พระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรหรือไม่ และจะนำมาใช้ได้อย่างไร?



ถาม : ทุกวันนี้ องค์กร ห้างร้าน บริษัท นิยมจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้พร้อมต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรหรือไม่ และจะนำมาใช้ได้อย่างไร?

คำตอบ : การพัฒนาตนเองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับว่า ทำอย่างไรเราถึงจะมีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมความดีมากกว่าเดิม จนกระทั่งอยู่ในระดับที่ว่า เมื่อไปทำงานอะไรแล้ว ก็กลายเป็นคนที่ทำสุดฝีมือ ทำให้ดีที่สุด จนกระทั่งมีความสำเร็จในการสร้างตัวสร้างฐานะตามมา

ในการเริ่มต้นพัฒนาตัวเองนั้น พระพุทธศาสนามิได้สอนให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่สอนให้มองเข้าไปในตัวเรา เพื่อจะได้เห็นข้อบกพร่องของตัวเองให้ชัด ๆ จากนั้นจะได้เริ่มปรับปรุงแก้ไขให้ถูกจุด แล้วนำไปเปรียบเทียบกับตัวเราเมื่อวานนี้ โดยมีหลักการง่าย ๆ ว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำให้ดีกว่าเมื่อวาน เพื่อเพาะนิสัยทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งจะส่งผลมาถึงความตั้งใจสั่งสมบุญสร้างบารมีให้เต็มที่อย่างยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย

ในการดำเนินชีวิตทางโลก คนที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างองอาจสง่างามนั้น จะต้องพัฒนาตนเองจนกระทั่งมีความสำเร็จอย่างนี้อยู่ในมือ คือ ๑) มีความน่าเชื่อถือ ๒) มีปัญญา ๓) มีทรัพย์ และ๔) มีพวกพ้องบริวาร ความสำเร็จทั้ง ๔ เรื่องนี้ ถือเป็นความสำเร็จตามมาตรฐานในทางโลก

ในทางพระพุทธศาสนา ความสำเร็จทั้ง ๔ เรื่องนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ได้มาจากการฝึกฝนอบรมตนเองของคน ๆ นั้น จนกระทั่งเกิดเป็นคุณธรรมประจำตัวที่เรียกว่า ฆราวาสธรรมอันเป็นต้นกำเนิดให้ความสำเร็จและคุณงามความดีต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาในชีวิตอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

ฆราวาสธรรม ประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ข้อ
๑. ความซื่อสัตย์ ภาษาบาลีใช้คำว่า สัจจะ
๒. ความตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเอง ภาษาบาลีใช้คำว่า ทมะ
๓. ความอดทนอันเป็นต้นเหตุแห่งความขยัน ภาษาบาลีใช้คำว่า ขันติ
๔. ความเสียสละ เห็นแก่ส่วนรวม ภาษาบาลีใช้คำว่า จาคะ

ชีวิตฆราวาสนั้น ถ้าจะให้ยืนหยัดสร้างบารมีให้ได้เต็มที่ เต็มอิ่ม เต็มใจ เต็มมือ จำเป็นจะต้องบ่มเพาะฆราวาสธรรมมาเป็นคุณธรรมประจำตัวให้ได้ คุณธรรมก็คือ นิสัยดี ๆ ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมตนเองผ่านการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือฝึกผ่านงานใน ๕ ห้องชีวิตของเรา ซึ่งได้แก่ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องอาหาร ห้องทำงาน นั่นเอง

ฆราวาสธรรมเกิดขึ้นในตัวคนเราได้อย่างไร
ฆราวาสธรรมแต่ละข้อนั้น ฝึกฝนขึ้นมาเป็นนิสัย เป็นคุณธรรมประจำตัวเราได้ดังนี้

คุณธรรมข้อแรก มีความซื่อสัตย์ (สัจจะ)
ความซื่อสัตย์ คือ ความจริงจังกับงาน ความจริงใจกับคน และความจริงใจกับการทำความดี

คนที่มีความจริงจัง คือ คนที่มีนิสัยทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด ดีทั้งคุณภาพ ดีทั้งทันเวลา ถ้าทำแล้วไม่ดีไม่ได้ ไม่ดีไม่ยอม ดีแต่ไม่ทันเวลาก็ไม่ยอมอีก เช่นทำข้อสอบดีแต่ไม่ทันเวลา มันก็คือสอบตก

คนที่มีความจริงใจ คือ คนที่ตั้งใจทำความดีกับคนรอบข้างด้วยความเต็มใจ ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ทำไปเพราะรู้สึกว่าถูกบังคับ แต่ทำไปเพราะอยากจะได้บุญ ยกตัวอย่างเช่น การตั้งใจดูแลพ่อแม่ ไม่ใช่เพราะอยากได้มรดก แต่อยากได้บุญกับพ่อแม่ เมื่อฝึกฝนความจริงใจกับคนมาก ๆ ขึ้น ก็จะกลายเป็นคนที่มีความจริงใจต่อความดี กลายเป็นคนที่เต็มใจทำทุก ๆ สิ่งที่เป็นความดีให้ออกมาดีที่สุด ทั้งมีคุณภาพ ทั้งทันเวลาใช้งาน กระทั่งกลายเป็นนิสัยมีความซื่อสัตย์ติดตัวไป

คนจะมีความซื่อสัตย์ได้ต้องเริ่มจากการทำงานทุกอย่างใน ๕ ห้องชีวิตให้ดีก่อน โดยจะต้องทำให้สะอาด ให้เป็นระเบียบ ให้ถูกวิธี ขณะเดียวกันเวลาทำงานก็ต้องรู้จักถนอมน้ำใจ มีความจริงใจกับทุกคนที่อยู่ร่วมห้อง ร่วมสถานที่เดียวกับเราด้วย

เมื่อคิดจะทำให้ดีอย่างนี้ ความช่างสังเกต ความละเอียดลออพิถีพิถันจะเกิดขึ้นมา แล้วจะพัฒนาให้เรากลายเป็นคนมีสัจจะ มีความซื่อสัตย์ มีความจริงจังกับงาน จริงใจกับทุกคน และจริงใจกับการทำความดี เพราะทำแล้วได้บุญ

คุณธรรมข้อที่สอง รักการแก้ไขปรับปรุงตัวเอง (ทมะ)
คนที่คิดจะแก้ไขปรับปรุงตัวเอง คือ คนที่มีนิสัยทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งคำว่าดีที่สุดมีมาตรฐานอยู่ที่ทำงานด้วยความสะอาดและความเป็นระเบียบ ถ้าตราบใดยังทำงานไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบ คน ๆ นั้นจะยังไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง เพราะเขายังมองข้อบกพร่องของตัวเองไม่ออกเนื่องจากยังขาดความช่างสังเกต ขาดความละเอียด ที่เกิดจากการฝึกตัวเองให้รักความสะอาดและรักความเป็นระเบียบในการทำงาน

คนที่ไม่รักความสะอาด ไม่รักความเป็นระเบียบนั้น เมื่อใดที่ทำงานสู้คนอื่นไม่ได้ แล้วตัวเองไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ไม่ได้เงินเดือนเพิ่ม แทนที่เขาจะมองว่าเป็นข้อบกพร่องของตัวเอง กลับมองออกไปนอกตัว โทษคนอื่นว่าขี้อิจฉา คอยเลื่อยขาเก้าอี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นความสะอาด ความเป็นระเบียบ จึงเป็นบทฝึกให้เราสามารถมองเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง มองเห็นช่องทางแก้ไขตัวเองไปเป็นเปลาะ ๆ

การฝึกหยาบให้ละเอียด ก็คือการแก้ไขนิสัยแบบข้างนอก ส่วนการนั่งสมาธิ ก็คือการแก้ไขนิสัยแบบข้างใน คือเข้าศูนย์กลางกายไปแก้ไขกิเลส

คุณยายอาจารย์ฯ ให้ข้อคิดไว้ว่า คนที่มีความสะอาดมากพอ มีความเป็นระเบียบมากพอ ใจจะนุ่มนวลอยู่ภายใน ใจจะไม่หยาบกระด้าง เมื่อฝึกสมาธิจะทำให้ใจสงบนิ่งดิ่งเข้ากลางธรรมะภายในได้ง่าย

ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ความสะอาด ความเป็นระเบียบ คือ ต้นทางของการแก้ไขตัวเอง คนที่รักความสะอาดและรักความเป็นระเบียบ ก็คือคนที่มีนิสัยรักการปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

