จริงหรือไม่ การดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม กับการดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ ไม่ผิดศีลข้อที่ ๕
ตอบ : การดื่มเหล้า หรือการดื่มไวน์ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ล้วนมีผลเสียหายต่อตัวเองและเป็นบาปทั้งนั้น
อย่างที่โบราณท่านเคยเตือนเอาไว้ว่า "ไฟแม้เพียงเล็กน้อย แค่ก้นบุหรี่ก้นเดียว ยังเผาเมืองทั้งเมืองได้ หรือว่ายาพิษแม้เล็กน้อย เมื่อดื่มเข้าไปก็อาจทำให้ถึงตายได้"
การดื่มเหล้า การดื่มไวน์ ก็เหมือนกัน จะดื่มมาก ดื่มน้อย ก็ได้เพาะเชื้อวิบัติเข้าไปไว้ในตัวแล้ว เหมือนอย่างกับเชื้อโรค ไม่ว่าจะมีมาก ไม่ว่าจะมีน้อย ก็พร้อมที่จะทำลายสุขภาพ พร้อมที่จะทำลายชีวิตของเราทั้งสิ้น
หรือถ้าหากกำลังของเชื้อโรคยังหย่อนอยู่ ก็จะกลายเป็นการเพาะเชื้อร้ายเอาไว้ในตัว เพื่อเตรียมที่จะขยายพิษต่อไปในภายหน้า
เพราะฉะนั้น เหล้า ไวน์ แม้เพียงเล็กน้อย อย่าได้ไปดื่มกันทีเดียว เพราะเชื้อวิบัติจะเข้าไปทำลายความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ของเรา
ความเป็นมนุษย์ที่ดี ที่สมบูรณ์นั้น ต้องประกอบด้วย
๑. ความมีสติ คือ ความรู้ตัว ความระลึกได้
ขนาดไม่ได้ดื่มเหล้า ไม่ได้ดื่มไวน์ เรายังมีโอกาสที่จะเผลอตัวไปทำผิดทำพลาด ถ้ายิ่งเติมเหล้า เติมไวน์ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเข้าไป ย่อมเป็นการบ่อนทำลายสติลงไปตามส่วนของการดื่ม นั่นแหละกำลังหาวิบัติเข้าตัวเองเสียแล้ว
๒. ความมีวินิจฉัยดี คือ การรู้จักที่จะวินิจฉัยว่า สิ่งนั้นผิด สิ่งนี้ถูก สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ชั่ว หรือมีวินิจฉัยลึกลงไปจนกระทั่งมองเห็นโทษภัย แม้ในสิ่งที่เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วสามารถหยุดมันได้
ผู้ใดมีสติในการควบคุมตัวเองและมีวินิจฉัยที่ดี หรือมีปัญญาเจาะลึกเข้าไปดูในเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ผู้นั้นย่อมเป็นคนที่สมบูรณ์ และพร้อมที่จะเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า
ส่วนผู้ที่ชอบพูดว่า ดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม คุณต้องรู้ไว้ด้วยว่า ยิ่งเข้าสังคมที่มีคนมากเท่าไร สิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก ๆ ก็คือ อย่าให้ขาดสติ
อย่างที่โบราณท่านกล่าวไว้ว่า "อยู่คนเดียว ให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา" การก้าวเข้าสู่สังคม นั่นแหละ ยิ่งต้องระวังวาจาให้มาก เพราะคำพูดที่ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย สามารถนำภัยมาให้ไม่เฉพาะแต่ตัวเอง บางทีอาจนำภัยมาให้ทั้งครอบครัว ทั้งบริษัท ทั้งประเทศชาติบ้านเมืองก็ได้
การดื่มเหล้าเวลาเข้าสังคม จึงเป็นการประมาท เป็นการหาความวิบัติเข้าสู่ตัวเอง อย่าไปทำ
หรือครั้งนี้อาจจะรอดตัว ยังไม่มีเรื่องเสียหายอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อทำไปจนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน วันหนึ่งเกิดมีเรื่องอะไรมากระทบกระเทือนใจ เลยดื่มหนักกว่าที่เคยดื่ม คราวนี้ล่ะ ความเสียหาย ต่าง ๆ จะตามมาอย่างมากมาย
เพราะฉะนั้น เชื้อวิบัติแม้เพียงเล็กน้อย ก็อย่าให้เข้ามาในใจ อย่าให้เข้ามาในกายของเราได้ โดยต้องมองให้ออกว่า เหล้าที่หลายคนคิดว่าเป็นตัวเชื่อมสัมพันธไมตรีในวงสังคมนั้น ความจริงแล้วมันนำความวิบัติมาให้กับเราอย่างนี้
แล้วกำหนดสติให้ดี เวลามีใครมาคะยั้นคะยอ ก็อย่าไปใจอ่อนพลอยดื่มไปกับเขาด้วย ถ้ากำหนดสติได้และมีวินิจฉัยดีอย่างนี้ เราจะรอดตัว
ส่วนกรณีดื่มไวน์เพื่อสุขภาพนั้น การดื่มไวน์อาจจะมีส่วนดีในทางการแพทย์อยู่บ้างก็ได้ แต่ถ้านำมาเทียบกับผลเสียทางด้านจิตใจ เทียบกันไม่ได้" ยกตัวอย่าง จิบไวน์นิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อทำให้เลือดลมดี แต่ไม่รู้หรอกว่าได้เพาะนิสัยประมาท นิสัยขาดวินิจฉัยขึ้นมาในตัวเสียแล้ว
การดื่มไวน์จึงมีทั้งได้ มีทั้งเสีย ในทีแรกอาจจะเสียแต่คุ้มได้ แต่พอคุ้นหนักเข้า ๆ จะได้ไม่คุ้มเสีย ถึงตอนนั้นอันตรายจะตามมา
ยิ่งถ้ามองกันให้ลึก ๆ จะพบว่า เหล้าและไวน์ เป็นของที่โบราณท่านใช้คำว่า "เป็นเหยื่อล่อของพญามาร" คือพอมนุษย์เสพเข้าไป จะติดในรสชาติของมันทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็ติดมาก นี่เป็นเหลี่ยมคูของพญามาร
เพราะฉะนั้น ใครที่คิดว่าดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ ในที่สุด สุขภาพกายสุขภาพจิตของเขาก็จะวายวอดไปตามไวน์ที่กินเข้าไป เนื่องจากมีโทษภัยแอบอยู่ข้างหลังตั้งมากมาย
ได้ทราบว่าบางคนดื่มไวน์ราคาขวดละเป็นหมื่น อย่างนั้นยิ่งวายวอดหนักขึ้นไปอีก จริงอยู่ แม้ตัวเองจะมีฐานะดี เป็นมหาเศรษฐี สามารถที่จะดื่มเจ้าวายวอดนี้ได้วันละเป็นหมื่นเป็นแสนก็ตาม
แต่ว่านอกจากจะเป็นการเพาะความประมาทให้กับตัวเองแล้ว ยังจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กรุ่นหลัง ได้ดู แล้วทำตามอย่างบ้าง ถึงตอนนั้นจะแก้ไขอะไรก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ความชั่วใด ๆ แม้เพียงเล็กน้อย อย่าได้ไปทำเลย เพราะว่าความชั่วจะกัดกร่อนความดีของเราไปทีละน้อย ๆ
เหมือนอย่างกับสนิมที่กัดกินเนื้อเหล็กทีละน้อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเหล็กท่อนโตเท่าแขน เท่าขา ยังถูกสนิมกัดกินจนขาดได้ ฉันใด เหล้าและไวน์ที่ดื่มเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดมันจะกัดกร่อนเอาสติและปัญญาของเราออกไป แล้วความชั่วทั้งหลายจะไหลเข้ามาแทนที่ ฉันนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนเอาไว้เป็นกลางๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ร่ำรวย หรือเป็นคนจนก็ตาม ว่าโทษของการดื่มสุรานั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. ทำให้เสียทรัพย์
๒. ทำให้ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. ทำให้เกิดโรค
๔. ทำให้ถูกติเตียนจากผู้รู้
๕. ทำให้ไม่มีความละอาย
ถ้าของมีพิษ ของไม่ดี กลับมองกันว่าเป็นยา เป็นสิ่งเชื่อมสัมพันธไมตรีในสังคม เมื่อวินิจฉัยตรงนี้พลาด อย่างอื่นจะพลอยพลาดตามไปหมด เพราะฉะนั้นทั้งเหล้า ทั้งไวน์ อย่าได้ไปกินกันเลย ลูกเอ๊ย
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๓๔ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
จริงหรือไม่ การดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม กับการดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ ไม่ผิดศีลข้อที่ ๕
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:24
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: