หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๗)


คุณค่าของคาถาธรรมกาย : ความนอบน้อมถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันมีมาแต่ยุคโบราณ

ดังได้ทราบกันอยู่แล้วว่า ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ นี้ ถือเป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ครูผู้สืบสานวิชชาธรรมกาย เนื่องจากเป็นวาระครบ ๑๑๑ ปี ของท่าน และยังเป็นปีแห่งการครบ ๕๐ ปีของวัดพระธรรมกายด้วย ซึ่งในการนี้ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ก็ได้รวบรวมและคัดกรองผลงานคุณภาพชิ้นสำคัญ ๆ มาเผยแพร่และจัดแสดงไว้ในนิทรรศการที่อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งบัดนี้ก็ถือว่าดำเนินการมาได้โดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าจะอยู่ในเวลาที่โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-๑๙ ทำให้ต้องมีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนจากการเปิดให้สาธุชนและผู้สนใจมาเข้าร่วมการเสวนาในช่วงเริ่มแรกมาเป็นการจัดเสวนาผ่านระบบทางไกลตามนโยบาย Social Distancing ซึ่งทำให้มียอดผู้เข้าชมการเสวนาเป็นจำนวนมากนับหมื่นคน ทั้งยังสามารถเข้าฟังซ้ำได้ตลอดเวลาด้วย โดยในการนำเสนอผลงานครั้งนี้ มีผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของหลักฐานธรรมกายด้วย นั่นก็คือเรื่อง “ที่มาของคาถาธรรมกาย” ซึ่ง ดร.กิจชัย เอื้อเกษม นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เป็นผู้นำเสนอในการเสวนา¹

ภาพแสดงลักษณะของ "พระธรรมกาย" ซึ่งสอดคล้องกับ "พระรูปกาย" ที่ปรากฏในคาถาธรรมกาย "พุทธลักษณะคือ พระธรรมกาย"

คาถาธรรมกายคือคำประพันธ์บาลี พรรณนาเปรียบพระพุทธญาณและพระพุทธคุณต่าง ๆ ประดุจดั่งอวัยวะของกายแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า การพรรณนาถึงพระพุทธคุณ ๓๐ ประการโดยเทียบกับส่วนต่าง ๆ ในพระวรกาย ๒๖ ประการ และผ้าครอง ๔ ประการ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงสัพพัญญุตญาณว่าเปรียบเป็นพระเศียร มีอารมณ์ในพระนิพพานเปรียบเป็นพระศก มีจตุตถฌานเปรียบเป็นพระนลาฏ มีวชิรสมาบัติญาณเปรียบเป็นพระอุณาโลม มีนีลกสิณญาณเปรียบเป็นพระขนง ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ พุทธจักษุ ธรรมจักษุ เปรียบเป็นพระเนตร โพธิปักขิยญาณเปรียบเป็นพระทนต์ มีโลกียโลกุตตรญาณเปรียบเป็นริมพระโอษฐ์ มีจตุมรรคญาณเปรียบเป็นพระทาฐา มีจตุสัจจญาณเปรียบเป็นพระชิวหา มี
อปฏิหตญาณเปรียบเป็นพระหนุ มีอนุตตรวิโมกขาธิคมญาณเปรียบเป็นพระศอ มีติลักขณญาณ เปรียบเป็นปล้องพระศอ มีจตุเวสารัชชญาณเปรียบเป็นพระพาหา มีทสานุสสติญาณเปรียบเป็นนิ้วพระหัตถ์ มีโพชฌงค์ ๗ เปรียบเป็นพระอุระ มีอาสยานุสยญาณเปรียบเป็นพระถัน มีทสพลญาณเปรียบเป็นกลางพระวรกาย มีปฏิจจสมุปปาทญาณเปรียบเป็นพระนาภี มีอินทรีย์ ๕ (และ) พละ ๕ เปรียบเป็นบั้นพระองค์ มีสัมมัปปธาน ๔ เปรียบเป็นพระอูรุ มีกุศลกรรมบถ ๑๐ เปรียบเป็นพระชงฆ์ มีอิทธิบาท ๔ เปรียบเป็นพระบาท มีศีล สมาธิ ปัญญา เปรียบเป็นสังฆาฏิ มีหิริโอตตัปปะเปรียบเป็นจีวร มีอัฏฐังคิกมรรคญาณเปรียบเป็นอันตรวาสก มีสติปัฏฐาน ๔ เปรียบเป็นรัดประคด บทบาลีพรรณาพระพุทธคุณ ๓๐ ประการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นบทพรรณนา

ขอยกตัวอย่างข้อความบาลีในคาถาธรรมกาย²  มาพอสังเขปดังนี้

สพฺพญฺญุตญาณปวรสิสํ นิพฺพานารมฺมณปวรวิลสิตเกสํ จตุตฺถชฺฌานปวรนลาตํ
วชฺชิรสมาปตฺติ ญาณํปวรอุณาภาสํ...สติปฏฺฐาน ปวรกาย พนฺธนํ

เมื่อจบบทพรรณนาแล้ว ในท้ายคาถาธรรมกายนี้ยังปรากฏข้อความกล่าวสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าประเสริฐเหนือกว่ามนุษย์และเทวาทั้งหลายด้วยพระธรรมกาย ดังบทบาลีว่า

...อญฺเญสํเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธอติวิโรจติ ยสฺสตมุตฺตมงฺคาทิญาณํ สพฺพญฺญุตาทิกํ
ธมฺมกายมคฺคํ พุทฺธํ นเมตํ โลกนายกํ

และยังมีบทบาลีแนะนำการภาวนาพระธรรมกายว่า

อิมํ ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน
ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํ ฯ สพฺพญฺญุตญาณํ นาม กถํ ฯ
แปลความว่า พุทธลักษณะอันเป็นธรรมกายนี้ อันพระโยคาวจรกุลบุตร ผู้มีญาณ
อันแข็งกล้า ซึ่งปรารถนาความเป็นสัพพัญญูพุทธภาวะ พึงระลึกถึงเนือง ๆ

ซึ่งเราอาจเรียกบทบาลีท้ายคาถาธรรมกายทั้ง ๒ บทนี้ว่า บทประมวลความ³

ส่วนแรกของคาถาพระธรรมกายหรือบทพรรณนาพบว่ามาจากพระบาลีในส่วนเอกนิบาต เอตทัคคะ วรรคที่ ๔ พระสูตรที่ ๑๐ ของมโนรถปูรณี ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในอังคุตตรนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งพระพุทธโฆสะเป็นผู้เรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬ ที่สืบมาแต่เดิมเป็นหลัก เมื่อราว พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นคาถาที่พระสาคตเถระ ผู้เป็นเอตทัคคะทางเตโชกสิณได้กล่าวให้พญานาคดุร้ายผู้อาศัยอยู่ใกล้ท่าข้ามเมืองโกสัมพีฟังหลังจากทรมานให้พญานาคละพยศด้วยเตโชกสิณแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ คาถานี้ปรากฏเฉพาะในอรรถกถาฉบับสยามรัฐ ฉบับมหาจุฬาฯ และฉบับพม่า แต่ไม่พบในฉบับสิงหฬ


หากจะกล่าวไปแล้ว เรื่องราวของคาถาธรรมกายนั้น เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาช้านานแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏคาถาพระธรรมกาย ได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ ๕๔ (จารึกพระธรรมกาย) ระบุพุทธศักราช ๒๐๙๒ แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าศิลาจารึกดังกล่าวหักชำรุด เหลือเพียง ๙ บรรทัด ส่วนหลักฐานคาถาธรรมกายที่ประกอบด้วยบทพรรณนาและบทประมวลความครบสมบูรณ์ ได้แก่ จารึกลานเงินประกับทองคำที่บรรจุอยู่ในเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ



ในส่วนคัมภีร์ใบลานเรื่อง “พระธัมมกายาทิ” (ธัมมกาย+อาทิ) ซึ่งพบว่าเป็นส่วนหนึ่งในชุดคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่าง ๆ เช่น ฉบับรองทรง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้าง และคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกฉบับเทพชุมนุม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานไว้กับวัดพระเชตุพนฯ นั้น เป็นคำประพันธ์บาลีที่ประกอบด้วยคาถาธรรมกายมีบทพรรณนาและบทประมวลความ บวกกับอรรถาธิบายเป็นภาษาบาลี ซึ่งก็คือการอธิบายถึงพระพุทธคุณต่าง ๆ ในพระธรรมกายให้เข้าใจได้มากขึ้นด้วยภาษาบาลี อรรถาธิบายเริ่มต้นด้วยคาถาบาลีว่า “สพฺพญฺญุตญาณํ นาม กถํ ฯ” แปลว่า ที่ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณนั้นเป็นอย่างไร คาถาคำตอบซึ่งเป็นภาษาบาลีเช่นกัน แปลความได้ว่า “ญาณที่มีอารมณ์ในอนันตสังขารอันมีในโลกธาตุทั้งหลายแห่งกามาวจร หรือญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาหรือประกอบด้วยกิริยาจิตอันไร้การปรุงแต่งญาณนั้นจึงชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ” จากนั้นจะมีการอธิบายพระคุณต่าง ๆ ของพระธรรมกายที่ปรากฏในคาถาธรรมกายจนครบ ๓๐ ประการ จบด้วยคาถาว่า “จตฺตาโรสติปฏฺฐานํ เหฏฺฐา วุตฺตนเยน เวทิตพฺพํ ฯ” แปลว่า “พึงทราบไว้ว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นดังที่ได้แสดงไว้ก่อนนั้น นี้เป็นการพรรณนาความหมายของธรรมกาย” ซึ่งเป็นข้อความที่เน้นย้ำว่าพระธรรมกายในคาถานี้หมายถึงกายแห่งญาณรู้แจ้งของพระพุทธเจ้า มิใช่หมวดหมู่ของพระธรรมคำสอน โดยทั่วไปคาถาธรรมกายมีความยาวประมาณ ๒ หน้าลาน แต่ส่วนอรรถาธิบายมีความยาวเพิ่มเข้ามาอีก ๑๔ หน้าลาน รวมได้ประมาณ ๑๖ หน้าลาน ในท้ายคัมภีร์พระธัมมกายาทิมีภาคผนวกเพิ่มคาถาอุณหิสวิชัย และคำบาลีสรรเสริญพระพุทธเจ้าในอดีต เข้าไว้ด้วย

คัมภีร์อุปปาตสันติ อักษรธรรมลาว พ.ศ. ๒๓๘๘ วัดใหม่สุวันนะพูมาราม บ้านป่าขาม เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว
จากการปฏิบัติงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายมายาวนานกว่า ๒๐ ปี ด้วยการลงพื้นที่ภาคสนาม ด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในหลาย ๆ ภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ได้ทราบว่าไม่เพียงแต่ในประเทศไทย หรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ของ “ธรรมกาย” หากแต่ในภูมิภาคอื่นทั่วโลกก็ปรากฏความจริงข้อนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน ล่าสุดผู้เขียนยังได้รับข่าวที่น่ายินดีจากนักวิจัยรุ่นใหม่อีกท่านหนึ่งของสถาบันฯ ที่ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาเอเชียศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา (คุณกิตติพงษ์ วงศ์อักษร) ว่า หลังจากที่ได้ศึกษาอยู่ในต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายปี ได้ทำงานใกล้ชิดกับคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ทั้งได้อยู่ในแวดวง
การศึกษาภาษาโบราณ (ทั้งภาษาคานธารี ภาษาสันสฤต และภาษาจีนมาอย่างต่อเนื่อง) ทำให้ได้ทราบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีทั้งหลักฐานชิ้นสำคัญ ๆ มีทั้งแหล่งศึกษาค้นคว้าและ “Laboratory” ที่พร้อมมูลเหมาะสมสำหรับการอ่านและแปลคัมภีร์คานธารีอยู่มากมาย ซึ่งหากมีความตั้งใจเกาะติดในการศึกษาค้นคว้าต่อไป ก็ย่อมจะสามารถสร้างงานวิจัยด้านคานธารี ตลอดจนไขคำสอนในพระพุทธศาสนายุคโบราณออกมาให้โลกเห็นได้สำเร็จแน่นอน

คุณกิตติพงษ์ยังได้เล่ามาในจดหมายให้ผู้เขียนฟังอีกว่า หัวข้อการศึกษาวิจัยที่เขาสนใจนั้นได้แก่เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เพื่อวิเคราะห์ถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงและการถ่ายทอดคำสอนในพระพุทธศาสนายุคโบราณ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน โดยเขาสนใจใน “คัมภีร์กาศยปปริวรรตะ” ที่มีเนื้อหากล่าวถึงเส้นทางการเป็นพระโพธิสัตว์ และหลักปฏิบัติของการเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งคัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์เก่าแก่ในอินเดียมีการแปลเป็นภาษาจีนและทิเบตในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๒-๑๐ โดยเริ่มต้นที่พระโลกเกษม พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงในด้านการแปลคัมภีร์มหายานเป็นภาษาจีนในยุคก่อน เช่น “คัมภีร์ปรัตยุตปันนสมาธิสูตร” (การปฏิบัติธรรมที่เห็นพระพุทธเจ้าอยู่เบื้องหน้า) ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว และปัจจุบัน ดร.พอล แฮริสันแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กำลังศึกษาชิ้นส่วนภาษาคานธารีอยู่ด้วย

ข่าวที่ผู้เขียนได้รับมานี้ แม้อยู่ในลักษณะของการเป็น “Progressive Report” ก็ตามที แต่เนื้อหาที่สอดแทรกมาในระหว่างบรรทัดนั้น ก็ปรากฏความหวังและความก้าวหน้าของการศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายอยู่ไม่น้อย เพราะส่วนหนึ่งเป็นการชี้ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่านักวิจัยของเราจะก้าวเข้าไป ณ สถานที่แห่งใด แหล่งความรู้ใดที่เป็นแหล่งความรู้ระดับโลกนั้น เราก็มักจะมีโอกาสได้พบกับร่องรอยหลักฐานธรรมกายอยู่เสมอทุกครั้งไป และก็เป็นสิ่งยืนยันได้อยู่เสมอว่า คำกล่าวของคุณครูไม่ใหญ่ที่ท่านได้ฝากไว้ว่า “คำว่าธรรมกายที่ยังมีปรากฏอยู่ตามคัมภีร์ต่าง ๆ และถูกเก็บเอาไว้ตามภาษาต่าง ๆ นั้นยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก... และในยุคสมัยเรานี่แหละ เราก็จะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ให้ปรากฏขึ้นมาได้” นั้นล้วนเป็นความจริงอยู่ตลอดมา ซึ่งเราก็ได้ถือไว้เป็นหลักชัย เป็นเป้าหมายในการทำงานอยู่เสมอ ทั้งจากการสืบค้นหลักฐานธรรมกายจากแหล่งข้อมูลชั้นปฐมภูมิ จากการเรียนรู้จากคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ในอักษรโบราณหรือจากงานวิจัยคัมภีร์พุทธโบราณอันเก่าแก่นับพันปี หรือสองพันปีที่ยังมีต้นฉบับหลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งทำความจริงให้ปรากฏแก่ชาวโลกสืบไป
ขอเจริญพร


----------
¹นำเสนอวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

²การสะกดการันต์เป็นไปตามคาถาธรรมกายในคัมภีร์ใบลานเรื่องธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม ซึ่งสามารถศึกษาคาถาธรรมกายเต็มบทได้จาก "ธรรมกายในคัมภีร์พระธัมมกายาทิ (ฉบับเทพชุมนุม)" พระครูปลัดนายกวรวัฒน์ (สุธรรม สุธมฺโม) สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๖


³นามบัญญัติโดย ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล (๒๕๕๗) “หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ๑ ฉบับวิชาการ”

ฉ่ำ ทองคำวรรณ (๒๕๐๘) “หลักที่ ๕๔ ศิลาจารึกพระธรรมกาย” ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๓ : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต. พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี


วัณสังขยาเพื่อสรรเสริญพระพุทธเจ้าทั้งปวง ตัวอย่างข้อความในคัมภีร์มีว่า พระเตสัททาธิกบันได้ครบพระเตบั้นหก ฯ พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จอุบัติใน ๒๘ อสงไขย ๕๐๐,๐๐๐ พระองค์ เสด็จอุบัติใน ๓๖ อสงไขย ๑,๕๔๘,๐๐๐ พระองค์ เสด็จอุบัติใน ๑๖ อสงไขย ๔๘ พระองค์ เสด็จอุบัติในแสนมหากัป ๖๐ พระองค์  รวมทั้งสิ้น ๒,๐๔๘,๑๐๘ พระองค์ ข้าพเจ้าไหว้...*


เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1i503EVGRDSaPNO15IOwwSaAq9MYjuIBe/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/210%20YNB%200663/YNB%20June%20%200663.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๗) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๗) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:48 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.