ชีวิตที่ประเสริฐ



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต แต่ละภพชาติของการสั่มสมบารมีนั้น ท่านหาโอกาสแสวงหาสัจธรรมเรื่อยมา พระธรรมคำสอนที่เราได้ยินได้ฟัง จึงเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล เพราะทรงแลกความรู้อันบริสุทธิ์นี้มาด้วยชีวิต เราจึงควรตระหนักในความเป็นผู้มีบุญที่ได้มีโอกาสพบกับพุทธธรรมอันเป็นประทีปส่องทางชีวิตให้ก้าวไปสู่ความสุขอันเป็นอมตะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรคว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่ารักใคร่ ยินดีหมกมุ่นในกาม ย่อมไม่รู้สึกซึ่งความถลำตัว เหมือนปลาที่เข้าลอบที่เขาดักไว้ ไม่รู้สึกตัวฉะนั้น"

มนุษย์ทุกคนต่างมุ่งแสวงหาความสุขที่แท้จริง แต่ส่วนใหญ่มักหาไม่พบ เพราะแสวงหาผิดที่ เข้าใจว่าความสุขอยู่ที่การเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส หรือถูกต้องสัมผัสอันน่าพอใจ แล้วไปยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น โดยเข้าใจว่าจะให้ความสุขที่แท้จริงได้ แต่ตลอดชีวิตที่ผ่านมา กลับไม่เคยพบกับความสุขที่ แท้จริง เพราะแสวงหาผิดที่ และยังทำให้กิเลสพอกพูนขึ้นอีกด้วย ในที่สุดก็ยังคงทุกข์ทรมานอยู่นั่นเอง

การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การประพฤติอันประเสริฐ เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสกลับฟูขึ้นมาอีก จนกระทั่งกิเลสหมดสิ้นไป พระโพธิสัตว์กว่าจะได้ตรัสรู้ธรรม ท่านทรงสละความสุขที่สมบูรณ์พร้อมในทางโลก เพราะทรงเห็นความจริงของชีวิตว่าเป็นทุกข์ จึงตัดสินใจออกบวชเพราะตระหนักในคุณค่าของการประพฤติพรหมจรรย์ว่าเป็นทางหลุดพ้น ดังเรื่องราวในอดีตที่พระองค์ได้ตรัสเล่าให้ภิกษุสาวกฟังว่า

ครั้งหนึ่ง ภิกษุสงฆ์กำลังสนทนาธรรมกันในธรรมสภา กล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า “ถ้าหากพระทศพลจะเสด็จครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ๖ พรรษา แล้วต่อมาจึงหันมาปฏิบัติในหนทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทำให้ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาที่ธรรมสภา ทรงเห็นเหล่าภิกษุกำลังสนทนากันอยู่ จึงตรัสว่า "ม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ แม้ในกาลก่อนก็เคยสละราชสมบัติออกบวชมาแล้วเช่นกัน" แล้วทรงเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาล พระราชา สัพพทัตตะแห่งนครรัมมะทรงมีพระโอรส ,๐๐๐ พระองค์ และได้สถาปนาพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ พระนามว่า ยุธัญชัย เป็นอุปราช ประจำพระองค์

วันหนึ่ง เมื่อพระกุมารยุธัญชัยประทับบนราชรถเสด็จไปพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นหยาดน้ำค้างที่ติดอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น ยอดไม ปลายหญ้า กิ่งไม้ และที่ใยแมงมุม ซึ่งดูเหมือนตาข่ายที่ทำด้วยเส้นด้าย จึงตรัสถามนายสารถีว่า "สิ่งที่ปรากฏนั้น คืออะไร" นายสารถีกราบทูลว่า "คือหยาดน้ำค้าง ที่ตกลงในฤดูที่มีหิมะ" พระกุมารทรงเล่นในพระราชอุทยานตลอดทั้งวัน แล้วเสด็จกลับในเวลาเย็น และไม่เห็นหยาดน้ำค้างเหล่านั้น จึงตรัสถามนายสารถีว่า "หยาดน้ำค้างเหล่านั้นหายไปไหนหมดแล้ว"


นายสารถีกราบทูลว่า “หยาดน้ำค้างเหล่านั้น เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นก็จะเหือดแห้งหายไป พระเจ้าข้า พระองค์ทรงสลดพระทัยยิ่งนัก ดำริว่า  "แม้ชีวิตและสังขารของตัวเรา รวมทั้งสัตว์ทั้งหลายต่างเป็นเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า ตอนนี้เรายังไม่ถูกความแก่ ความเจ็บ และความตายมาเบียดเบียน ยังอยู่ในวัยที่แข็งแรง เราควรจะอำลาพระมารดาและพระบิดาออกบวชจะดีกว่า"

