มิงกะลาบา… เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๓)
บทความเรื่องมิงกะลาบา เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ตอนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงชนเผ่ามอญที่มีประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล
และชนเผ่าปยูที่มีความเจริญด้านอารยธรรม ทั้ง ๒ ชนชาติมีบทบาทสำคัญในลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบนและตอนกลาง และต่างก็นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทมาช้านาน
เรื่องราวของทั้งสองชนชาติเป็นข้อมูลให้คณะสำรวจของโครงการพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ
นำมาใช้ศึกษาประกอบการลงพื้นที่
เพื่อสำรวจค้นหาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศเมียนมาในปัจจุบัน
เพราะแหล่งใดในอดีตที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ณ
ที่นั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะยังคงมีคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานจารจารึกสืบทอดเรื่อยมานับตั้งแต่สมัยอาณาจักรโบราณ
และอาจมีคัมภีร์เก่าแก่เก็บรักษาไว้โดยที่ยังไม่มีใครเคยสำรวจพบมาก่อน
สำหรับเรื่องราวในตอนนี้จะกล่าวถึงชนชาติพม่า
ซึ่งได้รับเอาความเจริญของชนชาติมอญและปยูเข้าไปผสมผสาน
โดยเฉพาะการรับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้าไปยังอาณาจักรพุกาม
ซึ่งเป็นอาณาจักรแรกของชนชาติพม่า
ภาพวาดฝาผนังโบราณ เป็นภาพพระเจ้าอโนรธาและคณะพระภิกษุ |
เมื่ออาณาจักรของชาวปยูเสื่อมอำนาจลงจากการรุกรานของอาณาจักรน่านเจ้า ชาวพม่าที่มีเชื้อสายพม่า-ทิเบตจึงอพยพจากทางตอนใต้ของจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจายอำนาจการปกครองบริเวณตอนกลางของลุ่มน้ำอิรวดีแทนชนเผ่าปยู และสถาปนาอาณาจักรพุกามขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ใครเคยสำรวจพบมาก่อน สำหรับเรื่องราวในตอนนี้จะกล่าวถึงชนชาติพม่า ซึ่งได้รับเอาความเจริญของชนชาติมอญและปยูเข้าไปผสมผสาน โดยเฉพาะการรับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้าไปยังอาณาจักรพุกาม ซึ่งเป็นอาณาจักรแรกของชนชาติพม่า ศูนย์กลางของอาณาจักรตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่แห้งแล้งกึ่งทะเลทราย แต่เป็นชัยภูมิที่ดีเนื่องจากเป็นบริเวณที่แม่น้ำชินด์วินไหลมารวมกับแม่น้ำอิรวดี และอยู่ระหว่างพื้นที่การเกษตรที่มีระบบชลประทานที่ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นทำเลที่ตั้งจึงเอื้อต่อการควบคุมเส้นทางการเดินเรือและควบคุมการเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอาณาจักร
ในระยะแรกอาณาจักรยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคงนัก
เพราะยังมีการทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติอยู่ จนกระทั่งในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ
(พระเจ้าอโนรธา) พระองค์ทรงรวบรวมแว่นแคว้นน้อยใหญ่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พระองค์จึงได้รับยกย่องให้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม นอกจากความเป็นปึกแผ่นด้านอาณาจักรแล้ว พระองค์ยังทรงวางรากฐานด้านศาสนจักรโดยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาเถรวาทบนแผ่นดิน
ทั้งยังทรงให้การอุปถัมภ์ค้ำจุน
เป็นผลให้สมัยอาณาจักรพุกามเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเถรวาทมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในประวัติศาสตร์เมียนมา
ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากโบราณสถานทางโบราณคดีที่เป็นเจดีย์ วิหาร และสิ่งก่อสร้างอื่น
ๆ มากกว่า ๔,๐๐๐ แห่ง จนกระทั่งพุกามได้รับสมญานามว่า ‘เมืองแห่งทะเลเจดีย์’
นอกจากนี้เรื่องราวพระพุทธศาสนาของอาณาจักรพุกามยังปรากฏในวรรณกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร
อาทิ จารึกกัลยาณีและหนังสือศาสนวงศ์ เป็นต้น
ตามประวัติศาสตร์เมียนมากล่าวว่าพระเจ้าอโนรธาทรงเติบโตมาในวัดที่พระราชบิดาทรงพระผนวช
เมื่อเติบใหญ่ขึ้น
ได้ทรงทำสงครามแย่งราชบัลลังก์จากพระเชษฐาต่างมารดามาถวายคืนแก่พระราชบิดา
แต่พระราชบิดาทรงปฏิเสธเนื่องจากพระชนมายุมากแล้ว พระเจ้าอโนรธาจึงทรงครองราชย์แทนและทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักรด้วยการรวบรวมแว่นแคว้นต่าง
ๆ เข้าด้วยกันแล้วดำเนินการปกครองอย่างเป็นระบบ
ในด้านศาสนาทรงเล็งเห็นว่า ชาวพุกามในขณะนั้นมีความเชื่องมงายเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า “นัต” ทั้งยังถูกครอบงำด้วยอิทธิพลคำสอนของนักบวชนอกรีตที่เชื่อในเวทมนต์คาถาและมีหลักปฏิบัติที่ค้านกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงมีมโนปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ด้วยการประดิษฐานหลักธรรมและแนวทางปฏิบัติที่แท้จริงของพระพุทธองค์บนแผ่นดินพุกาม
ครั้นเมื่อพระองค์ทรงพบกับพระสงฆ์มอญผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนามว่า
พระชินอรหันต์
ที่เดินทางมาจากเมืองสะเทิมเพื่อมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทยังดินแดนพุกาม
พระเจ้าอโนรธาจึงทรงเกิดพระราชศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก
จึงทรงส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วแผ่นดิน และมีพระราชกระแสรับสั่งให้จับนักบวชนอกรีตสึกแล้วให้อุปสมบทใหม่ตามหลักพระพุทธศาสนา หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตาม
ก็จะถูกลงโทษ
พระเจ้าอโนรธายังทรงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากลังกามาประดิษฐาน
ณ เจดีย์ชเวซิกอง ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ดัดแปลงมาจากเจดีย์ของชาวมอญ
สร้างในสมัยพระเจ้าอโนรธา
แต่แล้วเสร็จในสมัยพระเจ้าจันสิตถายอดเป็นฉัตรขนาดใหญ่ประดับอัญมณี องค์เจดีย์ประดับทองคำเปลวสีทองอร่าม
องค์ระฆังมีรัดอกซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์พม่าฐานเจดีย์เป็นฐานบัว ๓ ชั้น
ที่มุมปรากฏเจดีย์จำลอง มีช่องใส่ภาพเล่าเรื่องชาดก
บริเวณเจดีย์มีเสาจารึกด้วยภาษามอญ
เจดีย์ชเวซิกองแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบในการสร้างเจดีย์ของพม่าในยุคต่อ ๆ มา
___________________
ขอขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก
Guy, J. (2014). Lost Kingdoms :
Hindu-Buddhist Sculpture of Early Southeast Asia (Metropolitan Museum of Art).
: Yale University Press.
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
มิงกะลาบา… เยือนเมียนมาค้นหาคัมภีร์ (ตอนที่ ๓)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:19
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: