หลวงพ่อตอบปัญหา


ถาม : ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราต้องเป็นทุกข์ในการทำมาหากินเพื่อดำรงชีพ หลวงพ่อมีแนวทางแก้ไขทุกข์จากการกินการอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างไร จึงจะสามารถกินอยู่ได้อย่างมีความสุข และไม่ก่อความทุกข์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก

ตอบ : เรื่องการแก้ไขทุกข์ในชีวิตประจำวันของคนเรานี้ หลวงพ่ออยากให้ศึกษาตัวอย่างจากชาดกเรื่องสุกชาดก ว่าด้วยโทษของการไม่รู้ประมาณ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้มรณภาพเพราะฉันมากเกินไปจนอาหารไม่ย่อย จึงทรงระลึกชาติไปดูว่าพระภิกษุรูปนี้มีความเป็นมาอย่างไร แล้วพระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนภิกษุรูปนี้ก็ตายเพราะการบริโภคมาก แล้วพระองค์ก็ทรงเล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง

ในอดีต มีพญานกแขกเต้า (นกแก้วประเภทหนึ่ง) ตัวหนึ่ง ปกครองฝูงมานาน ด้วยความที่เป็นหัวหน้าฝูง เมื่อจะต้องนำฝูงออกหากิน จึงต้องบินเร็วเพื่อนำฝูง เมื่อบินเร็ว พอเริ่มแก่เฒ่า ตาจึงบอด พญานกจึงต้องอยู่แต่ในรัง โดยมีนกที่เป็นลูกคอยดูแลนำอาหารมาเลี้ยงดูอยู่มาวันหนึ่ง ลูกนกไปคาบมะม่วงผิวเหลืองทองมีรสหวานมาฝากพ่อแม่ พอพญานกตาบอดกินเข้าไปเท่านั้น สะดุ้งสุดตัวเลย ทั้ง ๆ ที่ตาบอด แต่ก็จำรสของมะม่วงพันธุ์นี้ได้ดี ถามลูกว่า ลูกเอ๊ย มะม่วงพันธุ์นี้เจ้าไปเก็บมาจากเกาะกลางมหาสมุทรใช่ไหม ลูกตอบว่า ใช่ พ่อนกจึงเตือนขึ้นมาว่า ลูกเอ๋ย มะม่วงพันธุ์นี้ สมัยพ่อยังหนุ่มก็ไปเก็บกินมาแล้ว มันอร่อยดี รสหวาน แต่ลูกจงจำไว้นะ การไปครั้งนี้ให้เป็นการไปครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เพราะว่ามะม่วงพันธุ์นี้อร่อยมาก นกส่วนมากไปกินกันแล้วมักจะไม่ระวัง หรือทั้ง ๆ ที่ระวังก็มักจะอดเผลอไม่ได้ พอกินอิ่มเต็มที่เข้า มันจะง่วง กำลังที่จะบินกลับฝั่งมีไม่พอ จึงตกมหาสมุทรตาย ลูกเอ๋ย พวกนกแขกเต้าที่ไปยังเกาะนั้น ชื่อว่าจะรักษาอายุให้ยืนยาวได้ไม่มีเลย เจ้าอย่าได้ไปยังเกาะนั้นอีกเลย แต่ลูกนกแขกเต้าตัวนั้นไม่เชื่อคำของพญานก ยังคงไปหากินที่เกาะอยู่อย่างนั้น

ในที่สุดวันนั้นก็มาถึง ลูกนกแขกเต้าออกไปหากินแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย พญานกก็รู้ว่าลูกไม่เชื่อ ป่านนี้คงตกทะเลตายไปแล้ว ต่อมาไม่นานพญานกตาบอดก็ตายตามลูกไป เพราะไม่มีใครนำอาหารมาเลี้ยงดู

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกจบแล้วสรุปให้ฟังว่า ลูกนกแขกเต้าตัวนั้นได้มาเกิดเป็นพระภิกษุที่บริโภคแล้วท้องแตกตาย ส่วนพญานกแขกเต้าตาบอดนั้นเป็นพระองค์เอง

เราจะเห็นได้ว่า แม้ภพในอดีต ทั้ง ๆ ที่ทำความดี บางครั้งบางชาติก็พลาดไป ความโลภ ยังไม่หมด ความโกรธยังไม่ขาด ความหลงยังไม่ละลาย บางครั้งความโลภ ความโกรธ ความหลงผุดขึ้นมา ก็เลยก่อกรรมก่อเวร จับพลัดจับผลูไปเกิดเป็นนก ขนาดพระองค์เองยังมีโอกาสพลาดอย่างนั้น นับประสาอะไรกับคนธรรมดาอย่างพวกเรา ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังกันให้ดีนะ ชาดกเรื่องนี้หลวงพ่อจะฝากข้อคิดไว้กับพวกเราว่า

ข้อคิดที่ ๑ เกิดมาเป็นคนแล้ว มีโอกาสเจอพระพุทธศาสนาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ที่เป็นบัณฑิตทางธรรมอย่างแท้จริงแล้วด้วย อย่าเป็นคนว่ายาก อย่าเป็นคนสอนยาก ชนิดอ่านธรรมะอ่านพระไตรปิฎกแล้วปฏิเสธว่าธรรมะเป็นเรื่องเหลวไหล ต้องคิดนะว่า ผู้ที่จารึกพระไตรปิฎกสืบทอดมาให้เราศึกษานั้นเป็นพระอรหันต์กันทั้งนั้น หันมาดูที่ตัวเราเอง อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านตำรับตำราทางโลก แล้วเชื่อเป็นตุเป็นตะ ทั้ง ๆ ที่คนเขียนรักษาศีล ๕ ได้ข้ามวันหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ก็เชื่อเขาไปแล้ว

ข้อคิดที่ ๒ เรื่องการรู้จักประมาณในการกิน พระองค์ให้คำอธิบายสั้น ๆ ไว้ในพระไตรปิฎกว่า ถ้าใครไม่รู้จักประมาณในการกิน โทษเต็มที่คือตายอย่างภิกษุรูปที่ว่ามานี้ หย่อนลงมาคือ อ่อนเพลีย ประการต่อมาคือเกียจคร้านการงาน และประการสุดท้ายคือง่วงเหงาหาวนอน

ข้อคิดที่ ๓ คนโง่ คนดื้อ คนว่ายาก แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิต ก็เหมือนทัพพีในหม้อแกง ใช้ตักแกงเสียจนสึกจนด้วน แต่ทัพพีนั้นไม่รู้รสแกงเลย

ข้อคิดที่ ๔ ใครที่มีลูกดื้อ ว่ายาก ให้ระวังตัวไว้เถิด ลูกประเภทนี้มักจะนำความเดือดร้อนใจมาให้พ่อ แม่ และญาติพี่น้องอยู่เสมอ ๆ

ข้อคิดที่ ๕ เมื่อรู้ตัวแล้วว่า ตัวเรามีนิสัยอะไรที่ไม่ดี ให้รีบเลิกเสีย พยายามฝืนใจเลิกให้ได้ เพราะว่าสิ่งไม่ดีเหล่านี้สามารถติดตามตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ เราจะเห็นได้ว่า แต่ละก้าวย่างของชีวิตนั้นไม่ง่าย แค่เรื่องแก้ปัญหาปากท้องในชีวิตประจำวัน ถ้าแก้ผิดวิธีก็ทำให้ตัวเองตายได้ และยังกลายเป็นนิสัยติดตัวไปทำอันตรายตัวเองในภพชาติต่อ ๆ ไปได้อีก เมื่อชีวิตเกิดมาแล้ว จำเป็นต้องกินต้องอยู่ ก็ให้รู้จักกินอยู่แต่พอดี จึงจะรักษาชีวิตให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข สิ่งเหล่านี้ลำพังสติปัญญาของตัวเองอาจจะไม่พอ ต้องอาศัยผู้รู้ ผู้มีปัญญา เตือนสติให้คำชี้แนะ แต่คนว่าง่ายสอนง่ายเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากคำแนะนำของผู้อื่น คนดื้อ คนว่ายากสอนยาก นอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว กลับจะนำโทษภัยมาสู่ตัวเอง ครอบครัว และสังคม สุดท้ายเราต้องมองการณ์ไกลว่า เรารักษาชีวิตไว้เพื่อทำประโยชน์อะไร ประโยชน์สูงสุดของชีวิตนั้นคือ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อขจัดทุกข์ทั้งปวง กว่าจะถึงวันนั้นได้ เราต้องใช้ร่างกายที่ได้มาและรักษาไว้อย่างยากลำบากนี้ มาฝึกกลั่นจิตกลั่นใจให้ใสด้วยการเจริญสมาธิภาวนาตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะถึงภพชาติสุดท้ายที่บุญบารมีของแต่ละคนเต็มเปี่ยมและได้บรรลุเป้าหมายสมความปรารถนา

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1i503EVGRDSaPNO15IOwwSaAq9MYjuIBe/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/210%20YNB%200663/YNB%20June%20%200663.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
หลวงพ่อตอบปัญหา หลวงพ่อตอบปัญหา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:14 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.