หลวงพ่อตอบปัญหา
ถาม : สมาธิสำคัญต่อชีวิตประจำวันอย่างไร ?
ตอบ : ชีวิตประจำวัน หมายถึง การดำเนินไปของชีวิตที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เกิดขึ้นทุกวันเป็นประจำ อาการตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับร่างกายเป็นประจำทุกวัน ได้แก่ อาการหนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นกายนั้นมีการสึกหรอ เสื่อมไปตลอดเวลา ต้องได้รับธาตุภายนอกเข้าไปทดแทน และธาตุที่เติมเข้าไปนั้นไม่ใช่ธาตุบริสุทธิ์ จึงมีกากของเสียที่ต้องขับถ่ายออก
ในการเสื่อมไปของกายนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือนให้สำรวมกาย สำรวมวาจา ถ้าไม่ระมัดระวังในการกระทำทางกายหรือทางวาจา จะมีผลให้ความเสื่อมในกายเกิดมากกว่าปกติ เป็นผลให้สุขภาพถูกทำลาย อายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น อนึ่ง เมื่อกายนี้จำเป็นต้องได้ธาตุมาเติมอยู่ทุกวัน จึงมีการงานอาชีพเกิดขึ้น เป้าหมายคือเพื่อให้ได้ธาตุ ๔ มาทดแทนของเดิมที่สูญเสียไป ซึ่งต้องมีความสำรวมอาชีพ หมายถึง ระมัดระวังในการทำการงานหรือกรรมใดที่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ ในการหาธาตุ ๔ มาทดแทนที่สูญเสียไปด้วย
เมื่อธรรมเป็นเหตุปรุงแต่งให้เกิดภพมีอยู่ กรรมที่ทำในอาชีพทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลต่างก็มีผลต่อชีวิต วิธีการที่ได้มาซึ่งธาตุ ๔ ที่เติมให้กับร่างกาย ย่อมมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป กรรมที่เกิดด้วยกุศลธรรมจะเป็นเหตุนำไปสู่ความเจริญ เกิดในสุคติภูมิ ส่วนกรรมที่ทำด้วยอกุศลธรรมมีผลเป็นความเสื่อม ก็จะส่งผลให้ไปเกิดในทุคติภูมิ
ในชีวิตประจำวัน กฎแห่งกรรมมีผลกระทำกับเราตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ว่าดีชั่วเป็นอย่างไร ทันทีที่ทำกรรม ผลหรือวิบากกรรมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และมีผลต่อชีวิตของเราในอนาคตทันที การประกอบอาชีพของเราทำให้ต้องทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัย เกิดเป็นบุญเป็นบาปขึ้นมา ผลร้ายที่สำคัญคือทุกข์ที่เกิดขึ้นต่างบีบคั้นชีวิตมนุษย์ให้ประสบกับความยากลำบากนานาประการ บาปที่ให้ผลในทางร้ายนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไข ขจัดปัดเป่า และบีบคั้นให้เราสร้างนิสัยไม่ดี เมื่อนิสัยเสียแล้วก็แก้ยาก ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ทุกคนจึงจำเป็นต้องรีบรู้เรื่องของความดีกับความชั่วว่าคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ตัดสินแยกแยะได้อย่างไร เพื่อเลือกทำแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว
ทุกข์ทั้งหมดนี้ ตัวก่อเหตุคือกิเลส ใจถูกกิเลสซึ่งเป็นธาตุสกปรกแทรกอยู่ตั้งแต่เกิด ทำให้ใจไม่บริสุทธิ์ ใจเป็นส่วนที่ควบคุมกาย ใจที่ไม่บริสุทธิ์ส่งผลให้ธาตุ ๔ ในกายไม่บริสุทธิ์ด้วย เมื่อทุกข์หรือความเดือดร้อนทั้งปวงเกิดมาจากเหตุที่ใจไม่บริสุทธิ์ การแก้ไขมีทางเดียวคือ ต้องทำใจให้บริสุทธิ์ เมื่อขจัดมลทินคือกิเลสอาสวะออกจากใจได้หมดสิ้น ธาตุในตัวจึงจะบริสุทธิ์ เมื่อใจบริสุทธิ์ กายบริสุทธิ์ ทุกข์นั้นก็หมดไป
งานที่แท้จริงของมนุษย์จึงได้แก่การแก้ไขทุกข์เหล่านี้ของตนให้หมดไป ปราบกิเลสในตัวเองให้หมดไป มุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์ใจ บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา เมื่อใดเข้าถึงพระธรรมกาย เห็นใจตัวเอง เห็นกิเลสที่อยู่ในใจ กำจัดกิเลสได้ ภารกิจของตนจึงจะสำเร็จสมบูรณ์ ภารกิจเหล่านี้เป็นเรื่องของทุก ๆ คน ที่ต้องทำด้วยตนเอง โดยอาศัยความรู้ตลอดจนวิธีทำที่ถูกต้องจากธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อร่างกายของเรามีข้อจำกัดว่าต้องเติมธาตุ ๔ เข้าไป เพื่อให้กายนี้สามารถดำรงอยู่ได้ เราจึงต้องทำการงานเลี้ยงชีพ และต้องทำการงานที่เป็นกรรมดี จึงจะเป็นประโยชน์แก่ตนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็เรียกได้ว่าสามารถบริหารเศรษฐกิจควบคู่กับจิตใจได้ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องความดีความชั่ว ซึ่งเป็นหลักอ้างอิงของการกระทำทั้งมวล
การแสวงหาเพื่อให้รู้ดีชั่วนั้นมีหลายระดับ ที่ดีที่สุด คือ ผู้ใดฝึกสมาธิจนกระทั่งใจหยุดใจนิ่ง เข้าถึงพระธรรมกาย แล้วระลึกชาติได้ เห็นนรกสวรรค์ได้ ถึงขั้นนั้นแม้ไม่มีใครมาบอก ก็รู้ได้ว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่วด้วยตัวเอง เมื่อยังไม่สามารถรู้เห็นได้ด้วยตัวเอง แต่เราก็สามารถสัมผัสทุกข์สุขได้ด้วยใจ ดังนั้น ขั้นต้นเราก็สามารถรู้ดีรู้ชั่วได้ โดยฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราใส่ใจเขา ในทุกเรื่องราว สิ่งใดที่เราไม่อยากให้คนอื่นทำกับเรา สิ่งนั้นเราก็อย่าไปทำกับคนอื่น ซึ่งคนที่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องฝึกใจนั่งสมาธิอยู่เป็นประจำ เมื่อใจใสแล้วจึงจะเห็นทุกอย่างถูกต้องไปตามความเป็นจริง และเป็นฐานไปสู่ความสามารถในระดับสูง รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง นอกจากการฝึกสมาธิแล้ว ก็อาศัยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทางปฏิบัติ ด้วยการรักษาศีล ๕ ทำกุศลกรรมบถ ๑๐ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ไปด้วย เมื่อปฏิบัติสม่ำเสมอใจจะใสขึ้นตามลำดับ แล้วเราจะสามารถพัฒนาการทำสมาธิในขั้นสูงกว่านี้ได้
เมื่อชีวิตดำเนินไปและเราทำกรรมอยู่เป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ โดยเฉพาะการทำการงานอาชีพ ซึ่งมีลักษณะเป็นการทำซ้ำ ทำบ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เลือกตัดสินใจทำในสิ่งที่เป็นความดี คือ คุณภาพของใจที่ผ่องใส ดังนั้น งานสำคัญที่ควรทำเป็นประจำทุกวันควบคู่ไปกับการทำการงานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต คือ การนั่งสมาธิเพื่อฝึกใจ ใจที่ฝึกดีแล้วจะเป็นเหตุให้คิดดี พูดดี ทำดี เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าได้ป้องกันตัวเองในเบื้องต้นจากทุกข์ภัยของชีวิต เมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจและฝึกตัวของเราให้ทำได้ดีแล้ว เราก็จะสามารถทำประโยชน์ด้วยการช่วยเหลือแนะนำคนอื่นให้คิดดี พูดดี และทำดี ตามเรามาได้ด้วย
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๐ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๑๗ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๑๘ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๑๙ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๒๐ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๒๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๒๒ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
ไม่มีความคิดเห็น: