ตักบาตรรวมใจชาวพุทธไทย-เมียนมาร์
ตักบาตรพระ ๑๐,๐๐๐
รูป
เมืองมัณฑะเลย์
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมียนมาร์
--------------------------------
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ เป็นวันที่ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของพระพุทธศาสนาประเทศเมียนมาร์จะต้องจารึกไว้ว่า
พิธีตักบาตรแด่คณะสงฆ์จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์เมียนมาร์ คือ ๑๐,๐๐๐
รูป ได้บังเกิดขึ้นแล้วรอบ ๆ พระราชวังมัณฑะเลย์ที่แสนงดงาม บริเวณถนนหมายเลข 12th
กับถนนหมายเลข 66th ซึ่งอยู่หน้าภูเขามัณฑะเลย์
โครงการตักบาตรพระเมียนมาร์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
เกิดจากดำริของหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ประเทศไทย
ที่อยากจะธำรงรักษาและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาร่วมกันระหว่างไทยและเมียนมาร์
ซึ่งการตักบาตรพระ ๑๐,๐๐๐ รูปในครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องสำหรับการจัดงานตักบาตรพระ
๑๐๐,๐๐๐ รูป ในอนาคต
ศึกษาดูงาน
ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา หลวงพ่อธัมมชโยมีดำริอยากจะจัดตักบาตรพระ ๑๐๐,๐๐๐
รูป ที่ประเทศเมียนมาร์ จึงร่วมมือกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดอตูละมหาเมียะเจ้าเซดีดอว์ ซึ่งท่านและคณะสงฆ์เมียนมาร์ได้เดินทางมาดูงานที่วัดพระธรรมกาย
และร่วมงานตักบาตรที่ประเทศไทย รวมทั้งจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ๒ รอบ
โดยรอบแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ จำนวน ๓๐๐ คน
เพื่อเป็นผู้นำ และในวันที่ ๑๗-๒๐ กันยายน จัดอบรมอาสาสมัครรอบ ๒ จำนวน ๑,๓๐๐
คน เพื่อช่วยจัดงานตักบาตร ๑๐,๐๐๐ รูป ในครั้งนี้
จัดงานบุญใหญ่ที่มัณฑะเลย์
เมืองมัณฑะเลย์เป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศเมียนมาร์
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี
การจัดงานตักบาตรในมัณฑะเลย์ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี
ถือเป็นการรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ของฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรของประเทศเมียนมาร์เลยทีเดียว
โดยเริ่มตั้งแต่ผู้ปกครองคณะสงฆ์ระดับต่าง ๆ ผู้นำประเทศ ผู้บริหารรัฐ
ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกหมู่เหล่า
ซึ่งต่างให้ความร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
นอกจากนี้ยังเป็นการร่วมมือกันระหว่างพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาร์และชาวไทย
ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อความเข้มแข็งของพระพุทธศาสนาแล้ว
ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศอีกด้วย
รับบุญเตรียมงาน
เบิกบานจิตใจ
ก่อนที่วันประวัติศาสตร์จะมาถึง พี่น้องชาวเมียนมาร์จากหลากหลายอาชีพต่างพากันมาช่วยจัดงานบุญครั้งนี้ด้วยความเบิกบาน
ตั้งแต่ติดป้ายประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้คนมาตักบาตร เกลี่ยดินปรับพื้นที่
ปัดกวาดเช็ดถู ติดตั้งสเตจพระ ขนย้ายและทำความสะอาดเก้าอี้ จัดเก้าอี้พระ
ปูผ้าแดงเป็นแนวเดินบิณฑบาต ปูพลาสติกไว้ให้สาธุชนนั่ง เก็บเพชรพลอย (ขยะ) ฯลฯ
แม้ในวันตักบาตรก็มาช่วยกันรับบุญ เช่น ทำหน้าที่จราจร
นิมนต์พระเข้าพื้นที่ ต้อนรับสาธุชน ถ่ายบาตร ฯลฯ เมื่อพิธีตักบาตรเสร็จสิ้นลง
ก็ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่ และเก็บงานให้เรียบร้อย
พิธีตักบาตรที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากพิสูจน์ให้เห็นความผูกพัน ความรัก
ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งของชาวเมียนมาร์ที่มีต่อพระพุทธศาสนาแล้ว
ยังเป็นการสร้างความรักความสามัคคีระหว่างชาวพุทธอีกด้วย
เอาบุญใหญ่ด้วยกัน
ในวันงาน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น.
