วันพระ วันสว่างของชาวโลก

วันพระ
วันสว่างของชาวโลก

ประทีปดวงน้อยๆ ทอแสงแวววามยามค่ำคืน ชวนให้ผู้คนที่มองมาแต่ไกลนึกแปลกใจกับภาพที่ไม่เหมือนทุกวันที่ผ่านมา ครั้นเดินมาใกล้ๆ จึงค่อยสังเกตเห็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนโต๊ะหมู่ พร้อมป้ายที่เขียนบอกไว้อย่างชัดเจนว่า “วันนี้วันพระ” เท่านั้นเอง ความรู้สึกชื่นชมและอนุโมทนากับเจ้าของบ้าน ก็พลันบังเกิดขึ้นเต็มหัวใจ ติดตามมาด้วยคําถามที่ตนเองก็รู้คําตอบดีอยู่แก่ใจว่า “นานแค่ไหนแล้วนะที่เราลืมให้ความสําคัญกับวันพระ”

ชีวิตของคนไทยนั้นมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นมายาวนาน บรรพบุรุษไทยเราให้ความสําคัญกับวันพระมากเป็นพิเศษ เมื่อถึงวันนี้ชาวพุทธจะไปทําบุญ ถือศีล ฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด รวมถึงการจุดประทีปโคมไฟทั้งในวัดวาอารามและบ้านเรือนทั่วไป ดังหลักฐานที่สืบค้นไปในสมัยกรุงสุโขทัยพบว่า วิถีชีวิตของชาวเมืองสุโขทัยนั้นผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น ดังปรากฏข้อความอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ หลายแห่งด้วยกัน เช่น

“พ่อขุนรามคําแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกขึ้น”

“..วันเดือนดับ เดือนโอกแปดวัน วันเดือนเต็ม เดือนข้างแปดวัน ฝูงปู่ครูเถรมหาเถรขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน สวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงช่วยจําศีล” เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ปรากฏหลักฐานเช่นกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสําคัญกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก รัชสมัยของพระองค์ วันพระใหญ่อย่างวันวิสาขบูชาถูกกําหนดให้เป็นงานพระราชพิธี พระมหากษัตริย์ทรงเกณฑ์ข้าราชบริพารให้ร้อยดอกไม้มาแขวนประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ประชาชนรักษาศีลโดยทั่วกัน ให้ชวนกันไปฟังเทศน์ และให้จุดประทีปโคมไฟทั้งในอารามและตามบ้านเรือนทั่วไป (จากหนังสือ เมืองแห่งผ้ากาสาวพัสตร์ ของพเยาว์ ศรีหงส์)

แต่ปัจจุบันวันพระกลับถูกลดความสําคัญจากผู้คนในสังคม กลายเป็นเพียงวันทําอุโบสถกรรมของพระสงฆ์ โดยที่ฆราวาสเองขาดความรู้สึกเข้าไปมีส่วนร่วมเหมือนดังเช่นในอดีต จะมีอยู่บ้างก็เฉพาะวันสําคัญทางศาสนาอย่างเช่นวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ฯลฯ แต่ก็เป็นเพียงการมีส่วนร่วมในแง่ของประเพณีและวัฒนธรรมเท่านั้นเอง

ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมาช่วยกันรณรงค์ให้ชาวพุทธเห็นความสําคัญและเข้าใจถึงบทบาทที่พึงกระทําในวันพระ แต่ก็มีคําถามติดตามมาอีกว่า

“แล้วใครล่ะจะเป็นผู้ลงมือทําก่อน?”

ชายผู้จุดประกายวันสว่าง
ณ บ้านหลังหนึ่ง ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นโรงพิมพ์อยู่ที่ย่านบางคอแหลม เจ้าของบ้านหลังนั้นได้สร้างความแปลกใจให้กับผู้คนในละแวกใกล้เคียง ด้วยการนําโต๊ะหมู่บูชาพร้อมพระพุทธรูปมาตั้งที่หน้าบ้านและจุดประทีปเป็นพุทธบูชาในยามค่ำคืน นอกจากนี้ยังติดป้ายให้เห็นชัดเจนอีกว่า “วันนี้วันพระ” ทว่าสิ่งที่เขาได้ตั้งใจกระทําลงไปนั้น ภายหลังกลับนํามาซึ่งเสียงอนุโมทนาและชื่นชมเป็นอย่างมาก

เจ้าของบ้านหลังนั้นคือกัลฯ พรเลิศ ตัณมานะธรรม ผู้ริเริ่มจุดประกาย วันพระวันสว่าง ให้กลับมาสู่ใจชาวโลกอีกครั้ง จากจุดเริ่มต้นที่ได้ฟังโอวาทอันทรงคุณค่าของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ที่อยากให้ลูกๆ ช่วยกันรณรงค์ให้คนหันกลับมาให้ความสำคัญกับวันพระ โดยเริ่มต้นจากการจุดประทีปเป็นพุทธบูชาในทุกๆ วันพระ แต่ใครเลยจะคาดคิดว่า ในบรรดาลูกๆ ชายหญิงของหลวงพ่อที่นั่งฟังโอวาทอยู่ด้วยกันนั้น กัลฯ พรเลิศ กลับเป็นผู้ที่แปรเปลี่ยนแนวคิดของหลวงพ่อออกมาสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งเขาได้เปิดใจถึงจุดเริ่มต้นแห่งการจุดประกายวันสว่างว่า

“จากจุดเริ่มต้นที่หลวงพ่อท่านเคยบอกให้เราจุดประทีปเอาไว้ที่หน้าบ้าน เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาเห็นความสําคัญของวันพระ เหมือนกับสมัยก่อนที่เขาจะจุดเทียนไว้หน้าบ้าน เพื่อบอกว่าวันนี้เป็นวันพระ จะได้เตือนให้ลด ละ เลิก หรือระมัดระวังในการทําสิ่งที่ไม่ดี แต่ผมก็มานึก เอ๊ะ...ถ้าเราจุดเทียนอย่างเดียว แล้วคนทั่วไปเขาจะรู้ไหมว่าเราจุดเพื่ออะไร เขาอาจจะนึกว่าเราแก้บนหรือทําพิธีอะไรหรือเปล่า เพราะหน้าบ้านเราก็เป็นบ้านกัลยาณมิตร

ดังนั้น ผมจึงเกิดความคิดริเริ่มที่จะหาโต๊ะหมู่บูชามาตั้งไว้สําหรับวางพระพุทธรูป โต๊ะหมู่ที่ใช้ผมก็เลือกแล้วเลือกอีก ไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป เพราะจะดูแล้วไม่ศักดิ์สิทธิ์ และให้ลูกน้องทําฐานสําหรับวางองค์พระขึ้นมา เมื่อวางองค์พระแล้ว จะพอเหมาะพอดี และผมก็เขียนป้ายตัวโตเห็นชัดเจนติดไว้ที่โต๊ะหมู่ว่า “วันนี้วันพระ” เพื่อให้คนที่ผ่านมาเห็นจะได้เข้าใจถูกต้องว่า เราจุดเทียนเพื่อบูชาพระในวันพระ”

พรุ่งนี้วันพระ
กัลฯ พรเลิศ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่ทดลองทําไปสักพัก ตนก็เกิดความคิดขึ้นมาอีกว่า ถ้าหากเราติดป้ายเฉพาะวันพระ บางคนที่เขาอยากทําความดี เช่นอยากจะตักบาตรในวันพระ แต่เตรียมตัวไม่พร้อม จะมัวไปหาซื้อของใส่บาตรในเช้าวันนั้นก็ไม่ทันแล้ว เพราะต้องรีบไปทํางาน ดังนั้นเขาจึงคิดที่ทําอะไรบางอย่างขึ้นมา

“ด้วยเหตุผลนี้เองทําให้ผมต้องคิดทําป้ายขึ้นมาอีกอันหนึ่งคือ “พรุ่งนี้วันพระ” ปิดไว้ที่หน้าบ้านก่อนวันพระ ๑ วัน เพื่อเตือนให้คนได้รู้ว่าพรุ่งนี้จะถึงวันพระแล้วนะ วันนี้ให้เตรียมดอกไม้ เตรียมข้าวของที่จะใส่บาตร และเตรียมใจว่าพรุ่งนี้ต้องตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อใส่บาตรให้ทัน พอวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ ผมถึงจะนําพระพุทธรูปมาตั้งบนโต๊ะหมู่อย่างที่บอกไปแล้ว และวางพานเอาไว้ด้วย เพื่อว่าใครอยากจะเอาดอกไม้มาบูชาพระ เพราะว่าคนที่ทํางานอยู่ในกรุงเทพฯ บางทีเขาก็ต้องเช่าห้องเล็กๆ อยู่ ไม่มีโต๊ะหมู่ บางคนแม้พระพุทธรูปองค์เดียวยังไม่มีเลย ดังนั้นเขาก็เลยไม่สามารถกราบพระหรือบูชาพระได้ ดีไม่ดีอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้เป็นวันพระ ผมก็เลยเปิดโอกาสด้วยการวางพานไว้ให้ และทําป้ายเล็กๆ บอกไว้ว่าวางดอกไม้ได้ที่นี่”

