เมื่อลูกไม่ถูกกัน พ่อแม่ควรทำอย่างไร


ถาม : หลวงพ่อคะ ในฐานะที่หนูเป็นพี่สาวคนโต หนูควรจะแก้ปัญหาอย่างไร ในกรณีที่น้องสาว ๒ คน ไม่ถูกกัน ทะเลาะกัน ไม่พูดกันมาเป็นเวลาประมาณ ๒ ปีแล้ว ทั้งๆ ที่อยู่บ้านเดียวกัน บางทีก็เฉยๆ บางทีก็กระแทกใส่กันบ้าง จะสายเกินไปไหมที่จะทำให้น้องๆ ๒ คนดีกัน สงสารพ่อแม่ที่มีลูกไม่ถูกกัน น้องๆ ทั้ง ๒ คน ยังเรียนหนังสืออยู่เลยค่ะ ? 
ตอบ : นี่ขนาดกำลังเรียนหนังสือยังเอาไว้ไม่อยู่ ถ้าเรียนจบมีงานทำ หาเงินได้เอง คงไม่ยอมฟังใคร 

หลวงพ่อมีเรื่องส่วนตัวจะเล่าให้ฟัง.. หลวงพ่อเป็นลูกคนเล็ก มีพี่สาว ๒ คน บางครั้งสมัยเด็กๆ ก็อาละวาดกับพี่เขาเหมือนกัน แต่โยมพ่อแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะฉะนั้นก็เลยหมดฤทธิ์

โยมพ่อทำอย่างนี้ คือ

วิธีที่ ๑ ทันทีที่รู้ว่าพี่กับน้องทะเลาะกัน บางทีถึงกับลงไม้ลงมือกัน ท่านไม่พูดอะไรมากท่านเรียกประชุมทั้งหมด ๓ คนพี่น้อง แล้วท่านก็ชี้หน้าอาตมาบอกให้ไปหักไม้เรียวเอามา อันเล็กๆ ท่านก็ไม่ยอม ต้องเอาอันใหญ่ๆ ด้วย มาถึงแล้วท่านก็ถามสั้นๆ ทะเลาะกับพี่เขาใช่ไหม ใช่ครับ อย่างนั้นไปยืนกอดอกโน่น แล้วก็ส่งไม้เรียวให้พี่สาวตีเบิกความเสีย ๑ ที ยังไม่รู้ใครผิดใครถูก ยังไม่ได้ซักถามสักคำ ตีเบิกความไปก่อน ในฐานะที่ไม่เคารพกันตามอาวุโส ตีไปแล้ว ๑ ที

พอพี่ตีเสร็จ ท่านค่อยมาซักว่ามันเรื่องอะไร ถ้าอาตมาเป็นฝ่ายผิดท่านชี้หน้าให้ไปหักไม้เรียวมาอีก คราวนี้ท่านตีเองเลย ตีในฐานะที่ทำความผิด บางครั้งซักถามแล้วปรากฏว่าพี่สาวผิด นึกว่าจะให้เราตีคืน...เปล่า ท่านก็ชี้พี่สาวให้ไปหักไม้มา จะตีในฐานะรังแกน้อง แล้วท่านก็ตีเอง ตกลงไม่ว่าจะใครผิด เราโดนตีเบิกความก่อนแน่ๆ ในฐานะเป็นน้อง เลยไม่รู้จะไปมีเรื่องกับพี่เขาทำไม ส่วนพี่ถ้าผิด พี่โดนตีหนักกว่าที่เราโดนเข้าไปอีก เลยเข็ดด้วยกันทั้งคู่ นี่เรื่องหนึ่งที่โยมพ่อใช้เป็นวิธีดัดนิสัยลูกๆ

วิธีที่ ๒ ที่บ้านอาตมาแต่เดิมทำไร่ ทำสวน ในวันเสาร์ วันอาทิตย์ ท่านใช้ให้พี่น้องไปช่วยกันทำงาน ท่านสั่งเลย หญ้าบริเวณนี้ถากให้เตียน ดินแปลงนี้ขุดให้เรียบร้อย

ที่ท่านพูดว่าไปทำให้เรียบร้อยนั่นมีความหมายว่า ถ้าไม่เสร็จ ไม่ต้องกลับมากินข้าวเย็น เพราะฉะนั้นพวกเราพอคว้าจอบได้ก็ต้องรีบลงมือทำ แต่มีบ้างเหมือนกันตามประสาลูกชายคนเล็ก คือบางวันก็เบี้ยว ไม่ทำหรอก เพราะอะไร?

เพราะตอนเช้าไปเที่ยวยิงนกตกปลาสนุกกับเพื่อนๆ พอตกบ่ายกลับมา โอย..แย่แล้ว..พี่ ๒ คน ถ้าทำไม่เสร็จไม่ได้กินข้าวเย็นแน่ เราก็หูตาเหลือกรีบช่วยให้เสร็จ ต้องพูดประจบประจ๋อประแจ๋ไปด้วย กลัวว่าเขาจะไปฟ้องพ่อ ตอนบ่ายนี้พูดจาเรียบร้อย ได้หัดพูดเพราะๆ ก็ตอนบ่ายนี้แหละ ตอนเช้าพูดเถลไถล แต่พอตกบ่ายต้องพูดให้ไพเราะ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดเรื่อง คือ

๑.เย็นนี้อาจจะไม่ได้กินข้าวเลย แล้วยังอาจจะต้องจุดตะเกียง ขุดดินกันทั้งพี่ทั้งน้อง

๒.ถ้าพี่เขาฟ้องว่าเพราะเราเบี้ยว งานถึงไม่เสร็จ ถ้าอย่างนั้น เราจะโดนตีคนเดียว เลยต้องพูดเพราะๆ เอาใจเขาหน่อย

วิธีที่ ๓ สิ่งที่พ่อแม่ฝึกให้ คือในเรื่องเสื้อผ้าพวกเราถูกฝึกมาตั้งแต่เล็ก ให้ดูแลของตัวเองทุกคน ท่านให้ซักเองรีดเอง แต่ขอยอมรับ ว่าการรีดผ้านั้นรีดไม่ค่อยเป็น เมื่อตอนเด็กอยู่ชั้นประถมรีดผ้าทีไรมันมักจะเผลอทำของเสีย เช่น ไม่ไหม้เกรียมก็ย่น ก็โน่นๆ นี่ๆ สารพัดไปละ ถ้าจะใส่ไปโรงเรียนก็รีดเอาเอง ถึงไม่ค่อยจะเรียบร้อยนักก็ช่างมัน แต่เวลาจะไปเที่ยวไหน เราก็อยากหล่อเหมือนกัน ก็เลยไปประจบพี่เขา ต้องหัดประจบไม่อย่างนั้นเขาไม่ทำให้นะ.. รีดผ้าให้ทีเอาเถอะ.. ฟืนทั้งกองจะผ่าให้

พี่เขาก็ยิ้มเท่านั้นซิ รีดผ้ากับผ่าฟืน อย่างไรเสีย เขาก็เลือกเอารีดผ้า แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังเล่นตัวว่าไม่ได้.. นอกจากผ่าฟืนแล้วต้องไปล้างจานด้วย ไอ้เรามันอยากหล่อก็ต้องยอมเขา พูดง่ายๆ ถูกบังคับให้รับผิดชอบร่วมกัน ขืนทะเลาะกัน งานไม่เสร็จจะยิ่งเดือดร้อน ก็เลยต้องดีกันโดยอัตโนมัติ

ปัญหาของคุณหนู แสดงว่าที่บ้านไม่มีงานให้ทำ ปล่อยสบายมากไป ถ้าจะให้ดีต้องให้อดๆ อยากๆ กันบ้าง เพราะอดอยากแล้วจะช่วยกันทำกินเอง นี่สบายมากไป ลูกๆ จึงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในกรณีอย่างนี้ก็ขอให้คำแนะนำแก่คุณพ่อคุณแม่นะ สำหรับตัวคุณหนูแม้จะเป็นพี่สาวคนโต ก็ต้องยกบทบาทนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ก่อน แล้วคอยให้ความร่วมมือกับท่านก็แล้วกัน

บีบเศรษฐกิจในบ้านเข้ามา 
เงินทอง อย่าให้มีใช้เหลือเฟือ เจ้าพี่น้องคู่นี้ที่ทะเลาะกัน อย่าจ่ายเงินให้ใช้มาก ต้องให้พึ่งพาอาศัยกันบ้าง

ใช้งานบ้านให้มากๆ ให้ร่วมกันทำ
เรื่องที่มึนตึงไม่พูดกันมันจะค่อยคลายตัวไป เพราะต้องร่วมงานกัน ไม่พูดกันก็ทำงานไม่ได้ วิธีนี้ค่อนข้างได้ผลมาก

สำหรับเด็กไทย ถ้าเด็กยังไม่โตเกินไปนัก เห็นทีจะต้องใช้ไม้เรียวกำกับบ้าง
ถ้าเรามีเหตุผลแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวเด็กหนีออกจากบ้าน เด็กตัวเท่านี้ยังเก่งไม่จริง ไม้เรียวยังจำเป็นสำหรับการเลี้ยงลูก แต่ต้องใช้ให้เป็น ตีไปสอนไป ไม่ใช่ตีให้เจียนตาย

อย่างไรก็ดี ควรใช้ระดับแรกก่อน คือ ตัดเงินลงแล้วให้ช่วยกันทำงาน ถ้าเอาเปรียบกันมากเกินไป เด็กจะตั้งข้องัดกันเอง ธรรมดา เด็กโกรธกันไม่นานหรอก พอเงินหมด เดี๋ยวก็ต้องช่วยกันทำงาน ถ้าในบ้านมีคนรับใช้ ก็ให้คนรับใช้ทำเฉพาะงานส่วนกลาง งานส่วนตัวให้รู้จักจัดการกันเอง งานที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันทำให้พี่ๆ น้องๆ ต้องหันหน้าเข้าปรึกษากัน ต้องใช้มาตรการนี้ตั้งแต่ลูกๆ ยังเล็ก ถ้าไปใจอ่อนยอมตามใจเด็ก ในที่สุดจะได้ลูกที่เขี้ยวจะลากดินทั้งคู่

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
เมื่อลูกไม่ถูกกัน พ่อแม่ควรทำอย่างไร เมื่อลูกไม่ถูกกัน พ่อแม่ควรทำอย่างไร Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:12 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.