ชาวพุทธแท้ ผู้ช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนา


ชนเหล่าใดถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ชนเหล่านั้นจักไม่ไปอบายภูมิ
ครั้นละกายมนุษย์แล้ว จักยังทิพยกายให้บริบูรณ์

เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ พุทธมามะกาติ โน สังโฆ ธาเรตุฯ

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานไปนานแล้วกับทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกอันสูงสุด ขอพระสงฆ์โปรดจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พุทธศาสนิกชน คือผู้มีศรัทธายึดเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ความเป็นชาวพุทธนั้นมิใช่เพียงแค่การระบุไว้ในทะเบียนบ้านเท่านั้น แต่ต้องยึดถือด้วยใจ และประกาศตนเปล่งวาจาขอเป็นพุทธมามกะ ชาวพุทธแท้ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง คือทำหน้าที่เป็นกองเสบียงให้พระศาสนา สนับสนุนพุทธบุตร ให้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสะดวก เหมือนดังท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้ทุ่มเททำหน้าที่เป็นกองเสบียง ช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ตราบกระทั่งถึงปัจจุบัน



อนาถบิณฑิกเศรษฐี กองเสบียงหัวใจไม่เกี่ยง
¹ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น เป็นต้นแบบของอุบาสกผู้ทำหน้าที่กองเสบียง โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง และเงื่อนไข ตั้งแต่ยอมเอาเงินมาปูเรียงเคียงกันเพื่อซื้อที่ดินสร้างวัดเชตวันซึ่งเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมเป็นเงิน ๕๔ โกฏิ นอกจากนี้ ท่านยังทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรชักชวนหมู่ญาติ และเพื่อนที่ทำการค้าด้วยกันให้มานับถือพระพุทธศาสนา จนเข้าถึงธรรมกันอีกมากมาย

กิจวัตรของท่านนั้น ตอนเช้าจะถวายภัตตาหาร แด่ภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเป็นประจำ จัดตั้งอาหารหวาน คาว ใส่บาตรพระไม่เคยขาด ช่วงบ่ายจะหาน้ำปานะไปถวายพระ และตั้งใจฟังธรรมด้วยความเคารพ ขณะเดียวกัน ท่านจะหาโอกาสไปดูแลภิกษุที่ป่วยไข้ ถ้ารูปไหนอาพาธก็จะหาหมอดีมาช่วยรักษา รูปไหนจะต้องเดินธุดงค์ไปแสวงหาที่วิเวก ก็มักจะถวายเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ท่านไม่เคยเดินมือเปล่าเข้าวัดเลย ถ้าไม่ถือภัตตาหารก็ถือน้ำปานะ ไปถวายพระเสมอ

ในเวลาเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด แต่ใจท่านไม่ได้ตกต่ำตามไปด้วย ยังคงถวายทานตามปกติ อาหารที่นำมาถวายพระสงฆ์นั้นแม้เป็นเพียงข้าวปลายเกรียนกับน้ำส้มผักดอง ท่านก็นำมาถวาย ด้วยใจที่อิ่มบุญ แม้เทวดาบอกให้ท่านเลิกทำทาน แทนที่ท่านจะปฏิบัติตาม กลับขับไล่เทวดาให้ออกจากซุ้มประตูบ้าน เพราะท่านเชื่อมั่นในพุทธานุภาพ เมื่อใจของท่านอยู่ในบุญ เชื่อคุณของพระรัตนตรัย ในที่สุดบุญก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อนที่เคยโกงเงินท่านไปก็เอาเงินมาคืน ธุรกิจการค้ากลับฟื้นขึ้นมาใหม่ กลายเป็นคนรวยกว่าเดิม เมื่อท่านละโลกไปแล้วก็ได้ไปเสวยบุญอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต รุ่งเรืองด้วยทิพยวิมานและทิพยบริวารมากมาย




นอกจากนี้ ยังมีนางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้ทำหน้าที่เป็นกองเสบียงจนตลอดชีวิต นางยอมขายเครื่องประดับชื่อ "มหาลดาปสาธน์" ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องประดับที่แพงที่สุดในโลก เพื่อนำเงินมาซื้อที่ดินและสร้างวัดบุพพาราม ที่พระภิกษุสามารถอยู่พำนักได้ ๑,๐๐๐ รูป อุบาสิกาวิสาขาได้ทำหน้าที่สนับสนุนงานเผยแผ่พระศาสนาในทุกด้าน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ นางก็จะคอยหาทางแก้ไข นางขอพร ๘ ประการจากพระพุทธเจ้าเพื่อให้ภิกษุสงฆ์บำเพ็ญสมณธรรมอย่างสะดวกสบาย ยอมให้ลูกชายออกบวชในพระศาสนา จนกล่าวได้ว่าเป็น "โยมแม่" ของพระทั้งวัดกันเลยทีเดียว ด้วยบุญกุศลที่นางได้ทำจนตลอดชีวิต ทำให้ได้ไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

เราจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาจะดำรงมั่นอยู่ได้อย่างยาวนาน นอกจากการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ของพระภิกษุสงฆ์แล้ว อุบาสกอุบาสิกาซึ่งเป็นดุจช้างเท้าหลังก็ต้องรวมพลังกันทำหน้าที่เป็นกองเสบียง คอยสนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย ดังนั้น ชาวพุทธที่ดี จะต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาให้เป็นที่พึ่งของชาวโลกตลอดไป



หน้าที่ชาวพุทธแท้
๑. ฟังธรรม สิ่งที่ชาวพุทธจะต้องรู้ คือ ศึกษาพุทธประวัติ จะได้รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร เพื่อให้เกิดศรัทธาและมีปัญญาในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ศึกษาหลักธรรม เช่น ฆราวาสธรรม และกฎแห่งกรรม จะทำให้เข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง เมื่อรู้ว่าคำสอนดีอย่างไรแล้ว หน้าที่ต่อไปก็คือลงมือปฏิบัติตามคำสอน ซึ่งสรุปเป็นสูตรหลักของชีวิต คือ ละชั่ว ทำดี และทำใจให้ผ่องใส ศึกษาวิถีชาวพุทธ เพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ศึกษาหลักในการบำเพ็ญบุญและพิธีกรรมทางศาสนา เช่น วันพระ วันเข้าพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น

๒. เผยแผ่ธรรมะหรือขยายความรู้ สิ่งดี ๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติไม่ควรเก็บไว้เฉย ๆ แต่ต้องนำไปประกาศให้ชาวโลกได้รู้ด้วย ต้องมีหัวใจของยอดกัลยาณมิตรในการสร้างคนให้เป็นคนดี จะอาศัยพระภิกษุทำหน้าที่เผยแผ่อย่างเดียวไม่ได้ ฝ่ายบ้านและวัดจะต้องทำงานประสานกัน พระพุทธศาสนาจึงจะเจริญรุ่งเรือง เช่น ชาวพุทธต้องแสดงตนเป็นพุทธมามกะที่ดี เพื่อให้ผู้อื่นได้พิสูจน์ผลการปฏิบัติตามคำสอนว่าดีจริง จนเกิดความเลื่อมใสและอยากประพฤติปฏิบัติตาม

๓. ทำนุบำรุงและปกป้องพระศาสนา เราชาวพุทธแท้ต้องไม่นิ่งดูดาย ดังที่คุณครูไม่ใหญ่ได้สอนพวกเราไว้ว่า "เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา เรื่องพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง ..แล้วก็ลุย" โดยต้องตั้งใจรักษาสมบัติของพระศาสนา อันได้แก่

คำสอนของพระพุทธองค์ ต้องรักษาให้มั่น อย่าให้ใครมาบิดเบือนได้ นำความรู้ความเข้าใจในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาเป็นเกราะป้องกันภัยให้พระศาสนา

ศาสนวัตถุและศาสนบุคคล ต้องช่วยกันดูแล วัดวาอารามอันเป็นแหล่งคำสอน และอุปัฏฐากดูแลพุทธบุตร สนับสนุนงานพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง

สรุปได้ว่า หน้าที่ของชาวพุทธ คือ เข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญ และสนับสนุนงานพระศาสนา

เมื่อชาวพุทธปฏิบัติตามหลักการนี้ได้ ความเป็นชาวพุทธแท้ก็จะบังเกิดขึ้น ทำให้เป็นผู้มีศรัทธา ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เข้าใจกฎแห่งการกระทำ ไม่งมงายในโชคลาง จะมีตถาคตโพธิสัทธา ตั้งมั่น ไม่ถือมงคลตื่นข่าวในสิ่งที่ถือกันว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้มีโอกาสตักตวงบุญในพุทธศาสนาได้อย่างเต็มที่ ละโลกแล้วก็มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป เราจะได้ชื่อว่าเป็นดุจช้างเท้าหลังที่ทรงพลัง ในการช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เป็นที่พึ่งของชาวโลกสืบไป

...ชนเหล่าใดมีสติส่งไปถึงพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ...

__________________
¹ อรรถกถาขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๓๙ หน้า ๑๕๔

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๖ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1YpOob6frOwuzFlFMCceeK_nMQu0eYnSZ/view


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202552/86YNB_5212/86YNB_5212.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๖ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ที่นี่

ชาวพุทธแท้ ผู้ช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนา ชาวพุทธแท้ ผู้ช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:44 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.