ธรรมคุ้มครองโลก



หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร

สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ 
ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก
(พุทธพจน์)

มนุษย์ทุกชาติทุกศาสนาล้วนปรารถนาให้โลกมีสันติสุขที่แท้จริง แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไร จนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า วิธีการที่จะทำให้โลกเกิดสันติสุขที่แท้จริงนั้น จะต้องให้ทุกคนในโลกเข้าถึงสันติสุขภายในก่อน คือ เข้าถึงพระธรรมกายซึ่งมีอยู่แล้วในตัวของทุกคน ธรรมกายเป็นแหล่งกำเนิดของความสุข เป็นแหล่งของสติและปัญญา เมื่อเข้าถึงแล้วมนุษย์จะมีความคิดคำพูด และการกระทำที่ดีจะมีการแบ่งปันให้แก่กัน แล้วสันติสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในโลก

โลกของเรานี้ได้รับการคุ้มครองด้วยธรรม จึงทำให้สังคมมนุษย์มีความสงบสุข ธรรมที่คุ้มครองโลกอยู ่นี้ เรียกว ่า หิริโอตตัปปะ ดังพุทธพจน์บทหนึ่งว่า

หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร

สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและ โอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก

หิริ คือ ความละอายที่จะความชั่ว โอตตัปปะ คือ ความกลัวต่อผลของความชั่ว หิริโอตตัปปะเป็นธรรมของผู้มีคุณธรรม ที่จะนำพาเราก้าวไปสู่สุคติโลกสวรรค์เพราะผู้จะเป็นเทวดาได้ต้องมีคุณธรรม คือ หิริ
โอตตัปปะอยู่ในใจ หิริโอตตัปปะจึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เทวธรรมคือ ธรรมที่จะทำให้เราได้เป็นเทวดา อีกทั้งเทวธรรมนี้ คือ ธรรมคุ้มครองโลก หากคนทั้งโลกมี หิริโอตตัปปะละอายต่อการทำบาปและกลัวต่อผลของบาปก็จะไม่ทำบาปอกุศล จะตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ มนุษย์ทั้งหลายก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สันติภาพของโลกย่อมจะบังเกิดขึ้นเมื่อมวลมนุษย์พากันประพฤติธรรม ธรรมะก็จะคุ้มครองมนุษย์ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

*ในอดีตกาล เคยมีผู้ตามหาเทวธรรมนานถึง ๑๒ ปี เฝ้ารอคอยผู้รู้ที่จะมาบอกว่า เทวธรรมคืออะไร สมัยนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าพรหมทัต นามว่า มหิสสาสกุมาร มีพระอนุชานามว่า จันทกุมาร พระชนนีของพระโอรสทั้งสองได้สวรรคตไปในขณะที่พระโอรสยังทรงพระเยาว์อยู่ พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงมีพระมเหสีใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานยิ่งนัก เมื่อพระนางให้กำเนิดพระโอรสนามว่า สุริยกุมาร พระเจ้าพรหมทัตจึงพระราชทานพรแก่พระโอรส ครั้นเมื่อพระโอรสเจริญวัยขึ้น พระมเหสีก็กราบทูลขอราชสมบัติ พระองค์จึงจำใจต้องพระราชทานราชสมบัติให้แก่พระโอรสองค์เล็กตามที่พระราชทานพรไว้
(* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๑๐๔)

พระเจ้าพรหมทัตทรงวิตกกังวลว่า พระนางอาจคิดปองร้ายต่อมหิสสาสกุมารและจันทกุมาร จึงรับสั่งให้พระโอรสทั้งสองออกจากเมืองไปแสวงหาที่ปลอดภัยกว่า และรับสั่งว่าเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วจึงค่อยกลับมาครองราชสมบัติ

สุริยกุมารขอตามพี่ทั้งสองไปด้วยพระโอรสทั้งสามจึงเดินทางไปด้วยกัน ในระหว่างทางได้ช่วยกันสร้างที่พักอาศัยในที่ร่มรื่นแห่งหนึ่ง สุริยกุมารออกไปหาน้ำ เมื่อพบแหล่งน้ำแล้ว ก็รีบเดินลงไปตักน้ำ แต่ทว่าสระน้ำนี้เป็นที่อาศัยของผีเสื้อน้ำตนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวรรณ และได้รับเทวบัญชาจากท้าวเวสสุวรรณว่า ห้ามออกไปจับสัตว์หรือมนุษย์กินนอกบริเวณสระน้ำเป็นอันขาด แต่ถ้าผู้ใดลงมาในสระก็จับกินได้ ยกเว้นผู้ที่รู้เทวธรรมห้ามทำอันตรายเด็ดขาด

สุริยกุมารถูกผีเสื้อน้ำจับตัวไว้แล้วถามว่า เจ้ารู้จักเทวธรรมไหมสุริยกุมารตอบว่า เทวธรรม คือ พระจันทร์และพระอาทิตย์” ผีเสื้อน้ำจึงกล่าวว่า ท่านรู้ไม่จริงจึงจับสุริยกุมารเอาไปขังในที่อยู่ของตน

มหิสสาสกุมารเห็นว่าน้องคนเล็กหายไปนานจึงให้จันทกุมารไปตามหา เมื่อจันทกุมารเดินตามรอยเท้าน้องชายไปถึงสระน้ำ ทันทีที่จันทกุมารก้าวลงไปในน้ำ ก็ถูกผีเสื้อน้ำจับไว้ และถามถึงเรื่องเทวธรรม จันทกุมารตอบว่า เทวธรรม คือ ทิศทั้งสี่” ผีเสื้อน้ำก็จับจันทกุมารไปขังรวมไว้กับสุริยกุมาร




เมื่อจันทกุมารหายไปอีกคน มหิสสาสกุมารจึงออกไปตามน้องทั้งสอง เดินสะกดรอยตามไปจนกระทั่งถึงสระน้ำ สังเกตเห็นรอยเท้าที่น้องทั้งสองเดินลงไป แต่ไม่มีรอยเท้ากลับขึ้นมาจึงรู้ทันทีว่าในสระน้ำนี้จะต้องมีผีเสื้อน้ำอาศัยอยู่ พระองค์กระชับพระขรรค์และถือธนูเตรียมพร้อมไว้ เดินสำรวจดูรอบ ๆ สระอย่างระมัดระวัง โดยไม่ก้าวลงไปในสระน้ำ

ผีเสื้อน้ำคอยสังเกตอยู่ในสระ เมื่อเห็นมหิสสาสกุมารไม่ยอมลงไปในสระ จึงแปลงกายเป็นมนุษย์ เดินเข้าไปหาแล้วแสร้งถามว่า ท่านคงเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ทำไมไม่ลงไปดื่มน้ำให้สบายเสียก่อนล่ะ” พระกุมารพิจารณาแล้ว ก็สันนิษฐานได้ทันทีว่า จะต้องเป็นผีเสื้อน้ำแปลงตัวมาแน่ จึงถามตรง ๆ ว่า เจ้าจับน้องทั้งสองของข้าไปใช่ไหม” 

ถึงแม้ว่าผีเสื้อน้ำจะดุร้ายแต่ก็ไม่โกหก จึงยอมรับว่าใช่ พระกุมารถามว่า เจ้าจับมนุษย์กินได้ทุกคนหรือ” ผีเสื้อน้ำตอบว่า เราจับกินได้ทุกคนยกเว้นแต่ผู้ที่รู้จักเทวธรรมเท่านั้นพระกุมารจึงบอกว่า ถ้าท่านอยากรู้เทวธรรม เราก็จะแสดงธรรมให้ฟังแล้วขึ้นไปนั่งอยู่บนอาสนะที่สูงกว่า กล่าวพระคาถาด้วยพุทธลีลาว่า

สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีธรรมของเทวดา

เมื่อมหิสสาสกุมารแสดงเทวธรรมจบลง ผีเสื้อน้ำเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระราชกุมาร อยากจะประพฤติธรรมตามที่ได้ฟังทุกประการ แต่ผีเสื้อน้ำยังอยากกินมนุษย์อยู่ จึงบอกพระกุมารว่า เราเชื่อแล้วว่าท่านเป็นผู้รู้เทวธรรมจริง เราอนุญาตให้ท่านดื่มและ ใช้น้ำในสระนี้ได้ตามใจชอบ แต่จะคืนน้องชายให้ท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเรายังต้องกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหารอยู่ ท่านจะเลือกเอาคนไหนล่ะ

มหิสสาสกุมารขอให้คืนน้องชายคนเล็ก ผีเสื้อน้ำจึงกล่าวโทษว่า ท่านบัณฑิต ท่านรู้จักเทวธรรมก็จริง แต่ท่านไม่ได้ประพฤติตนตามเทวธรรมเลย ทำไมจึงบอกให้ปล่อยน้องคนเล็ก แทนที่จะให้ปล่อยน้องคนโต การกระทำเช่นนี้ ได้ชื่อว่าไม่ให้เกียรติแก่ผู้มีอายุซึ่งมีวัยวุฒิมากกว่า

