ตักบาตรใส่บุญ



ใส่บาตรกับตักบาตรมีความหมายต่างกันอย่างไร?

คำดั้งเดิมคือ “ตักบาตร”  ซึ่งเป็นลักษณะของกิริยาตักข้าวใส่ลงในบาตร แต่หลัง ๆ มีคำว่า "ใส่บาตร" ขึ้นมา เรียกตามกิริยาที่เราเอาอาหารถุงใส่บาตรโดยไม่ต้องตัก ก็เลยใช้คำว่าใส่บาตรแทน ทั้งคำว่าตักบาตรและใส่บาตรใช้ได้ทั้ง ๒ คำ เพราะเราเข้าใจตรงกันว่าเป็นการนำอาหารไปถวายในบาตรพระที่ท่านมาบิณฑบาตตอนเช้า

บาตรพระมีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาลหรือไม่ และวัสดุที่ใช้แตกต่างกับในปัจจุบันอย่างไร?

บาตรมีใช้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว พระทุกรูปจำเป็นต้องมีบาตร เพราะเวลาบวชจะต้องมีอัฐบริขาร ครบถึงจะบวชได้ ซึ่งเป็นพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ บาตรโดยทั่วไปทำจากดินเผาและเหล็ก ส่วนบาตรที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น เงิน ทอง ทองแดง ทองเหลือง ดีบุก สังกะสี ไม้ แก้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เงินกับทอง มีค่ามากเกินไปไม่เหมาะที่จะนำมาทำบาตร อาจจะมี โจรมาขโมย ส่วนทองแดง ทองเหลือง ดีบุก หรือสังกะสี เมื่อเจอของที่มีรสเปรี้ยวก็จะถูกกัด และจะเป็นสนิม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ บาตรไม้ก็ไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าอาหารซึมเข้าไปในเนื้อไม้ได้ เวลาล้างก็ล้างไม่เกลี้ยง จะเกิดการหมักหมมเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนบาตรแก้วก็แตกง่ายเกินไป พอมีอะไรมากระทบ เศษแก้วอาจตกไปในอาหาร ฉันแล้วจะเป็นอันตราย ที่ทรงอนุญาตหลัก ๆ ก็คือ บาตรดินเผาและบาตรเหล็ก

วัตถุประสงค์ในการตักบาตรคืออะไร?

การตักบาตรเป็นการถวายกำลังแก่พระภิกษุในการสืบอายุพระพุทธศาสนา ถ้าญาติโยมใส่บาตร พระก็จะมีอาหารมาบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

การใส่เงินลงในบาตรเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่?

ความจริงแล้วการบิณฑบาตมุ่งเน้นเรื่องอาหารเป็นหลัก การใส่อาหารจึงถูกต้องที่สุด ส่วนการใส่ปัจจัยก็ไม่ถึงกับบาป เหมือนที่เรานิมนต์พระไปงานบุญขึ้นบ้านใหม่หรืองานศพแล้วเราถวายปัจจัยท่าน กรณีใส่ปัจจัยในบาตรแทนอาหาร อาจเป็นเพราะไม่สะดวกที่จะเตรียมอาหาร จึงเอาปัจจัยใส่ซองแล้วใส่บาตรเลย

ตามพระวินัยให้ใส่เป็นใบปวารณา เพราะโดยธรรมเนียมสงฆ์พระจะไม่จับเงินจับทองโดยตรง แล้วเขียนว่าตั้งใจจะถวายจตุปัจจัยเป็นยอดค่าใช้จ่ายเท่าไร ถึงคราวพระท่านต้องการสิ่งใด ท่านก็จะไปบอกไวยาวัจกร จะได้ไม่ต้องจับเงินจับทองโดยตรง

เป็นการเขียนรายละเอียดเรื่องเงินใส่ลงไปในบาตรหรือ?

ถ้าจะให้ถูกพระวินัยจริง ๆ ให้ถวายเป็นใบปวารณา แล้วเขียนว่า ข้าพเจ้าคือใคร ชื่ออะไร มีความประสงค์จะถวายจตุปัจจัยเป็นจำนวนเงินเท่าไร หากพระคุณเจ้ามีความประสงค์สิ่งใด ก็ขอให้เรียกหาปัจจัยได้จากไวยาวัจกร ทำอย่างนี้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

แต่บางทีพระไปบิณฑบาตไม่มีลูกศิษย์วัดตามมา แล้วจะฝากปัจจัยไว้กับใคร ด้วยสภาพสังคมแบบนี้เลยใส่ซองถวายท่านไปเลย ที่จริงถ้าจะให้ถูกพระวินัย แม้แต่พระไปรับกิจนิมนต์ตามบ้านหรือตามที่ต่าง ๆ การถวายปัจจัยก็ต้องถวายเป็นใบปวารณาเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันไม่สะดวกหลายขั้นตอน ญาติโยมก็เลยเอาปัจจัยใส่ซองถวายตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ให้เราถือตามเจตนา ถ้าเจตนาเป็นกุศลบุญก็เกิด ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นบาปหรือเปล่า

การตักบาตรโดยไม่เฉพาะเจาะจงพระภิกษุรูปใดมีอานิสงส์แตกต่างจากสังฆทานหรือไม่?

คล้าย ๆ สังฆทานเหมือนกัน ถ้าตักบาตรโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นพระรูปใด ไม่ใช่ว่าพระรูปนี้มา ไม่ตัก จะรอตักบาตรหลวงพ่อที่อายุเยอะ ๆ อย่างนี้ เป็นการตักบาตรแบบเฉพาะเจาะจง แต่ถ้าเราทำบุญถวายหมู่แห่งภิกษุที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้พระองค์ปรินิพพานไปแล้วก็ตาม เราขอทำบุญกับสงฆ์ ไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใด แบบนี้บุญมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นสังฆทาน

ตักบาตรทุกวันด้วยไทยธรรมตามอัตภาพกับตักบาตรเฉพาะโอกาสพิเศษด้วยไทยธรรมประณีตมีอานิสงส์ต่างกันอย่างไร?

พวกเราเคยสังเกตไหมว่า บางคนถึงคราวรวยบางทีรวยเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเลย แต่พอเศรษฐกิจตกต่ำครั้งเดียวเป็นหนี้เลย รวยไม่ตลอด เดี๋ยวรวย เดี๋ยวจน เพราะเวลาศรัทธาเขาก็ทำบุญเยอะ พอบุญส่งผลก็รวย แต่บางทีเขามีศรัทธาไม่ตลอด บางช่วงชักเสียดายไม่อยากทำบุญก็เว้นห่างไป ตอนนั้นสายบุญก็เลยขาด สายสมบัติขาด พอสายบุญขาดก็จน พอฟิตก็ทำบุญอีก สมบัติก็เลยมาเป็นระลอก ๆ

กรณีนาน ๆ ทำครั้ง แต่ทำด้วยอาหารที่ประณีตก็จะรวยเป็นระยะ ๆ เวลารวยก็รวยมาก และมีทรัพย์สมบัติที่ประณีตทุกอย่าง ส่วนคนที่ทำสม่ำเสมอตามอัตภาพ ก็จะมีฐานะดีแบบสม่ำเสมอ แต่ไม่ได้รวยหวือหวา ประกอบเหตุอย่างไร ผลก็จะเกิดอย่างนั้น

แต่ที่น่าสนใจคือ ทำบุญอย่างไรถึงจะได้บุญมาก การทำบุญให้ได้บุญมากมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ

๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือของที่เราให้ทาน ต้องได้มาด้วยความชอบธรรม  ถ้าไปขโมยของเขามาทำบุญ บุญก็ได้นิดหน่อย เพราะวัตถุไม่บริสุทธิ์

๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือมีศรัทธาทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้  เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมเศรษฐีบางคนรวยมากแต่ขี้เหนียว ไม่ค่อยยอมใช้ทรัพย์ของตัวเอง รวยมหาศาล แต่เวลาจะซื้อมะม่วงกินต้องเอาลูกที่เริ่มเน่า แล้วมาตัดที่เน่าออก กินที่เหลือ เสื้อผ้าดี ๆ ไม่ยอมใช้ ใช้ปุ ๆ ปะ ๆ อย่างนี้ เป็นเพราะตอนมีศรัทธาก็ทำบุญ แต่พอทำเสร็จเรียบร้อย แล้วนึกเสียดาย แบบนี้ถึงเวลามีทรัพย์จะใช้ทรัพย์ไม่เต็มอิ่ม ทุกอย่างมีที่มาที่ไป เป็นเรื่องของเหตุกับผลตามกฎแห่งกรรม

