หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๔)



๑๓๖ ปี พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : ความจริงแท้ของหลักฐานธรรมกายที่ไร้กาลเวลา

(ต่อจากฉบับที่แล้ว) ก่อนอื่นต้องขออนุโมทนาบุญกับคณะผู้จัดงานทุก ๆ ท่าน ที่แม้ในยาม COVID-19 ก็ได้จัดงานพิธีกรรมอย่างสมบูรณ์และมีการป้องกันด้วยมาตรการสาธารณสุขเป็นอย่างดี โดยกระจายกำลังนำคณะสามเณรกว่า ๓,๐๐๐ รูป ไปจัดงานอุปสมบทรุ่นบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ณ พัทธสีมา จำนวน ๒๒๒ วัด ซึ่งบุญนี้ถือเป็นบุญใหญ่ในช่วงท้ายปีเก่า ดังนั้นเราควรที่จะทบทวนบุญตลอดปีที่สั่งสมมา จะได้เพิ่มบุญบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยออกแบบชีวิตของเราให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย และได้พบครูดี ได้ฟังคำสอนของมหาปูชนียาจารย์ทุกท่าน ได้ไตร่ตรองคำสอนอันมีคุณค่านั้น เเล้วได้ลงมือทำตามคำสอนของท่าน ซึ่งเป็นวุฒิธรรม ๔ ประการ อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญ ดังเช่น "นักสร้างบารมีที่ไม่ว่างเว้นในการทำความดี"






พิธีเวียนประทักษิณ-อุปสมบทรุ่นบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ จำนวน ๑๔ รูป

สถานที่ : วัดบางนา ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

จัดพิธีกรรมโดยคณะทำงานภาคพื้นโอเชียเนีย และสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI)

ภาพ : สุเทพ ชลเวกสุวรรณ และพุทธพล ภูมิพุทธ


จากฉบับที่ผ่านมา คณะทำงานศึกษาวิจัยได้กล่าวถึงการรวบรวมผลงานศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จำนวน ๕๐ หัวข้อ ซึ่งสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มได้ ๔ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในสุวรรณภูมิ ๒) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียกลาง-ใต้ ๓) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์จีนพุทธโบราณ และ ๔) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี ซึ่งในฉบับนี้จะได้กล่าวถึง กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียกลาง-ใต้ เพิ่มเติม ดังนี้


๑๑. คัมภีร์วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตา เนื้อหาคัมภีร์มีอายุก่อนปีพุทธศักราช ๙๔๓ จารึกด้วยภาษาโขตานโบราณ อักษรโขตานพราหมี (คุปตะตัวตรง) พบที่ถ้ำโม่วกาว เมืองตุนหวง เนื้อหากล่าวว่า พระตถาคตคือธรรมกาย กายของพระองค์ประกอบด้วยธรรม


๑๒. คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร เนื้อหาก่อนปีพุทธศักราช ๗๙๓ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี สาระสำคัญคือ “เราเห็นธรรมกายอันไม่มีส่วนเหลือด้วยมหาปัญญา”


๑๓. คัมภีร์มหายานสูตราลังการะ เนื้อหาคัมภีร์ พ.ศ. ๘๑๓-๘๙๓ ตัวจารึกคัมภีร์ พ.ศ. ๒๔๕๐ สาระสำคัญมีว่า... “โพธิสัตว์มีขุมสมบัติใหญ่อันเนื่องมาจากมหาอภิญญาและธรรมกายอันประกอบด้วยสมาธิอันไม่มีประมาณ ผู้ซึ่งได้รับพุทธาภิเษกจากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย...”




๑๔. คัมภีร์มหาวัสตุอวทาน เนื้อหาคัมภีร์ พ.ศ. ๗๐๑-๘๐๐ ตัวจารึกคัมภีร์ พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๔๐ ภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี ปรากฏข้อความว่า “เมื่อได้ยินว่าธรรมกายแห่งบุรุษนั้นบังเกิดขึ้น (เข้าถึงธรรมกาย) สนัทกุมารดำริว่า เราจะขับเพลงสรรเสริญพระตถาคตพระองค์นั้น”


๑๕. คัมภีร์อโศกาวทาน อายุเนื้อหาราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี ปรากฏข้อความว่า “พระอุปคุปต์ได้กล่าวแก่มารว่า ข้าพเจ้าได้เห็นแต่ธรรมกาย แต่ไม่เห็นรูปกาย ขอท่านจงบันดาลให้ข้าพเจ้าได้เห็นรูปกายของพระทศพลด้วย”




๑๖. คัมภีร์อุครปริปฤจฉาสูตร คัมภีร์ใบลาน อายุกลางพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ จารึกเป็นภาษาคานธารี อักษรขโรษฐี พบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ใน DIRI Collection สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) กล่าวถึงศีลขันธ์ การละวางความยึดมั่นถือมั่นในอหังการ มนังการ การละทิ้งความคิดอันสุดโต่งทั้ง ๒ ด้าน การหยั่งจิตสู่ปฏิจจสมุปบาทธรรม มองสิ่งต่าง ๆ ไปตามเหตุปัจจัย


๑๗. พระสูตรไม่ปรากฏชื่อ แต่ลายมือที่จารึกคล้ายกับคัมภีร์อุครปริปฤจฉาสูตร จารึกเป็นภาษาคานธารี อักษรขโรษฐี พบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน เนื้อหาในพระสูตรกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา แต่ยังไม่ทราบชื่อและที่มาว่าอยู่ในคัมภีร์ใด


๑๘. วาสิชฏสูตร เนื้อหาอายุก่อน พ.ศ. ๕๐๐ เป็นคัมภีร์ในเปลือกไม้เบิร์ช พบที่ฮาดดา ประเทศอัฟกานิสถาน จารึกด้วยอักษรขโรษฐี ภาษาคานธารี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาระสำคัญว่า ...“ผู้ที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นได้ ต้อง “ทั้งรู้ทั้งเห็น” ขันธ์ห้า และความเกิดดับของขันธ์ห้าเท่านั้น ถ้าไม่รู้ไม่เห็น ก็จะไม่สามารถขจัดกิเลสอาสวะได้...”




๑๙. สมาธิราชสูตร (๑) เนื้อหาคัมภีร์อยู่ในราวปี พ.ศ. ๖๔๔-๗๔๓ ชิ้นส่วนคัมภีร์พบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ใน SchØyen Collection ประเทศนอร์เวย์ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรกิลกิต-บามิยันพราหมี แบบที่ ๑ ดังข้อความว่า “หลังจากเข้าถึงความว่าง จะเห็นพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นคนละองค์กับที่บริกรรมนิมิต การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เห็นพระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้จิตไม่หวั่นไหว ไม่มีความทุกข์หรือความกลัวแม้ในเวลาจะละสังขาร”


๒๐. สมาธิราชสูตร (๒) เนื้อหาคัมภีร์อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๗๐๑-๑๒๐๐ ศึกษาจากคัมภีร์ พ.ศ. ๒๕๐๔ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี สาระสำคัญมีว่า... “โพธิสัตว์ผู้มุ่งสู่โพธิญาณด้วยกำลังแห่งสมาธิ ต้องไม่ทำความเข้าใจกำลังอันแท้จริงของตถาคตด้วยรูปกาย เพราะกำลังอันแท้จริงของตถาคตอยู่ที่ธรรมกาย มิใช่รูปกาย”




๒๑. คัมภีร์อัสฏสาหัสริกาปรัชญาปารมิตา เนื้อหาคัมภีร์อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๔๔๓-๖๔๓ ตัวคัมภีร์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นคัมภีร์จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี สาระสำคัญมีว่า... “พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมกายคือพุทธะ คือภควันต์ เธอพึงเห็นเราจากการเข้าถึงธรรมกาย...”


๒๒. ปรัตยุตปันนสมาธิสูตร เนื้อหาอายุก่อน พ.ศ. ๕๐๐ พบที่คาห์ดาลิค ในบริเวณ Domoko Oasis ในทะเลทรายทากลามากัน ใกล้โขตาน มณฑลซินเจียงของจีน ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ Hoernle Collection (เลขที่ ๑๔๓, SA.3) ใน British Library ประเทศอังกฤษ จารึกด้วยภาษาสันสกฤตลูกผสม อักษรคุปตะตัวตรง พระสูตรนี้ถือว่าเป็นพระสูตรมหายานที่มีความเก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่ง และเป็นพระสูตรที่เกี่ยวกับการทำสมาธิ ขณะเดียวกันก็พบชิ้นส่วนในคัมภีร์คานธารีด้วย ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. ๔๕๐-๗๐๐ สาระสำคัญของปรัตยุตปันนสมาธิสูตรนี้เป็นการกล่าวถึง การเห็นพระพุทธเจ้าแก้วใสหลังจากการเข้าถึงความว่าง และยังกล่าวว่า “พุทธานุสติเมื่อปฏิบัติด้วยดีแล้ว จะทำให้ได้รับการปกปักรักษา ดึงดูดแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา ขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไป มีญาณทัสนะกว้างไกล รู้แจ้งสัจธรรม เข้าถึงธรรมชาติสูงสุดของสรรพสิ่ง”




ทั้งนี้ บรรดาหลักฐานธรรมกายที่เราได้ศึกษาและรวบรวมไว้ทั้ง ๒ กลุ่มข้างต้นนี้ ก็เป็นการกล่าวอธิบายถึงคุณลักษณะของ “พระธรรมกาย” ที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการสั่งสมบุญสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ หรือบุคคลผู้ปรารถนาพระโพธิญาณในภายหน้าเช่นเดียวกัน หลักฐานหลายชิ้นมีความเกี่ยวพันกับลักษณะของพุทธคุณของพระพุทธเจ้าที่เรารับรู้กันในพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)


เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๗ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book


คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๗ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

    คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๔ (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

    คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
    หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๔) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๔) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:11 Rating: 5

    ไม่มีความคิดเห็น:

    ขับเคลื่อนโดย Blogger.