วิชาพระพุทธศาสนา เมื่อศึกษาไปแล้วให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้เรียน



วิชาพระพุทธศาสนา
เมื่อศึกษาไปแล้วให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้เรียน

คำถาม

นักเรียนมักจะถามเสมอว่า วิชาพระพุทธศาสนาให้ประโยชน์อะไรกับเขา เพราะวิชาความรู้ที่เขาเรียนส่วนใหญ่ ได้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จึงอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า วิชาพระพุทธศาสนา เมื่อศึกษาไปแล้วให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้เรียนบ้าง?

คำตอบ

เวลาเราสอนพระพุทธศาสนา ทุกยุคทุกสมัยมักจะเริ่มต้นด้วย..

ประการที่  ๑. เริ่มต้นด้วยพุทธประวัติ ซึ่งเด็ก ๆ บางทีตามไม่ทัน เพราะความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามีเรื่องที่อยู่เบื้องหลังเยอะมาก

ประการที่ ๒. พอเจาะลึกเข้าไปในพระพุทธศาสนา ก็มักจะเอาหลักธรรมหนัก ๆ มาสอนเด็ก เด็กชั้นประถมก็สอนอริยสัจ ๔ แล้ว แม้แต่ครูก็ยังไม่รู้เรื่อง อย่าว่าแต่เด็กเลย เมื่อเราเอาเรื่องหนัก ๆ ไปสอนเด็ก ก็เลยทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาไม่ค่อยจะเกี่ยวอะไรกับชีวิตของเขา ก็เลยค่อนข้างจะต่อต้านวิชาพระพุทธศาสนา ควรจะเปลี่ยนแนวสอนใหม่ คือ แทนที่จะสอนในลักษณะที่เป็นธรรมะแท้ ๆ ให้สอนพระพุทธศาสนาที่แทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างเช่น เรื่องของการใช้ปัจจัย ๔ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอะไรบ้าง เช่น เรื่องของข้าวปลาอาหารที่เราต้องกินต้องดื่มกันอยู่ทุกวัน พระพุทธศาสนาได้แทรกเอาไว้ในนั้นเรียบร้อยแล้ว คือ คนในโลกนี้ส่วนมากไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่มุ่งจะอยู่เพื่อกิน เพราะฉะนั้นความโลภ ความเห็นแก่ได้ก็เลยมีมากในมนุษย์

ตรงกันข้าม ถ้าเราสอนเด็กของเราให้กินเพื่ออยู่ ซึ่งการกินเพื่ออยู่นี้ จะกินกันไม่มาก ไม่ได้กินเล่น กินจุกจิก ยิ่งไปกว่านั้น ให้สอนลูกหลานของเราให้รู้ว่าในการกินข้าวปลาอาหารนั้น ข้าวจานเดียวกัน ถ้ากินเมื่อตอนโกรธ พอมีเรี่ยวแรงแล้ว ก็เอาเรี่ยวแรงจากอาหารนั้นไประบายความโกรธ ไปยกพวกตีกัน ข้าวปลาอาหารนั้นก็กลายเป็นข้าวบาปไป แต่ว่าข้าวปลาอาหารจานเดียวกันนั้น กินเมื่อตอนจิตใจงาม พอกินอิ่มก็เอาเรี่ยวแรงไปทำความดี ข้าวปลาอาหารนั้นก็กลายเป็นข้าวบุญไป ไม่ใช่ข้าวบาปเหมือนจานที่แล้ว

และวิธีที่จะทำให้ใจเป็นบุญ ควรจะสวดมนต์หรือบูชาข้าวพระเสียก่อน เพื่อให้ใจผ่องใส พอบูชาข้าวพระเสร็จ ก็เอาข้าวนั้นมากิน ข้าวนั้นจะกลายเป็นข้าวบุญ เพราะกินเมื่อใจผ่องใส เพียงแค่นี้พระพุทธศาสนาก็เข้าไปอยู่ในใจเด็กในขณะที่กินข้าวแต่ละคำ หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ต้องใช้ให้เป็น ไม่ใช้เพื่อเอามาอวดสัดส่วนว่าใครจะสวย ใครจะงาม แต่เอามากันร้อนกันหนาว เอามากันอาย เอามาเพื่อให้ร่างกายของเราอบอุ่น เหมาะแก่การประกอบคุณงามความดี ไม่ใช่เอามาเพื่อยั่วให้กามราคะคนอื่นกำเริบ สิ่งเหล่านี้ถ้ารู้จักสอนเขา พระพุทธศาสนาก็แทรกเข้าไปในเสื้อผ้าของเขา แล้วก็แทรกผ่านเข้าไปในใจ ทำให้เขารู้จักแต่งเนื้อแต่งตัวในทางที่ถูกที่ควร

หรือสอนให้เด็กเก็บที่นอนเวลาตื่นนอน ช่วยกันกวาดบ้านกวาดเรือน ช่วยกันปัดกวาด เช็ดถูห้องพระให้ดี ช่วยกันจัดดอกไม้ใส่แจกันไว้บูชาพระ สิ่งเหล่านี้ถ้ารู้จักสอนเด็กในที่สุดก็จะกลายเป็นว่า พระพุทธศาสนาได้สอนให้เด็กรับผิดชอบไปในตัวแล้ว เป็นการสอนพระพุทธศาสนาประเภทที่นำมาใช้ในชีวิตจริงได้ คือ นำมาเพาะนิสัยเด็กให้มีสัมมาทิฐิเกิดขึ้น พระพุทธศาสนาอย่างนี้ คือ พระพุทธศาสนาที่เด็ก ๆ ต้องการ ถ้าเราสอนด้วยวิธีนี้ เด็กจะไม่ย้อนมาถามเราอีกว่าเรียนพระพุทธศาสนาแล้วได้อะไร เพราะเด็กได้รู้จักพระพุทธศาสนาไปตามลำดับ ๆ ตั้งแต่ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอิ่ม นมแต่ละอึก รู้จักพระพุทธศาสนาตั้งแต่เขาหยิบผ้าขึ้นมาสวมใส่ รู้จักพระพุทธศาสนาตั้งแต่ที่เขาปักแจกันที่โต๊ะหมู่บูชาพระ รวมกระทั่งรู้จักพระพุทธศาสนาผ่านวิธีรักษาสุขภาพ ในชีวิตประจำวันของเขา

ถ้าครูบาอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาเป็น จะสอนอย่างนี้ ไม่ใช่ไปยกอริยสัจ ๔ มาสอนเด็กอนุบาล เด็กประถม


เราจะรู้ได้อย่างไร
ว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วได้บุญที่เราอุทิศไปให้

คำถาม

ถ้าเราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องของเราที่ล่วงลับไปแล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่าญาติได้บุญหรือไม่

คำตอบ

คงต้องตอบโดยหลักการก่อน คือ ต้องรู้ว่าบุญคืออะไร บุญเป็นธาตุกายสิทธิ์ชนิดหนึ่ง และ ด้วยความเป็นธาตุกายสิทธิ์ของบุญ ทำให้บุญมีฤทธิ์ต่าง ๆ นานากันไป สามารถที่จะอุทิศส่วนกุศลไปให้ถึงผู้ที่ตายแล้วได้ แล้วก็มีผลเป็นสุขด้วย บุญมีลักษณะที่คล้าย ๆ น้ำอยู่ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑. เมื่อบุญเกิดขึ้นแล้ว สามารถรวมตัวกันได้เหมือนหยดน้ำ หยดน้ำค้าง หยดน้ำฝน หยดลงมาแล้วก็รวมตัวกันได้จนกระทั่งเต็มโอ่ง เต็มไห เต็มหม้อ เต็มขัน

ประการที่ ๒. บุญซึ่งเป็นธาตุกายสิทธิ์ สามารถจะไหลหรือสามารถที่จะไปจะมาได้ไกล ๆ เหมือนน้ำ เช่น น้ำในที่สูงจากภูเขาสูงในภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อมารวมตัวกันแล้ว ก็ไหลลงสู่ที่ต่ำ เช่น ไหลมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็ไหลลงอ่าวไทย ไหลไปได้ไกล ๆ จนกระทั่งถึงทะเลเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตร บุญก็สามารถอุทิศไปไกล ๆ ได้ แม้ผู้ที่เราต้องการจะให้บุญแก่เขา อยู่กันคนละโลกกับเรา ..ก็ไปได้

แต่ถึงแม้เราจะทราบโดยหลักการว่า บุญส่งไปได้ไกล ๆ คือ ไปถึงผู้ที่ละโลกแล้วได้ก็จริง แต่ก็ต้องรู้อีกว่า จริง ๆ แล้ว บุญไหลไปอย่างไร เข้าไปถึงใจของผู้ที่เราอุทิศให้ด้วยอาการอย่างไร จะรู้จะเห็นได้อย่างนั้นมีทางเดียว คือ ต้องฝึกสมาธิจนกระทั่งความสว่างภายในมากพอ อย่ามองว่าเรื่องของการฝึกสมาธิเป็นเรื่องยาก หลักสำคัญมีอยู่ว่าใจของคนเรา เมื่อฝึกจนกระทั่งหยุดนิ่งได้แล้ว ก็จะเกิดความสว่าง เมื่อความสว่างภายในเกิดขึ้นแล้ว วันหนึ่งเมื่อวางใจได้ถูกส่วนจะสามารถเห็นบุญได้ว่า บุญนั้นเป็นสาย



พระพุทธองค์ถึงกับทรงตรัสเอาไว้ว่า ใครตั้งใจทำบุญทำทาน และทำถูกเนื้อนาบุญ บุญไหลเป็นสายทีเดียว แล้วถ้าเราตั้งใจอธิษฐานไปให้ถึงแก่ผู้ใดที่เขาละโลกไปแล้ว สายบุญจะไปจรดถึงกัน เหมือนไฟฟ้าที่ไหลไปตามสายไฟจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่งได้ แต่บุญไหลไปเองโดยไม่ต้องมีสายส่งต่อ

ฝึกไปเถิด แล้ววันหนึ่งก็จะเห็น เห็นแล้วก็จะหมดความสงสัยว่าบุญมีจริง มีฤทธิ์จริง อุทิศให้ใครได้จริง ไปดูด้วยตาตัวเองดีกว่า ถ้าหลวงพ่อบอกให้ หลวงปู่บอกให้ ท่านผู้นั้นผู้นี้บอกให้ แล้วเรายังไม่เห็น จะให้เราเชื่อ ๑๐๐ % คงยาก เอาเป็นว่าวันนี้ตั้งใจฝึกสมาธิไป แล้วขณะที่ตั้งใจฝึกสมาธิ ตอนนี้ใจยังไม่สว่างพอ ยังไม่นิ่งพอ ยังไม่เห็นบุญ ก็ไม่เป็นไร ฝึกไปเรื่อย ๆ อย่าเพิ่งปฏิเสธเรื่องบุญ อย่าเพิ่งไปปฏิเสธเรื่องความสว่างที่เกิดในสมาธิ รับฟังเอาไว้ แล้วตั้งใจฝึกเรื่อยไป วันนี้ใจยังไม่สว่างพอ ยังไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร

แล้วเราจะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน? อย่างน้อยก็ได้ความสงบใจมาระดับหนึ่ง พูดง่าย ๆ ฝึกสมาธิเรื่อยไป ใจเราไม่ขุ่นมัว อย่างไรสวรรค์เปิดรอท่าเราอยู่แล้ว นรกปิดเรียบร้อยแล้ว จะไปเห็นบุญอีกทีตอนวินาทีสุดท้ายที่เราจะลาโลกก็ยังไม่สาย ตั้งใจฝึกไปเถิด วันหนึ่งเราก็เห็นบุญจนได้

ถ้าบุญไม่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงไม่ตรัสเรื่องบุญ แต่ว่าเมื่อเรายังมองไม่เห็น จะไปโทษใครได้ ก็ต้องโทษตัวเองว่าเรายังฝึกน้อยไป ก็ต้องฝึกกันไป อย่างไรชาตินี้ไม่เห็น ชาติหน้าเห็นก็ยังไม่สาย ตั้งใจฝึกไปเถิด

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๑  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
วิชาพระพุทธศาสนา เมื่อศึกษาไปแล้วให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้เรียน วิชาพระพุทธศาสนา  เมื่อศึกษาไปแล้วให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้เรียน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:38 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.