ธุดงค์ธรรมชัย จุดประกายฟื้นฟูศีลธรรมโลก




ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาหยั่งรากมั่นคงที่สุดในโลก ความภาคภูมิใจของชาวไทยนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะเหตุว่า คนไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามานานนับพันปีเท่านั้น แต่เหตุสำคัญ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษไทย ได้พยายามหล่อหลอมธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีชีวิตประจำวัน โดยสอดแทรกเข้าไปในวัฒนธรรม ประเพณี แม้กระทั่งรูปแบบในการบริหารการปกครองของชนชาติไทย

ดังนั้น สังคมไทยจึงถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางของความเป็น “สังคมคุณธรรมนำความรู้” มาโดยลำดับ วิถีชีวิตของชาวไทยจึงวนเวียนเกี่ยวข้องกับวัดและการทำบุญสุนทานตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้แม้ระดับชาวบ้านที่ไม่รู้ธรรมะอะไรมากนัก ก็เชื่อมั่นในการทำความดี และรักบุญกลัวบาปเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

ในวิถีชีวิตของชาวไทย มีประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ชาวไทยสามารถรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ ประเพณีที่ว่านี้ คือ “การบวชเรียน” ของชายไทยทุกคน ที่ใช้คำว่า “บวช” คู่กับคำว่า "เรียน" เสมอ เพราะการบวชนั้น เป็นไปเพื่อการศึกษาเรียนรู้ นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาจิตใจของผู้บวชให้สูงกว่าพื้นเดิม ซึ่งในสังคมไทยนับแต่อดีตถือว่า การบวช คือ ขั้นตอนสำคัญของการเรียนรู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง ให้มีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ไม่หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งล่อใจที่ทำให้ชีวิตตกต่ำ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็น ผู้ใหญ่เต็มตัว และสามารถที่จะเป็นผู้นำครอบครัวที่ดี เป็นข้าราชการที่ดี หรือแม้แต่เป็นผู้ปกครองที่ดีของประชาราษฎร์







แต่เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งว่า ปัจจุบันสังคมไทย ไม่ได้เป็นสังคมคุณธรรมนำความรู้เหมือนในอดีตอย่างที่ผ่านมา เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ของการสื่อสารไร้พรมแดน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นปัจจัยที่ ๕ ที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้ จากสังคมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกลายเป็นสังคมของการต่อสู้แข่งขัน แย่งชิง ความสงบเย็นที่เคยมีก็เริ่มเลือนรางหายไป พร้อม ๆ กับใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชาวไทย

ยิ่งผู้คนให้ความสนใจพัฒนาความก้าวหน้าทางวัตถุมากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้การใส่ใจเรื่องการพัฒนาจิตใจลดน้อยถอยลงมากเท่านั้น ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ต้องประสบกับภาวะวิกฤตน่าเป็นห่วง เพราะผู้คนละเลยที่จะศึกษาพระธรรมคำสอน ทำให้ขาดแคลนศาสนทายาทสืบทอดพระสัทธรรม จึงมีปัญหาวัดร้างกว่า ๖,๐๐๐ วัด ยังไม่นับรวมตัวเลขตกสำรวจอีกเป็นจำนวนมาก

แต่เป็นที่น่ายินดีว่า ประเพณี "การบวช" เพื่ออบรมคุณธรรมให้กับชาวไทยได้กลับมาฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในโครงการอุปสมบทหมู ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน สถาบันการศึกษาหลายแห่ง และบริษัทเอกชนทุกพื้นที่ ได้เริ่มตื่นตัวส่งบุตรหลาน นิสิต นักศึกษา และพนักงานบริษัท มาเข้ารับการอบรมธรรมะที่วัดใกล้บ้านทั่วประเทศจำนวนกว่า ๓๓๐ วัด ทำให้หลาย ๆ วัดคับคั่งไปด้วยประชาชนชายหญิง ทั้งผู้บวชและผู้สนับสนุนการบวชจำนวนมาก เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำชุมชนที่ดีในวันข้างหน้า

ซึ่งการบวชนั้นเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ ส่วนการรดน้ำพรวนดินให้เจริญเติบโตเปรียบได้กับการอบรมหล่อหลอมธรรมะทั้งปริยัติและปฏิบัติ เพื่อให้สมบูรณ์พร้อมทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อก้าวไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับตนเองและชาวโลก





...ส่วนสัมฤทธิผลของโครงการนั้นอยู่ที่ไหน สังคมจะได้อะไร...

ต้องเฉลยว่าอยู่ที่ขั้นตอนสุดท้ายคือ  พระสงฆ์ในโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้าน ทั่วไทย จะเดินธุดงค์ไปทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทย เปรียบได้กับภายหลังที่เราได้รดน้ำพรวนดินต้นไม้ต้นนี้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต้นไม้ก็จะเริ่มแผ่กิ่งก้านสาขา ให้ความร่มเย็นแก่ผู้มาพักพิงและผลิดอกออกใบให้ประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย

นึกย้อนถึงความรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อมีพระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นบนโลก ครบถ้วนองค์ ๓ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งหากพระพุทธศาสนามีเพียงเท่านั้น ไม่มีการขวนขวายที่จะเผยแผ่แบ่งปันชาวโลกต่อไป ไม่แนะนำสั่งสอน ป่านนี้คงไม่มีมรดกธรรมอันล้ำค่า ตกทอดมาถึงพวกเรา ส่งต่อถึงอนุชนคนรุ่นหลังในอนาคต และพระพุทธศาสนาคงถึงกาลสูญสลายหายไปเป็นแน่แท้

แต่เพราะมีประเพณีการบวช ซึ่งเป็นพุทธวิธีอันประเสริฐสุด ในการสร้างศาสนทายาทสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระศาสดา ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นในยามนี้ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนากำลังต้องการพุทธบุตรผู้กล้า ที่จะออกจาริกไปเผยแผ่พระสัทธรรม ตามรอยบาทของพระศาสดา และเหล่าพระอรหันต์เพื่อช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและพัฒนาวัดร้าง ให้กลับคืนมาเป็นวัดรุ่งอีกครั้ง เหมือนครั้งพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศพระศาสนา ซึ่งภายในระยะเวลาพรรษาแรกมีพระอรหันต์ บังเกิดขึ้นในโลกถึง ๖๑ รูปด้วยกัน และต่อมา พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นได้จาริกไปเผยแผ่พระธรรมตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ในดินแดนชมพูทวีป เพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายอย่างมั่นคงมาได้กว่า ๒,๕๐๐ ปี

ด้วยยึดหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา โครงการ "ธุดงค์ธรรมชัย" จากดำริของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย จึงได้จุดประกายการฟื้นฟูศีลธรรมโลกให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย การเดินธุดงค์ของพระธรรมทายาทในโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย เป็นการฝึกฝนอบรมตนเองและจะได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงในการรักษาศรัทธาของชาวพุทธในท้องถิ่นที่ห่างไกล ด้วยการเดินธุดงค์ไปตามวัดต่าง ในเขตชนบทห่างไกล นอกจากเป้าหมายในการทำวัดร้างให้กลายเป็นวัดรุ่งได้แล้ว เหล่าศาสนทายาทยังได้นำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นประดุจสายน้ำชุ่มฉ่ำเย็นเข้าไปสร้างพลังใจแก่คนในชุมชนให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา และมีแรงบันดาลใจในการสร้างความดีอย่างต่อเนื่อ





เส้นทางอันยาวไกลของการฟื้นฟูศีลธรรมโลก ให้กลับคืนมารุ่งเรืองดังเดิมนั้น เป็นเส้นทางของการสั่งสมความดี สั่งสมบุญบารมีให้เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราจะมองข้าม คิดว่าจะทำเมื่อไรก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เพราะกว่าที่เราจะบรรลุเป้าหมายของการสร้างสันติภาพโลกให้เป็นจริง ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของชาวพุทธที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องพบเจอ เป็นเรื่องเดิม ๆ ที่พระโพธิสัตว์หรือนักสร้างบารมีในกาลก่อนได้เคยเอาชนะมาแล้ว การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด จะต้องแก้ด้วยใจที่สงบ หยุดนิ่ง เพราะใจที่หยุดนิ่งจะก่อให้เกิดดวงปัญญา ทำให้เราเห็นที่มาของปัญหา และสามารถแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

"ธุดงค์ธรรมชัย" ในครั้งนี้เป็นประหนึ่งรอยจาริกอันเป็นมงคลที่ปรากฏบนผืนแผ่นดินไทย เหล่าพุทธบุตรทั้งหลายผู้มีใจสงบ สว่างใส เปรียบดั่งดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญที่ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลก ด้วยกำลังแห่งรัศมี ฉันใด ความอัศจรรย์แห่งพระสัทธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้น ทำให้ลบล้างความเห็นผิด ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระของผู้ไม่รู้ ประดุจบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด ชี้ทางแก่คนหลงทาง และตามประทีปในที่มืดแก่บุคคลให มองเห็นรูป ฉันนั้น




เหล่าสาธุชนผู้ลิ้มรสแห่งอมตธรรมแล้ว เปรียบได้กับบุรุษผู้ย่างลงสู่ท่าน้ำที่สะอาด ย่อมไม่ปรารถนาจะกลับไปเกลือกกลั้วกับโคลนตมอีกต่อไป นั่นคือ ชัยชนะแห่งธรรมที่ลงหลักปักแน่นบนแดนดิน นิมิตหมายแห่งความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่จะสถิตสถาพรตราบนานเท่านาน



Cr. กองบรรณาธิการ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๘๘  เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๕๓
ธุดงค์ธรรมชัย จุดประกายฟื้นฟูศีลธรรมโลก ธุดงค์ธรรมชัย  จุดประกายฟื้นฟูศีลธรรมโลก Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.