พบหลักฐานธรรมกายใน “สมาธิราชสูตร"



หลายคนเข้าใจไปว่า คำว่า “ธรรมกาย” เป็นคำใหม่ที่เพิ่งได้ยินได้ฟังกันแพร่หลายใน 1-2 ศตวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้นำคำนี้มาเผยแผ่ จนเกิดความฮือฮาเป็นที่สนใจของผู้คนทั้งหลาย แล้วต่างตั้งคำถามขึ้นเยอะแยะมากมายว่า “ธรรมกาย” หมายถึงอะไร ? หมายเอาใคร ?  เป็นสิ่งที่มีจริงไหม ? และจะเข้าถึงได้อย่างไร ?

จนกระทั่งมีนักวิชาการผู้รู้หลายท่านทำการค้นคว้าหาหลักฐาน  จนค้นพบว่าในพระไตรปิฏกของพระพุทธศาสนาเถรวาทหลายๆ ฉบับ ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ล้วนมีคำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่น

“ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ” (ที. ปา. (บาลี) 11/ 55/ 92) ซึ่งแปลว่า “ก็ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ คำว่า ธรรมกาย นี้ เป็นชื่อของตถาคตเจ้า”

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นปัจจุบันยังค้นพบคำว่า “ธรรมกาย” ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจำนวนมากด้วย เช่นใน “สมาธิราชสูตร”  ซึ่งพระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่กล่าวถึงการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา และเรื่องกายธรรมที่อยู่ภายในตัวของมนุษย์ โดยเฉพาะกายที่ซ้อนอยู่ภายในขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ “ธรรมกาย” นั่นเอง

“สมาธิราชสูตร” ได้กล่าวไว้ว่า การที่ปุถุชนคนมีกิเลสธรรมดาๆ จะสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องอาศัยบุญบารมีที่สั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติจนเต็มบริบูรณ์ (A buddha’s body is born from merit.) และการจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้เกิดจากการได้รูปกายภายนอก (กายมนุษย์) ที่ได้ลักษณะมหาบุรุษครบ 32 ประการอันวิจิตรงดงาม  แต่หมายถึงกายภายใน (ธรรมกาย) ที่วิจิตรงดงามยิ่งกว่า ซึ่งพระองค์ได้เข้าถึงนั่นเอง

การที่เราจะมองเห็นกายภายในของพระพุทธเจ้าได้นั้น ต้องเกิดจากการทำสมาธิเท่านั้น ดังประโยคที่ยืนยันใน “สมาธิราชสูตร” ที่ว่า..อิมํ สมาธึ ภาวิตฺวา กายํ พุทฺธสฺย ชฺญาสฺยติ แปลว่า คนเจริญสมาธินี้แล้ว จึงจักรู้จักกายของพระพุทธเจ้า เพราะสิ่งที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า คือ ธรรมกาย อันละเอียดประณีต ไม่สามารถมองเห็นด้วยตามนุษย์ แต่จะเห็นได้ด้วยตาธรรมอันเกิดจากการทำสมาธิ ดังประโยคที่ยืนยันใน “สมาธิราชสูตร” ที่ว่า..ธรฺมกายา  หิ พุทฺธา ภควนฺโต ธรฺมกายปฺรภาวิตาศฺจ น รูปกายปฺรภาวิตา แปลว่า เพราะว่า พระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคทั้งหลาย คือ ธรรมกาย ถูกอบรมด้วยธรรมกาย มิใช่ถูกอบรมด้วยรูปกาย

นอกจากนี้ ลักษณะพระธรรมกายของพระพุทธเจ้านั้น  ยังเป็นสิ่งอจินไตย บุคคลจะกำหนดกะเกณฑ์ไม่ได้ว่า ต้องมีรูปร่างกว้างเท่านั้น ยาว (สูง) เท่านี้ โดยเฉพาะ “สีผิว” ของพระธรรมกายจะไม่มีสีของผิวพรรณ นั่นก็หมายความว่า จะมีลักษณะสีใสสะอาดบริสุทธิ์นั่นเอง ดังประโยคที่ยืนยันใน “สมาธิราชสูตร” ที่ว่า..น ธรฺมกายสฺวฺรโณ แปลว่า สีผิวของธรรมกาย ย่อมมี หามิได้

เมื่อผู้อ่านกวาดสายตามาจนถึงบรรทัดนี้ เชื่อได้ว่าคงได้รู้จักกับคำว่า “ธรรมกาย” ว่า หมายถึงอะไร ? หมายเอาใคร ?  เป็นสิ่งที่มีจริงไหม ? และจะเข้าถึงได้อย่างไร ? ไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้เขียนเองก็ขอขอบคุณข้อมูลอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับ “พระธรรมกาย” ใน “สมาธิราชสูตร” ที่เจ้าของนามปากกาชื่อ “ธรรมทัศน์” ได้รวบรวมไว้ดีแล้วนี้

สุดท้ายนี้ ขอบุญบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมหาปูชนียาจารย์ทุกท่าน ให้ผู้อ่านทุกท่าน จงเห็นพระธรรมกาย โดยเร็วพลันเป็นอัศจรรย์เทอญฯ

Cr. พระมหาศุภณัฐ นฺทชโย ป.ธ.9
พบหลักฐานธรรมกายใน “สมาธิราชสูตร" พบหลักฐานธรรมกายใน “สมาธิราชสูตร" Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:51 Rating: 5

2 ความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.