก็ได้มาเพราะอาศัยห้องทำงานนี้
มรรคมีองค์ ๘ บวกกับนิสัยดี ๆ
ที่ฝึกมาตลอดชีวิตต้องเอามาใช้ในห้องทำงานนี้ทั้งหมด
จึงจะได้มหาสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์
ห้องทำงานของชาวโลก
บางทีก็มองไม่เห็นหรือมองไม่ออก เช่น ห้องทำงานของชาวนาอยู่ตรงไหน
ก็นาที่ทำกี่ไร่ต่อกี่ไร่นั่นแหละเป็นห้องทำงาน
ห้องทำงานของคนขับแท็กซี่อยู่ที่ไหน
ก็คือรถแท็กซี่ของเขานั่นเอง
ห้องทำงานของคนขายลอตเตอรี่อยู่ที่ไหน
ก็คือแผงขายลอตเตอรี่ของเขานั่นเอง
ห้องทำงานสำหรับพระภิกษุอยู่ที่ไหน
ก็อยู่ที่ทุกย่างก้าวที่เท้าก้าวไป เหยียบลงตรงไหน ตรงนั้นก็คือห้องทำงาน
เพราะงานของพระคือรบกับกิเลสทุกลมหายใจเข้าออก
รบกับบาปและนิสัยไม่ดีที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมา รบชนะด้วยอินทรีย์สังวร
บุญก็เกิดตลอดทาง
เมื่อมองออกว่า ๑) ห้องนอน คือ
ห้องมหามงคล ๒) ห้องน้ำ คือ ห้องมหาพิจารณา ๓) ห้องครัว คือ ห้องมหาประมาณ ๔) ห้องแต่งตัว คือ ห้องมหาสติ ๕) ห้องทำงาน
คือ ห้องมหาสมบัติ คำถามที่ตามมา ก็คือ เราจะต้องทำอะไรบ้างในห้องเหล่านี้
เพื่อให้กายส่วนหนึ่งและใจอีกส่วนหนึ่งดีขึ้นจนเป็นนิสัย
เมื่อเรามองครบทั้ง ๒ ส่วนแบบนี้
ก็จะมองเห็นงานที่ควรจะต้องทำในห้องนั้น ๆ เพื่อให้ใจเกิดความดี
เพื่อให้กายเกิดนิสัยดี ๆ
อีกทั้งต้องพิจารณาถึงลักษณะห้องแต่ละประเภทว่าควรเป็นเช่นไร
ถึงจะเหมาะสมกับการฝึกคุณธรรมเพื่อใจ และการฝึกคุณธรรมเพื่อกาย เช่น
ความสว่างภายในห้องควรเป็นอย่างไร ห้องควรกว้างแค่ไหน ควรจะทำความสะอาดอย่างไร
วัสดุ อุปกรณ์ที่จะต้องใช้ควรจะมีอะไรและตั้งอยู่ตรงไหน
วิธีใช้ที่เหมาะสมควรทำอย่างไร ตลอดจนวิธีดูแลรักษาที่เหมาะสมควรทำอย่างไร
ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกปรับให้พอดี นิสัยดี
ๆ จะเกิดขึ้น ชีวิตคนธรรมดาอย่างเรา ๆ
ก็สามารถฝึกฝนตนเองด้วยกระบวนการฝึกฝนและพัฒนาคุณภาพนิสัยตามอริยมรรคมีองค์ ๘
อันเป็นเส้นทางฝึกอบรมตนเพื่อความสุขความเจริญตามรอยบาทแห่งการสร้างบารมีของพระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าได้ในชีวิตประจำวัน
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๘ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖
เราจะเริ่มต้นปรับปรุงนิสัยให้ดีขึ้นอย่างไร เพื่อความสุขและความเจริญในชีวิตประจำวัน ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:10
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: