วินัยสําคัญอย่างไร ?
คําถาม : วินัยสําคัญอย่างไร ?
หลวงพ่อทัตตชีโว : คําว่า “วินัย”
มาจากศัพท์บาลี วิ กับ นัย
วิ มาจากคําว่า วิเศษ, นัย หมายถึง ข้อแตกต่าง “วินัย”
โดยคําแปลจึงหมายถึงข้อแตกต่างที่วิเศษหรือพิเศษ
ข้อแตกต่างจากคนทั่วไปที่ทําให้วิเศษหรือดีขึ้น
ที่ว่าวิเศษก็คือ สามารถยกใจของผู้ปฏิบัติ ยกใจของหมู่คณะให้ดีขึ้น
ส่วนข้อแตกต่างจากคนทั่วไปปฏิบัติก็คือ ข้อห้าม ระเบียบ ข้อบังคับ ที่วางไว้
ซึ่งจะลดการกระทบกระทั่งกันในหมู่คณะ ทําให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน
ทําให้วิเศษขึ้นมา และกลายเป็นความดีงามของหมู่คณะ
ดังนั้น วินัยจึงได้แก่ระเบียบ ข้อบังคับ
ที่วางไว้เป็นหลักให้ถือปฏิบัติตาม เพื่อความสงบเรียบร้อยดีงามของตนเองและหมู่คณะ
นิสัยมีวินัยจึงหมายถึงนิสัยมีปกติรักการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กําหนดไว้ด้วยความเต็มใจ
วินัยมีทั้งขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง
วินัยพื้นฐานจําเป็นสําหรับมนุษย์ทุกคนที่จะต้องฝึกให้มี ให้เป็น
เพื่อประโยชน์สุขของตน เพราะจะเป็นฐานสําหรับการฝึกวินัยขั้นต่อ ๆ ไปได้สําเร็จ
เนื่องจากธรรมชาติการฝึกวินัยนั้น ต้องฝึกไปตามลําดับเป็นขั้นเป็นตอนจากง่ายไปยาก
วินัยขั้นพื้นฐานมี ๔ ประการ
วินัยขั้นพื้นฐานประการแรก
ว่าด้วยวิธีแสดงความเคารพ ท่าทางแสดงความเคารพที่แสดงออกมาแม้ยังไม่เกิดความเคารพจริง
แต่อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยยับยั้งไว้ว่าอย่ารีบต่อต้าน อย่าเพิ่งจับผิดกัน
ดังนั้นจึงต้องฝึกท่าทางการแสดงความเคารพไว้ก่อน วันหน้าจึงจะจับถูกเป็น
ถ้าไม่ฝึกการแสดงความเคารพให้เป็น ปล่อยให้มีการดูถูกหรือไม่เกรงใจกันตั้งแต่ต้น
วันหน้าจะจับถูกใครไม่เป็น เพราะถ้าไม่มีความเคารพแล้ว ใจจะกระด้าง
พอกระด้างแล้วจะรับความดีจากคนอื่นไม่ได้
ถ้าไม่รีบฝึกให้มีความเคารพตั้งแต่ต้น ต่อไปจะกลายเป็นนักจับผิดแทน
พอจับผิดแล้วจะไม่ยอมจับถูกใคร
ตัวอย่างเช่น พ่อแม่กําลังอุ้มลูกตัวน้อยอยู่ พอเจอพระภิกษุเดินมา
พ่อแม่ก็จับ ๒ มือของลูกรวบเข้ามาพนมและจับให้ค้อมหัวลง แล้วบอกให้ลูก “สาธุ”
ลูกรู้ไหมว่า “สาธุ” คืออะไร เด็กยังไม่รู้
แต่ลูกน้อยก็เรียนรู้ว่า เมื่อเจอพระให้พนมมือขึ้นและก้มหัวลงพร้อมกับกล่าวคําว่า “สาธุ”
เมื่อไปเจอพระพุทธรูป ก็สอนลูกให้กราบตามพ่อแม่ไปก่อน
ครั้นลูกโตขึ้นตั้งคําถามเป็น เมื่อลูกถามว่าทําไมต้องกราบพระพุทธรูป
ทําไมต้องไหว้พระ พ่อแม่ก็ต้องแจกแจงให้ลูกรู้ว่า
พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ท่านดีอย่างไร
ลูกจึงจะเข้าใจและยอมรับนับถือปฏิบัติตามจนกระทั่งกลายเป็นนิสัยได้
วันนี้
หลวงพ่อขอฝากวิธีที่โยมพ่อปลูกฝังหลวงพ่อมาตั้งแต่เด็กไว้เป็นแนวคิดในการฝึกลูกหลานให้มีความเคารพ
ให้จับถูกหรือจับดีคนอื่น
เมื่อหลวงพ่อยังเด็ก เวลาที่ลุงป้าน้าอา
อดีตผู้บังคับบัญชา หรือพรรคพวกเพื่อนฝูงของโยมพ่อมาเยี่ยมที่บ้าน
ไม่ว่าหลวงพ่อจะเล่นอยู่ที่ไหน โยมพ่อก็จะเรียกให้มากราบมาไหว้ลุงป้าน้าอา
ฝึกปฏิสันถารต้อนรับ หัดนําน้ำดื่มหรืออาหารคาวหวานมาต้อนรับแขก
นอกจากนี้โยมพ่อยังพรรณนาให้ฟังว่า ลุงคนนี้มีความสามารถอย่างนั้นอย่างนี้
ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ป้าคนนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ น้าคนนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้
ภาพของคนดี ๆ จึงประทับอยู่ในใจหลวงพ่อกลายเป็นโมเดลคนดีระดับหนึ่งอยู่ในใจ
นอกจากนั้น ถ้าผู้ใหญ่สนทนากันในเรื่องที่ไม่ใช่ความลับเฉพาะผู้ใหญ่
โยมพ่อก็จะให้หลวงพ่อ นั่งอยู่ด้วยที่มุมห้อง เพื่อหัดฟังผู้ใหญ่คุยกัน
พอลุงป้าน้าอากลับแล้ว โยมพ่อก็จะเรียกมาคุยมาสอนต่อ เช่น
เมื่อกี้ลุงเขาพูดถึงจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ไปหยิบแผนที่มาสิ
เอามาดูกันว่าจังหวัดนั้นอยู่ตรงไหนของประเทศไทย โยมพ่อฝึกหัดหลวงพ่อมาอย่างนี้
คุณค่าของการมีความเคารพในปฏิสันถารจึงเกิดขึ้นในตัวหลวงพ่อ
จนกระทั่งทุกวันนี้สิ่งที่โยมพ่อให้ไว้คิดว่าจนตายก็ใช้ไม่หมด
เพราะฉะนั้นความเคารพในปฏิสันถารนี้เป็นเรื่องใหญ่ อย่ามองข้าม
แต่ถ้าคนไหนแสบ ๆ มาที่บ้าน
แม้นั่งอยู่กับโยมพ่อ ท่านก็ไล่ให้เราออกไปก่อน เพราะห่วงว่าลูกจะติดนิสัยแสบจากคนพวกนี้
เพราะฉะนั้นผู้เป็นพ่อเป็นแม่ควรสอนลูกให้รู้ไว้ก่อนว่า ใครควรคบ ไม่ควรคบ
ถ้าลูกไปคบคนผิด อย่าเพิ่งโทษลูก แต่ให้รู้ว่าพ่อแม่เองที่บกพร่องในหน้าที่
เพราะไม่ได้สอนลูกก่อนที่จะปล่อยลูกให้ไปเจอกับโลกภายนอกที่มีคนหลายประเภท
ทั้งดีและไม่ดี
สิ่งที่คู่กับความเคารพ คือ
ความอ่อนน้อมถ่อมตน ลองไตร่ตรองดูว่า หากมีแก้วใส่น้ำ ๒ ใบ
ถ้าระดับน้ำในแก้วสูงเท่ากันและวางระดับเดียวกันจะถ่ายเทน้ำให้กันไม่ได้
แต่ถ้าแก้วใบหนึ่งลดระดับการวางลงต่ำกว่าอีกแก้ว ก็จะถ่ายเทน้ำให้กันได้
ความเคารพก็เช่นกัน นอกจากจับจ้องมองดูความดีของคนอื่นแล้ว
ต้องลดตัวเองลงมาขั้นหนึ่ง จึงจะรับน้ำใจ รับความรู้ รับความดี
จากผู้ที่เราให้ความเคารพได้ การแสดงความเคารพไม่ใช่การเสียเกียรติแต่อย่างใด
เพราะความรู้และความดีที่เราจะได้จากการมีความเคารพและแสดงความเคารพออกมานั้นมากมายนัก
วินัยขั้นพื้นฐานประการที่ ๒
ว่าด้วยความสะอาด ที่ไหนมีความสะอาด ที่นั้นจะมีบรรยากาศของการจับถูก
มีการมองหาความดีกัน
แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับความสะอาดคือความสกปรก ความสกปรกเป็นสิ่งที่เป็นโทษ
เพราะมีความสกปรกที่ไหน ที่นั้นจะมีการจับผิดกัน พื้นที่ไหนที่เราต้องดูแล
ถ้าไม่สะอาดไม่นานก็จะถูกจับผิด พอได้จับผิดแล้ว การดูถูกก็ตามมา
จากนั้นถ้ามีความจําเป็นต้องทํางานร่วมกัน การเกี่ยงงานก็ตามมา
เพราะไม่อยากทํางานในที่ที่สกปรก ถ้ายังปล่อยความสกปรกเอาไว้อีก การมั่วสุมก็ตามมา
ผลสุดท้ายจะได้คนมักง่าย เช่น ถนนที่กวาดเอาไว้ไม่ดี
มีขยะแล้วไม่เก็บกวาดไปทิ้งให้หมด ไม่นานก็จะมีขยะสารพัดที่คนมักง่ายเทมาเพิ่ม
สุดท้ายคนอื่น ๆ ก็จะพากันมาเทขยะตรงนี้
กลายเป็นเพิ่มคนมีนิสัยมักง่ายขึ้นมา หรือถ้าไม่ขัดห้องน้ำให้สะอาด
