พิธีประสาทปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระบัณฑิตกิตติมศักดิ์บุคคลสำคัญของพุทธศาสนา
ในโอกาสพิธีประสาทปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พระบัณฑิตกิตติมศักดิ์ บุคคลสำคัญของพุทธศาสนา
ผู้รับการประสาทปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมกายแคลิฟอร์เนีย (DOU) จัดขึ้นในวันอาทิตย์ต้นเดือนที่ ๓
มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี
ได้มีโอกาสให้การต้อนรับพระเถระชาวเกาหลี ๒ รูป
ผู้สร้างคุณประโยชน์ต่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
สาธารณรัฐเกาหลีได้รับสมญานามว่า “ดินแดนแห่งความสงบยามเช้า” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมายาวนานนับพันปี
ย้อนไปในอดีตพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศเกาหลี เมื่อปี พ.ศ. ๙๑๕
เดินทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรโกคูรยอ
เพียงระยะเวลา ๒๐ ปี ได้มีการสร้างวัดขึ้นมากมาย เฉพาะเมืองหลวงเพียงแห่งเดียว
มีวัดถึง ๙ วัด ผู้นำอาณาจักรให้ความสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ
และทรงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
โดยให้การศึกษาและเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแก่ประชาชน จนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน
อันก่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติ ทางรัฐได้มีการอุปถัมภ์แก่คณะสงฆ์เป็นอย่างมาก
เช่น การพิมพ์พระไตรปิฎกกว่า ๕๐,๐๐๐
เล่ม ด้วยตัวพิมพ์แกะสลักจากแผ่นไม้ ส่งผลให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก
ในปัจจุบันคณะสงฆ์ในประเทศเกาหลี
ถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าอย่างมาก สามารถปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ต่าง
ๆ อยู่เสมอ เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา กิจกรรมที่พระสงฆ์เกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
และทำกันอย่างเข้มแข็งจริงจังที่สุด คือ การศึกษา โดยมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ
ภิกษุณี และยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญเชิงวิถีพุทธระดับต่าง ๆ
ที่เปิดรับนักเรียนชายหญิงโดยทั่วไปด้วย
ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ จำนวน ๓๖ แห่งทั่วประเทศ
นี่คือวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมกายแคลิฟอร์เนีย
(DOU) ที่ได้มอบปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นจำนวน ๒ รูป
จากประเทศเกาหลีใต้
รูปแรก ได้แก่ พระมหาเถระปุญญสันโต
ท่านเกิดที่ประเทศเกาหลีเหนือ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ปัจจุบันอายุ ๙๑ ปี
จุดพลิกผันในชีวิตครั้งแรกของท่านเกิดขึ้นช่วงสงครามเกาหลี (พ.ศ. ๒๔๙๓ - พ.ศ.
๒๔๙๖) ท่านเห็นชาวบ้านเดือดร้อน ล้มตายเป็นจำนวนมากจากสงคราม
จึงตั้งใจว่าถ้ารอดพ้นจากสงครามเมื่อใด
จะบวชตลอดชีวิตเพื่อช่วยตนและทุกคนให้พ้นทุกข์ คงเป็นเพราะบุญในตัวท่าน ในปี
พ.ศ. ๒๔๙๖ สงครามเกาหลีก็คลี่คลายลง ท่านจึงออกแสวงหาอาจารย์อย่างยากลำบาก
จากเหนือสุด (ประเทศเกาหลีเหนือ) มาถึงใต้สุด คือ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
กระทั่งมาพบพระอาจารย์จิวอน วัดซอนันซา เมืองปูซาน จึงได้บวชสมปรารถนาในปีนั้น
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๘
ท่านย้ายมาจำพรรษาที่วัดแฮอินซา และฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ทั้ง กาย วาจา ใจ
จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าอาวาสแห่งนี้ แล้วท่านก็พบจุดพลิกผันอีกครั้ง
หลังพบว่า พุทธศาสนายังมีนิกายเถรวาทอีกนิกายหนึ่ง
ซึ่งมีข้อวัตรปฏิบัติต่างจากมหายาน ท่านขวนขวายหาความรู้
จนได้รู้จักท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติโสภณ จากวัดเบญจมบพิตร(สมณศักดิ์ก่อนมรณภาพคือ
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์)
เมื่อศึกษาพุทธเถรวาทอย่างถ่องแท้
ท่านก็ชักชวนเพื่อน ๆ ประมาณ ๒๐ รูป เปลี่ยนจากพระมหายานมาเป็นพระเถรวาท โดยมีพระเดชพระคุณพระธรรมกิตติโสภณเป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ต่อมาพระเพื่อนได้ทยอยกันลาสิกขาไปจนหมด
แต่พระมหาเถระปุญญสันโต
กลับหยัดสู้โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันถึงขนาดประกาศว่าจะยอมตายในผ้าเหลือง
และอยู่มาถึงวันนี้ได้ ๓๗ พรรษาแล้ว
ท่านคือต้นแบบที่หาได้ยากในการฝึกตนจนครองใจคนรอบข้าง
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าอาวาสวัดแทจงซา และเป็นประธานวัดสำคัญ
ๆ ในเกาหลี ก่อนที่จะมาเป็นอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตปูซานในปี
พ.ศ. ๒๕๔๔ - ๒๕๔๖
ปี
พ.ศ. ๒๕๔๖ ท่านชักชวนพระเพื่อนในเกาหลี เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยถึงศรีลังกา คณะสงฆ์ในศรีลังกาจึงซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง
และได้มอบรางวัล ทั้งยังแต่งตั้งท่านให้ได้รับสมณศักดิ์เป็น “สัมโพธิศาสนา
โชติกมหาเถระ”
ท่านเดินทางมาวัดพระธรรมกายครั้งแรก
เมื่องานมาฆบูชาปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และได้พบกับหลวงพ่อธัมมชโย ท่านกล่าวว่า
“มีความสุขมากที่สุดในชีวิตของการเป็นพระ เมื่อได้มาพบกับพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์”
จากนั้นท่านก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการนำผลงานของวัดพระธรรมกายไปเผยแผ่แก่พระ และโยม
ทำให้ชาวเกาหลีรู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อ “วัดพระพุทธเจ้าล้านองค์”
ด้วยจิตปรารถนาอยากให้ทุกคนพบความสุขภายในจากหลักธรรมดั้งเดิม
ท่านจึงก่อตั้ง วัดแทจงซา ซึ่งเป็นวัดพุทธเถรวาทเพียงวัดเดียว
ที่ก่อตั้งโดยชาวเกาหลี และล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ท่านก็ได้สถาปนานิกายเถรวาทเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินเกาหลี
และได้รับเลือกให้เป็นประธานสงฆ์ผู้มีอำนาจสูงสุดของนิกายเถรวาทในเกาหลีเป็นองค์แรกอีกด้วย
รูปที่สอง ได้แก่ ท่านอิลเมียนซือนิม
เจ้าอาวาสวัดพงซอนซา องค์ที่ ๒๕ ของนิกายโจเกจง
ผู้อำนวยการพระทหารสูงสุดนิกายโจเกจง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘
และปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดพุลลัมซา และประธานมูลนิธิแซงเมียงนานุม
ท่านออกบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ ๑๒ ขวบ เพราะเป็นผู้มีความสามารถและฝักใฝ่ในธรรม ท่านจึงได้รับมอบให้ทำงานพระศาสนาในตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อย
ๆ จนกลายเป็นบุคคลสำคัญของนิกายโจเกจงในปัจจุบัน
ท่านยังเคยเป็นพระอาจารย์ให้ศีลแก่สามเณรและพระภิกษุที่วัดแฮอิน
ซึ่งต้องคัดเลือกจากพระที่มีศีลาจารวัตรงดงาม บวชมานาน ประพฤติตัวดีทั้งปริยัติและปฏิบัติ
จากนั้นก็ได้ทำงานในส่วนกลางของนิกายโจเกจงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑
มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการศึกษา ผู้อำนวยการพระทหาร เจ้าอาวาส
รวมถึงประธานมูลนิธิ
ปัจจุบันแม้ท่านจะมีตำแหน่งต้องรับผิดชอบมากแต่ก็ไม่เคยละทิ้งกิจวัตรของสมณะเลยแม้แต่วันเดียว
ท่านจะตื่นแต่เช้าเพื่อมาสวดมนต์ทำวัตรประมาณตี ๔ ครึ่ง
หลังออกไปทำงานที่สำนักงานในกรุงโซลจนถึงเย็น
ก็จะกลับมาร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็นกับพระลูกวัด ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์
ก็จะอยู่ต้อนรับญาติโยมที่มาทำบุญแต่เช้าด้วยความเบิกบาน หากเป็นวันพระ
วันสำคัญทางพุทธศาสนา หรือวันงานบุญต่าง ๆ หลังเสร็จจากสวดมนต์แล้ว
ท่านจะแสดงธรรมแก่ญาติโยมเสมอ ๆ เรียกได้ว่าท่านมีหัวใจของพระนักเทศน์
เพราะมักออกเทศน์ตามสถานที่สำคัญ ๆ เช่น ค่ายทหาร โรงเรียน สถานสงเคราะห์
และเป็นเจ้าของผลงานหนังสืออีก ๒ เล่ม คือ หนังสือหลังคาสร้างดีแล้ว ...ฝนไม่รั่ว
และหนังสือมือว่างเปล่าที่มีความสุข ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการคณะสงฆ์
ท่านมีความสัมพันธ์อันดีกับวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด
คอยต้อนรับ
รับรองวีซ่าและให้ที่อยู่อาศัยแก่พระจากวัดพระธรรมกายที่ไปบุกเบิกในเกาหลี
เมื่อได้เดินทางมาวัดพระธรรมกายครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็ประทับใจมาก
กลับไปนำพระทหารในสังกัดมาร่วมงานบุญที่วัดเป็นประจำ และไปบอกต่อแก่พระผู้ใหญ่ในเกาหลี
ทำให้พระเกาหลีมาเยี่ยมชมวัดพระธรรมกายทุกปี
และสามารถเผยแผ่พุทธศาสนาในเกาหลีได้อย่างสะดวกราบรื่น
มหาวิทยาลัยธรรมกายแคลิฟอร์เนีย (DOU) จึงได้จัดพิธีประสาทปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่พระมหาเถระทั้ง ๒ รูป ซึ่งท่านได้พาผู้ติดตามจากประเทศเกาหลีจำนวน ๕๐ คน
เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี และท่านมีความปลาบปลื้มปีติอย่างยิ่งที่ได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากพระราชภาวนาวิสุทธิ์ในครั้งนี้
Cr. อัญชลี
เรืองจิต
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๘
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓
พิธีประสาทปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระบัณฑิตกิตติมศักดิ์บุคคลสำคัญของพุทธศาสนา
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:58
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: