ร้อยเรียงลาน... สืบสานพุทธธรรม
การเก็บรักษามัดห่อคัมภีร์ไว้อย่างดีนั้นนับเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมและน่าอนุโมทนา แต่ก็อาจทำให้ผู้สนใจศึกษาเข้าถึงตัวคัมภีร์โดยตรงได้ไม่สะดวกนัก อีกทั้งเมื่อมีวัสดุอื่น ๆ เข้ามาแทนที่ เช่น หนังสือกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ คนรุ่นหลังจึงไม่ค่อยรู้จักคัมภีร์ใบลาน หลายท่านอาจไม่ทราบเลยว่าสมบัติพระศาสนาอันล้ำค่าภายใต้ผ้าห่อคัมภีร์นั้นมีรูปลักษณ์เช่นไร
หนังสือใบลานจะไม่ใช้ตัวเลขเรียงลำดับหน้า
แต่จะใช้อักษรแทน เรียกว่า “อักษรบอกอังกา” จารไว้ที่ตรงกึ่งกลางริมซ้ายด้านหลังของใบลานแต่ละใบเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
หากเปรียบเทียบคัมภีร์ใบลานกับหนังสือที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีส่วนประกอบหลักที่คล้ายคลึงกัน คือมีปกหน้า ปกหลัง สัญลักษณ์บอกหน้าหนังสือ การเรียงลำดับหน้า และการเข้าเล่ม จะต่างกันที่วิธีการ วัสดุที่ใช้ และการเรียกชื่อที่ไม่เหมือนกัน
หน้าแผ่นคัมภีร์ทำจากใบลาน ไม่ใช่กระดาษเหมือนทุกวันนี้ การเขียนอักษรลงบนแผ่นใบลานจึงต้องใช้การจารด้วยเหล็กแหลมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีเลขบอกลำดับหน้า เรียกว่า “อักษรบอกอังกา” เป็นตัวอักษรตามพยัญชนะภาษาบาลีซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๓๓ ตัว โดยจารไว้ริมด้านซ้ายด้านหลังของใบลานแต่ละใบ
ตัวอย่าง คัมภีร์ใบลาน ๑ มัด
ประกอบด้วย ๑๐ ผูก ผูกละ ๒๔ ลาน ยกเว้นผูกสุดท้ายที่มีลานมากกว่าปกติ
วิธีร้อยสายสนอง จะทำห่วงผูกไว้ที่ปลายข้างหนึ่ง แล้วเอาปลายอีกข้างหนึ่งร้อยเข้าไปในห่วง โดยโอบรอบกึ่งใบลานด้านบน
ใบลานที่จารแล้วจะถูกมัดรวมเป็นผูก โดยทั่วไปจะนับ ๒๔ ลานเป็นเกณฑ์ เมื่อจารครบ ๒๔ ลาน จะมัดรวมกันเรียกว่า “๑ ผูก” หากเนื้อหาที่จารยาวเกินไป ก็จะขึ้นผูกใหม่ คัมภีร์มัดหนึ่งจึงมีจำนวนผูกมากน้อยต่างกัน บางเรื่องอาจจบเพียง ๔ ผูก แต่บางเรื่องอาจยาวถึง ๒๐-๓๐ ผูกก็ได้ ผูกสุดท้ายพิเศษกว่าผูกอื่น ๆ เพราะโดยมากมีความยาวเกิน ๒๔ ลาน ส่วนที่เกินนับเป็นจำนวนลาน เช่น มี ๒๘ ลาน เรียกว่า๑ ผูก ๔ ลาน เป็นต้น
เมื่อจะมัดใบลานรวมเป็นผูกก็จะใช้ “สายสนอง” คือ ไหมหรือด้ายเป็นหูร้อยผูกใบลาน โดยร้อยตามรูที่เจาะเอาไว้ทางริมซ้ายเพียงข้างเดียว เรียกว่า “ร้อยหู” เมื่อจะอ่านคัมภีร์ก็คลายสายสนองออก และดึงเข้าให้แน่นสนิทเมื่ออ่านเสร็จแล้ว
การอ่านคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกจะต้องคลายสายสนอง
เพื่อให้คลี่หรือพลิกใบลานได้
หนังสือเรื่องหนึ่งมีหลายผูกรวมกันเป็นคัมภีร์หนึ่งหรือมัดหนึ่ง เพื่อความแข็งแรงและสวยงาม เมื่อจัดเก็บจะมี “ไม้ประกับ” ขนาบ ๒ ข้าง เป็นปกหน้าและปกหลัง ลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างยาวเท่าใบลาน และหนาประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร ส่วนใหญ่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้จันทน์ อาจมีการตกแต่งให้สวยงาม มีมากมายหลายประเภทเรียกตามลักษณะของวัสดุที่ใช้ในการตกแต่ง เช่น ไม้ประกับไม้สักธรรมดา ไม้ประกับแกะสลัก ไม้ประกับประดับมุก ไม้ประกับประดับเกล็ดหอย ไม้ประกับประดับงา ไม้ประกับประดับกระจก ไม้ประกับลายทองจีน ไม้ประกับทาสีแดง ไม้ประกับรักทึบหรือทารักดำเป็นต้น
ไม้ประกับลายทองจีน |
ไม้ประกับประดับมุก |
ไม้ประกับขอบบัวลงรักลายไทย |
ไม้ประกับทาสีแดง |
ไม้ประกับทารัก |
ไม้ประกับธรรมดา |
Cr. Tipitaka (DTP)
ร้อยเรียงลาน... สืบสานพุทธธรรม
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
19:15
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: