ทำอย่างไรจึงจะอายุยืน


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า หากพระองค์ปรารถนาและเจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว ก็จะสามารถดำรงพระชนม์ชีพได้ถึง ๑ กัป หรือมากกว่านั้น อันนี้เป็นเรื่องจริง ถามว่าทำได้อย่างไร?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า คนเราประกอบด้วย กายกับใจ ซึ่งทั้ง ๒ ส่วนนี้ส่งผลเนื่องถึงกัน เราเองก็คงเคยรู้สึกว่า วันไหนถ้าใจของเราสบาย ร่างกายก็กระปรี้กระเปร่า แข็งแรง สดชื่นไปด้วย แต่ถ้าวันไหนหงุดหงิด มีเรื่องกลุ้มใจ กังวลใจ ก็จะรู้สึกว่าเรี่ยวแรงกำลังไม่ค่อยจะมี หรือเวลาให้ทำเรื่องที่เราไม่อยากทำ เดี๋ยวก็ง่วง เดี๋ยวก็เบื่อ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราสนใจปรากฏว่าทำได้ทั้งคืน อยู่จนถึงเช้า เพราะรู้สึกว่ายังตื่นตาตื่นใจ ยังสู้อยู่ หรือถ้าใครเคยนั่งสมาธิจะยิ่งมีประสบการณ์ชัดเลยว่า เวลานั่งสมาธินาน ๆ เส้นกำลังยึด ๆ อยู่ พอนั่งถูกส่วน เส้นที่ยึดอยู่คลายไปเลย เส้นที่คอ ที่ศีรษะ ที่อะไรต่าง ๆ มันคลายไปหมด รู้สึกสบาย อาการครั่นเนื้อครั่นตัวบางทีก็หายไป และจะรู้สึกว่ามีพลังขึ้นมาจากภายใน รู้สึกว่ามั่นใจ จะหยิบ จะจับ จะทำสิ่งใด ก็รู้สึกว่ามีความมั่นคง มั่นใจ แล้วก็ทำได้อย่างดี ใจกับกายเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้

นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎกยังกล่าวไว้ว่า ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติไม่ต้องหายใจ ทั้งหายใจเข้าหายใจออกหยุดไปเลยเมื่อเข้านิโรธสมาบัติ ถามว่าแล้วอยู่ได้อย่างไร ไม่หายใจทำไมไม่ตาย เพราะโดยทั่วไปแล้วเราจะทราบว่าถ้าไม่รับประทานอาหาร ไม่เกิน ๗ วัน ก็จะเสียชีวิต แต่ถ้าไม่ดื่มน้ำวันเดียว ก็เสียชีวิตแล้ว อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่หายใจแค่ไม่กี่นาทีก็เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ ๔๙ วัน ไม่ต้องหายใจ แล้วก็ไม่ต้องรับประทานอาหาร ไม่ต้องดื่มน้ำ และไม่ต้องเข้าห้องน้ำอีกด้วย เข้าสมาธินิ่ง ตัดขาดความรับรู้จากภายนอก ทั้งสัญญา เวทนา ความจำได้หมายรู้ ความรู้สึกต่าง ๆ ความรับรู้ต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกปล่อยหลุดไปเลย แต่ว่า ตื่นตัวภายใน เอาใจดิ่งกลางของกลางเรื่อยไป นี่คือเข้านิโรธสมาบัติ หรือศัพท์เต็ม ๆ เรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ ๔๙ วัน นั่งนิ่ง..อยู่ได้ แล้วอยู่อย่างไร ถ้าดูเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าเราดูต่อไป เราจะทราบว่ากลไกการเกิดพลังงานของเราในโลกนี้ทั้งหมด หรือในจักรวาลนี้ก็ตาม มีได้ ๓ อย่าง คือ

๑.    ได้จากปฏิกิริยาทางชีวะ เช่น เรารับประทานอาหารเข้าไป ดื่มน้ำเข้าไป ก็มีการย่อยสารอาหารจากแป้งเป็นน้ำตาล เวลาเราหายใจ ออกซิเจนก็จะเข้าไปทำปฏิกิริยาสันดาปกับแป้งกับน้ำตาล ทำให้มีพลังงานออกมา นั่นคือ พลังงานที่ได้จากปฏิกิริยาทางชีววิทยา

๒.     ได้จากปฏิกิริยาทางเคมี เช่น เวลาเอาฟืนมาก่อไฟ เราก็จะได้พลังงาน หรือว่าจะเป็นรถยนต์ ใช้น้ำมันก็ตาม ก็ได้พลังงานออกมา คือ ออกซิเจน ในอากาศมาสันดาปกับน้ำมันหรือกับฟืน แล้วก็ให้พลังงานออกมา ทั้งสองอย่างนี้ถือว่าเป็นการให้พลังงานที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ

๓.     ได้จากปฏิกิริยาทางฟิสิกส์ เช่น ปฏิกิริยานิวเคลียร์ เป็นปฏิกิริยาอีกแบบที่ให้พลังงานสูงกว่า คือ มวลสารแค่นิดเดียวเท่าเส้นขนแทบมองไม่เห็น ถ้าเปลี่ยนจากมวลสารเป็นพลังงานตามทฤษฎี สัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ตามสมการ E=mc² มวลสารเท่าเส้นขนสามารถให้พลังงานมหาศาล ชนิดที่คน ๆ หนึ่งอยู่ได้ทั้งชาติโดยไม่ต้องรับประทานข้าวเลยก็ได้ คือ ให้พลังงานมากกว่าข้าวสาร ๑๐,๐๐๐ กระสอบเสียอีก

ถ้าหากเราสามารถควบคุมปฏิกิริยาในร่างกายของเราได้ โดยปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ นั่นหมายถึงว่า เราสามารถควบคุมกลไกการสันดาปภายในได้ทั้งหมด อย่าว่าแต่ไม่รับประทานอาหาร ๔๙ วันเลย ๔๙ ปี ก็ยังอยู่ได้ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเปลี่ยนแค่มวลสารนิดเดียวในร่างกายให้กลายเป็นพลังงาน ก็ได้พลังงานมหาศาลแล้ว ถ้ามองในแง่ความเป็นไปได้เชิงวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้เกินเลยไป เพียงแต่ว่าถ้าทางวิทยาศาสตร์จะทำให้เกิดพลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ จะต้องสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร แต่วิทยาศาสตร์ทางใจไม่ต้องสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูภายนอกอย่างนั้น แต่ใช้ใจเป็นตัวควบคุม เป็นวิทยาศาสตร์ทางใจที่มีความละเอียดลึกซึ้งมากกว่าจึงจะได้อย่างนี้

ในภาวะที่เป็นสมาธิหยุดหายใจแล้วอยู่ได้อย่างไร?
อยู่ได้เพราะเมื่อใจนิ่งถึงจุดหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ถือว่าใจนี่งสนิทมาก จะสามารถควบคุมเมตาบอลิซึมในร่างกายได้ ก็คล้าย ๆ กับภาวะกบจำศีล ที่จำศีลครั้งหนึ่ง ๖ เดือน อยู่นี่ง ๆ กึ่งหยุดหายใจ หัวใจเต้นช้ามาก อาหารก็ไม่ต้องกิน อยู่นิ่ง ๆ อย่างนั้นตั้งหลายเดือนยังอยู่ได้ ก็คล้าย ๆ กัน แต่นี่มีความนิ่งมากกว่านั้น เป็นภาวะที่มีการควบคุมเมตาบอลิซึมแล้วเข้าสู่ภาวะสมดุล ออกซิเจนที่ใช้น้อยมาก ลำพังแค่ซึมเข้าทางผิวหนังก็เพียงพอให้สามารถอยู่ได้ (ปกติผิวหนังก็มีการดูดซึมออกซิเจน แต่ว่าน้อยถ้าเทียบกับทางปอด) เพราะฉะนั้น ๔๙ วัน ไม่หายใจก็อยู่ได้ ไม่รับประทานอาหารก็อยู่ได้ ไม่ดื่มน้ำก็อยู่ได้ ถ้าไม่ดื่มน้ำ ไม่รับประทานอาหาร ก็ไม่จำเป็นต้องมีการขับถ่าย และสำหรับผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติระดับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งสุดยอด ขอแต่เพียงพระองค์มีความปรารถนาเมื่อมีผู้อาราธนาเท่านั้น พระองค์ก็จะเจริญอิทธิบาท ๔ และอยู่ได้ ๑ กัป สบาย  ๆ

อิทธิบาท ๔ มีอะไรบ้าง?
โดยความหมายเรารู้อยู่แล้วว่า อิทธิ แปลว่าฤทธิ์ บาท แปลว่าทางไป อิทธิบาทจึงหมายความว่า ทางไปสู่ความเป็นผู้มีฤทธิ์นั่นเอง มี ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ถ้าในแง่การทำงานหยาบ ๆ ทั่วไป มี ๔ ข้อนี้งานก็สำเร็จ คือ จะมีฤทธิ์ทีเดียว ทำงานอะไรสำเร็จหมด ไม่ว่าจะเป็นงานทางโลก หรืองานทางธรรม หรือเป็นความปรารถนา จะมีฤทธิ์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ถ้ามีอิทธิบาท ๔ สำเร็จทั้งนั้น ขอให้มีสมาธิที่ดีถึงขีดถึงขั้นเท่านั้นเอง ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีฉันทะ คือมีความปรารถนาที่จะอยู่ เพราะมีผู้อาราธนา พอมีความปรารถนาที่จะอยู่ พระองค์ก็มีวิริยะ คือประกอบความเพียร ดำเนินจิตเป็นวิริยสมาธิลงไป แล้วก็มีจิตตะ คือ ใจจดจ่อนิ่งลงไป ก็จะเกิดวิมังสา เกิดปัญญาความกระจ่างแจ้งขึ้นมาภายในว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้เป็น ๑ กัป ก็จะดำเนินจิตไปตามนั้น