พระองค์ถือเอาความสิ้นไปของหยาดน้ำค้างนั้นเป็นอารมณ์ จึงมองเห็นภพทั้งสามดุจมีเพลิงลุกไปทั่ว จากนั้นได้เสด็จไปหาพระบิดาซึ่งกำลังประทับอยู่ ณ ศาลาวินิจฉัย เพื่อทูลลาบวช พระบิดาทรงห้ามว่า "อย่าบวชเลย ถ้าเธอยังพร่องในเบญจกามคุณ ฉันเพิ่มเติมให้ ถ้าหากผู้ใดเบียดเบียนเธอ ฉันจะจัดการเอง"พระกุมารกราบทูลว่า "หม่อมฉัน ไม่ได้พร่องด้วยกามทั้งหลายเลย และไม่มีใครเบียดเบียนหม่อมฉันด้วย แต่หม่อมฉันปรารถนา จะทำที่พึ่งที่ความแก่และความตายครอบงำไม่ได้ พระเจ้าข้า"

พระกุมารทูลขอบรรพชาอยู่เรื่อย ๆ พระบิดาตรัสห้ามทุกครั้ง ต่างก็วิงวอนขอร้องซึ่งกันและกัน แม้มหาชนในที่นั้น ก็พากันทูลอ้อนวอนไม่ให้พระโอรสบวชเช่นกัน พระกุมารยุธัญชัยได้ทูลพระบิดาว่า "พระองค์อย่าทรงห้ามหม่อมฉันเลย อย่าให้หม่อมฉันต้องมัวเมาอยู่ในกามอันเป็นไปในอำนาจแห่งมัจจุราชเลย พระเจ้าข้า"

ฝ่ายพระมารดาพอทราบข่าวก็รีบเสด็จมาจากพระตำหนัก และวิงวอนว่า "อย่าบวชเลย แม่ปรารถนาจะเห็นเจ้านาน " พระกุมารตรัสบอกว่า  "น้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็เหือดแห้งไปฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ขอทูลกระหม่อมแม่อย่าทรงห้ามเลย พระเจ้าข้า" แม้พระมารดาตรัสอ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า พระกุมารก็ไม่ทรงเปลี่ยนพระทัย จึงทูลพระบิดาว่า "ขอให้ช่วยกราบทูลพระมารดาให้เสด็จขึ้นสู่ยานเถิด อย่าได้ทำอันตรายแก่ข้าพระองค์ ผู้กำลังจะทำกรณียกิจที่รีบด่วนเลย" ในที่สุดพระมารดาก็ต้องจำยอมอนุโมทนาในการเสด็จออกบวชของพระโอรส


ขณะนั้นเอง ยุธิฏฐิลกุมารผู้เป็นพระอนุชา เห็นปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระเชษฐา จึงทรงขออนุญาต ออกบวชด้วย จากนั้นทั้งสองพระองค์พากันเสด็จออกจากเมือง มุ่งตรงสู่ป่าหิมพานต์ สร้างอาศรม อันน่ารื่นรมย์ และได้บวชเป็นฤๅษี ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น เลี้ยงชีพอยู่ด้วยผลหมากรากไม้ในป่า ทำความบริสุทธิ์ตลอดพระชนม์ชีพ ครั้นละโลกไปแล้วต่างมีสุคติภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ภิกษุสาวกเป็นผู้ไม่ประมาทในการประพฤติพรหมจรรย์ โดยดูพระองค์เป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะพรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ แต่ก็ไม่ยินดี หรือหลงใหลเพลิดเพลินในสิ่งไร้สาระเหล่านั้น กลับมุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต

จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้มีความฉลาด เพียงแค่เห็นหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้าเท่านั้น ก็มีดวงปัญญาสอนตนเองให้รีบแสวงหาทางพ้นทุกข์ เมื่อทรงเห็นว่าการประพฤติพรหมจรรย์เป็นทางรอด ก็ทรงสละราชสมบัติออกบวชทันที


ท่านสาธุชนทั้งหลาย โปรดอย่าคิดว่า เรายังมีเวลาอีกเหลือเฟือ หรือยังหนุ่มยังสาว แล้วประมาทมัวเมาในวัย จริง ๆ แล้วเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้เพียงจำกัดเท่านั้น ควรจะทำเวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นชายก็ต้องบวชให้ได้อย่างน้อย ๑ พรรษา หลายพรรษายิ่งดี บารมียิ่งเพิ่ม และ ถ้ายังบวชตลอดชีวิตไม่ได้ ก็หาโอกาสบวชบ่อย ๆ เนกขัมมบารมีจะได้เพิ่มพูน เพราะนี่คือการย่อย่นหนทางไปพระนิพพานได้ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด เป็นบุญพิเศษที่จะตามติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ คือ ทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังคำสอนของพระบรมศาสดา ได้บรรพชาอุปสมบท และบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างง่ายดายเป็นอัศจรรย์...


บุคคลผู้มีความฉลาด

เพียงแค่เห็นหยาดน้ำค้าง

บนปลายยอดหญ้าเท่านั้น

ก็มีดวงปัญญาสอนตนเอง

ให้รีบแสวงหาทางพ้นทุกข์



Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ  ธมฺมสารี ป.ธ. ๙  
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๐๔  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
ชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่ประเสริฐ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:41 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.