อุบาสิกาแก้ว ทหารหญิงจักรพรรดิ




...สตรีเหล่าใด  ส่งใจถึงพระพุทธเจ้าเป็นประจำทั้งกลางวันและกลางคืน  สตรีเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ เป็นอุบาสิกาสาวิกาของพระพุทธเจ้า...

อุบาสิกา  ฐานะอันสูงส่งฝ่ายหญิงในพระศาสนา ๑ ใน ๔ เสาหลักที่พุทธบริษัทขาดมิได้ เฉกเช่น มหาอุบาสิกาวิสาขา ...ผู้เป็นกองเสบียงใหญ่ให้กับพระศาสนา หรือแม้วิชชาอันลึกซึ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สตรีเพศธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนก็สามารถแทงตลอดได้เหมือนกัน

ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสิกา ชื่อ มาติกมารดา (มา-ติ-กะ-มาน-ดา) อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านริมเชิงเขาลูกหนึ่งในแคว้นสาวัตถี นางเป็นแม่ของผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ ในช่วงเข้าพรรษา นางเห็นคณะสงฆ์ ๖๐ รูป เดินธุดงค์ผ่านมาที่หมู่บ้าน จึงคิดอย่างผู้มีดวงปัญญาว่า เนื้อนาบุญมาโปรดเราถึงที่แล้ว เป็นโอกาสดีที่จะได้สั่งสมบุญอย่างเต็มที่ จึงก้มกราบปวารณาว่า "พระคุณเจ้าได้โปรดอยู่จำพรรษาที่หมู่บ้านแห่งนี้เถิด พวกโยมจะคอยถวายอาหารเป็นประจำ" เมื่อคณะสงฆ์รับอาราธนา นางจึงบอกให้คนในหมู่บ้านช่วยกันทำความสะอาดสถานที่แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้าน เพื่อให้พระภิกษุใช้บำเพ็ญสมณธรรมกัน อีกทั้งอุปัฏฐากดูแลเป็นอย่างดี ดุจเป็นโยมมารดาของพระก็ว่าได้

ภิกษุเหล่านั้นต่างก็ไม่ประมาทในการบำเพ็ญสมณธรรม ได้สร้างกติกาในการอยู่ร่วมกันว่า "เพื่อให้ไม่เกิดการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ พวกเราควรแยกกันอยู่ แต่ว่าจะมาพบกันในเวลาบิณฑบาตยามเช้าและอุปัฏฐากพระเถระยามเย็น นอกนั้นก็ให้ต่างคนต่างอยู่ งดการพูดคุยสนทนาต่าง ๆ แต่ถ้ารูปใดเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ให้มาตีระฆังบอกให้ทราบทั่วกัน เพื่อช่วยกันปรุงยาถวายรูปนั้น"

วันหนึ่งอุบาสิกาพร้อมลูกบ้านได้นำน้ำปานะมาถวายพระ แต่ไม่พบพระรูปใดเลย คนที่ทราบกติกาสงฆ์ก็ได้บอกนางว่า "ไปตีระฆังสิ เดี๋ยวพระท่านก็จะมารวมตัวกันเอง" นางก็ใช้ให้คนไปตีระฆัง ภิกษุสงฆ์เมื่อได้ยินเสียงระฆังจึงออกมาจากที่พัก อุบาสิกานึกว่าพระทะเลาะกัน เพราะแต่ละรูปไม่มีใครมาทางเดียวกันเลย จึงถามสาเหตุนั้น พระท่านตอบออกไปว่า "โยมแม่ พวกอาตมาแยกกันบำเพ็ญสมณธรรม” “สมณธรรมนั้นเป็นอย่างไร" "สมณธรรม ก็คือ การทำสมาธิ พิจารณาอาการ ๓๒ ในร่างกายนี้ ว่าเป็นของไม่เที่ยง พิจารณาให้เห็นความเสื่อมและความสิ้นไป" นางถามต่อไปว่า "แล้วโยมสามารถทำสมาธิได้ไหม “โยมแม่ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามไว้ โยมก็ทำสมาธิได้จ้ะ"



