การดลจิตกับพุทธวิธีเพาะนิสัย



การดลจิต ฟังชื่อแล้วน่าสนใจว่า จะดลจิตดลใจเราหรือคนอื่นได้อย่างไร การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีต้องมองเห็นความสัมพันธ์ของการทำงานของใจก่อน คำว่า "ใจเป็นนาย  กายเป็นบ่าว" พวกเราคงเคยได้ยิน แต่มีโจทย์ว่า อะไรเป็นนายของใจ ที่คอยสั่งการให้ใจทำอย่างนั้น อย่างนี้ คิดอย่างนั้น อย่างนี้ เรื่องนี้พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ท่านอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เป็นนายของใจ นั้นคือ นิสัยหรือสิ่งที่เราคิด พูด ทำ จนคุ้น จนเกิดเป็นนิสัย สิ่งนี้คือ สิ่งที่ทำให้ใจเราคิดเรื่องนั้นบ่อย ๆ คิดแล้วก็พูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้นบ่อย ๆ นิสัยก็เลยเป็นตัวควบคุมใจอีกชั้นหนึ่ง

ส่วนเรื่องของสมอง ถ้าหากเราคิด พูด ทำ อะไรซ้ำ ๆ พอคิดเรื่องเดิมเส้นทางวิ่งของระบบประสาทก็จะเป็นไปทางเดิมในเซลล์สมอง ทำให้เส้นทางนั้นมีการพัฒนา เหมือนเป็นทางด่วนพิเศษของข้อมูลในสมอง แขนงประสาทจะมีปลอกมาหุ้ม และวิ่งได้เร็วมาก ถ้าทำต่อเนื่อง ๒๑ วันเมื่อไร ก็จะเกิดสิ่งที่คิด พูด ทำบ่อย ๆ ขึ้นมา การสร้างนิสัย ๒๑ วัน คือ พื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้เกิดการปรับตัว ในระบบเซลล์ประสาทและเซลล์สมองในเส้นทางนั้น ทำให้มีการทำงานที่คล่องตัวและเร็วขึ้น แต่ความจริงแล้วยิ่งเราทำต่อเนื่องนานเท่าไรก็ตาม สิ่งนั้นก็จะยิ่งประทับแน่นในใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งนานผลก็ยิ่งมาก และจะยิ่งหยั่งรากลงลึก

หากเข้าใจตรงนี้ดีแล้ว เราจะมองเห็นว่า การดลจิตด้วยวิธีการทำใจสบาย ๆ โปร่ง ๆ เบา ๆ เปิดเพลงให้ฟังพอใจเริ่มเคลิ้ม ๆ ก็ให้ท่องคำซ้ำ ๆ เช่น ไม่ชอบกินผัก แต่อยากจะกินผักให้ได้ ก็ท่องว่า “กินผัก ๆ” เป็นต้น วิธีนี้ทำให้เราเกิดความคุ้นเคยกับสิ่งที่เราอยากจะเป็น เสมือนการตอกย้ำความตั้งใจของเรานั่นเอง

เราต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของใจอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาเราคิดอะไรก็ตาม ฟังอะไรก็ตาม ลิ้มรส รับความรู้สึกทางระบบประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะเกิดเป็นภาพขึ้นในใจ เช่น เวลาเราฟังเสียงกีต้าร์ ก็จะมีภาพกีต้าร์เกิดขึ้นในใจ เวลาใครพูดถึงเพื่อนคนโน้น ภาพของเพื่อนคนโน้นก็จะเกิดขึ้นมาในใจ ถ้าคนไหนใจใส ภาพก็จะชัด ยิ่งเคยฝึกสมาธิภาพยิ่งชัด แต่คนไหนใจขุ่นมัว ภาพก็จะรัว ๆ ราง ๆ บางทีเจ้าตัวรู้สึกว่าไม่เห็นภาพอะไร จริง ๆ แล้วเห็นเป็นภาพ แต่คุณภาพความชัดมีแค่ระดับหนึ่งตามคุณภาพของใจ

การที่เราได้ทำอะไรซ้ำ ๆ จะเป็นการช่วยตอกย้ำความตั้งใจและตอกย้ำความคุ้นเคย เพราะถ้าคิดอยู่ในใจเฉย ๆ เดี๋ยวก็ไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าได้พูดออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ละคำที่พูดออกมาจะเกิดภาพสิ่งนั้นขึ้น เช่น พูดว่ากินผัก ก็เห็นภาพตัวเองกำลังกินผักเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งพูดหลาย ๆ ครั้ง ก็ยิ่งประทับอยู่ในใจชัดเจนหนักแน่นขึ้น ใจก็มีความคุ้นกับภาพนั้นมากขึ้น ๆ นี้เป็นตัวบ่มเพาะนิสัย เป็นการปรับนิสัยไปเองได้อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