๓. บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง ผู้รับเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ เช่น พระภิกษุมีศีล ๒๒๗ ข้อ ถ้าผู้รับเป็นคนธรรมดาแต่มีศีล ๘ ก็ยังดี ศีล ๕ ก็รองลงมา ไม่มีศีลรองลงมา ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็รองลงมาอีก

คุณธรรมของผู้รับยิ่งสูงเท่าไรบุญก็ยิ่งมากขึ้นตามส่วน ตักบาตรพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญจะมากขึ้นตามส่วน เพราะเมื่อท่านรับวัตถุทานจากเราไปแล้ว ท่านเอากำลังเรี่ยวแรงที่เกิดขึ้นไปใช้ทำความดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลได้มาก พระพุทธเจ้าทรงรับอาหารที่เราถวายไปแล้วเกิดบุญมหาศาล เพราะเมื่อพระองค์เสวยเสร็จ แค่ไปเทศน์สอนประชาชน หรือนั่งธรรมะทีหนึ่ง เราก็ได้ส่วนแห่งบุญมหาศาล เพราะพระองค์หมดกิเลสแล้ว และเป็นพระพุทธเจ้าด้วย

ส่วนผู้ให้ก็มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นก่อนจะทำบุญให้รับศีลก่อน พอรับศีลแล้วไปทำบุญอย่างน้อย ขณะนั้นศีล ๕ ครบบริบูรณ์ บุญจะได้มากขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง แต่สู้คนที่ถือศีลสม่ำเสมอไม่ได้ ผู้ให้มีศีลบริสุทธิ์มากเท่าไร บุญก็มากตามส่วนเช่นกัน

ทำบุญเสร็จแล้วทำไมต้องกรวดน้ำ ไม่กรวดได้หรือไม่?

เรากรวดน้ำเพื่ออาศัยสายน้ำที่ไหลลงมาทำให้ใจเป็นสมาธิ พอนึกเอาบุญไปให้ผู้ที่ละโลก บุญจะได้ไปแรงขึ้น ตัวเราเองเหมือนเครื่องส่ง ถ้าใจเป็นสมาธิสัญญาณจะแรง คลื่นแทรกไม่ค่อยมี บุญที่ส่งก็จะเต็มที่ แต่ถ้าคนอุทิศส่วนกุศลใจฟุ้งซ่าน ก็เหมือนกับเครื่องส่งที่กำลังไม่ค่อยดี ส่งได้ไม่เต็มที่ ใจที่จรดอยู่กับสายน้ำจะเป็นสมาธิ เมื่ออุทิศส่วนกุศลจะไปถึงผู้รับแรงขึ้น นี่คือวัตถุประสงค์ ส่วนที่เหยียดนิ้วออกไปเป็นการช่วยให้น้ำไหลตามนิ้ว ป้องกันน้ำหก ย้อยเลอะเทอะ

สำหรับคนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจนกระทั่งชำนาญแล้ว ไม่ต้องกรวดน้ำก็ได้ ทำใจนิ่ง ๆ ทำสมาธิแล้วนึกส่งบุญไปได้

ทำบุญแล้วไม่ได้ฟังพระให้พร จะได้บุญหรือไม่?

ได้สิ เพราะบุญเกิดตั้งแต่เราถวายทานแล้ว แม้ไม่ได้ฟังพระให้พรก็ได้บุญ ธรรมเนียมสงฆ์สมัยเริ่มต้นพุทธกาลพระไม่ได้ให้พร แต่มีผู้ไปกราบทูลขอพระพุทธเจ้าว่าอยากจะให้พระให้พรสักหน่อย ฟังแล้วชื่นใจ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตเพื่อฉลองศรัทธาญาติโยม จึงมีธรรมเนียมให้พรตั้งแต่นั้นมา

บุญไม่ได้เกิดจากเสียงให้พร แต่เกิดจากการที่เรามีศรัทธาแล้วไปถวายทาน แต่ถ้าพระให้พรแล้ว เราตั้งใจฟังอย่างดี ใจก็จะปลื้มในบุญ บุญก็จะยิ่งเพิ่มพูนทับทวีขึ้น การให้พรมีผลเหมือนกัน แต่หัวใจหลักอยู่ที่เรามีศรัทธาแล้วถวายทานขาดจากใจ บุญเกิดตอนนั้น



วัตถุประสงค์ของการจัดโครงการตักบาตรพระ ๕๐๐,๐๐๐ รูป ๗๖ จังหวัดทุกวัดทั่วไทย (ปัจจุบัน คือ โครงการตักบาตรพระ ๑ ล้านรูป ๗๗ จังหวัดทุกวัดทั่วไทย) คืออะไร?

