บวชฟรีแล้วจะได้อะไร !


บวชฟรีแล้วจะได้อะไร ?


มีคนถามเข้ามาเป็นการส่วนตัวว่า วัดพระธรรมกายจัดบวชฟรีทีละมาก ๆ ขนาดนี้ วัดได้ประโยชน์อะไรหรือ ? บวชแค่ ๑๐๐-๒๐๐ รูป ไม่พอหรือ ? แล้วทำไมต้องบวชบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ?


ก่อนตอบคำถาม ขอเท้าความก่อนว่า ในระหว่างวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึง ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ วัดพระธรรมกายจัดโครงการอุปสมบทบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่า..จะมีผู้มาบวช ๒,๕๐๐ รูป แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มีชายไทยจากทั่วประเทศสนใจสมัครและร่วมบวชในโครงการมากถึงกว่า ๓,๐๐๐ คน โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากมาร่วมพิธีขอขมา มอบบาตรและผ้าไตรแด่นาคธรรมทายาทในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และบรรพชาพร้อมกันทั้งหมดที่วัดพระธรรมกายในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยมีพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร เมตตามาเป็นพระอุปัชฌาย์ให้


แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า..เมื่อบรรพชาเสร็จแล้วสามเณรจำนวนมากถึงกว่า ๓,๐๐๐ รูปนี้ ถ้าจะให้บวชพร้อมกันในอุโบสถวัดพระธรรมกายคงต้องใช้เวลานานหลายวันมาก เนื่องจากการบวชพระนั้น บวชได้อย่างมากทีละ ๓ รูป


แต่ช่างเป็นบุญวาสนาของเหล่าสามเณรเสียเหลือเกิน ที่เจ้าอาวาสจำนวนมากถึง ๒๒๒ วัดทั่วประเทศ ท่านเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาโดยการสร้างศาสนทายาท จึงเมตตาให้วัดพระธรรมกายนิมนต์สามเณรเดินทางไปบวชยังวัดของท่าน แล้วจัดให้มีการบวชวัดละประมาณ ๑๕ รูป ทำให้ย่นย่อระยะเวลาในการบวชเหลือแค่ ๓ วัน คือ ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๑๔ ธันวาคม ที่ผ่านมา


การเดินทางไปจัดบวชครั้งนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด เพราะพระและเจ้าหน้าที่วัด รวมถึงสาธุชนต้องไปเตรียมพื้นที่ ต้องช่วยกันทำความสะอาดโบสถ์ ศาลา ห้องน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อใช้ในพิธีบวช เตรียมอาหาร ปานะ น้ำดื่ม ทำการประชาสัมพันธ์ชักชวนญาติโยม และแจ้งข่าวพ่อแม่ผู้ปกครองให้มาร่วมงาน โดยหวังให้ทุกขั้นตอนออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะภาพแห่งความทรงจำที่ดีเช่นนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของธรรมทายาทและพ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่าน และหลังจากบวชเสร็จแล้ว พระภิกษุทุกรูปต้องเดินทางกลับมาเข้าอบรม และจำวัดที่มหารัตนวิหารคด วัดพระธรรมกาย โดยมีพระพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด


หลังจากเท้าความกันอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็จะขอตอบคำถามว่า..วัดพระธรรมกายจัดบวชฟรีทีละมาก ๆ ขนาดนี้ วัดได้ประโยชน์อะไรหรือ ? สิ่งที่วัดได้ก็คือ ได้ทำตามอุดมการณ์ของวัด คือ ฟื้นฟูศีลธรรมโลก เพราะหน้าที่ของพระ นอกจากทำประโยชน์ส่วนตนคือปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นแล้ว หน้าที่ของพระอีกอย่างก็คือ การสอนชาวโลกให้หลุดพ้นตามไปด้วย คล้ายกับคุณหมอในโรงพยาบาล ท่านมีหน้าที่รักษาอาการป่วยทางกาย ส่วนพระก็มีหน้าที่รักษาอาการป่วยทางใจโดยใช้ธรรมโอสถ


นอกจากประเด็นนี้ หลายคนก็ยังไม่เคลียร์ว่า..แล้วทำไมวัดต้องเล่นใหญ่ จัดบวชจำนวนมากขนาดนี้ บวชแค่ ๑๐๐-๒๐๐ รูป ไม่พอหรือ ?


ก็เหมือนคนติดเชื้อโควิด-๑๙ ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วแบบเอกซ์โพเนนเชียล (exponential) ถ้าจะให้มาผลิตหน้ากากอนามัยด้วยอัตราปกติ หรือผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อตามปกติ คงไม่ทันต่อการรองรับการแพร่ระบาดในระดับโลก เฉกเช่นกัน..ในเมื่อทุกวันนี้ กระแสศีลธรรมของโลกเสื่อมลงมากจนยากจะเยียวยาแล้ว มีแต่การฆ่ากัน เบียดเบียนกัน ด่ากันทางโซเชียลมีเดีย ฯลฯ ฉะนั้นจะดีกว่าไหม..ถ้าวัดจะจัดบวชเพื่อให้คนมาสงบจิตสงบใจ มาทำสมาธิฝึกจิตให้มีความสุข แล้วเมื่อสึกออกไปก็จะไปเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นลูกที่ดี เป็นคนในสังคมที่ดีขึ้น มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เบียดเบียนกันน้อยลง ซึ่งการบวชแค่ ๓,๐๐๐ กว่ารูปยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าคิดจะทำให้โลกสงบสุขได้ทันในยุคของเรา


แล้วทำไมต้องบวชบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ? หนึ่งในมหาปูชนียาจารย์ในที่นี้ หมายถึง พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ซึ่งหลวงปู่ท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่มีคุณต่อชาวโลก ฉะนั้นลูกศิษย์ลูกหาท่านจึงจัดโครงการบวชเพื่อบูชาธรรมท่าน แล้วก็อยากประกาศคุณท่านด้วยการจัดธรรมยาตราไปยังสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญในชีวิตของท่าน เพื่อศึกษาประวัติชีวิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยอุดมการณ์ของท่าน ซึ่งมี ๗ แห่ง คือ


๑. สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ - อนุสรณ์สถานมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (โลตัสแลนด์) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

๒. สถานที่ตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต - อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น อ.สามพราน จ.นครปฐม

๓. สถานที่เกิดในเพศสมณะ (บวช) - วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

๔. สถานที่เกิดด้วยกายธรรม (บรรลุธรรม) - วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

๕. สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก - วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งปัจจุบันคณะศิษยานุศิษย์ได้สร้างอนุสรณ์สถานบางปลา บริเวณที่ดินตรงข้ามวัดบางปลา เพื่อประดิษฐานรูปหล่อทองคำหลวงปู่วัดปากน้ำ และใช้สถานที่นี้บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ

๖. สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย - วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

๗. สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย - วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี


สถานที่ทั้ง ๗ แห่งนี้ มีอยู่ ๕ แห่ง คือ ลำดับที่ ๑, ๓, ๔, ๖, ๗ ได้ประดิษฐานรูปหล่อทองคำหลวงปู่วัดปากน้ำแล้ว ยกเว้นที่อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น (ลำดับที่ ๒) และอนุสรณ์สถานบางปลา (ลำดับที่ ๕) จะนำรูปหล่อทองคำหลวงปู่วัดปากน้ำไปประดิษฐานในอนาคต


การประดิษฐานรูปหล่อทองคำหลวงปู่วัดปากน้ำนี้ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์รวมใจของคณะศิษยานุศิษย์ อีกทั้งสาธุชนที่มากราบไหว้รูปหล่อของท่านในภายหลัง ก็จะเกิดความสนใจว่า หลวงปู่วัดปากน้ำมีความสำคัญอย่างไร ท่านเป็นใคร ทำไมคณะศิษยานุศิษย์ถึงได้รวมใจกันหล่อรูปเหมือนของท่านขึ้นมาด้วยทองคำแท้ จากนั้นก็จะอยากศึกษาประวัติ และคำสอนของท่าน แล้วนำมาปฏิบัติตามเพื่อให้ชีวิตพ้นจากความทุกข์


สำหรับปีนี้ เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย จึงขอเลื่อนธรรมยาตราออกไปก่อน


ความรู้สึก

ของนาคธรรมทายาทก่อนวันบวช

▔▔▔▔▔▔▔▔



นาคธรรมทายาทปวิตร ตันสม

วันแรกที่ตัดสินใจเข้ามาบวชอยู่ในช่วงที่ชีวิตกำลังว้าวุ่น คือ ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร จะทำอะไรไปเพื่อใคร ช่วงที่ผมกำลังสับสน หาคำตอบไม่เจอ ผมได้แต่ตอบตัวเองว่า..เราไม่มีใครให้คิดถึง ไม่มีใครให้เป็นห่วง แล้วพอดีช่วงที่กำลังสับสนก็ได้ยินข่าวโครงการบวช ความคิดจึงผุดขึ้นมาเลยว่า “เอาละวะ..ปาดเหงื่อ..แต่จะรอดมั้ยวะ” คือขณะที่ใจยังว้าวุ่นอยู่ ก็ตัดสินใจเข้าโครงการบวช แต่ยังสองจิตสองใจว่า..นี่มันจะใช่หรือเปล่า โครงการนี้จะทำให้เราค้นพบตัวเองได้ไหม ? และพอเข้าโครงการมา ผมก็คิดว่า..ทำไมต้องมาฝึกอะไรกันแบบนี้ด้วยครับ ขนาดกวาดพื้นถูพื้นยังต้องฝึกกันใหม่เลย กว่าจะได้กินข้าวก็ต้องมานั่งสวด จะทำโน้นทำนี้ลำบากไปหมด


แต่พอผมทำ ๆ ไป ก็เริ่มเข้าใจว่า การที่กฎระเบียบเยอะก็เพื่อสร้างคนแหละครับ คือ ทุกคนต้องตื่นนอนเป็นเวลา เก็บข้าวของให้เป็นระเบียบทุกอย่าง ซึ่งวันนี้ก็เป็นวันที่ ๗ แล้ว ผมรู้สึกโอเคนะครับ สุดท้าย..มันทำให้จิตใจเราอยู่กับตัวมากขึ้น มีสติมากขึ้น ควบคุมตัวเองได้มากขึ้น แล้วฟุ้งซ่านน้อยลง บทฝึกอบรมของที่นี่..ทำให้เรามีเวลาทบทวนตัวเองถึงอดีตที่ผ่านมาว่า ทำไมเราถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเราถึงไปทะเลาะกับคนอื่น ทำไมเราถึงต้องการให้คนอื่นมารักเรา ซึ่งการกระทำหลาย ๆ อย่างเราทำแล้วไม่เคยมีความสุขเลย แต่ตอนนี้เริ่มรู้แล้วว่า ถ้าอยากมีความสุขที่แท้จริง เราต้องฝึกใจ


พอฝึก ๆ ไป ผมก็คิดถึงคนทางบ้าน ฮึดสู้ ! บอกตัวเองว่า..ลองอีกสักครั้ง ถ้าเกิดเราดีขึ้น วันหนึ่งเรากลับไปหาเขา เราจะภาคภูมิใจ แล้วทุกคนก็ต้องกลับมาภูมิใจในตัวเราอีกครั้งครับ...


บทฝึกอบรมของที่นี่..ทำให้เรามีเวลาทบทวนตัวเองถึงอดีตที่ผ่านมา




นาคธรรมทายาทมังกร แก้วยะ

ระหว่างอยู่ในโครงการมีบางช่วงที่ผมรู้สึกท้อแท้อยากกลับบ้าน และบางทีก็คิดสู้อยู่ต่อ แต่บางทีก็จะกลับมารู้สึกท้อแท้อยากกลับบ้านอีก แต่ก็มีความคิดบางอย่างที่ฉุดไม่ให้ผมออกไป ซึ่งความคิดนั้น ก็คือ การที่ผมอยากเป็นคนที่ดีกว่าเดิม ซึ่งก็คือการได้เป็นพระที่มีศีล อีกทั้งถ้าเราอยู่ข้างนอกเราจะไม่สามารถฝึกตัวได้เต็มร้อยแบบที่ตั้งใจไว้ และฝึกไม่สำเร็จ และที่สำคัญ...อะไรที่ได้มาไม่ง่าย ผมรู้สึกว่ามีคุณค่านะครับ


ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาจนถึงวันที่จะปลงผมคือพรุ่งนี้แล้ว ผมรู้สึกว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะผ่านอาทิตย์แรกมาได้ ซึ่งผมก็รู้สึกภูมิใจครับ ที่อยู่รอดมาจนถึงตอนนี้...


มีความคิดบางอย่างที่ฉุดไม่ให้ผมออกไป ซึ่งความคิดนั้นก็คือ การที่ผมอยากเป็นคนที่ดีกว่าเดิม




นาคธรรมทายาทนพกร ทองโพธิ์

เมื่อมาอยู่กับคนหมู่มากก็เกร็ง ๆ ครับ แต่ผมก็ประทับใจในคำสอนของพระอาจารย์ในเรื่องการฝึกระเบียบวินัย เช่น ปกติบางคนกินข้าวมูมมาม แต่ในการอบรมครั้งนี้ พระอาจารย์สอนให้กินอย่างไรให้เรียบร้อย ท่านสอนให้จัดจาน เช็ดจานให้สะอาด สอนให้ทำทุกอย่างให้เป็นระเบียบ อีกทั้งยังสอนวิธีแกะผลไม้ก่อนกินว่าแกะอย่างไร ปอกอย่างไร ถึงจะสุภาพ ซึ่งผมก็ไม่เคยทำแบบนี้ การสอนของท่านทำให้เราใจเย็น ให้ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ กิน


นับจากวันที่เข้าโครงการมา เราปล่อยทุกอย่างข้างนอก ไม่ได้คิดถึงเรื่องข้างนอกเลย มันเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง มีแค่ตื่นมากินข้าว แล้วก็นั่งสมาธิฝึกจิต ยิ่งอยู่ยิ่งอยากจะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ และเราก็ตั้งใจ ซึ่งถ้าแม่ได้มาเห็นผมวันบวช ท่านต้องดีใจมาก ๆ เลยครับ


ถ้าแม่ได้มาเห็นผมวันบวช ท่านต้องดีใจมาก ๆ เลยครับ




นาคธรรมทายาทนิชนันท์ จิรพัฒนกุล

การบวชครั้งนี้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับผมอยู่แล้ว คนเราถ้าเป้าหมายชัดเจน ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคอะไร..ก็จะไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา ซึ่งก่อนบวชผมรู้อยู่แล้วครับว่าต้องมีการปรับพื้นฐาน ต้องมีการฝึกตัว และปรับอะไรหลาย ๆ อย่าง คือ เราต้องมีระเบียบมากขึ้น เราต้องมาเข้าแถวกับเพื่อน มากินข้าวให้ตรงเวลา นอนให้ตรงเวลา และต้องตื่นเช้าเพื่อมาทำวัตรเช้าครับ เป็นกิจวัตรที่ค่อนข้าเป๊ะ ๆ ในช่วงแรกอาจจะยากสักนิด แต่พอเวลาผ่านไป ผมรู้สึกว่าทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น และรักกันมากขึ้น ด้วยกฎระเบียบที่วางไว้นี้แหละครับ ที่ทำให้เราเป็นทีมเวิร์กมากขึ้น


การที่คนคนหนึ่งจะมาบวชเป็นพระ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน ถ้าเราจะมาแค่มาห่มผ้าเหลือง ก็ไม่ได้หมายความว่า นิสัยเราจะเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย ฉะนั้น ก่อนบวชจึงจำเป็นต้องมีการฝึกตัวก่อน ฝึกเพื่อจะมาเป็นพระแท้ ฝึกเพื่อจะมาเป็นพระที่ดี ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก...


ฉะนั้นก่อนบวชจึงจำาเป็นต้องมีการฝึกตัวก่อน ฝึกเพื่อจะมาเป็นพระแท้


สรุปโอวาทอันทรงคุณค่า

จากพระมหาโพธิวงศาจารย์

เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร

พระอุปัชฌาย์ในพิธีขอบรรพชา




เธอทั้งหลายจำนวน ๓,๕๐๐ กว่าคน ได้น้อมนำผ้ากาสาวพัสตร์เข้ามาในท่ามกลางสงฆ์นี้ แล้วก็เปล่งวาจาขออุปสมบทขึ้น คือ ขอบวชเป็นสามเณร การบวชของเธอทั้งหลายในครั้งนี้ โดยเจตนารมณ์ก็คือบวชเพื่อบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ คือบูชาพระคุณ บูชาธรรมของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนายินดีเป็นอย่างยิ่ง


เธอทั้งหลายที่เข้ามาบวชนี้อาศัยศรัทธาเป็นเบื้องต้น คือมีความศรัทธาในพระรัตนตรัย ในพระพุทธศาสนา และต้องการที่จะทำให้ความปรารถนาของพ่อแม่สมบูรณ์ บริบูรณ์ แต่เป้าหมายในการบวชที่แท้จริงก็คือ มุ่งตรงต่อพระนิพพาน ดังที่เธอทั้งหลายได้เปล่งวาจาขอบรรพชาว่า สัพพะทุกขะนิสสะระณะนิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ หมายถึง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ซึ่งเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์ การบวชเพื่อพ้นทุกข์นั้นเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบวช ในเมื่อเรามีโอกาสมานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ถือว่าเป็นบุญวาสนาของเรา เพราะการได้มาบวชในพระพุทธศาสนานั้น ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระรัตนตรัย ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า ได้มีโอกาสสวดมนต์ไหว้พระ มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ขอให้เธอทั้งหลายเมื่อบวชแล้วจงตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวให้สมกับเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธชิโนรส ให้สมกับเป็นบุญเขต น่ากราบ น่าไหว้


การที่มีใจที่มั่นคงแน่วแน่ จะทำให้เราประพฤติปฏิบัติโดยไม่ท้อแท้ ไม่ท้อถอย แม้จะยากลำบากอะไรก็จะอดทนอดกลั้น ต่อสู้ได้ เพราะเรามองเห็นประโยชน์ข้างหน้าว่า เมื่อทำไปแล้ว ปฏิบัติแล้ว แม้ยากลำบากอย่างไร ท้ายที่สุดก็จะได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ


ส่วนหลักที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้สำหรับผู้ที่บวชใหม่ก็คือ ใช้อวัยวะในร่างกายของเรา ๕ อย่าง คือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ซึ่งแปลว่า ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง ตามลำดับ ใจของเราถ้าเอามาผูกไว้กับหลักนี้ ก็จะไม่ดิ้นรน ใจจะเชื่อง และเมื่อใจเชื่องก็จะค่อย ๆ สงบลง เพราะฉะนั้นให้เธอกำหนดจดจำเอาไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ เพื่อเป็นบุญเป็นอานิสงส์ของการบวช


บัดนี้ เธอทั้งหลายได้เข้าใจในการบวช ได้ปลูกศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นเบื้องต้น และได้เรียนรู้พระกรรมฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สมควรที่จะได้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์สืบต่อไป... 


ความประทับใจ

ของพระศรีพัชโรดม

เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์

ที่เมตตามาเป็นพระอุปัชฌาย์

ในการบวชพระที่อุโบสถวัดพระธรรมกาย





กราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อในการให้มาทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ในโครงการอุปสมบทหมู่บูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์


การอุปสมบทถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่แล้ว แล้วยิ่งอยู่ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-๑๙ ก็ยิ่งทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องระมัดระวังมาก แต่สิ่งที่ทำได้ยากเช่นนี้ พวกเราทั้งหลายก็ทำได้สำเร็จแล้ว อาตมาก็ขออนุโมทนากับท่านทั้งหลายผู้มีส่วนในการบรรพชาอุปสมบทในครั้งนี้ด้วย ที่ได้ทำถวายบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ผู้มีความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ซึ่งถือเป็นบุญกุศลใหญ่มาก...


ความประทับใจ

ของพ่อแม่ ผู้ปกครองธรรมทายาท




กัลฯ วัลภา ถมยา ผู้แทนหลวงพ่อธัมมชโย

รู้สึกปลื้มและปีติเป็นอย่างยิ่งค่ะ ถือว่าเป็นบุญใหญ่ที่มางานบวชที่วัดกลางธนรินทร์ ซึ่งเป็นวัดสำคัญ คือเป็นบ้านเกิดของโยมน้า และเป็นบ้านเกิดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ วันนี้ปลื้มปีติทวีคูณมากค่ะ เพราะไม่คิดว่าจะได้มาทำบุญใหญ่คือบวชพระถึง ๑๘ รูป




กัลฯ ผุสดี พลอยจินดา

แม่มีความปลาบปลื้มดีใจที่ลูกชายได้มาบวชในโครงการนี้ และดีใจที่ลูกชายมีจิตสว่าง เลือกหันมาทางธรรมมากกว่าเลือกเรื่องของเพื่อน ๆ อยากให้หลวงพ่อมีโครงการแบบนี้ตลอดไปค่ะ เพราะดีสำหรับสาธุชนที่มีปัจจัยน้อย ไม่มีงบพอจะจัดบวชให้ลูก ซึ่งก็อยากเรียนเชิญลูกชายของพ่อแม่ทุก ๆ คนนะคะ..ว่าอยากให้บวชให้พ่อให้แม่กัน เพราะว่าพ่อแม่ก็หวังอยากให้ลูกได้บวชแล้วเป็นคนดีของสังคม...




กัลฯ สันติ ไทยเจริญ

วันนี้..ปลื้มและดีใจสุด ๆ แล้ว เพราะว่าวันนี้ตรงกับวันเกิดของเราพอดี ดีใจที่เขาบวชให้ในวันเกิด พอวันนี้เห็นเขานิ่งสำรวม จะนั่งจะเดินก็ดูดี ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ เมื่อก่อนเขาไม่สนใจ ไม่เอาอะไรเลย วันนี้ภูมิใจมากครับที่เขาได้บวช...




กัลฯ มนัญญา หวัง

คำแรกที่ลูกชายพูดออกมาว่า..ขอบวช มีความรู้สึกพูดไม่ถูกเลย รู้สึกปลื้มมาก ๆ เลยค่ะ เขาตั้งใจบวช..เราก็อนุโมทนาบุญกับเขาด้วย ตอนที่เขากล่าวคำขอขมา รู้สึกปลื้มมาก ๆ ลึก ๆ ก็ดีใจกับเขา ปรารถนาให้เขาตั้งใจศึกษาธรรมะ และให้เขาประสบความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมค่ะ โดยเฉพาะทางธรรม เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตมากค่ะ




กัลฯ จันทนา กิตติธรกุล

ได้บอกกับลูกว่า..เรามีเวลาไม่มาก เวลาเข้ามาบวช ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรม ให้เชื่อฟังพระอาจารย์ ให้เข้าถึงพระภายในให้ได้ ครั้งนี้..เรามีโอกาสเข้ามาบวชเป็นระยะเวลาแค่สั้น ๆ ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ค่ะ


เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๗ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔








































***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book


คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๗ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

    คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๔ (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

    คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

    บวชฟรีแล้วจะได้อะไร ! บวชฟรีแล้วจะได้อะไร ! Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:16 Rating: 5

    ไม่มีความคิดเห็น:

    ขับเคลื่อนโดย Blogger.