แล้วทำไมต้องทำตอนใจสบาย? ก็เพราะว่าตอนที่ใจสบาย สิ่งที่เรารับเข้ามาจะไปอยู่ในใจได้มากที่สุด ถ้าใจเรายังไม่นิ่ง ไม่สบาย กำลังเครียดใจจะเกร็งตัว ไม่นุ่ม จะใส่อะไรเข้าไปก็ใส่ไม่ค่อยเข้า เหมือนแก้วที่ฝายังไม่เปิด หรือเปิดแค่แง้ม ๆ จะใส่อะไรก็ไม่เข้า แต่พอใจสบาย โปร่ง เบา ใจจะนุ่มนวล เมื่อใจนุ่มนวลแล้วจะรับภาพอะไรก็รับได้เต็มที่ เปรียบเสมือนกับเครื่องรับสัญญาณวิทยุที่คลื่นมันตรง ภาพไม่สั่น ไม่พร่า เสียงไม่สั่น ถ้าเป็นโทรทัศน์ก็จูนช่องได้ตรงเป๊ะ กระบวนการดลจิตที่ทางการแพทย์ใช้อยู่ในปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ อาตมาไม่อยากใช้คำว่าสะกดจิต เพราะฟังดูแล้วน่ากลัว แต่ให้เราเข้าใจกระบวนการทำงานของใจ รู้ว่าใจทำงานอย่างนี้ ความเข้าใจกระบวนการทำงานนี้ จะเป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้เราเห็นการพัฒนาต่อยอดได้ และสามารถปรับไปใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่าง ๆ ได้เต็มที่ขึ้น

ถ้าอย่างนี้แล้วกระบวนการสร้างนิสัย หรือที่เรียกว่า กระบวนการดลจิต น่าจะเริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในท้อง ถ้าตอนลูกอยู่ในท้อง คุณแม่ชอบคิดเรื่องไม่ดี เรื่องเครียด ๆ หรือว่าโกรธใครบ่อย ๆ ก็จะมีผลทั้งทางใจที่สื่อกันระหว่างแม่กับลูก ส่วนทางกาย เวลาโกรธระบบการทำงานของหัวใจ การสูบฉีดเลือดและความดันจะเปลี่ยนไป ฮอร์โมนในตัวจะเปลี่ยนไป และจะไปถึงลูกโดยตรง เด็กคนไหนอยู่ในท้องแม่ที่ชอบโกรธ เด็กคนนั้นมีแนวโน้มว่าโตมาจะเป็นคนมักโกรธ คนโบราณรู้หลักนี้เพราะฉะนั้นพอมีเด็ก เขาจะพยายามให้แม่ทำใจสบาย ๆ สวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญตักบาตร นึกถึงแต่สิ่งดี ๆ นั่นคือ กระบวนการปลูกฝังนิสัยลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง แล้วพอเกิดมาไม่ต้องรอจนเข้าโรงเรียน ลูกยังพูดไม่ได้ ก็พูดสิ่งดี ๆ ให้เขาฟัง ทำสิ่งดี ๆ ให้เขาเห็น ให้เขาได้รับแต่สิ่งดี ๆ เข้าไป เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับ เพราะตอนอยู่ในท้อง ใจเด็กจะโปร่งเบาสบายพร้อมที่จะรับทุกอย่างได้มากที่สุด จึงมีคำกล่าวที่ว่า "รอให้ถึงอนุบาลก็สายไปเสียแล้ว"

จริง ๆ แล้วควรจะเริ่มสอนลูกตั้งแต่ก่อนเด็กเกิด คือ ก่อนตั้งครรภ์ โดยมีหลักว่าทั้งคุณพ่อคุณแม่ ต้องมีศีล มีธรรม ทำทาน และภาวนาให้ครบ ถ้าอยู่ในบุญอย่างนี้ ถึงคราวเด็กจะมาเกิด ก็จะไปดึงเด็กที่มีบุญใกล้เคียงกับพ่อแม่ในช่วงนั้นมาเกิด ถ้าพ่อแม่ใจเป็นบุญเป็นกุศล เด็กที่มาเกิดจะเป็นเด็กมีบุญ อยู่ในท้องแม่ก็ทำใจให้สบาย อยู่ในบุญตลอด เด็กเกิดมาก็ให้เห็นให้ฟังแต่สิ่งที่ดี ๆ โตขึ้นเด็กคนนี้จะเป็นเด็กที่ดีมาก ส่วนคุณพ่อก็ต้องให้กำลังใจคุณแม่ ต้องอารมณ์ดี เบิกบาน มีศีลธรรมด้วยกันทั้งคู่ บรรยากาศในครอบครัวก็จะสงบร่มเย็น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงถึงลูกเหมือนกัน



เมื่อเข้าใจกระบวนการทำงานของใจแล้ว เราก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นชาดกหรือธรรมบทก็ตาม เวลามีเหตุอะไรเกิดขึ้น ก็จะมีพระภิกษุมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็จะทรงระลึกชาติไปดู แล้วก็เอาเรื่องในอดีตชาติมาเล่าให้ฟัง เช่น มีบางท่านกินอาหารมากไปจนท้องแตกตาย พอมีพระภิกษุไปกราบทูลถาม พระองค์ทรงระลึกชาติไปดู ก็พบว่าบุคคลผู้นี้ในอดีตก็เคยตายเพราะปากเพราะท้องมาแล้ว ไม่ใช่แค่ชาตินี้ นิสัยคนเราข้ามภพข้ามชาติได้ ยิ่งถ้าทำมาหลาย ๆ ชาติ ยิ่งลงลึก บางท่านใช้ศัพท์อีกศัพท์หนึ่งว่าเป็นวาสนา ซึ่งแปลว่าสิ่งที่เราคุ้นเคยผูกพันกันมายาวนาน เป็นนิสัยระดับลึก จนกระทั่งตัดขาดได้ยาก ไม่ใช่ตัวกิเลสโดยตรง แต่เป็นความคุ้น เหมือนอย่างพระสารีบุตร อัครสาวก เบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอดีตชาติมีช่วงหนึ่งเกิดเป็นลิงต่อเนื่องกันหลายร้อยชาติ ทำให้มีความคุ้นเคย แม้แต่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว เวลาพาพระภิกษุที่เป็นลูกศิษย์จาริกไปในที่ต่าง ๆ บางครั้งเจอน้ำนองพื้นอยู่ ถ้าไม่กว้างจนเกินไปแทนที่ท่านจะเดินอ้อม ท่านกลับกระโดดข้ามไปเลย หรือบางคืนท่านก็ไปจำวัดอยู่บนคาคบไม้ เพราะความคุ้นเคยมาหลายร้อยชาติจนเป็นวาสนา กิเลสหมดแล้ว แต่วาสนายังตัดไม่ขาด

เพราะฉะนั้นที่ว่า ๒๑ วันสร้างนิสัยนั้น เป็นได้แค่ส่วนของร่างกาย เป็นแค่พื้นฐานเบื้องต้น ความจริงคือยิ่งตอกย้ำมากเท่าไร ก็ยิ่งฝังลึกไปในใจเรามากขึ้นเท่านั้น เมื่อเข้าใจหลักอย่างนี้แล้ว นำไปใช้ปรับตัวเองได้ ถ้าเราเห็นว่าอะไรไม่ดี อยากจะแก้ ก็ตั้งใจให้จริง ๆ ด้วยวิธีการตอกย้ำ ซึ่งทำได้หลายวิธี ลักษณะการดลจิตก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้กันอยู่ เราใช้วิธีการอื่นเสริมได้ เช่น การเขียน ตั้งใจ จะทำอะไรก็เขียนลงไปเลย การเขียนก็เป็นการตอกย้ำแบบหนึ่ง แต่ต้องทำตอนใจสบาย ๆ อย่างตอนทำสมาธิ พอใจโปร่งเบาสบายจริง ๆ ตั้งใจอะไรตอนนั้นจะแรง ผลจะเกิดเต็มที่ แล้วก็ย้ำกับตัวเองบ่อย ๆ ทบทวนตัวเองทุกวัน ตั้งใจปฏิบัติให้ได้อย่างจริงจัง ทำได้...ทำได้ แล้วทำต่อเนื่องไปไม่ใช่แค่ ๒๑ วัน แต่ทำไปอย่างสม่ำเสมอ จะยากที่สุดอยู่ ๗ วันแรก แต่พอผ่าน ๗ วันไปได้ถือว่า ชนะไป ๗๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ให้ประคองต่อไปอีก ๒๑-๒๒ วัน ก็ถือว่าชนะไป ๙๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว จากนั้นก็จะทำไปได้แบบสบาย ๆ ยิ่งนานไปเท่าไร สิ่งนั้นจะยิ่งฝังรากลึกในใจของเรา และจะส่งผล ไม่เฉพาะชาตินี้ แต่ส่งผลข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะ เป็นด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม

เมื่อรู้หลักอย่างนี้แล้ว เรามาดลจิตดลใจตัวเราตามพุทธวิธีกันเถิด คือ ตั้งใจนั่งสมาธิให้ใจใส ๆ สบาย ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน แล้วสำรวจตัวเองให้ดีว่า นิสัยอะไรที่เราอยากจะแก้ เอาทีละข้อสองข้อ แก้ได้เมื่อไรแล้วค่อยเพิ่มข้อใหม่เข้าไป แล้วก็มาทบทวนตัวเอง ตอกย้ำความตั้งใจ ตอกย้ำความคุ้นเคย โดยการบันทึกหรือการพูด แล้วทบทวนทุกวัน ให้ภาพที่ต้องการเกิดขึ้นในใจของเรา สุดท้ายตัวเราก็จะเป็นอย่างนั้น ..นี้คือการดลจิตที่ถูกต้องตามพุทธวิธี

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๑  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
การดลจิตกับพุทธวิธีเพาะนิสัย การดลจิตกับพุทธวิธีเพาะนิสัย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.