ผลลัพธ์ที่เกินควรเกินคาด
“การทําอย่างนี้ ตอนแรกผมเองก็ไม่ได้หวังผลอะไรมาก แต่ที่ไหนได้ พอผ่านไปครึ่งวัน ผมออกไปทําธุระข้างนอก กลับมาเห็นมีพวงมาลัย มาวาง ๒ พวง โอ้โฮ.แสดงว่าสิ่งดีๆ ที่เราตั้งใจทำลงไปมันได้ผล พอช่วงบ่าย ผมเห็นแม่จูงลูกเดินผ่านมา แม่คงไปรับเด็กกลับมาจากโรงเรียน พอผ่านมาเห็นโต๊ะหมู่ที่หน้าบ้านของผม แม่ก็บอกให้ลูกกราบพระ ลูกก็กราบ เป็นภาพที่น่าปลื้มปีติ สรุปว่า ในวันแรกนั้นมีพวงมาลัยมาวางบนพานถึง ๔ พวง

หลังจากผ่านไป ๒ วัน ก็มีท่านสมาชิกสภากรุงเทพฯ ที่อยู่แถวบ้านผม เข้ามาในบ้าน ถามว่า คนของวัดพระธรรมกายทําแบบผมกันทุกคนหรือเปล่า เขาชมว่าเป็นความคิดที่ดีมากๆ ผมก็เลยบอกเขาไปว่า ความจริงแล้วคนสมัยก่อน เขาก็จุดเทียนหน้าบ้านกันในวันพระ เพื่อเตือนกันว่าวันนี้วันพระ จะได้ลด ละ เลิก ส.ก. ท่านนี้ก็แสดงความชื่นชมเป็นอย่างมาก บอกว่าสิ่งที่เราทําไปสอดคล้องกับโครงการชวนคนไปวัดแถวบ้าน ในวันอาทิตย์ของเขา”

ขยายแสงสว่างนําทางกัลยาณมิตรใหม่
“ผมขอฝากทิ้งท้าย ให้พวกเราทุกคนช่วยกันขยายแนวคิดของหลวงพ่อให้เป็นรูปธรรมกันทุกคนนะครับ อย่าไปกังวลว่าบ้านอยู่ในซอยเล็กๆ ทําไปก็ไม่มีคนเห็นหรอก แต่จริงๆ แล้วผมขอให้ทําเถอะครับ จะมีคนดูแค่ ๒ ราย หรือ ๓ รายก็ไม่เป็นไร หากเราทํากันทุกๆ คน ให้แผ่ขยายไปทั่วประเทศไทย ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสสําคัญ ที่พวกเราสามารถจะทําหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยการชักชวนผู้ที่มากราบพระ หรือนําดอกไม้มาบูชาพระ ให้ได้มีโอกาสในการทําความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นคือผู้มีบุญที่เดินเข้ามาหาพวกเราเอง โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยแรงออกไปตาม หากพวกเราพร้อมใจกันทํา กระแสแห่งการให้ความสําคัญกับวันพระเหมือนเช่นในอดีต ก็จะกลับคืนมา”

ณ วันนี้ประทีปดวงแรกได้ถูกจุดขึ้นแล้ว ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราเหล่ากัลยาณมิตรได้หัน มาช่วยกันจุดความสว่างต่อๆ กันไปให้ทั่วทั้งผืนแผ่นดินไทย เพื่อสะกิดใจคนไทย ๖๐ กว่าล้านคนให้หันกลับมาสนใจวันพระ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การทําความดี ละเว้นความชั่ว และทําใจให้ผ่องใส ด้วยการปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน และให้วันพระกลายเป็นวันสว่างของชาวโลก เป็นวันที่จะกระตุ้นเตือนคนทั้งโลกให้หันมาศึกษาความรู้ภายในอันลึกซึ้งที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา สมกับสโลแกนที่เขียนไว้บนป้ายแผ่นนี้ว่า


“วันนี้วันพระ ทําใจให้เข้าถึงพระในตัว”
---------------❋❋❋--------------

เรื่อง : สุพรรณภูมิ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/06/blog-post_6.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF 

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

วันพระ วันสว่างของชาวโลก วันพระ วันสว่างของชาวโลก Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:17 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.