อานิสงส์ทำบุญบำรุงวัด


อานิสงส์การทำบุญบำรุงวัด

การทำบุญปฏิสังขรณ์บำรุงวัด

ทำให้มีพร้อมในทุกสิ่ง

แม้จะต้องไปอยู่ในป่าที่ลำบากกันดารก็ตาม

-----------🙏🙏🙏-----------


เรียบเรียงจาก :

๑. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต พากุลเถรคาถา อรรถกถาพากุลเถรคาถา

๒. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร อรรถกถาพักกุลสูตร

๓. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔ อรรถกถาสูตรที่ ๔

๔. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ ข้อ ๓๘๐-๓๘๗ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร


หากใครได้ศึกษาประวัติพระพากุลเถระ จะพบว่า..นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตั้งให้พระพากุลเถระ..เป็นเลิศทางด้านมีอาพาธน้อยแล้ว ยังพบว่า..ด้วยผลบุญที่ท่านทำมาในอดีตส่งผลให้ท่านรวยมหาศาลและมีพร้อมในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ท่านออกบวชแล้วต้องไปอยู่ในป่า ถือธุดงค์ข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือการอยู่ป่าเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ตลอดชีวิต


ซึ่งถ้าเป็นผู้อื่นจะต้องพบกับความยากลำบากมากในเรื่องภัตตาหาร เรื่องจีวร ทำให้ดำรงอยู่ในสภาพที่กันดารได้ยากยิ่ง แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสร้างไว้ในอดีต แม้จะต้องไปอยู่ในป่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่แทบไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ เลย แต่ท่านกลับมีภัตตาหารที่อุดมสมบูรณ์ขบฉัน มีจีวรอันประณีตใช้สอยอย่างเหลือเฟือ และไม่เคยขาดตกบกพร่องในเรื่องปัจจัย ๔ เลย


รู้ไหม..ท่านทำบุญอะไรมา ???


หลายคนอาจตอบว่า เป็นเพราะท่านได้ถวายยารักษาโรคแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุอาพาธมาหลายชาติ แต่ก็มีน้อยคนนักที่รู้ว่า..ท่านได้ทำบุญที่สำคัญมาก ๆ อีกบุญหนึ่งไว้ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า แล้ว บุญนี้เองก็มีส่วนส่งผลทำให้ท่านร่ำรวยและมีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมในทุกสิ่ง ซึ่งบุญนั้นก็คือ “บุญปฏิสังขรณ์บำรุงวัดตลอดชีวิต”


ในอดีตชาติ พระพากุลเถระเคยสร้างบุญใหญ่ โดยการปฏิสังขรณ์บำรุงวัดในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในยุคของพระกัสสปพุทธเจ้า พระพากุลเถระได้เกิดเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี และแล้ววันหนึ่งท่านพิจารณาดูบ้านที่ตัวเองอาศัยอยู่ ก็รู้สึกว่าเก่า ทรุดโทรม จึงออกเดินทางไปยังชายแดนกับพวกช่างไม้ เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาซ่อมแซมบ้านของตน แต่ระหว่างเดินทางก็ได้พบวัดใหญ่ซึ่งเก่าคร่ำคร่าปรักหักพัง เพราะขาดการบำรุงรักษา ท่านจึงบอกกับพวกช่างไม้ทั้งหมดว่า ขอชะลอการซ่อมแซมบ้านของท่านไว้ก่อน โดยให้เอาวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดมาซ่อมแซมวัดและสร้างโรงอุโบสถ สร้างโรงฉัน โรงไฟ (ที่จงกรม) เรือนไฟ กัปปิยกุฏิ (เรือนพยาบาล) ที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน วัจจกุฏิ (ส้วม) และที่สำคัญ ยังจัดตั้งยาใช้และยาฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ครบถ้วนทุกอย่าง


ด้วยอานิสงส์ผลบุญตรงนี้เอง หลังจากละโลกแล้ว ท่านได้เวียนว่ายอยู่ใน ๒ ภพภูมิ คือ เทวโลกและมนุษย์โลกตลอดระยะเวลาหนึ่งพุทธันดร 


และในชาติสุดท้ายที่ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยบุญนี้มีส่วนส่งผลให้พระพากุลเถระมีภัตตาหารอุดมสมบูรณ์ เลิศรส แม้จะอยู่ในป่าและไม่ได้รับกิจนิมนต์


พระพากุลเถระถือธุดงค์อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในบ้านใครเลยตลอดชีวิต แม้เป็นอย่างนี้ ท่านก็ไม่ลำบากด้วยข้าวปลาอาหารใด ๆ เลย ตรงกันข้าม ด้วยบุญในตัวท่านกลับทำให้ท่านได้ภัตตาหารอันประณีต เลิศรส โดยไม่ต้องเสียเวลารับกิจนิมนต์แล้วดึงเวลาปฏิบัติธรรมของท่านไป เพราะชาวเมืองและคนในตระกูล ๒ นคร ของท่านได้เตรียมอาหารเลิศรสแล้วพากันมาใส่บาตรท่านอย่างเนืองนิตย์ มิได้ขาดเลย จึงส่งผลให้พระพากุลเถระสามารถถือธุดงค์ข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือการอยู่ป่าเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ได้ตลอดชีวิต


และที่สำคัญ บุญปฏิสังขรณ์บำรุงวัดยังมีส่วนส่งผลให้ท่านมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ โดยไม่ขัดสนขาดแคลนเลย คือ เป็นผู้มีจีวรใช้สอยเหลือเฟือ ทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้น พระภิกษุต่างลำบากมากในเรื่องการหาจีวรมาใช้สอย เพราะต้องบังสุกุลผ้ามาช่วยกันตัด เย็บ ย้อม และกว่าจะได้แต่ละผืนต้องเสียเวลาและเสียกำลังคนไปมาก แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสั่งสมมา ทำให้ท่านไม่ต้องเสียเวลาไปหา ไปตัด ไปเย็บ ไปย้อมจีวรใด ๆ เลย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านมีเวลานั่งสมาธิเจริญสมาบัติมากกว่าภิกษุทั่วไป


การที่ท่านมีจีวรใช้อย่างเหลือเฟือ เพราะบุญที่ท่านสั่งสมมา บันดาลให้ท่านไปเกิดในตระกูลเศรษฐีมหาศาล และมีพ่อแม่ที่มียศใหญ่ถึง ๒ ตระกูล ซึ่งต่างมีหน้าที่ทำจีวรส่งไปถวายให้ท่านใช้สอย โดยครึ่งเดือนแรก ตระกูลของท่านที่อยู่เมืองโกสัมพีจะส่งไปถวายผืนหนึ่ง พอเวลาผ่านไปอีกครึ่งเดือน คนในตระกูลที่อยู่เมืองพาราณสีก็จะทำจีวรอีกผืนหนึ่งไปถวาย สลับกันไปถวายทุกครึ่งเดือนไม่ขาดเลย


อีกทั้งจีวรของท่านยังเป็นจีวรที่ประณีต จัดทำด้วยผ้าเนื้อละเอียดชั้นดี ซึ่งเอามาย้อมแล้วใส่ในผอบส่งไปถวาย โดยจะวางไว้ให้ที่ประตูห้องน้ำ ในเวลาที่พระเถระสรงน้ำเสร็จก็จะนุ่งห่มจีวรที่วางไว้ แล้วท่านก็บริจาคจีวรเก่าให้บรรพชิตทั้งหลายไป


คำอธิษฐานจิต

ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทอดผ้าป่าบำรุงวัด เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าเกิดมาสมบูรณ์พร้อมในทุกสิ่งที่เป็นไปเพื่อการสร้างบุญสร้างบารมี ขอให้ข้าพเจ้าไม่อดอยากยากจน ไม่เหนื่อยยากในการทำมาหากิน เพื่อจะได้มีเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างเต็มที่ ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ปลอดกังวลในทุกสิ่ง มีความสุขในการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม


ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดในปฏิรูปเทส ๔ เกิดในดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เกิดในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฐิ แวดล้อมไปด้วยบัณฑิตนักปราชญ์และกัลยาณมิตรเท่านั้น คนภัยคนพาลอย่าได้มากล้ำกราย


ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้รู้เห็นง่าย ปฏิบัติสะดวก บรรลุเร็ว รู้แจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกาย ขอให้เป็นผู้มีดวงปัญญาสว่างไสว มีไหวพริบปฏิภาณว่องไวเป็นเลิศ แตกฉานในอรรถและธรรม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ


ขอให้ได้เพศบริสุทธิ์ ได้บวชในบวรพระพุทธศาสนา ขอให้สามารถตักเตือนสั่งสอนตัวเองได้ ขอให้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง อย่าเจ็บ อย่าป่วย อย่าไข้ มีกำลังกาย กำลังใจในการสร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น


ขอความปรารถนาที่ข้าพเจ้าตั้งใจดีแล้วนี้ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงทุกประการเทอญ


นิพพานะปัจจะโย โหตุ ฯ


เรื่อง : ณัชชี่

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๐ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔







คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDE

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ Photos


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***


คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๐ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

    คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๔ (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

    คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

    อานิสงส์ทำบุญบำรุงวัด อานิสงส์ทำบุญบำรุงวัด Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:18 Rating: 5

    ไม่มีความคิดเห็น:

    ขับเคลื่อนโดย Blogger.