มหิสสาสกุมารจึงอธิบายว่า เรารู้จักเทวธรรมและประพฤติเทวธรรมด้วย การที่เราต้องเอาน้องคนเล็กกลับไป ก็เพราะน้องคนเล็กไม่ได้เกิดร่วมมารดาเดียวกับเรา และการที่เราต้องมาอยู่ในป่านี้ก็เพราะมารดาของน้องคนนี้ทูลขอราชสมบัติให้เขา ถ้าเราไม่ได้ตัวเขากลับไป ถึงเราจะพูดความจริงว่าน้องชาย
คนเล็กถูกยักษ์ในป่าจับกินเสียแล้ว ก็คงไม่มีใครเชื่อ เขาย่อมครหาว่า เราสองพี่น้องร่วมมือกันฆ่าน้องคนเล็ก เพราะเห็นแก่ราชสมบัติ เราพิจารณาดีแล้วจึงขอให้คืนน้องคนเล็ก




เมื่อผีเสื้อน้ำได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงเกิดความเลื่อมใสอย่างแท้จริง กล่าวสรรเสริญขึ้นว่า ดีแล้วท่านบัณฑิต ท่านเป็นผู้รู้จักเทวธรรมและประพฤติตามด้วย เราจะคืนน้องของท่านให้ทั้ง ๒ คนเมื่อได้น้องชายคืนแล้ว มหิสสาสกุมารก็สั่งสอนผีเสื้อน้ำด้วยความกรุณาว่า ตัวท่านเกิดมากินเลือดกินเนื้อของผู้อื่นเพราะบาปที่สร้างไว้แต่ชาติปางก่อน ชาตินี้ท่านก็ยังทำบาปอยู่อีก จงเลิกเสียเถิด มิฉะนั้นท่านจะไม่พ้นจากนรกเป็นแน่

เมื่อพระราชาเสด็จสวรรคตแล้ว ทั้งสามจึงพากันกลับเข้าเมือง และพาผีเสื้อน้ำไปด้วย โดยจัดที่อยู่และให้อาหารเช่นมนุษย์ และให้ประพฤติธรรมไปจนตลอดชีวิต ส่วนพระโพธิสัตว์ก็ขึ้นครองราชย์ แล้วตั้งใจสร้างบารมีปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมจนสิ้นอายุขัย ละโลกแล้วก็ไปเป็นใหญ่ในสุคติโลกสวรรค์

เราจะเห็นได้ว่า ความสงบสำรวม ไม่ทำบาปอกุศล และตั้งอยู่ในกุศลธรรม เป็นคุณธรรมที่บัณฑิตทั้งหลายประพฤติกันเป็นปกติตัวเราก็เช่นเดียวกัน ต้องประพฤติตามแบบแผนของบัณฑิตในกาลก่อน ชีวิตจะได้ปลอดภัย ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น ให้หมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง ดำรงตนให้เป็นผู้มีเทวธรรมประจำใจ ธรรมนี้จะได้ปกป้องคุ้มครองเราให้ปลอดจากภัย ทั้งในโลกนี้และในสังสารวัฏ และอย่าลืมหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งตลอดเวลา หยุดนิ่งในทุกอิริยาบถ และทำให้สม่ำเสมอทุกวันอย่าได้ขาด แล้วเราจะได้เข้าไปพบกับกายทิพย์ ซึ่งเป็นกายของเทวดาที่สถิตอยู่ภายในตัวของเรา

นอกจากประพฤติธรรมของเทวดาแล้ว เรายังเข้าถึงกายของเทวดาภายในอีกด้วย และถ้าจะให้ดีต้องหยุดในหยุดจนเข้าถึงพระธรรมกายภายใน เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาวิชชาธรรมกายแล้ว เราจะได้ไปพิสูจน์ถึง ความมีอยู่จริงของเทวดาในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จะได้หายสงสัยเรื่องของโลกสวรรค์กันเสียที ดังนั้นให้ทุกคนหมั่นประพฤติเทวธรรมและทำใจหยุดนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันให้ได้เถิด


Cr. ธรรมะเพื่อประชาชน

ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
วารสารอยุ่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
ธรรมคุ้มครองโลก ธรรมคุ้มครองโลก Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:27 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.