คุณธรรมข้อที่สาม มีความอดทน (ขันติ)
คนที่มีความอดทน คือ คนที่มีความขยันในการแก้ไขปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีอุปสรรคหรือความยากลำบากเกิดขึ้น ก็ไม่ย่อท้อที่จะทำงานออกมาให้ดีที่สุด คือทั้งสะอาดที่สุด เป็นระเบียบที่สุด และทันใช้งานอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ตัวเองมีนิสัยทำให้ดีที่สุดติดตัวไป

ในการแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องของตัวเองนั้น จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะข้อบกพร่องนั้น เกิดจากที่เราเคยชินกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องมานานจนกระทั่งกลายเป็นนิสัย ยกตัวอย่างเช่น เราอาศัยอยู่ในบ้านที่สกปรกรกรุงรังมานานจนเคยชินเป็นสิบ ๆ ปี พอเรารู้แล้วว่า นี่เป็นข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ก็ลงมือทำความสะอาดบ้าน จัดข้าวของให้เป็นระเบียบทันที แต่เนื่องจากเราสะสมความสกปรกรกรุงรังมาเป็นสิบ ๆ ปี กว่าจะทำให้กลับมาสะอาดเอี่ยมได้ ก็ต้องเหนื่อยกับการปัดกวาดเช็ดถูอยู่เป็นเดือน ๆ ถึงจะกำจัดความสกปรกที่หมักหมมไว้ได้หมด

ช่วงระยะเวลาที่ลงมือทำความสะอาด ลงมือจัดระเบียบข้าวของอย่างต่อเนื่องนี้เอง คือ ช่วงเวลาที่บม่ เพาะความอดทน ยิ่งกว่านั้น เมื่อจะรักษาความสะอาดความเป็นระเบียบในบ้านต่อไป ก็ต้องอดทนทำความสะอาดทุกวัน อดทนจัดระเบียบทุกวัน จนกระทั่งไม่รู้สึกว่าต้องอดทน แต่กลายเป็นความรักความเต็มใจที่จะดูแลบ้านให้ดีที่สุด

ดังนั้น ความขยันฝึกฝนตนเองผ่านงานใน ๕ ห้องชีวิต เพื่อให้เป็นคนรักความสะอาดรักความเป็นระเบียบอย่างต่อเนื่องนี้เอง ที่กลายเป็นบ่อเกิดความอดทน ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ทำให้บังเกิดความสำเร็จต่าง ๆ ในชีวิตตามมา เพราะความอดทนนั้นเป็นเบื้องหลังของทุก ๆ ความสำเร็จ

คุณธรรมข้อที่สี่ มีความเสียสละ เห็นแก่ส่วนรวม (จาคะ)
คนที่มีความเสียสละ คือ คนที่ยิ่งฝึกตนเองเข้มงวดมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเห็นใจคนอื่นมากเท่านั้น เพราะรู้ซึ้งดีว่า การฝึกฝนอบรมตนเองให้มีความรู้ มีความสามารถ มีคุณธรรมความดีมากพอที่จะทำการงานได้ประสบความสำเร็จนั้น เป็นสิ่งที่ยากขนาดไหน ถ้าหากตัวเองไม่เคยได้รับน้ำใจจากผู้อื่นยื่นมือมาสอนให้ ก็คงจะเอาดีไม่ได้เช่นกัน

เมื่อก่อนนี้ เวลาที่เราเห็นใครทำอะไรไม่เข้าท่า บางครั้งก็อาจโกรธเขาว่า สิ่งที่ควรจะทำเขากลับไม่ทำ ต้องมาเป็นภาระให้เราทำ ให้เราเหนื่อยมากขึ้นไปอีก แต่หลังจากที่เราฝึกตัวมากขึ้น ก็จะเกิดความคิดอีกทางหนึ่ง คือเกิดความเห็นใจคนที่ยังฝึกตัวมาไม่ถึงระดับเดียวกับเราว่า ถ้าหากเขายังไม่รู้ตัวตั้งแต่ในชาตินี้ว่า ยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก เขาก็จะไม่รู้ว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนคนอื่น จึงเกิดเป็นความสงสารขึ้นมาว่า หากปล่อยเอาไว้จะแก้ไขยาก แล้วจะกลายเป็นปัญหาลุกลามไม่จบสิ้น เพราะแม้แต่เราเอง กว่าจะรู้ตัวว่ามีข้อบกพร่อง กว่าจะรู้วิธีแก้ไขและกว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ได้สำเร็จ ก็ใช้เวลานานเป็นปี ๆ บางอย่างก็นานเป็น ๑๐-๒๐ ปี เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่โกรธง่าย มีแต่ความสงสารเข้ามาแทน แล้วก็กลายเป็นการสละอารมณ์ทิ้งไป เมื่อก่อนเคยรำคาญอะไรง่ายก็เลยสละทิ้ง เคยหงุดหงิดง่ายก็เลยสละทิ้ง

ด้วยเหตุนี้ จาคะจึงเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นจากการเริ่มสละอารมณ์ขุ่นมัวในใจนี้ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็พร้อมที่จะสละทรัพย์สินเงินทองสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือคน เพื่อช่วยเหลืองานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ด้วยความเต็มใจ ก่อนที่คนเหล่านั้นจะกลายเป็นคนที่แก้ข้อบกพร่องนั้น ๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะต้องรีบช่วยก่อนที่เขาจะสูญเสียความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะกลายเป็นการสูญเสียความซื่อสัตย์ที่มีอยู่ในตัวของเขาไป

ความคิดห่วงใยเพื่อนมนุษย์นี้เอง ทำให้เรายินดีที่จะสละความสะดวกสบายของตัวเอง ยินดีแม้กระทั่งบางครั้งอาจจะต้องลงไปช่วยฝึกฝนอบรมเขาใหมี้ความร้คูวามสามารถขึ้นมาในระดับที่พึ่งพาตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของคุณธรรมข้อจาคะ คือ ความยินดีเต็มใจที่จะเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้ส่วนรวม

จากคำอธิบายข้างต้นนี้ จะเห็นว่าฆราวาสธรรมทั้ง ๔ ประการ ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นคุณธรรมที่ฝึกไม่ยาก แต่ต้องรู้วิธีฝึก ดังนั้นต่อไปนี้ให้เราฝึกงานทุกชิ้นใน ๕ ห้องชีวิตให้เป็นและให้ดี แม้มีลูกน้อง มีลูกหลาน ไม่ว่าจะรวยหรือจน จะฉลาดหรือโง่ เราก็ต้องฝึกให้เขาทำงานทุกอย่างใน ๕ ห้องชีวิตให้เป็นและให้ดี เพื่อจะได้มีนิสัยดี ๆ เป็นคุณธรรมติดตัวไปเมื่อเราอดทนฝึกจนกระทั่งเขาทำงานได้ดี มีความรวดเร็ว ละเอียดลออและประณีต จนเป็นนิสัยติดตัวไป แม้วันหลังเขาไปทำงานอย่างอื่นลับหูลับตาเรา เขาก็จะทำได้ดี รวดเร็ว และประณีต สิ่งใดที่เป็นข้อบกพร่อง เขาจะรู้เห็นชัดและกำจัดไปได้เร็วโดยที่ไม่ต้องรอให้เราบอกเราเตือน สิ่งใดที่เป็นคุณความดี เขาก็รู้ได้ชัด แล้วเขาก็น้อมนำมาฝึกฝนปฏิบัติให้ทับทวียิ่งขึ้นไปด้วยตัวของเขาเอง

เมื่อเขารักการฝึกฝนตนเองแบบนี้ เขาก็จะกลายเป็นคนที่มีฆราวาสธรรมเป็นคุณธรรมประจำใจ ความสำเร็จต่าง ๆ ในทางโลก ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือ ปัญญา ทรัพย์สมบัติ พวกพ้องบริวารก็จะไหลมาเทมา ความสำเร็จต่าง ๆ ในทางธรรม คือบุญบารมีทั้งหลายก็จะไหลมาเทมา เพราะเขากลายเป็นคนที่ทำความดีด้วยความเต็มที่ เต็มอิ่ม เต็มใจ เต็มมือ ทำอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อสั่งสมบุญติดตัวไปให้เต็มที่ เพื่อสร้างสรรค์สังคมส่วนรวมให้ดีงาม

เพราะฉะนั้น เรื่อง ฆราวาสธรรม ก็คือ หลักการพัฒนาตนเองที่เป็นคำสอนอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ว่าใครจะไปอบรมหลักสูตรใด ๆ มาก็ตาม เมื่อถึงคราวลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ก็ต้องฝึกตัวเองไปตามเส้นทางของฆราวาสธรรม ผ่านการงานใน ๕ ห้องชีวิต นั่นเอง..

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖
พระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรหรือไม่ และจะนำมาใช้ได้อย่างไร? พระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรหรือไม่ และจะนำมาใช้ได้อย่างไร? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:22 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.