ถ้าจะอธิบายผลที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อใจนิ่งถึงจุดนั้น แล้วมีฉันทะ คือ ความพอใจที่จะอยู่ต่อไป แล้วประกอบความเพียรโดยมีใจจดจ่อนิ่งไปอย่างนั้น จนกระทั่งทุกเรื่องกระจ่างชัดหมด เซลล์ในร่างกายจะขจัดส่วนที่เป็นสารพิษออกไปจากเซลล์ ทำให้เซลล์มีความสดชื่น หนุ่มเสมอ ก็ไม่มีปัญหา อยู่ได้จริง ๆ จะอยู่เกินกัปก็อยู่ได้ ที่ว่าอยู่ได้ ๑ กัป เพราะว่า ๑ กัป ก็คือเวลาที่จักรวาลตั้งอยู่ จนกระทั่ง ถึงเวลาที่จักรวาลเสื่อมสลาย อาจจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ หรือลมบรรลัยกัลป์ หรือน้ำบรรลัยกัลป์ ล้างโลกก็ตาม ก็น่าจะพอแล้ว ก็เข้าพระนิพพานไป ถ้าหากว่า พระองค์จะปรารถนาอยู่เกินกว่านั้น ถ้าจักรวาลอายุยืนต่อไปก็สามารถอยู่ได้ แต่ว่าโดยทั่วไปโลกที่เราอยู่มีอายุ ๑ กัป ก็อยู่เท่าอายุของโลก

ดังนั้นจะเห็นว่าเมื่อใจนิ่งเราควบคุมทุกอย่างได้ อธิบายในเชิงปฏิบัติได้ดังนี้ คือ คนเราพอเกิดมา ก็มีดวงอยู่ข้างในที่ศูนย์กลางกาย ดวงเกิด ดวงแก่ ดวงเจ็บ ดวงตาย ซ้อนกันอยู่ข้างในนั้น พออายุมากขึ้น ๆ สีของดวงแก่จะเข้มขึ้น ๆ เป็นสีดำ ๆ ถ้าสีดวงเจ็บเริ่มเข้มขึ้นเมื่อไรก็จะป่วย แล้วพอสีของดวงแก่ ดวงเจ็บเข้มจนถึงระดับหนึ่ง ดวงตายก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น พอแสดงอานุภาพเต็มที่ คนนั้นก็จะหมดอายุขัย แล้วก็จากโลกนี้ไป แต่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม เจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว จะสามารถคลายวงจรของดวงแก่ ดวงเจ็บ ดวงตายได้ สีที่เข้มขึ้นก็จะจางไป ทำให้ยังหนุ่มเสมอ มีความสุขสดชื่นได้ตลอด

สำหรับพวกเราถึงแม้ว่ายังไม่สามารถเจริญนิโรธสมาบัติได้ แต่ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติธรรม แล้วก็ปรับสมดุลระหว่างกายกับใจไว้ให้ดี เราจะพบว่าสุขภาพร่างกายเราจะดี และเราจะมีความสุขสดชื่น แจ่มใสเบิกบานทุกวัน แล้วก็เป็นชีวิตที่ทรงคุณค่าด้วย เพราะว่าทุก ๆ วันที่ผ่านไปบุญบารมีในตัวเราเพิ่มขึ้นตลอด ถ้าอยู่อย่างนี้อายุยืน ๆ จึงจะคุ้มค่า ถ้าหากอายุยืนแล้วไม่รู้จักการสร้างบุญแล้วยังเผลอไปทำบาปเข้า นั่นถือเป็นการขาดทุน แต่ถ้าปรับใจให้นี่ง ทำใจให้หยุดที่ศูนย์กลางกาย แล้วก็ดูแลสุขภาพของเราในทางหยาบให้ดีด้วย กายกับใจ ๒ ประสานกันอย่างนี้ ก็จะเป็นผู้มีอายุยืนที่มีความสุข อายุยืนอย่างคุ้มค่า มีบุญบารมีเพิ่มพูนขึ้นทุกนาที

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D., Ph.D.) จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๖ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒



***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1YpOob6frOwuzFlFMCceeK_nMQu0eYnSZ/view


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202552/86YNB_5212/86YNB_5212.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๖ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ที่นี่

ทำอย่างไรจึงจะอายุยืน ทำอย่างไรจึงจะอายุยืน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.