อุบาสิกาจึงได้ขอเรียนการทำสมาธิจากภิกษุสงฆ์ นางตั้งใจปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และยังสามารถรู้วาระจิตคนอื่นได้ด้วย วันหนึ่งนางได้ตรวจดูการปฏิบัติของเหล่าภิกษุจึงได้รู้ว่า "พระคุณเจ้ายังมิได้บรรลุธรรมอะไรเลย แต่ก็ยังมีอุปนิสัยที่จะเป็นพระอรหันต์ได้" นางจึงตรวจดูต่อไปว่า "ไม่ว่าจะเป็นเสนาสนะและบุคคลก็ล้วนเป็นที่สบาย ยังเหลือแต่อาหารเท่านั้นที่จะต้องทำให้เป็นที่สบาย" นางจึงนำอาหารถูกปากมาถวายพระ เหล่าภิกษุได้อาหารเป็นที่สบายจึงปฏิบัติธรรมได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่นานก็ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์กันหมด จึงพากันสรรเสริญอุปการคุณของอุบาสิกาว่า "ถ้าพวกเราไม่ได้อาหารที่ถูกปากจากโยมแล้ว การบรรลุธรรมคงเลื่อนออกไปอีกนานเป็นแน่"

เมื่อออกพรรษาภิกษุสงฆ์ทั้งหมดก็ลาอุบาสิกา เพื่อไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และทูลเล่าเรื่องการรู้วาระจิตของอุบาสิกาให้ทรงทราบ ภิกษุรูปหนึ่งได้ยินเรื่องราวของนางก็ยังไม่เชื่อ จึงปรารถนาจะไปพิสูจน์ด้วยตนเอง ท่านได้ทูลลาพระบรมศาสดาเพื่อไปบำเพ็ญสมณธรรมที่หมู่บ้านแห่งนั้น พอไปถึงก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า "ใคร ๆ ต่างก็ร่ำลือกันนักว่า อุบาสิกามาติกมารดาสามารถรู้วาระจิตได้ ตอนนี้เรายังเหนื่อยกับการเดินทาง ไม่มีแรงทำความสะอาดที่พักเลย ขออุบาสิกาจงส่งคนมาทำความสะอาดด้วยเถิด" อุบาสิกาก็ส่งคนมาทำความสะอาดในทันใด หรือเมื่อท่านต้องการจะฉันภัตตาหาร เพียงแค่นึก ก็จะมีคนนำมาถวายสมประสงค์ทุกคราวไป

ต่อมา ภิกษุรูปนี้ต้องการที่จะพบตัวจริงของอุบาสิกา นางก็เดินทางมาให้พบตามประสงค์พร้อมกับนำภัตตาหารรสเลิศมาถวายอีกเช่นเคย พอพระฉันเรียบร้อยแล้วจึงถามขึ้นว่า "โยมรู้วาระจิตคนอื่นได้จริงหรือ" "ลูกเอ๋ย คนที่รู้วาระจิตได้ก็มีถมไปนะ" "ฉันไม่ได้ถามถึงคนอื่น แต่ถามถึงตัวโยมคนเดียวนั่นแหละ" นางมิได้บอกตรง ๆ เพียงตอบเลี่ยง ๆ ว่า "ลูกเอ๋ย ธรรมดาคนที่รู้วาระจิตได้ ก็จะทำอย่างนี้ได้"

ภิกษุนี้จึงคิดว่า "เรายังเป็นปุถุชน อาจจะมีความคิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าเราคิดในสิ่งที่ไม่สมควร อุบาสิกาท่านนี้ก็จะรู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ เราควรจะหนีไปจากที่นี่เสีย" ว่าแล้วก็แอบหลบหนีกลับไปเข้าเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับทูลเรื่องราวทุกอย่างให้ทรงสดับ พระพุทธองค์ก็ประทานโอวาทว่า "เธอควรกลับไปที่เดิม แต่ว่าเธอจงรักษาสิ่ง ๆ เดียว นั่นก็คือจิตของตัวเอง จงข่มจิตไว้ อย่าคิดถึงสิ่งอื่น ธรรมดาจิตนี้ข่มได้ยาก เพราะมักซัดส่ายไปตามอารมณ์ การมีจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้"



ภิกษุนี้ไม่มีทางเลือกอื่นจึงจำต้องกลับไปยังหมู่บ้านนั้นตามเดิม พร้อมกับสำรวมกาย วาจา และใจ ไม่กล้าคิดฟุ้งซ่านอีกต่อไป ทางฝ่ายโยมอุบาสิกานั้นรู้ว่า "พระลูกชายได้รับโอวาทจากอาจารย์แล้วจึงกลับมาหาเราอีกครั้ง" จึงทำหน้าที่เป็นกองเสบียงอย่างดีโดยนำภัตตาหารเลิศรสไปถวาย เพียงไม่กี่วัน พระภิกษุรูปนี้ก็สามารถทำใจหยุดนิ่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับความสุขอันไม่มีประมาณนี้ จึงดำริขึ้นว่า "น่าขอบใจโยมแม่ของเราเหลือเกิน เราได้อาศัยมหาอุบาสิกานี้เป็นที่พึ่ง จึงสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ได้" จากนั้นท่านก็ได้มีโอกาสแสดงธรรม เรื่องมรรคผลแก่มหาอุบาสิกาเป็นการตอบแทนนาง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุธรรมของท่าน

เราจะเห็นว่า ในชีวิตลูกผู้หญิงผู้มีบุญ ต้องมีโอกาสฝึกตนด้วยการทำสมาธิภาวนา ประพฤติพรหมจรรย์อย่างต่อเนื่อง และยกตนให้ถึงพร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยการบวชเป็น "อุบาสิกาแก้ว" ธิดาพระชินสีห์ แม้บวชกายมิได้อย่างพระ แต่สามารถบวชใจละกามคุณพร้อมห่มครองอาภรณ์สไบแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ดุจสไบของมหาพรหม ประพฤติตนให้ปลอดพ้นจากพันธนาการ เพื่อการเข้าถึงธรรมเป็นหน่อเนื้อแห่งพุทธะ ดุจหน่ออ่อนธรรมะ ที่รอวันแทงยอดเติบโตขยายเป็นลำต้นใหญ่ ก่อนที่จะมาเป็นทหารหญิง..กองกำลังสำคัญยิ่งในภารกิจเชิญชวนชายแท้มาอุปสมบทเป็นพระแท้ ๑๐๐,๐๐๐ รูปในช่วงเข้าพรรษา เพราะพลังมหาอุบาสิกาแก้วนั้น แกร่งกล้าไร้ขีดจำกัดไม่แพ้บุรุษเพศเลย สามารถจะยกใจชายแมนแมนผู้มีบุญให้เกิดศรัทธามาบวชได้มากมายเป็นทับทวี

อุบาสิกาแก้ว  คือ ยอดอัศจรรย์หญิง ผู้ยอยกพุทธศาสนาให้สูงเด่น เหมือนมาติกมารดาที่คอยดูแลให้พุทธบุตรจำนวนมากบรรลุธรรมได้อย่างง่ายดายเป็นอัศจรรย์

อุบาสิกาแก้ว  คือ หน่อแก้วแห่งพระรัตนตรัย ที่พร้อมจะนำผู้ชายแมนแมนมาเป็นพระแท้ ๑๐๐,๐๐๐ รูปในพรรษากาล เหมือนนางสุชาดาสนับสนุนพระมหาบุรุษจนได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

อุบาสิกาแก้ว  คือ ความหวังที่จะทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายกว้างไกลไปทั่วโลก เหมือนมหาอุบาสิกาวิสาขาที่คอยสนับสนุนงานพระศาสนาตลอดชีวิต

อุบาสิกาแก้ว  ยอดวีรสตรีผู้กล้าดุจแม่พระธรณี พร้อมแล้วกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่จะต่อสู้กับกิเลสร้ายในใจของผองชน

อุบาสิกาแก้ว ทหารหญิงจักรพรรดิ...ผู้ขับเคลื่อนกองทัพธรรม..กองกำลังหนุนสำคัญในงานพระพุทธศาสนา ให้เป็นแสงสว่างส่องทางสวรรค์และทางนิพพานแก่ชาวโลก



Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ  ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๘๙  เดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
อุบาสิกาแก้ว ทหารหญิงจักรพรรดิ อุบาสิกาแก้ว  ทหารหญิงจักรพรรดิ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:06 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.