คนต่อไปก็ไม่อยากทําความสะอาด ปล่อยให้ห้องน้ำเหม็นสกปรก ต่อไปคนก็จะพากันเกี่ยงงานทําความสะอาดห้องน้ำ
กลายเป็นเพาะนิสัยเกี่ยงงานไปอีก
ดังนั้นการฝึกวินัยว่าด้วยความสะอาดจึงเป็นพื้นฐานที่สําคัญ ดูเบาไม่ได้เลย
วินัยขั้นพื้นฐานประการที่ ๓
ว่าด้วยความเป็นระเบียบ เมื่อสะอาดแล้วต้องจัดวางให้เป็นระเบียบด้วย
ระเบียบนั้นสําคัญอย่างไร จําไว้ว่าอะไรก็ตามแม้ทําให้สะอาดแล้ว
แต่ถ้าจัดไว้ไม่เป็นระเบียบก็ยังรกอยู่ดี ลองดูโต๊ะที่สะอาด กระดาษทุกชิ้นก็สะอาด
แต่ถ้าวางไม่เป็นระเบียบเกิดความรกทันที และดูสกปรกไปในตัวทั้ง ๆ ที่ไม่มีฝุ่นเลย
วินัยขั้นพื้นฐานประการที่ ๔
ว่าด้วยความตรงต่อเวลา หากไม่ตรงต่อเวลา
ถึงแม้มีความสะอาดความเป็นระเบียบเท่าใดก็ตาม ในไม่ช้าก็จะกระทบกระทั่งกันได้
ดังนั้น วินัยขั้นพื้นฐานที่ปฏิบัติตามแล้วจะยกใจผู้ปฏิบัติให้สูงขึ้น
ทําให้หมู่คณะและสังคม เกิดความเรียบร้อยดีงามนั้น มี ๔ ประการ คือ
วินัยว่าด้วยวิธีแสดงความเคารพ วินัยว่าด้วยความสะอาด วินัยว่าด้วยความเป็นระเบียบ
และวินัยว่าด้วยความตรงต่อเวลา บุคคลใดฝึกตัวให้มีวินัยขั้นพื้นฐาน ๔
ประการนี้แล้ว ย่อมประสบแต่ความสุข ความเจริญ
เป็นที่รักที่นับถือเป็นผู้ที่น่าเข้าใกล้ของหมู่ชนทั้งหลาย
และเป็นแบบอย่างของบุคคลใกล้ชิดได้
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๑ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ที่นี่
- กฐินทาน...ผลานิสงส์ใหญ่ที่ใครก็ไม่ควรพลาด
- ๑๐ ตุลาคม ร่วม ๗ บุญใหญ่ด้วยใจกตัญญู
- เราคือความหวังของโลกใบนี้
- ทุกอย่างเผลอเป็นเสร็จ
- พิธีถวายสังฆทานแด่คณะสงฆ์ ๓๒๓ วัด ปีที่ ๑๔ ครั้งที่ ๑๓๙
- หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๐)
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- ผู้ประพฤติธรรม
- วินัยสำคัญอย่างไร ?
- ย้อนอดีต..ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๑๑)
- อานุภาพของความเป็นระเบียบ
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ที่นี่
- ฉบับที่ ๑๘๑ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๒ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๓ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๔ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๕ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๖ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๗ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๘ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๘๙ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๙๐ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๙๑ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑
- ฉบับที่ ๑๙๒ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปีได้ที่นี่
วินัยสําคัญอย่างไร ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
18:45
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: