หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๐)



 The Book of Zambasta : อีกหนึ่งประจักษ์พยานความมีอยู่ของธรรมกายที่มีอายุกว่าพันปี

สำหรับในห้วงเวลานี้ แม้ว่าโลกจะยังอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-๑๙ อันทำให้การศึกษาวิจัยภาคสนาม หรือการลงพื้นที่วิจัย (Field Study) ต่าง ๆ ยังไม่อาจทำได้โดยสะดวก แต่ทีมงานวิจัยของสถาบันฯ ที่กระจายตัว ทำงานอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกก็ยังคงมีวิริยอุตสาหะศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ภาคพื้นยุโรป อเมริกา เอเชียกลาง รวมทั้งโอเชียเนีย ซึ่งในการศึกษาค้นคว้าบางหัวข้อ หรือบางประเด็น (ที่เชื่อมโยงกับหลักฐานธรรมกายบางชิ้นบางประการ) นั้น ได้สร้างความตื่นตา   ตื่นใจแก่ผู้เขียนอย่างมาก และทำให้ทีมงานยิ่งมีความเชื่อมั่นในความมีอยู่จริงของธรรมกายมากขึ้นไปอีก ซึ่งสิ่งนี้ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสู่การปฏิบัติธรรมของผู้เขียนและคณะควบคู่ไปด้วยตลอดมาเช่นกัน


Emeritus Professor Dr. Garry W. Trompf
Emeritus Professor in the History of
Ideas in the Department of Studies in
Religion at the University of Sydney, Australia


Sir Harold Walter Bailey
(1899-1996), Professor of Sanskrit,
Cambridge and Life Fellow of Queens'
College. Sitter in 3 portraits. Gonville &
Caius College, Cambridge


Sir Marc Aurel Stein (1862-1943), a
Hungarian-born, British archaeologist, is
largely credited to have rediscovered The
Silk Road. Thompson, The Grosvenor
Studios-https://wellcomeimages.org/
indexplus/image/V0027218.html


และเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างมาก เมื่อวันหนึ่งในขณะที่ทีมงานกำลังปฏิบัติงานกันตามปกตินั้น ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ Dr. Garry W. Trompf (Emeritus Professor in the History of Ideas) in the Department of Studies in Religion at the University of Sydney, Australia ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ท่านได้กรุณาส่งเอกสารการวิจัยฉบับหนึ่งซึ่งท่านได้อ่านแล้ว มาให้คณะทำงาน พร้อมกับเน้นย้ำฝากให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างละเอียด เอกสารนั้น คืองานวิจัยที่มีชื่อว่า Mahāmaitrī in a Mahāyāna Sūtra in Khotanese - Continuity and Innovation in Buddhist Meditation ผู้วิจัยคือ Giuliana Martini (ชาวอิตาลี) จาก Italian School of East Asian Studies, University of Kyoto โดยท่านได้นำเอาบางส่วนของคัมภีร์ Zambasta มาศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิแบบ “เมตตาภาวนา (Loving Kindness Meditation)” และมีผลสรุปกล่าวคือ เมตตาภาวนาจากหนังสือเล่มนี้เป็นสมาธิภาวนาแบบ meditation dynamics and dialectics (สมาธิภาวนาแบบกำหนดจิตอยู่กับวัตถุ และภาวะของจิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีลำดับขั้นการพัฒนาของจิต)



Folio from the Khotanese Buddhist text The Book of Zambasta. Ink on paper.
This photo has been provided by the International Dunhuang Project from its digital collections,
from original file BLX3542_OR9614_5R1_1.


ทั้งนี้ การทำสมาธิแบบเมตตาภาวนาในที่นี้เป็นวิธีการกำหนดจิตอยู่กับวัตถุและเห็นภาพวัตถุ ซึ่งวัตถุที่กำหนดเห็นในที่นี้คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรือธาตุหรืออนุภาคของสรรพสิ่ง แล้วก่อเกิดเป็นพลังความสุขความเมตตาแผ่ซ่านอิ่มเอิบออกมา ซึ่งการปฏิบัติสมาธิแบบนี้เป็นแบบดั้งเดิมของชาวพุทธ และถ้าจะเปรียบเทียบกับสมาธิสายปัจจุบันที่เห็นก็ไปสอดคล้องกับสมาธิภาวนาแบบพม่ามาก มีความคล้ายคลึงกับการปฏิบัติสมาธิของนิกายสรรวาสติวาทและโยคาจารอยู่บ้าง หากแต่ประเด็นวิเคราะห์ที่สำคัญ ซึ่งผู้วิจัยกล่าวถึงและมีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับวิธีการปฏิบัติของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย คือ ในส่วนที่กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติสมาธิว่า

๑. ผู้ที่ได้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จิตของเขาย่อมไม่แสวงหา ไม่ไขว่คว้า เหมือนอย่างกวางที่กระหายน้ำเที่ยวแสวงหาน้ำอยู่อย่างนั้น
๒. ผู้ที่ได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว พวกเขาย่อมมองเห็นทุกอย่าง (พระโพธิสัตว์เมตตรัยยะพูดกับพระพุทธเจ้าว่า Who have seen you, they thus behold everything.)
๓. แล้วจากนั้นพวกเขาก็จะได้ยินเฉพาะธรรมะของพระพุทธเจ้า

โดยผู้เขียนหัวข้อวิจัยนี้ได้สรุปเฉพาะคำตอบของพระพุทธเจ้าที่ตอบข้อที่หนึ่งเอาไว้สั้น ๆ ว่า “การปฏิบัติตามหลักธรรมะทั้งหมดโดยเมตตาภาวนาจะทำให้เข้าถึงความเป็นพุทธะ (Buddhahood)” โดยในหัวข้อวิจัยนี้ได้นำเสนอขั้นตอนการปฏิบัติสมาธิจากบทที่ ๓ ของหนังสือ Zambasta เอาไว้โดยย่อ ๆ ว่า นั่งด้วยท่านั่งถูกต้อง ในสถานที่สงบ ทำใจให้รู้สึกสงบ แล้วเริ่มกำหนดจิตกับอนุภาคเล็ก ๆ ภายในร่างกาย ตามขั้นตอนต่าง ๆ เช่น

๑. ด้วยความรู้สึกที่สงบ ผู้ปฏิบัตินำใจไปจดจ่ออยู่ที่ตัวตนของตัวเอง
๒. อวัยวะทุกส่วนของตัวเราประกอบด้วยอนุภาค
๓. ทุกส่วนของร่างกายเราประกอบด้วยอากาศหรือที่โล่งว่างอยู่ตรงกลางของมัน
๔. อากาศหรือที่ว่างภายในก็เหมือนกับที่ว่างภายนอก เป็นที่โล่งว่างไม่สิ้นสุดสำหรับทุกคน
๕. ผู้ปฏิบัติจินตนาการถึงอนุภาคหรือธาตุเหล่านั้นให้ใสบริสุทธิ์ที่สุด
๖. จินตนาการว่าได้เข้าไปนั่งอยู่ที่ว่างตรงกลางของอนุภาคอันบริสุทธิ์นั้น

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความเป็นพุทธะที่เราพบในคัมภีร์นี้ โดยสาระสำคัญนั้นมีความคล้ายคลึงกับคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาที่ห่างไกลจากยุคสมัยปัจจุบันนานนับพันปี ซึ่งถือว่าเป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่ง

จากผลการศึกษาและการรวบรวมข้อมูลที่คณะทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดเป็น “รายงานการสืบค้นคัมภีร์ The Book of Zambasta” ซึ่งเรียบเรียงโดยพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ นักวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) โดยในรายงานฉบับนี้กล่าวถึงเนื้อหาของคัมภีร์ Zambasta ซึ่งเขียนเป็นภาษาโขตานตะวันออกในรูปแบบของกาพย์ ซึ่งมีความเก่าแก่มาก สันนิษฐานว่าคัมภีร์นี้เขียนขึ้นเป็นอย่างช้าที่สุดในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ทั้งนี้ชื่อของคัมภีร์ Zambasta นี้ Prof Harold W. Bailey (1899 -1996) ศาสตราจารย์ด้านภาษาสันสกฤตโขตานและการเปรียบเทียบกลุ่มภาษาอิหร่าน แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นผู้ตั้งขึ้นเป็นคนแรก อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่าเนื้อหาบางส่วนของคัมภีร์ได้สูญหายไป จึงทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าเนื้อหาที่ครบถ้วนของคัมภีร์นี้มีอยู่ทั้งหมดกี่ชิ้น แต่กระนั้นก็ดี จากเนื้อหาที่หลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบันพบว่ามีอยู่ ๒๙๘ ชิ้น สามารถระบุสถานที่เก็บรักษาได้ ๒๐๗ ชิ้น โดยมี ๑๙๒ ชิ้น เก็บไว้ที่เมืองเลนินกราด ประเทศรัสเซีย, ๖ ชิ้น ที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย มีอีก ๖ ชิ้น อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนที่สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น มีอยู่ประเทศละ ๑ ชิ้น ทั้งนี้รายงานการสืบค้นคัมภีร์ “The Book of Zambasta” นี้ได้สรุปวิเคราะห์เรื่องราวที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของ ธรรมกาย ไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ

ด้วยการที่ คัมภีร์ Book of Zambasta นี้เขียนเป็นกาพย์ ด้วยภาษาโขตานตะวันออก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มภาษาโขตานเก่า (Old Khotanese) จึงทำให้การทำความเข้าใจเรื่องภาษาโขตานและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในเอเชียกลางนั้น ได้มีความสำคัญควบคู่กันไปด้วย โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแหล่งกล่าวว่า พระพุทธศาสนานั้นได้เข้ามาสู่เอเชียกลางในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ โดยพระธรรมทูตสายพระมัชฌันติกเถระและพระธรรมรักขิตเถระ ซึ่งมีศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาอยู่ที่เมืองกุชา ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๗ พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในเอเชียกลางบนเส้นทางสายไหม ทำให้เมืองต่าง ๆ เช่น โขตาน (ปัจจุบันคือเมืองเหอเถียน มณฑลซินเจียง) กุชาและเทอร์ฟาน กลายเป็นศูนย์กลางที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา โดยตามตำนานกล่าวว่าบุคคลที่ก่อตั้งราชอาณาจักรพุทธโขตานและมีส่วนทำให้พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้มีความก้าวหน้าขึ้นได้แก่ เจ้าชายกุณาละ พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอโศกมหาราช

บุคคลอีกคนหนึ่งที่ศึกษาและสำรวจเมืองโขตานในยุคปัจจุบันก็คือ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ชื่อออเรล สไตน์ (Sir Marc Aurel Stein) โดยเขาสันนิษฐานว่า พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายในเมืองโขตานมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ ๘-๑๓ (แต่เริ่มประดิษฐาน ณ ดินแดนแห่งนี้แล้วตั้งแต่พุทธศักราช ๖๒๗) และมีการค้นพบว่าอาณาจักรโขตานนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะนักโบราณคดีได้ขุดค้นพบวัดวาอาราม พระเจดีย์ ในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก






จนล่วงเข้าในปี ค.ศ. ๑๙๖๘ ศาสตราจารย์ Ronald Eric Emmerick (1937-2001) ชาวออสเตรเลีย ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ประจำสถาบันโซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมและภาษาของอิหร่าน อินเดีย รวมถึงทิเบต ได้ทำการตรวจชำระและแปลคัมภีร์ Book of Zambasta จากภาษาโขตานเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้ตีพิมพ์ผลงานผ่านสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งหนังสือฉบับแปลเล่มนี้มีทั้งหมด ๔๕๕ หน้า เนื้อหาของ Book of Zambasta แบ่งออกเป็น ๒๔ บท (Chapters) บทที่สำคัญ ๆ และน่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ เป็นต้นว่า ในบทที่ ๒ เป็นเรื่องราวของภัทร (Bhadra) นักมายากล ผู้ซึ่งต่อมาได้เกิดศรัทธาในพระพุทธองค์ บทนี้มีข้อความที่กล่าวถึงว่านักมายากลผู้นี้ได้ปฏิบัติสมาธิในหลากหลายวิธี เช่น การตระหนักว่าขันธ์ ๕ มีสภาพไม่เที่ยง เป็นอนัตตา หาสาระใด ๆ ไม่ได้ แล้วจึงปฏิบัติบารมีทั้ง ๖ ประการ และเจริญพุทธานุสติ จนกระทั่งเขาได้บรรลุธรรมกาย

ในบทที่ ๓ เป็นบทที่เล่าเรื่องราวของพระเมตตรัยโพธิสัตว์ได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ถึงวิธีบรรลุโพธิญาณ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เจริญเมตตาภาวนา และให้ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดพุทธานุสสติระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งปวง แล้วจึงทำสมาธิเนื่องกับสุญญตา

ในบทที่ ๖ มีทั้งหมด ๖๐ บาท ซึ่งนักวิชาการหลายท่านระบุว่าเนื้อหาในบทนี้นำมาจากโศลกในพระสูตรต่าง ๆ เช่น
     ในบาทที่ ๑๐ ธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเป็นนิจจัง อันเป็นสิ่งที่แยกออกจากสังขารทั้งปวง แต่ (ธรรมกาย) ก็มิได้หายไปไหน
     ในบาทที่ ๑๒ กล่าวว่า หมอชีวกะขจัดโรคแห่งหญิงพรหมจรรย์ด้วยสมุนไพร ส่วน ธรรมกาย แห่งพุทธะสามารถขจัดกิเลสทั้งปวงได้ (โดยง่าย) โดยมิจำเป็นต้องอาศัยความพยายามใด ๆ
     ในบาทที่ ๔๔ กล่าวว่า บุคคลควรกำหนดสติไว้ในจิตโดยปราศจากตัณหาใด ๆ ด้วยการระลึกถึง ธรรมกาย แห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ บุคคลควรกำหนดสติระลึกถึงสิ่งทั้งสามโดยให้ใจปราศจากกิเลสใด ๆ

ในบทที่ ๙ มี ๒๘ บาท บทนี้เน้นหลักศูนยตาที่สัมพันธ์กับ ๕ สิ่ง
     ในบาทที่ ๑ กล่าวว่า ๕ สิ่ง คือ: ๑. ตถาคตครรภะ; ๒. ธรรมกาย (ภาษาโขตาน: dharma-kāyä); ๓. เอกยาน; ๔. การหลุดพ้น (ภาษาโขตาน: parrīyä); ๕. การเกิดและดับ (อุบัติ-นิโรธ)
     บาทที่ ๒ กล่าวว่า โดยสภาวะนั้น สิ่งทั้งห้าล้วนเป็นสูญในตัวเอง
     บาทที่ ๓ ตถาคตครรภะนั้นมีความบริสุทธิ์ดุจนภากาศ
     บาทที่ ๔ กล่าวว่า ธรรมกาย แห่งพุทธะเหมือนดั่งท้องฟ้า ดั่งเงาจันทร์ที่สะท้อนในน้ำ ดังนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงปรากฏด้วยกาย
     บาทที่ ๒๒ เมื่อบุคคลใดรู้ด้วยปัญญาถึงตถาคตครรภะของสรรพสัตว์ทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ปรากฏด้วย ธรรมกาย ทั่วสรรพางค์กาย

ในบทที่ ๑๓ มี ๑๖๐ บาท เป็นบทที่มีเนื้อที่เหลืออยู่ยาวที่สุด
     บาทที่ ๘๘ กล่าวว่า “กายแห่งพุทธะ คือ ธรรมกาย
     บาทที่ ๑๒๒ กล่าวถึงเหตุผล ๕ ประการ ของการมีชีวิตที่ประเสริฐในวัฏสังสาร หนึ่งในนั้นคือ การเข้าถึง ธรรมกาย อันประเสริฐ
     บาทที่ ๑๒๗ ชีวิตระดับโลกุตระคือการได้พบ ธรรมกาย
     บาทที่ ๑๓๐ สมาธิในอรูปฌานสมาบัติคือสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นกำลังแห่งอิทธิบาท ๔ และธรรมกายของพุทธเจ้า จะทำให้บุคคลพ้นจากมฤตยู
     บาทที่ ๑๓๙ ธรรมกาย แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีกระดูก เป็นของสูงส่ง ปัญญาและบุญย่อมบังเกิดแก่เขาทั้งหลาย

ทั้งนี้เนื้อหาในบทอื่น ๆ ก็ยังมีที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในบทที่ ๒๒ ซึ่งเป็นบทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของคัมภีร์ Zambasta ซึ่งมีเนื้อหาเทียบได้กับคัมภีร์อนาคตวงศ์ ในภาคภาษาบาลีหรือไมตรียวยากรณะในภาคสันสกฤต โดยระบุถึงการเสด็จมาตรัสรู้ของพระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า คุณค่าของการบำเพ็ญบุญในพระรัตนตรัย มูลเหตุของการที่ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้าถึงธรรม (เข้าถึงกายที่สำเร็จด้วยวัชระ) หรือ บทที่ ๒๔ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของคัมภีร์นี้ที่กล่าวถึงพุทธประวัติช่วงต้นและการล่มสลายของศาสนาในอนาคต เป็นต้น


The Book of Zambasta is Professor Bailey's name for a
collection of aka-Khotanese texts hitherto designated as E.
The texts were fifififi rst published in Berlin by
E. and M. Leumann in the period 1933


จาก “รายงานการสืบค้นคัมภีร์ The Book of Zambasta” นั้น สิ่งที่เราได้จากการสืบค้นประการแรกนั้น คือหลักฐานที่สามารถยืนยันถึงความมีอยู่จริงของเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมกายอย่างมิต้องสงสัย แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ “หลักฐานธรรมกาย” ชิ้นนี้ย่อมเป็นสิ่งเติมเต็มในทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา (อันเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย) เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่านักวิจัยของเราแต่ละท่านที่ได้พบหลักฐานธรรมกายเพิ่มมาครั้งใด ผลวิจัยแต่ละชิ้นนั้นก็จะเกี่ยวพันกับเรื่องราวของ “พุทธะภายใน” ในสำนวนต่าง ๆ ทุกครั้งไป ทั้งที่หลักฐานแต่ละชิ้นที่พบก็อยู่ต่างสถานที่ ต่างยุคสมัยกันทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เราระลึกถึงธรรมะที่ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ดังวาระพระบาลีที่ว่า “อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ” ได้อยู่เสมอ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๓ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/213%20YNB%206309/YNB%20Sep%2063%20.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๓ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๐) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๐) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:58 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.