บริเวณถนนด้านหน้าภูเขามัณฑะเลย์คลาคล่ำไปด้วยพระภิกษุ-สามเณร ซึ่งนอกจากมีพระภิกษุ-สามเณรชาวเมียนมาร์แล้ว ยังมีพระภิกษุจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ
เดินทางไปเป็นเนื้อนาบุญด้วย
วันนี้ ชาวพุทธเมียนมาร์หลากหลายวัยทยอยเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ
ต่างสวมโสร่ง (ลองยี) ตามวัฒนธรรมเมียนมาร์ ฝ่ายชายสวมเสื้อคอตั้ง
ฝ่ายหญิงสวมเสื้อหลากสีสันแขนกระบอก สองแก้มป้ายทานาคา เกล้ามวยผมประดับดอกไม้
ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงเมียนมาร์
นอกจากนี้ ยังมีพุทธศาสนิกชนจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเดินทางไปร่วมงาน
เช่น พุทธศาสนิกชนจาก สปป.ลาว กัมพูชา และไทย รวมทั้งคณะกัลยาณมิตร ลูกพระธัมฯ
ที่เดินทางไปเอาบุญใหญ่ในครั้งนี้กันเป็นจำนวนมาก
แค่จุดเริ่มต้น
พิธีตักบาตรครั้งนี้ มี Bhaddanta Ke Sa Va เป็นประธานสงฆ์
ทางฝ่ายวัดพระธรรมกายประเทศไทยมีพระภาวนาธรรมวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นตัวแทนหลวงพ่อธัมมชโยไปร่วมงาน
และมี U Ye Myint นายกรัฐมนตรีเมืองมัณฑะเลย์
เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีคุณพรสรร กำลังเอก
ผู้แทนมูลนิธิธรรมกายเป็นผู้กล่าวประวัติความเป็นมาของโครงการตักบาตรครั้งนี้
และคุณวันรัตน์ บูรณะสิทธิพร เป็นผู้อ่านสาสน์จากหลวงพ่อธัมมชโย
พิธีตักบาตรเริ่มด้วยการประกาศตนเป็นพุทธมามกะ พิธีอาราธนาศีล
และก่อนจะเข้าสู่พิธีกล่าวคำถวายภัตตาหารและจตุปัจจัยไทยธรรม
ทุกท่านได้นั่งสมาธิตามเสียงของหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่นำนั่งเป็นภาษาเมียนมาร์
ภาพผู้คนจำนวนมากนั่งสมาธิสงบนิ่งพร้อมกันก่อให้เกิดพลังอันบริสุทธิ์แผ่ซ่านไปในบรรยากาศ แม้จะเป็นเพียงเวลาไม่กี่นาที ก็ทำให้หลายท่านขนลุกชูชันด้วยความปลื้มปีติ
เมื่อถึงเวลาอันสมควร คณะสงฆ์เดินแปรแถวบิณฑบาตโดยมีตัวแทนคณะสงฆ์ไทยร่วมบิณฑบาตกว่า ๑๐๐ รูป
โดยมีสาธุชนน้อมนำอาหารใส่บาตรไม่ขาดระยะด้วยความเคารพในทานของตน
พิธีตักบาตรดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย
ทุกอณูของบรรยากาศช่างศักดิ์สิทธิ์และสงบเย็น ปราศจากเสียงอึกทึกและความวุ่นวายใด
ๆ เสมือนจำลองเมืองสวรรค์มาไว้บนพื้นมนุษย์ นับเป็นภาพอัศจรรย์ที่สร้างความปีติแก่ทุกฝ่ายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ด้วยสภาพสังคม วิถีชีวิต
และความศรัทธาอย่างลึกซึ้งของชาวเมียนมาร์ที่มีต่อพระพุทธศาสนา ทำให้เชื่อมั่นว่า
ความสำเร็จในพิธีตักบาตรพระ ๑๐,๐๐๐
รูปครั้งนี้จะนำไปสู่พิธีตักบาตรพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ในอนาคตอย่างแน่นอน
พิธีถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน
และปัจจัยไทยธรรม
ก่อนจบคอลัมน์งานบุญประวัติศาสตร์ในครั้งนี้
จะขอกล่าวถึงอีกหนึ่งงานบุญใหญ่ในประเทศเมียนมาร์ที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ
พิธีถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และปัจจัยไทยธรรมแด่คณะสงฆ์ทวาย
นับตั้งแต่เมืองทวายจัดงานบุญใหญ่ ๓ งานขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ คือ พิธีตักบาตรพระ
๓,๐๐๐ รูป พิธีต้อนรับพระธุดงค์ ๑,๐๐๐
รูป และพิธีจุดประทีปโคมลอยถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นงานบุญอื่น ๆ
ก็ตามมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ผู้แทนคณะกัลยาณมิตรทั้งชาวไทยและชาวเมียนมาร์ต่างพากันไปถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน
และไทยธรรม แด่เจ้าอาวาส ๖๘๐ วัด จำนวน
๗๐๐ รูป เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ณ
วัดยินเง เมืองทวาย ตามดำริของหลวงพ่อธัมมชโย
งานเริ่มด้วยพระอาจารย์จากประเทศไทยเล่าประวัติหลวงพ่อธัมมชโย และผลงานของวัดพระธรรมกาย
พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการถวายเทียนพรรษาในครั้งนี้
จากนั้น เป็นการกล่าวเปิดงานโดยพระวิเทศภาวนาจารย์
เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามด้วยนายแพทย์พรชัย พิญญพงษ์
ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เป็นผู้แทนอ่านสาสน์จากหลวงพ่อธัมมชโย จากนั้นมีพิธีกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
พิธีถวายเทียนพรรษา พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน พิธีถวายไทยธรรม
และพิธีกล่าวคำอธิษฐานจิตตามลำดับ
ขอกราบอนุโมทนาบุญทุกท่านที่ร่วมกันจัดพิธีตักบาตรพระ ๑๐,๐๐๐
รูป ที่เมืองมัณฑะเลย์ และพิธีถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และปัจจัยไทยธรรม
แด่คณะสงฆ์เมืองทวาย จำนวน ๗๐๐ รูป ๖๘๐ วัด ในครั้งนี้
Cr. อัญชลี เรืองจิต
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๖ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
ตักบาตรรวมใจชาวพุทธไทย-เมียนมาร์
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
22:18
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: