หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๗)


ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามพันธกิจ ๗ ขั้นตอนของสถาบันฯ คือ เรื่องความคืบหน้าของการจัดหาอาคารเพื่อสถาปนาเป็นที่ทำการของสถาบันฯ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี  เพราะการพัฒนาอาคารสถาบันฯ ขึ้น ย่อมเท่ากับเป็นการสืบสานงานการค้นพบวิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในวาระโอกาสบูชาธรรมครบรอบ ๑๐๐ ปีด้วย กับอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในเรื่องความเป็น ต้นแบบของนักวิจัยทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงที่ท่านได้ดำเนินตามรอยบาทของพระบรมศาสดาอย่างสมบูรณ์ ปฏิปทาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ที่มีความตั้งใจในการศึกษาทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ จนทำให้ท่านได้ค้นพบวิชชาธรรมกายได้ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ หรือเมื่อ ๑๐๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว นั่นคือมรดกแห่งหลักฐานธรรมกายที่เราจะต้องทำสืบสานต่อไปให้ดีที่สุด

ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่จะถึงนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ ๑๓๓ ปีของท่าน ซึ่งเราทราบกันเป็นอย่างดีว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เป็นบุคคลสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งในระดับโลก หลักคำสอนการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายและเรื่องราวหลักฐานธรรมกาย ณ วันนี้ได้ถูกเผยแพร่และขยายไปจนถึงในระดับนานาชาติแทบจะทุกภูมิภาคของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้วดังนั้น เราในฐานะลูกหลานผู้เป็นศิษยานุศิษย์ของท่าน หากต้องการที่จะทดแทนบุญคุณของท่านในวาระสำคญดังกล่าวข้างต้นจนกระทั่งถึงปีนี้ สิ่งที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้ดีที่สุดก็คือ การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายให้จงได้ หรือรวมตลอดถึงการพยายามเผยแผ่ความรู้ ความเข้าใจ หรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิชชาธรรมกายออกไปให้กว้างขวางมากที่สุด เป็นต้น

สำหรับสถาบันฯ DIRI ทีมงานทุกรูป/ทุกคนก็ได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจอย่างทุ่มเทชีวิตมาตลอดต่อเนื่อง จนถึง ณ เวลานี้ ไม่ว่าเรื่องความคืบหน้าของการสถาปนาอาคารสถาบันฯ DIRI เพื่อบูชาธรรม ๑๐๐ ปีครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายก็ดี หรือการส่งนักวิจัยของสถาบันฯให้มีโอกาสนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยออกไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติ หรือการประสานความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษานานาชาตินั้น ก็เป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า เรายังคงมุ่งมั่นเพื่อให้วิชชาธรรมกาย เรื่องราวเกี่ยวกับหลักฐานธรรมกาย ฯลฯ นั้น ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำความจริงให้ปรากฏถูกต้องตรงตามมโนปณิธานของหลวงพ่อธัมมชโยผู้เป็นองค์สถาปนาสถาบันฯ DIRI

ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการนำขององค์กร IABS (International Association of Buddhist Studies) ที่จัดการประชุมเป็นระดับโลกอย่างแท้จริง เพราะสามารถรวมบรรดานักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสาขาพระพุทธศาสนาระดับโลกและนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกที่สนใจมารวมกันนับพันคนและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน โดยจัดประชุมในรอบ ๓ ปีต่อครั้งตามประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงวงการกีฬาโลก คงหลีกไม่พ้นองค์การโอลิมปิกสากล หากเป็นวงการพุทธศาสนาโลกก็ต้องยกให้กับองค์กร IABS ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปเช่นเดียวกัน

พิธีเปิดการประชุมโดยศาสตราจารย์ซาโลมอน ประธานสมาคม IABS

พระนักวิจัยสถาบันนานาชาติธรรมชัย (DIRI) นำเสนอผลงานวิจัยต่อที่ประชุม ณ มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา

การประชุมปีนี้เป็นครั้งที่ ๑๘ จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ นักวิจัยของสถาบันฯ ๒ ท่านได้นำเสนอผลงานวิจัยและได้ผ่านการกลั่นกรองคัดเลือกจากจำนวนนับพันของนักวิชาการทั่วโลก เสมือนเป็นตัวแทนหมู่คณะที่ได้ไปร่วมประชุมวิชาการระดับโลกครั้งนี้ ซึ่งในที่ประชุมมีหัวข้อที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายนำมาเสนอเช่น หัวข้อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหรือหัวข้อที่มีการศึกษาค้นคว้าด้านคันธารีเบื้องต้น และมีบทความที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของวิชชาธรรมกาย เช่น เรื่อง “Experience in Meditation Texts” ที่บรรยายโดยรองศาสตราจารย์ Eric Greene จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการยกตัวอย่างบุคคล ซึ่งได้รับประสบการณ์ภายในจากการปฏิบัติธรรมกันมากมาย อีกทั้งเรื่อง “Traditional Theravada Meditation and its Modern-Era Suppression” ซึ่งเป็นเรื่องการศึกษาวิจัยด้านการทำกรรมฐานโบราณในพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่บรรยายโดยศาสตราจารย์ Kate Crosby จากวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยากยิ่งในปัจจุบันที่จะมีนักวิชาการระดับโลกหันมาสนใจศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง งานวิจัยเหล่านี้จึงถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีและน่าสนใจอย่างยิ่ง ควรที่นักวิจัยของสถาบันฯ DIRI ของเราจะนำไปเป็นฐานต่อยอดในการศึกษาวิจัยหรือเปรียบเทียบต่อไป เพราะในความเป็นจริงจากอดีตเรื่อง "การศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย และหลักฐานธรรมกายจนถึงปัจจุบันนี้ก็มีตัวอย่างจากบุคคลจำนวนมากมายทีเดียวที่มีประสบการณ์ที่น่าสนใจ

สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) และมูลนิธิ ๗๐ ปีธรรมชัยแห่งอินเดีย ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการนานาชาติ


อุบาสิกาสุทธิสา ลาภเพิ่มทรัพย์ (ซ้ายมือ) จบการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับการยกย่องท่ามกลางที่ประชุมว่าเป็นนักศึกษาที่มีผลงานวิจัยดีเด่น ๑ ใน ๓ ของมหาวิทยาลัย

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า มีนักวิจัยของสถาบันฯ ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ๒ ท่าน คือ พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ (ศึกษาในระดับปริญญาโทอยู่ที่ SOAS, University of London) ได้นำเสนอเรื่อง “Yi xin guan qi : Visualization Meditation in Early Chinese Buddhist Texts during the 5th Century” และดร.ณัฐปิยา สาระดำ ได้นำเสนอเรื่อง “The Earliest Style of Buddhist Stupas in Thailand : A Study of the Evolution of the Buddhist Stupas of the Dvaravati Period” ก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับฟังการบรรยายในครั้งนี้

เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปี ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) และมูลนิธิ ๗๐ ปีธรรมชัยแห่งอินเดีย ได้ร่วมแสดงความกตัญญูบูชาธรรมแด่มหาปูชนียาจารย์ด้วยการสนับสนุนและร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการนานาชาติ ที่จัดโดยภาควิชาเทววิทยาและศาสนาของมหาวิทยาลัยโคตมะบุดดา ณ เมืองเกรทเทอร์นอยดา ประเทศอินเดีย ช่วงระหว่างวันที่ ๗-๙ กันยายน ที่ผ่านมา และทีมงานวิจัยของสถาบันฯ ๒ ท่าน ซึ่งจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวในระดับปริญญาเอก คือ ดร.ณัฐปิยา สาระดำ ก็ได้รับเชิญให้นำเสนอผลงานวิจัยครั้งนี้ด้วย รวมทั้งอุบาสิกาสุทธิสา ลาภเพิ่มทรัพย์ ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท ก็ได้รับการยกย่องท่ามกลางที่ประชุมว่า เป็นนักศึกษาที่มีผลงานวิจัยดีเด่น ๑ ใน ๓ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับภาษาโบราณจากศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช และได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางจึงควรนับว่าเป็นเกียรติประวัติของสถาบันฯ อย่างยิ่งที่สามารถสนับสนุนส่งเสริมนักวิจัยของสถาบันฯ ให้ก้าวมาถึงจุดที่วงการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาระดับสากลให้การยอมรับในปัจจุบัน

โล่เกียรติคุณแด่ประธานอำนวนการสถาบันนานาชาติธรรมชัย (DIRI)

และที่ปลาบปลื้มยิ่งไปกว่านั้น คือ ในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมานี้เอง สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เฮเลน เฮนย์ รองอธิการบดี ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยโอทาโก และ รองศาสตราจารย์วีล สวีตแมน หัวหน้าภาควิชาเทววิทยาและศาสนศึกษา ได้ถวายรางวัลการนำเสนอโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนานกว่า ๑๐ ปี และการที่สถาบันฯ DIRIได้มอบทุนการศึกษาแก่ผู้มีผลการเรียนยอดเยี่ยมมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบันโดยมอบโล่เกียรติคุณแด่ประธานอำนวยการสถาบันฯ ซึ่งรางวัลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องและความสัมพันธ์อันดีของสถาบันทั้งสองอย่างชัดเจน และการที่สถาบันทั้งสอง คือ สถาบันฯ DIRI และมหาวิทยาลัยโอทาโกมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันทำให้การขยายองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นจากเดิมที่เคยมีการเรียนการสอนเพียงวิชาเดียว ต่อมามีนักศึกษาและผู้สนใจเข้ามาศึกษาด้านพุทธศาสตร์และภาษาสันสกฤตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จนมีองค์ประกอบความพร้อมทั้งคณาจารย์ ผู้สอน และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานเพียงพอ และมีผู้ที่สนใจใคร่ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ปัจจุบันนี้จึงทำให้ทางสภามหาวิทยาลัยโอทาโกได้อนุมัติให้มีการเปิดสอนพุทธศาสตร์ในระดับปริญญาโทเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา ๒๐๑๘ (พุทธศักราช ๒๕๖๑) ที่จะถึงนี้ ซึ่งความคืบหน้าอันสำคัญที่เกิดขึ้นแก่สถาบันฯ ในขั้นนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และพุทธบริษัทผู้รักในวิชชาธรรมกายทุก ๆ คนและถือเป็นความภาคภูมิใจในการที่จะทำให้วิชชาธรรมกาย ความรู้เรื่องหลักฐานธรรมกายขยายกว้างไปทั่วโลกร่วมกัน ดังนั้นรางวัลโล่เกียรติคุณที่ได้รับในรอบ ๑๐๐ ปี วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ทีมงานของสถาบันฯ DIRI จึงพร้อมใจน้อมถวายบูชาธรรมพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และองค์ผู้สถาปนาสถาบันฯ DIRI ในโอกาสมงคลนี้ด้วย

จากความสำเร็จทางวิชาการที่ได้สั่งสมต่อเนื่องมาโดยตลอดของสถาบันฯ DIRI นับว่าควรค่าแก่การกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามที่สืบเนื่องมาจากมโนปณิธานของมหาปูชนียาจารย์ในวิชชาธรรมกายทุก ๆ ท่านรวมกันโดยเฉพาะจากจุดเริ่มต้นที่มีพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นบุคคลต้นวิชชานั้น ตลอดชีวิตการสร้างบารมีของท่านล้วนแต่เป็นชีวิตของการสืบค้น และการยืนยันถึง ความมีอยู่ของวิชชาธรรมกายมาโดยตลอด ทั้งนี้จะเห็นได้จากในระหว่างที่ท่านกำลังศึกษาหาความรู้ด้านคันถธุระอยู่นั้นท่านไม่เคยทอดทิ้งการแสวงหาความรู้ด้านวิปัสสนาธุระเลย ท่านได้หมั่นเพียรพยายามที่จะเข้าหาครูวิปัสสนาในสำนักต่าง ๆ เพื่อศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อท่านได้บรรลุธรรมในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ หรือเมื่อ ๑๐๐ ปีล่วงมาแล้วนั้น ท่านก็ยังมิได้หยุดการศึกษาค้นคว้าเลยเช่นกัน ตรงกันข้ามท่านกลับยิ่งให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนส่งเสริมมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

สำหรับตัวท่านเองไม่เพียงแต่จะลงสอนธรรมะ แสดงพระธรรมเทศนาด้วยตนเองเท่านั้น แต่ยังฝึกหัดและจัดให้พระภิกษุสามเณรได้แสดงเทศนาปฏิภาณแบบรูปเดียวบ้าง เทศน์ปุจฉา-วิสัชนาบ้างถึง ๒-๓ ธรรมาสน์ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรเหล่านั้นสามารถที่จะแสดงพระธรรมเทศนาที่ศาลาการเปรียญได้อย่างเชี่ยวชาญ มีการจัดส่งพระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ด้านธรรมปฏิบัติให้ขยายการสอนออกไปทั้งในต่างจังหวัดและในต่างประเทศด้วยโดยเฉพาะในยุคนั้น หนังสือที่ท่านมอบหมายให้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางที่สุดก็คือ หนังสือ คู่มือสมภาร

ทั้งนี้ เส้นทางที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านได้ปฏิบัติมาโดยตลอดนี้ หากจะกล่าวไปแล้ว ควรนับได้ว่าเป็นประดุจเข็มทิศชี้ทางให้สถาบันฯ DIRI ได้นำมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาต่อไปได้อย่างดี ซึ่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางสถาบันฯ DIRI ได้ทำมานั้น มีหลาย ๆ สิ่งที่เสมือนเป็นการ สานต่อภารกิจการเผยแผ่วิชชาธรรมกายของท่านไปด้วยในตัว เช่น การแปลและการจัดพิมพ์หนังสือ คู่มือสมภารเป็นภาษาอังกฤษ (และกำลังดำเนินการให้มีการแปลเพิ่มเติมในภาษาอื่น ๆ อีก) การสนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิตนักศึกษาและนักวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การสนับสนุนส่งเสริมให้นักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย นักศึกษาทุนของสถาบันฯ ได้นำเสนอผลงานวิจัยในเวทีนานาชาติและก้าวสู่ระดับโลกสืบไป

ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอบันทึกไว้ในที่นี้ด้วยว่า การดำเนินตามรอยเส้นทางของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่เกิดขึ้นในนามของสถาบันฯ DIRI นั้น จะไม่สำเร็จลุล่วงได้เลย ถ้าหากไม่ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์เกื้อกูลอย่างดีจากเหล่าพุทธบริษัทผู้รักพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ทั้งนี้ทุกกิจกรรม ทุกความเคลื่อนไหวของสถาบันฯ ก็เป็นบุญเป็นกุศลที่กล่าวได้ว่าผลงานทั้งหลายเป็นของทุกท่านและผลบุญอันยิ่งใหญ่ก็เป็นของพวกเราทุกคนเช่นกัน

..ขอเจริญพร..

หมายเหตุ : ขอเชิญร่วมสถาปนาอาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ด้วยการเป็นเจ้าภาพกองทุนบูชาธรรม ๑๐๐ ปี วิชชาธรรมกาย โดยสามารถติดต่อร่วมเป็นเจ้าภาพได้ที่ คุณนฤมล ศรีสมนึก (จญ.ถั่วงอก)โทร. ๐๙-๐๖๐๖-๗๑๗๔ คุณวรรณี ปิยะธนะศิริกุล (ใหญ่) โทร. ๐๘-๖๕๖๐-๔๗๒๖

Cr นวธรรม และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๗) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๗) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:36 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.