อัศจรรย์วันมาฆบูชา



หากย้อนไปเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อนในยุคพุทธกาลนี้ ประวัติศาสตร์การประชุมพระสาวก ครั้งที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น ไม่มีครั้งใดเกินการมารวมตัวของพระอริยสาวก ๑,๒๕๐ รูป ในวันเพ็ญมาฆปุณณมี ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร เรียกว่า "มหาสาวกสันนิบาต" คือ การชุมนุมของพระสาวกเป็นการประชุมที่อัศจรรย์ไม่เหมือนการประชุมครั้งใด ที่เรารู้จักกันดีว่า "จาตุรงคสันนิบาต" หรือการประชุมที่มีองค์พิเศษ ๔ ประการ ได้แก่

๑. เป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆนักษัตร (เดือน ๓)

๒. ภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ที่ทรงอภิญญา ไม่มีแม้แต่รูปเดียวที่จะเป็นพระปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ธรรมดา คือ หมดกิเลสแต่ไม่มีคุณวิเศษอื่นใด

๓. ล้วนเป็นภิกษุที่เป็นเอหิภิกขุ นั่นก็คือ พระพุทธเจ้าประทานการบวชให้ด้วยพุทธานุภาพ ปรากฏเป็นบรรพชิตทันใด ไม่มีรูปใดที่ทำการปลงผมด้วยมีดโกนหรือมีผู้อื่นบวชให้เลย

๔. เป็นการประชุมวาระเร่งด่วนฉับพลัน ที่ไม่มีการนัดหมายมาก่อนล่วงหน้า

ในอรรถกถามหาปทานสูตรได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้เอาไว้ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชก ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร ณ ถ้ำสูกรขาตา ภูเขาคิชฌกูฏ ฝ่ายพระสารีบุตรได้ส่งจิตไปตามพระเทศนาจึงบรรลุสาวกบารมีญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้าพอทรงทราบว่า ท่านบรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็เสด็จเหาะไปปรากฏพระองค์ ณ วัดเวฬุวัน ส่วนพระเถระก็เหาะไปปรากฏตัว ณ วิหารเวฬุวันเช่นกัน จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์"

ข้อความนี้บ่งบอกว่า พระศาสดามิได้ตรัสสั่งนัดหมายประชุมใด ๆ กับพระสารีบุตรผู้แม้จะอยู่ใกล้ตัวพระองค์ก็ตาม แต่พระเถระก็สามารถทราบถึงภารกิจต่อไปด้วยตนเอง ไม่ต้องกล่าวถึงภิกษุที่ต้องเข้าประชุมนอกจากนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากพระพุทธองค์ เพราะท่านจะมีปกติแยกกันบำเพ็ญสมณธรรมตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในวัดหรืออยู่นอกวัดเวฬุวันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องไม่ยากสำหรับท่านเหล่านั้นเพราะทุกองค์ล้วนแต่มีญาณวิเศษแก่กล้า สามารถรับรู้ถึงสถานการณ์ได้เร็วไว และกระดิกจิตมาแบบอจินไตย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่มีการประสานการชุมนุมกันอย่างรวดเร็วเหนือกว่าเทคโนโลยีหรือพาหนะใด ๆ ในโลก เพราะการเหาะเหินเดินอากาศ หรือหายตัวไปมาถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้มีฤทธิ์



มาฆบูชา วันรวมพลทหารกล้ากองทัพธรรม

สาวกสันนิบาต...แห่งวันมาฆปุณณมีนี้ ถือเป็นการ "รวมพลสถาปนากองทัพธรรมครั้งแรก" เพราะพระพุทธเจ้าทรงรอคอยการบรรลุอรหันต์ของพระสารีบุตรผู้จะมาเป็นธรรมเสนาบดีก่อน เมื่อทรง ทราบว่าท่านบรรลุแล้ว ก็ทรงให้มีการประชุมสาวกผู้ทรงฤทธิ์ในวันเพ็ญมาฆะนั้นทันที เพื่อประกาศ "โอวาทปาฏิโมกข์" หรือยุทธศาสตร์การเผยแผ่คำสอนอย่างเป็นทางการ ที่พระสาวกต้องยึดถือไว้เป็นหลักปฏิบัติ ดุจการประชุมใหญ่ของเหล่าบรรดาขุนพลในการจัดทัพ..ก่อนเคลื่อนเข้าประจัญศึก

แต่ถ้าจะย้อนกลับขึ้นไปอีกในหลายพุทธันดรที่ผ่านมา จะพบว่าสาวกสันนิบาตไม่ได้มีเฉพาะแต่ในยุคพระสมณโคดมพุทธเจ้าของเราเท่านั้น แต่เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตอีกด้วย หากแต่ต่างกันที่ปริมาณพระสาวกและจำนวนครั้ง เช่น ในยุคของพระพุทธเจ้าบางพระองค์มีถึง ๓ ครั้ง หรือบางพระองค์มีเพียงครั้งเดียว และแต่ละครั้งก็จะมีพระอรหันต์เอหิภิกขุทั้งสิ้นจำนวนมากมายยิ่งนัก เกินการคาดเดามาชุมนุมกันเป็นมหาสาวกสันนิบาต ซึ่งจะยกตัวอย่างยุคของพระพุทธเจ้าเพียงบางพระองค์ พอให้เห็นภาพตามได้ ดังต่อไปนี้

พระเรวตะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวกจำนวนเกินที่จะนับได้ ณ สุธัญญวดีนคร

ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ณ เมขลนคร

ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ

พระติสสะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวก ๑๐๐,๐๐๐ รูป ณ ยสวดีนคร

ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวก ๙,๐๐๐,๐๐๐ รูป ณ นาริวาหนนคร

ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘,๐๐๐,๐๐๐ รูป ณ เขมวดีนคร




พระปุสสพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวก ๖,๐๐๐,๐๐๐ รูป ณ กัณณกุชชนคร

ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวก ๕,๐๐๐,๐๐๐ รูป ณ กรุงกาสี

ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวก ๔,๐๐๐,๐๐๐ รูป

พระกกุสันธพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว และทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ พระสาวก ๔๐,๐๐๐ รูป ณ สวนป่าอิสิปตนมิคทายวัน กรุงกัณณกุชชนคร

ส่วนโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจแห่งสาวกสันนิบาตที่ทรงประทานในครั้งนี้ ก็นับว่าอัศจรรย์ยาวนานเหมือนส่งทอดต่อ ๆ กันมาไม่ขาดสาย เพราะล้วนมีเนื้อความเหมือนกันทุกพระองค์ มิใช่เฉพาะแต่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ดังที่เคยตรัสกับพระอานนท์ว่า แม้อายุกาลของแต่ละพระองค์จะต่างกัน แต่เนื้อความพระโอวาทนั้นเหมือนกันทุกประการ สังเกตได้จากประโยคสุดท้ายในแต่ละบทสวดโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งจะมีคำว่า "นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

มาฆบูชา วันรวมพลนัดสำคัญ
ทหารใหม่แห่งกองทัพธรรม

วันมาฆบูชาของปีนี้ จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เพราะเป็นปีอธิกมาสตามจันทรคติและนับเป็นปีพิเศษที่ไม่เหมือนปีไหนมาก่อน จะเป็นอัศจรรย์มาฆบูชาที่ยากจะลืมเลือน ซึ่งมิได้มีแต่เพียงโคมประทีปนับแสนดวงเท่านั้น แต่จะมีพุทธบุตรกองพลสถาปนาแสนรูป จาก ๓๓๐ กว่าวัดศูนย์อบรม ทั่วประเทศ ซึ่งเกิดจากการทุ่มเททำหน้าที่ของยอดกัลยาณมิตร ในการเชิญชวนชายไทยมาบวชฝึกฝนอบรมตนอย่างดี รวมทั้งพุทธบุตรอีกมากมายจากทุกมุมโลก ที่จะมาชุมนุมด้วยสีจีวรเหลืองทองอร่ามตา เป็นมหาสมาคมเต็มลานมหารัตนวิหารคด เพื่อน้อมระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ผ่านบทสวดโอวาทปาฏิโมกข์ แสดงพลังอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา ให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่อัศจรรย์ในวันมาฆบูชาโลก ดั่งพลิกโฉมหน้าจำลองประวัติศาสตร์ ย้อนยุคไปให้คล้ายการชุมนุมใหญ่ยุคพุทธกาลทุกพุทธันดร




อีกทั้งยังถือเป็นการรวมพลนัดสำคัญที่จะรวมใจของมหาสมาคมพุทธบุตรและเหล่าชาวพุทธให้เป็นปึกแผ่นและเป็นหนึ่งเดียวกันในการสถาปนาฟื้นฟูศีลธรรมโลก ก่อนจะก้าวไปสู่การร่วมแรงร่วมใจ ที่จะมาสถาปนาบวชพุทธบุตรล้านรูปในภายภาคหน้าและเผยแผ่ไปทั่วทุกมุมโลก

พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย... ถ้าปรารถนาให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป และรักษาไว้ให้คงอยู่เคียงคู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป แม้พันธกิจนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก ขอเพียงให้พุทธบริษัท ๔ เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว ถ้าพุทธบริษัทสามัคคีกลมเกลียวเหมือนเชือกฟั่น ผู้ไม่ประสงค์ดีที่ต้องการให้พุทธศาสนาขาดสะบั้นไปจากผืนแผ่นดินไทย ย่อมไม่สามารถทำได้ดังตั้งใจ วันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ จึงเป็นวันสำคัญที่พุทธบริษัทไม่ควรพลาดในการมาร่วมฟัง “โอวาทปาฏิโมกข์” และประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่า พุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง ณ ประเทศไทย

Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต  ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ  ธมฺมสารี  ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๘๘  เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๕๓
อัศจรรย์วันมาฆบูชา อัศจรรย์วันมาฆบูชา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:06 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.