จุดกำเนิดและความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา


 ภาวะเสี่ยงที่สรรพสัตว์ต้องประสบ
✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ...ความได้อัตภาพมนุษย์เป็นเรื่องยาก

ในชีวิตของคนเรานั้นตกอยู่ใน ภาวะเสี่ยงมากมายต่างกรรมต่างวาระกันไป แต่ภาวะเสี่ยงที่อาจกล่าวได้ว่าสำคัญที่สุด ที่เราทุกคนจะต้องพบนั้นมีอยู่ ๓ วาระ คือ

วาระที่ ๑ ภาวะเสี่ยงในยามก้าวสู่ครรภ์ เพราะในยามก้าวสู่ครรภ์มารดานี้เป็นเครื่องกำหนด อัตภาพของเราว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร บ้างเป็นมนุษย์ บ้างเป็นสัตว์

วาระที่ ๒ ภาวะเสี่ยงในยามออกจากครรภ์ เพราะในยามนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมจากครรภ์มารดาออกมาสู่โลกภายนอก บ้างมีชีวิต บ้างเสียชีวิต

วาระที่ ๓ ภาวะเสี่ยงในยามละจากโลก เพราะในยามนี้เป็นเครื่องกำหนด ภพใหม่” ที่จะนำเราไปเกิด บ้างไปสู่สุคติ บ้างไปสู่ทุคติ

แล้วทำอย่างไรเราจึงจะสามารถ ลดภาวะเสี่ยงที่สำคัญทั้ง ๓ วาระนี้ลงได้ คำตอบของคำถามนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีผู้ที่ยอมตกอยู่ใน ภาวะเสี่ยงดังกล่าวมาก่อนเรานับครั้งไม่ถ้วน ผู้นั้นคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาของพวกเรา


กำเนิดบุรุษผู้มีใจมุ่งพระโพธิญาณ
✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦

กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ...ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ยาก

เราต่างก็ใช้ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสุคติ ผ่านทุคติ ผ่านภาวะเสี่ยงมานานนับไม่ถ้วน แต่ด้วยเหตุที่ภพชาติมาเป็นเครื่องกั้น ทำให้เราลืมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาเสียสิ้น แต่ถึงกระนั้น ก็มีบุรุษผู้หนึ่งที่มี ความคิดที่จะก้าวข้ามวงจรแห่งความเสี่ยงนั้นและจะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายก้าวตามไปด้วย

บุรุษผู้นี้ได้แสวงหาวิธีการต่าง ๆ นานานับไม่ถ้วน ผ่านกาลเวลาที่นับไม่ได้ ผ่านอัตภาพที่ยากจะคาดคะเน บางครั้งเป็นมนุษย์ บางคราเป็นสัตว์ แต่ไม่ว่าจะมีอัตภาพหรือสภาพความเป็นอยู่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ บุรุษผู้นี้ไม่เคยที่จะย่อท้อ ไม่เคยอ่อนข้อให้อุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา บุรุษผู้นี้จึงได้รับการขนานนามว่า พระโพธิสัตว์สัตว์ผู้มุ่งหวังพระโพธิญาณ



กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ...การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นเรื่องยาก

ด้วยความมุ่งมั่นในเป้าหมาย มีอธิษฐานบารมีเป็นเครื่องกำกับ ทำให้ พระโพธิสัตว์ได้มีโอกาสพบและฟังพระสัทธรรมจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ในอดีตนับพระองค์ไม่ถ้วน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระโพธิสัตว์ได้เห็น ต้นแบบเป็นประจักษ์พยานด้วยตาตนเองว่า บุคคลเช่นไรที่ได้ชื่อว่าผู้บรรลุพระโพธิญาณและเมื่อได้มีโอกาสฟังพระสัทธรรมจากพระองค์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำเป้าหมาย มโนปณิธาน ที่จะไปให้ถึงพระโพธิญาณตามที่ได้ตั้งไว้

จากเป้าหมายในใจที่ไม่มีแม้แต่ภาพ ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าสิ่งที่ตนตั้งไว้นั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และถ้ามีความเป็นไปได้ จะมีได้มากน้อยเพียงใด จะต้องทำด้วยวิธีการอย่างไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น เปลี่ยนมาเป็นประจักษ์พยานที่เห็นได้ด้วยตา ได้ยินได้ด้วยหู สัมผัสได้ด้วยกาย พวกเราลองจินตนาการดูเถิดว่า พระโพธิสัตว์ท่านจะมีความปลื้มปีติใจเพียงใด



บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ นับแต่อดีตอันไกลพ้น
✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦

กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท...
การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเรื่องยาก

ภายหลังจากการสั่งสมประสบการณ์ ผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านภาวะเสี่ยงต่าง ๆ นานัปการจนกระทั่งบุญบารมีเต็มเปี่ยมพร้อมที่บรรลุพระโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภพชาติสุดท้าย ตามมโนปณิธานที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในกาลก่อน

แม้ภาวะเสี่ยงทั้ง ๓ วาระในข้างต้นที่เกิดกับบุคคลทั่วไป บัดนี้ไม่อาจทำอันตรายแก่พระองค์ได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ยังมีให้พบเห็นเป็นระยะ ๆ

เนื่องด้วยภายหลังจากพระโพธิสัตว์ได้ประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน ด้วยอาการแห่งผู้มีบุญญาธิการ พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดา ทรงสดับถ้อยคำที่กล่าวเป็นนัยแห่งการออกบวชของพระโพธิสัตว์ถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา คือ จากอสิตดาบสผู้ทรงอภิญญา และจากการพยากรณ์ลักษณะมหาบุรุษของพราหมณ์ผู้ทรงไตรเพททั้ง ๘ ท่าน ทำให้พระบิดาทรงเกิดความกังวลใจเกรงว่าโอรสของตนจะมีใจให้กับ ชีวิตสมณะมากกว่า ชีวิตจักรพรรดิจึงทรงกระทำทุกวิถีทางเพื่อปิดบังความจริงไม่ให้พระโพธิสัตว์มีโอกาสระลึกถึงชีวิตสมณะ ไม่ว่าจะเป็น ปราสาท ๓ ฤดูหรือ การอภิเษกสมรสสิ่งเหล่านี้ได้ดึงความสนใจของพระโพธิสัตว์ไว้ถึง ๒๙ ปี

แต่แล้วก็มาถึงวันที่ สิ่งปกปิดภายนอกถูกเปิดออกด้วยบารมีธรรมที่สั่งสมมา ทำให้พระโพธิสัตว์ได้พบกับ เทวทูต ๔คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงเป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์ละทิ้ง ความสุขจอมปลอมมาแสวงหา ความสุขอันจีรังด้วยการออกบวช

ถึงกระนั้น ความเสี่ยงก็ยังคงมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่พระโพธิสัตว์ได้เข้าถึงสมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นสมาบัติขั้นสูงสุดที่สมณพราหมณ์ในยุคนั้นจะสามารถเข้าถึงได้ จึงได้รับการเชื้อเชิญจากพระดาบสผู้แนะนำแนวทางให้อยู่เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ร่วมกันกับตนหรือการที่พระโพธิสัตว์ได้ทรมานตนตามแนวความคิดในยุคนั้น ที่เชื่อกันว่าเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์อยู่ถึง ๖ ปี

แม้จะพ้นจาก สิ่งปกปิดภายนอกแต่ก็ยังไม่อาจหลีกพ้น สิ่งปกปิดภายในซึ่งก็คือ แนวปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นที่มีอยู่มากมายหลายวิธีไปได้ บางวิธีออกนอกลู่นอกทาง อย่างวิธีทรมานตน หรือบางวิธีอยู่ในลู่ในทาง แต่ไปได้ไม่ถึงที่สุด เช่น การบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อให้เข้าถึงสมาบัติ

จนในท้ายที่สุดพระโพธิสัตว์ได้หันหลังให้กับแนวปฏิบัติทั้งปวงในยุคนั้น ดำเนินจิตไปตามเส้นทาง มัชฌิมาปฏิปทาภายในมีความสงบระงับไปตามลำดับ จนในที่สุดได้เข้าถึงพระธรรมกาย และอาศัย ธรรมจักษุของพระธรรมกายไป เห็นและรู้ในอริยสัจ ขจัดกิเลสและสังโยชน์ทั้งปวงไปตามลำดับ กระทั่งบรรลุพระโพธิญาณเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” สมความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้

ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขํ
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏ แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นกำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจดังดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น



จุดสิ้นสุดของพระโพธิสัตว์...
จุดเริ่มต้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦

ความเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เป็น จุดสิ้นสุดหากแต่เป็น จุดเริ่มต้นของการ ทำหน้าที่กัลยาณมิตรแก่มวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงส่งหรือต้อยต่ำเพียงใดก็ตาม ขอเพียงมีอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ สามารถบรรลุธรรมได้เท่านั้นพระองค์ก็จะเสด็จไปโปรด ควบคู่ไปกับการ ต่อกรกับมารอีก ๔ ฝูงที่เหลือ คือ เทวบุตรมาร มัจจุมาร ขันธมาร และอภิสังขารมาร พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญกรณียกิจเช่นนี้ตลอด ๔๕ พรรษา โดยไม่มีวันหยุด

แม้บุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถก้าวข้ามบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ แต่ก็ยังไม่อาจหลีกพ้นจาก ความตายไปได้ เนื่องด้วยมี ความเกิดมาเป็นจุดเริ่มต้นเสียแล้ว แต่ทว่าความตายหรือการดับขันธปรินิพพานของพระองค์ เป็น ความตายที่สมบูรณ์แบบคือ หลุดพ้นจากวงจรสังสารวัฏ ไม่ต้องพบกับ ภาวะเสี่ยงใด ๆ อีกต่อไปตลอดกาลนาน

วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด



ความเจริญยั่งยืนของพระพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับสิ่งใด ?
✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦

แม้พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปกว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้วก็ตาม แต่ พระธรรมที่ทรงแสดงและ พระวินัยที่ทรงบัญญัติ เปรียบเสมือนรากฐานอันแข็งแกร่งของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงก่อร่างสร้างขึ้นมาด้วยมโนปณิธานอันแน่วแน่นับแต่อดีตอันไกลโพ้นเป็นเสมือน ธรรมนูญชีวิตของพุทธบริษัท ๔ และจากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอันยาวนานทำให้เราเห็นว่า เมื่อใดที่เหล่าพุทธบริษัท ๔ มีความสมัครสมานสามัคคี อีกทั้งยังเป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา ปริยัติรักใคร่ในการ ปฏิบัติจนเกิดผลเป็น ปฏิเวธและแบ่งปันธรรมรสไปสู่ผู้อื่นด้วยการทำหน้าที่ กัลยาณมิตรเมื่อนั้นพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนั้นจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง แต่หากมิได้เป็นดังที่ได้กล่าวมา ก็จะมีผลในทางตรงกันข้าม ดังนั้นพระพุทธศาสนาจะ รุ่งเรืองหรือ เสื่อมถอยขึ้นอยู่กับพุทธบริษัทอย่างพวกเรา หาได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นใดไม่ และในบัดนี้พระพุทธศาสนาได้ถูกส่งต่อมาถึงมือของพวกเราแล้ว เราจะส่งต่อพระพุทธศาสนาในสภาพใดให้กับคนในรุ่นต่อไป ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของพวกเราในวันนี้

พระพุทธศาสนา...อาจมีจุดกำเนิดจากมหาบุรุษเพียงหนึ่ง
หากแต่ความเจริญยั่งยืน...ต้องอาศัยกำลังของพุทธบริษัทเป็นสำคัญ

-------------------------------------------
Cr. พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโยดร.
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๕ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
จุดกำเนิดและความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา จุดกำเนิดและความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:45 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.