เป้าหมาย คือ ฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธ ธรรมเนียมชาวพุทธแต่โบราณมาเราจะตักบาตรกันทุกวัน แต่ปัจจุบันนี้บางบ้านตอนเช้าไม่มีพระเดินผ่าน หรือบางคนไปทำงานตั้งแต่เช้ามืด แทบไม่มีโอกาสใส่บาตร ใส่ได้แค่วันเกิดหรือวันพิเศษเท่านั้น เตรียมข้าวของใส่รถไป เห็นพระที่ไหนก็ลงไปใส่บาตรที่นั่น บางคนทั้งปีไม่เคยใส่บาตรเลยก็มีเหมือนกัน

โครงการนี้จึงเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธ ฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมาสู่สังคมไทย

เพราะอะไรจึงตั้งเป้าไว้ที่ ๕๐๐,๐๐๐ รูป?

ถ้าจัดตักบาตรพระ ๕๐ รูป คงไม่ค่อยมีใครอยากไป แต่ถ้าตักบาตรพระในระดับพันรูป หมื่นรูป เขาจะรู้สึกว่าไปทีเดียวคุ้มเลย ตักบาตร วันละ ๓ รูป ทั้งปีได้ ๑ พันรูปเท่านั้น ไปงานนี้ตักบาตรทีเดียวหมื่นรูปก็เท่ากับ ๑๐ ปีแล้ว ก็เลยไปกันมหาศาล เป็นหมื่นคนขึ้นไปทั้งนั้น บางแห่งถึงแสนคน กระแสการทำความดีเกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้จัดตักบาตรแห่งเดียวแล้วเลิก แต่การตักบาตร ๕๐๐,๐๐๐ รูป หมายถึงตักบาตรทุกวัดทั่วไทย ทั้งระดับอำเภอ ระดับตำบล และวัดทุกวัดมีส่วนร่วมทั้งหมด ผลคือเป็นระรอกคลื่นแห่งความดีขยายตัวกว้างขึ้น ๆ นำศีลธรรมกลับมาสู่สังคมไทย

เวลาเขาต้องการกระตุ้นให้อะไรตื่นตัวขึ้นมา เขาจะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม เช่น ในทางลบเขาจัดส่งเสริมการดื่มเบียร์ มีเทศกาลลานเบียร์ คนก็ตื่นตัวเรื่องการดื่มเบียร์กันขนานใหญ่ ถ้าปล่อยให้ฝ่ายอบายมุขเขาจัดเทศกาล แล้วพระพุทธศาสนาอยู่เงียบ ๆ ชาวพุทธก็จะค่อย ๆ เฉาลง ๆ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับศาสนาของเรา เราจึงต้องกลับมากระตุ้นชาวพุทธให้ตื่นตัวโดยอาศัยเทศกาลตักบาตร ตักทั้งปีและตักต่อเนื่องทุกจังหวัด ซึ่งเราจะเห็นว่าตอนนี้หนังสือพิมพ์มีข่าวตักบาตรที่นั่นพันรูป ที่นี่ ๓ พัน ๕ พัน หมื่นรูป ไม่ขาดสาย กระแสดี ๆ เกิดขึ้นแล้ว

ครั้งแรก ๆ ที่จัดพระท่านไม่แน่ใจว่าจะมีคนไปตักบาตรหรือเปล่า ปรากฏว่าแต่ละแห่งไปกันเป็นหมื่นเป็นแสนทั้งนั้น ท่านก็ปลื้ม บอกว่าปีละหน น้อยไป ขอเดือนละหนได้ไหม ญาติโยมอยากจะใส่บาตร สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นแล้ว ถามว่าทำไมไม่เกิดก่อนหน้านี้ ก็เพราะขาดผู้เชื่อมประสาน พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านจึงตั้งโครงการขึ้นมา แล้วให้ญาติโยมจากทางวัดไปช่วยนิมนต์พระ ประสานงานกับผู้นำในท้องถิ่น ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างนี้ มั่นใจได้ว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง ศีลธรรมในสังคมจะสูงขึ้น ลูกหลานไทยจะได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างแน่นอน นั่นคือ การกลับมาของศีลธรรมและวัฒนธรรมชาวพุทธผ่านโครงการนี้


Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๐  เดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
ตักบาตรใส่บุญ ตักบาตรใส่บุญ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:44 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.