ธรรมทายาทญี่ปุ่น รุ่นแรกของโลก
ในหนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อนิฮอนโกชิ บันทึกไว้ว่า วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๑๐๙๕ อันเป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลพระเจ้ากิมเมจิ จักรพรรดิองค์ที่ ๑๙ ของญี่ปุ่น พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ญี่ปุ่น โดยพระเจ้าเซมาโวแห่งเกาหลีส่งราชทูตไปยังราชสำนักพระเจ้ากิมเมจิ พร้อมด้วยพระพุทธรูป คัมภีร์พุทธธรรม ธง และพระราชสาสน์แสดงพระราชประสงค์ ที่จะขอให้พระเจ้ากิมเมจิรับนับถือพระพุทธศาสนา พระเจ้ากิมเมจิทรงรับด้วยความพอพระทัย นี้เป็นการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นและเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยพระจักรพรรดิกิมเมจิ
ชาวญี่ปุ่นนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับชินโต พระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็นหลายนิกาย นิกายที่สำคัญมี ๕ นิกาย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีนักการศึกษามากมายพยายามที่จะเชื่อมประสานพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยจัดตั้งเป็นองค์การขึ้น กิจการทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ และมีจุดเด่นก้าวหน้าที่สุดของญี่ปุ่น คือ การจัดการศึกษา ซึ่งพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ จะมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนระดับมัธยม
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ ประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาก็ได้ถูกจารึกอีกครั้ง เมื่อสุภาพบุรุษจากแดนอาทิตย์อุทัย ได้พร้อมใจกันมาบรรพชาอุปสมบทเป็นพระธรรมทายาทหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นรุ่นแรกของโลกที่วัดพระธรรมกาย ระหว่างวันที่ ๘ - ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมเป็นชาวญี่ปุ่นแท้ ๆ ทั้งหมด ๒๔ ท่าน หลากหลายอาชีพ เช่น พระภิกษุมหายาน คือ ท่านโยชิคิโยะ ฟูจิโมโต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคลินจิ ในจังหวัดฟุกุ้ย ประเทศญี่ปุ่น ท่านเล่าว่า การดำเนินชีวิตของพระญี่ปุ่นนั้น จะปฏิบัติตัวได้เหมือนฆราวาสทุกอย่าง สามารถทำงานหลักเป็นนักธุรกิจ ทำงานออฟฟิศได้เหมือนฆราวาสทั่วไป จะต่างก็ตรงที่พระมีหน้าที่ดูแลวัดและทำพิธีทางศาสนา โดยก่อนจะประกอบพิธีทุกครั้งต้องสวมชุดพระ และทุกคนจะให้เกียรติ ให้ความเคารพ ซึ่งใน ๑ วัด มักจะมีพระเพียง ๑ รูป เท่านั้น พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นอยู่ในนิกายมหายาน ที่นำเอาหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้ามาพัฒนาปรับปรุง แต่ท่านเองก็เชื่อว่า พระพุทธศาสนาที่แท้จริงต้องมีการฝึกฝนตนเอง ผ่านการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา นำคำสอนมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องลงมือปฏิบัติถึงจะรู้จริง เมื่อทราบว่าวัดพระธรรมกายจัดอบรมธรรมทายาทสำหรับชาวญี่ปุ่นขึ้นเป็นครั้งแรก ท่านจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ชีวิตของพระแท้ และศึกษาเกี่ยวกับสมาธิให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นท่านต่อมาที่มีประวัติชีวิตที่น่าสนใจมากก็คือ ท่านศาสตราจารย์ มิโตโมะ เคนโยะ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอภิธรรมในคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยริชโช ประเทศญี่ปุ่น เมื่อทราบข่าวโครงการอุปสมบท อาจารย์ก็มีความสนใจอย่างมากและสมัครบวชทันที ยิ่งไปกว่านั้นอาจารย์ยังได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนให้ลูกศิษย์มาบวชในโครงการนี้ด้วย และ ได้ติดต่อให้ทางหนังสือพิมพ์ "ชูไกนิปโป" ลงข่าวประชาสัมพันธ์โครงการในหนังสือพิมพ์ เพื่อชักชวนให้ชาวญี่ปุ่นมาบวชอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่ได้อ่าน มาสมัครบวชเป็นจำนวนมาก ท่านได้เล่าว่า "ผมศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพระอภิธรรมมากว่า ๔๐ ปีแล้ว การที่ผมมาร่วมในโครงการอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพราะคิดว่า การจะศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่แค่เพียงศึกษาผ่านตำราเท่านั้น การที่เราจะเข้าไปถึงแก่นแท้ของพุทธธรรมได้นั้น เราควรที่จะได้บวชเป็นพระภิกษุและฝึกฝนอบรมตนตามพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรม เหมือนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำเป็นแบบอย่างมาแล้ว เราไม่ควรจะติดแค่กรอบความเชื่อของนิกาย แต่ควรได้เข้าไปเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อจะสามารถเข้าใกล้พุทธธรรมที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมสนใจในแนวทางการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย ที่กำลังสวนกับกระแสของสังคม ที่ศีลธรรมกำลังเสื่อมถอยไปจากจิตใจของคนไทยในประเทศ การมาบวชครั้งนี้ผมหวังว่าเราจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงกันและกันระหว่างพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานครับ" นอกจากนี้ยังมีเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่น ผู้แสวงหาความจริงของชีวิต ได้พลิกโฉมตัวเองจากผู้มีหนวดเครารุงรัง มาเป็นบุคคลผู้สงบเรียบร้อยสำรวม เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือ คุณโนริมิจิ ซูซูกิ อายุ ๒๑ ปี เขาเกิดและเติบโตเหมือนเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไปคือ กิน เที่ยว เรียน หนังสือ ทำอย่างนี้ซ้ำ ๆ กันหลายปี จนรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า ล่องลอย ไร้จุดหมาย เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนสอนทางด้านศิลปะการวาดภาพก็คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะออกเดินทางแสวงหาความจริง ของชีวิต เขาเลือกเดินทางไปตามเส้นทางสายไหม ตามรอยบุคคลในประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองว่า พวกเขาได้เคยพบเจออะไรบ้าง มีประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่เพียงใด และพวกเขารู้สึกอย่างไร ในการเดินทางผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์สายสำคัญนี้ เมื่อเดินทางมาจนถึงประเทศลาว เขาก็ได้พบกับคนญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งจะบวชเป็นพระภิกษุ ในโครงการบวชพระธรรมทายาทสำหรับชาวญี่ปุ่น ที่จะจัดขึ้นที่วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย พอได้ฟังดังนั้นเขาก็สนใจเข้ามาร่วมบวชด้วย
ธรรมทายาททุกท่านต่างก็ตั้งใจฟังคำชี้แนะจากพระอาจารย์เป็นอย่างดี และตั้งใจปฏิบัติธรรม เพื่อการเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวให้ได้ ซึ่งนาคธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นได้เข้าพิธีขลิบปอยผมในวันศุกร์ที่ ๑๔ สิงหาคม ที่อุโบสถวัดพระธรรมกาย เวลา ๑๖.๐๐ น. และได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทในวันเสาร์ที่ ๑๕ สิงหาคม ที่อุโบสถวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. เป็นต้นไป
หลังจากนั้นก็ได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมที่วัดกิ่วลม ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ รวมระยะเวลาในโครงการทั้งสิ้น ๒๓ วัน การบวชธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นรุ่นแรกของโลกในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายแห่งความสว่างไสว ของพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม ที่จะสถิตสถาพรในประเทศญี่ปุ่นไปอีกนานแสนนาน สมดังนามแดนดินแห่งอาทิตย์อุทัยฉายแสงส่องสว่างแก่ทุกผู้คน
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๓ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
|
ธรรมทายาทญี่ปุ่น รุ่นแรกของโลก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:31
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: