ภายในไม่กี่ปีมีตั้ง 5 โรงงาน

คุณวรรณพร - มนู ไตรเนตร

มนุษย์เงินเดือน ควรอ่านเรื่องนี้
คนอยากมีกิจการ ควรอ่านเรื่องนี้
คนมีปัญหาธุรกิจ ควรอ่านเรื่องนี้
อยากเลี้ยงลูกให้ดีและกลายเป็นเศรษฐี ควรอ่านเรื่องนี้
ที่สำคัญ..คนอยากรวย อย่าพลาด ในการอ่านเรื่องนี้ !

ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ มีหลายคนอยากปฏิวัติความจน จึงไปซื้อหนังสือประเภท ‘ตำราสอนให้รวย’ มานั่งอ่านกัน แต่พออ่านจบไปหลายเล่ม ก็ยังรวยได้ไม่สมกับที่คาดหวังไว้...

แต่วันนี้..เราเจอทางเลือกที่ดีกว่า เพราะจะได้คุยกับคนเคยจน ที่ปัจจุบันรวยได้จริง ซึ่งเคล็ดลับความรวยของพวกเขา ต่างจากตำราทุกเล่มในท้องตลาด

และนับจากวินาทีนี้..เราขออาสาเป็นตัวแทนไปถามถึงเคล็ดลับ ว่าอะไรทำให้เขารวย  เผื่อคุณรู้แล้วอาจกลายเป็นเศรษฐีในอนาคตคนหนึ่งก็ได้ !

‘เขา’ และ ‘เธอ’ ผู้นี้ คือ  คุณ มนู – วรรณพร   ไตรเนตร อดีตมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ คู่หนึ่ง ที่ฝ่ายสามีทำงานบริษัท ส่วนภรรยารับราชการครู มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน คือ วรรณนรีและพิมพวรรณ หรือ น้องมิ้มและน้องหม่อน ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจ  หจก.วี.เอ็ม.ที. เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัท วี.เอ็ม.ที.อินดัสทรีจำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มียอดการผลิตที่มาแรง และเป็นที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ !!

“ชีวิตเราเหมือนคนสังคมในเมืองส่วนใหญ่ คือ เป็นลูกจ้างที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แต่ดีหน่อยตรงที่สามีเป็นคนรักความก้าวหน้า พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว ดิ้นรนหาช่องทางลงทุนทำธุรกิจของตัวเองมาโดยตลอด”

ใคร ๆ ก็อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ... แต่จะมีสักกี่คน ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ !

“สามีเริ่มทำธุรกิจ โดยเริ่มจากใช้เวลาหลังเลิกงานไปรับออร์เดอร์ชิ้นส่วนยานยนต์จากบริษัทต่าง ๆ และไปจ้างหลายโรงงานให้ผลิตให้ ทำหน้าที่คล้าย ๆ พ่อค้าคนกลาง แต่พอทำ ๆ ไป มันไม่ง่ายอย่างที่เราคิด เพราะปัญหามาก เนื่องจากของไม่ได้สเปบ้าง สั่งเราผลิตแล้ว อยู่ ๆ ก็ยกเลิกไม่เอาบ้าง โดนโกงบ้าง ทำให้เราขาดทุนมีหนี้สินพะรุงพะรัง และในที่สุดก็ล้มไม่เป็นท่า ซึ่งเราก็ไม่ย่อท้อ พยายามเริ่มต้นใหม่ แต่ไม่ว่าจะเริ่มใหม่สักกี่ครั้ง ผลสุดท้ายก็ล้มเหลวทุกครั้ง ซึ่งเราล้มอย่างนี้มาถึง 2-3 ครั้งแล้ว จนกระทั่งเราไปต่อไม่ได้ เพราะมีหนี้สินเป็นล้าน ๆ อีกทั้งธนาคารก็กำลังจะมายึดบ้าน ช่วงนั้นพวกเราทั้งเครียด ทั้งกลุ้ม จึงตัดสินใจเลิกทำธุรกิจ แล้วขายบ้านทิ้งเพื่อปลดหนี้ ตอนนั้น เราก็คิดว่า ต่อไปจะไม่ทำธุรกิจอีกแล้ว เพราะเข็ดกับปัญหา เข็ดต่อภาวะหนี้สินจำนวนมหาศาล จนเราต้องขายบ้าน และไปเช่าแฟลตอยู่ เหมือนกับมาเริ่มที่ศูนย์ใหม่อีกครั้ง

โชคยังดี ที่ช่วงนั้นสามีได้ย้ายงานใหม่ไปรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยกินเงินเดือนที่เยอะขึ้น เราจึงลาออกจากการเป็นข้าราชการครู มาเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน หันมาศึกษาธรรมะ  เพราะได้เริ่มเข้าวัดพระธรรมกาย…

แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกกับเราอีกครั้ง เพราะอยู่ ๆ ลูกค้าเก่า ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มาอ้อนวอนขอร้องสามีให้ช่วยผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุกให้เขาอีกครั้ง  เนื่องจากเขาเห็นว่าเราชำนาญด้านนี้ และด้วยความเกรงใจ จึงเป็นเหตุให้เราจำเป็นต้องหวนคืนสู่การทำธุรกิจใหม่อีกรอบ โดยการไปเช่าพื้นที่ในโรงงานอื่นขนาด 50 ตารางวา ผลิตชิ้นส่วนรถให้ลูกค้ารายนี้

ขณะที่เรากลับเข้าสู่การทำธุรกิจ ก็ได้ข่าวการสร้างสภาธรรมกายสากลที่วัดพระธรรมกาย  ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ รองรับคนมานั่งสมาธิจำนวนเรือนแสนคน ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากทำบุญนี้มาก จึงบริจาคทำบุญสร้างเสาค้ำฟ้าไป 1  S ทันที ทั้ง ๆ ที่ช่วงนั้นเราก็เพิ่งเริ่มมีธุรกิจ ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังอะไรมากมาย อีกทั้งไม่รู้ว่า การหันกลับมาทำธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ จะเจ๊งอีกหรือไม่  แต่เราก็คิดว่า ยังไงก็ต้องทำบุญตรงนี้ให้ได้เพราะถ้าเขาสร้างเสร็จแล้ว แม้ในอนาคตเราจะมีเงิน ก็หมดสิทธิ์ได้บุญตรงนี้ ซึ่งพอทำบุญเสร็จมันก็แปลก มีลูกค้ามาจ้างเราผลิตชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนโรงงานที่เขาให้เราเช่าพื้นที่บอกว่า ให้เราหาพื้นที่เปิดโรงงานทำเอง เพราะงานของเราเยอะมาก จนเขารับงานที่ส่งต่อจากเราไปช่วยประกอบไม่ไหวแล้ว และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เราต้องย้ายออกมาเปิดโรงงานแห่งแรกที่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ ในปี 2539

โรงงานแห่งที่ 1

หลังจากที่ได้ทำบุญ S แรก กับวัดพระธรรมกาย งานก็เข้าอย่างล้นทะลัก จนต้องกลับบ้านดึกถึงตี 1 ตี 2 ทุกวัน  จากนั้นสามีก็ต้องลาออกจากงานประจำ มาทำโรงงานเต็มตัว ซึ่งช่วงนั้นรายได้ต่อเดือนขยับจากเดือนละ 3 แสน..เป็น 5 แสน..เป็น 9 แสนบาท จนเราก็รู้สึกเหลือเชื่อ !”

แต่ชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ.. เพราะพวกเขากำลังก้าวสู่วิกฤตชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ โดยไม่รู้ตัว !

“พอลาออกจากงานในปี 2540 ได้ไม่นาน ประเทศเราก็เข้าสู่ภาวะ IMF  ทันที ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล้มระเนระนาด หยุดการก่อสร้างหมด รถบรรทุกที่ใช้ในการขนดินขนหินก็ไม่มีงานทำ ทำให้เราเจอผลกระทบโดยตรง เนื่องจากโรงงานเราผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก ทำให้เราไม่มีออร์เดอร์เข้ามาเลย หรือแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สั่งของกับเรา อยู่ ๆ ก็ยกเลิกไม่เอาของไปเฉย ๆ แถมจะเอาไปขายต่อให้ใครเขาก็ไม่รับ จนต้องเอาไปย่อยเป็นเศษเหล็ก วิกฤตครั้งนี้..ทำให้เราฟุบไม่เป็นท่า ขาดทุนย่อยยับ จนคนงานทยอยลาออก จากเดิมที่มีคนงานถึง 27 คน ก็เหลือเพียง 3 คน

เราทุกข์และเครียด เพราะเป็นการล้มครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวเรา สามีก็ไม่มีงานจะทำแล้ว ส่วนเราก็ลาออกจากครูแล้ว เรียกได้ว่า หมดตัว ติดลบ หมดหนทาง จนเราต้องหอบครอบครัวมาวัด มากราบหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งท่านก็บอกให้ครอบครัวเราอยู่ในบุญ ให้นั่งสมาธิ และให้พรว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป ขอให้โรงงานลูกมีงานทำตลอดไป...

ซึ่งพอกลับไป มันแปลกมาก จากออร์เดอร์ที่ไม่มีเข้ามาเลย ก็เริ่มทยอยเข้ามา จนพอมีเงินเข้ามาบ้าง และพอมีเงินเข้ามา เราก็จะแบ่งเงินนั้นไปทำบุญตลอด เพื่อเติมบุญให้กับตัวเอง เพราะเราคิดว่า การที่ตั้งโรงงานหรือเริ่มธุรกิจมาตั้งหลายครั้งแต่ก็ต้องมีอันเป็นไปทุกครั้ง เพราะบุญเราไม่ถึง ดังนั้นเราต้องทำให้ตัวเองบุญถึง และมากพอที่จะรองรับสมบัติที่ใหญ่กว่าเดิม คือ ได้เป็นเจ้าของโรงงานแบบสบาย ๆ กับเขาสักที  ดังนั้นพอถึงช่วงบุญใหญ่ งานทอดกฐินประจำปีทีไร  แม้เราไม่ค่อยจะมีเงิน ก็ยังคงทุ่มทำบุญอย่างสุดกำลัง ในช่วงปี 2541-2543 ทั้ง ๆ ที่เรามีหนี้ท่วมหัวแท้ ๆ แต่เราก็ตัดสินใจทำบุญกันมากถึงระดับ S มาตลอด ซึ่งพอทำเสร็จ เราก็ฟื้นตัวแบบเป็นขั้นบันได

หลังจากนั้นเพียง 3 ปี พอถึงปี 2544 เราสามารถปลดหนี้ได้เกือบหมด และเป็นปีที่เราคิดว่า ถึงเวลาแล้ว..ที่เราจะต้องเป็นประธานกองกฐิน 1 M สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเราเชื่อว่า..บุญจากการเป็นประธานกองกฐิน เป็นบุญที่มากในระดับที่สามารถจะรองรับสภาวะผู้นำได้ คือ ถ้าเราคิดจะเป็นเจ้าของโรงงาน เจ้าของกิจการ หรือเป็นประธานบริษัท เราต้องมีบุญในระดับประธาน ซึ่งบุญนั้น ก็คือ การเป็นประธานกองกฐิน และที่สำคัญเราอยากจะทำบุญนี้บูชาธรรมหลวงปู่วัดปากน้ำ เพื่อเป็นการตอบแทนท่าน ที่ท่านมาเข้าฝัน แล้วมีเหตุให้เราเข้าวัดมาศึกษาธรรมะ

..แต่การทำบุญ M ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้เราจะปลดหนี้แล้ว แต่เป็นช่วงที่เราฟื้นตัว  คือ ไม่มีเงินนอนนิ่ง ๆ ถึง  1 M มีแต่เงินหมุนในธุรกิจ ซึ่งวันจันทร์หน้า เราต้องเอาเงินหมุนก้อนนี้ไปจ่ายลูกค้า !!!

เราจึงคิดว่าเป็นไงเป็นกัน จะเอาเงินก้อนนี้แหละชิงทำบุญก่อน เพราะกลัวว่าเกิดธุรกิจเราล้มขึ้นมาอีก เราจะไม่มีเงินทำบุญจะหมดโอกาสเป็นประธานกองกันชาตินี้  เพราะชีวิตเราเจอภาวะธุรกิจล้มมาหลายครั้งแล้ว และเราก็คิดต่ออีกว่า แม้ทำบุญครั้งนี้..เราจะหมดตัว ก็รับได้ แล้วก็จะไม่เสียใจ ไม่เสียดายด้วย  เพราะเป็นการตัดสินใจของเราเอง  เพราะสถานภาพของเราตอนนี้ หากบุญไม่ถึงก็ไปต่อไม่ได้ แล้วเราก็จะหวนกลับเข้าสู่ภาวะอับจนอีก

และในที่สุด..เราก็ตัดสินใจเอาเงิน M แรกของชีวิตถวายเป็นประธานกองกฐิน เราปลื้มจนน้ำตาไหล แม้ทุกวันนี้ ย้อนนึกถึงแล้ว น้ำตาก็ยังไหลเพราะความปลื้ม เพราะน้อยคนนักที่จะกล้าตัดสินใจอย่างเรา”

แต่ก็มีเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น!!!

“หลังจากเราทำบุญไปแล้ว ธนาคารที่เรายื่นเรื่องทำโอดีไว้ยังไม่อนุมัติวงเงิน แต่เราก็โชคดีที่ได้เงินกู้จากแหล่งใหม่ที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แถมยอมปล่อยเงินมาให้เราก่อนกำหนด จึงทำให้เราสามารถจ่ายเงินลูกค้าในวันจันทร์ได้ทันเวลาอย่างเฉียดฉิว

และนับจากวันนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นในธุรกิจ คือ สามีไปเจออดีตเจ้านายเก่าในงานศพเพื่อน ซึ่งพอคุยกันไปคุยกันมา เจ้านายเก่าเขาก็คิดจะช่วยเหลือเรา จึงสั่งให้ผู้จัดการทุกโรงงานที่เขามีคอนเน็กชั่นอยู่ ปล่อยงานทำชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ให้เราหมด ซึ่งเรางงมาก เพราะนับจากวันนั้น ออร์เดอร์เข้าอย่างกับพายุ มียอดการสั่งพุ่งไปถึง 27 ล้านบาทต่อเดือน จนต้องทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ทำให้รายได้เราถีบตัวสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว และหลังจากทำบุญกฐิน M แรกเพียงไม่กี่เดือน เนื่องจากเรามีออร์เดอร์เข้ามามากอย่างต่อเนื่องจึงสามารถทำบุญต่อเป็น M ที่ 2 ในงานสลายร่างคุณยายทันที

และนับจากนั้น... ชีวิตเราก็พลิกฟื้นได้แบบมั่นคง เพราะงานเข้ามามากจนเราก็ไม่อยากจะเชื่อ จนมีกำไรทยอยคืนหนี้โอดีแบงก์ได้เร็วมาก ซึ่งถ้านับเวลาหลังจากทำบุญกฐิน M แรก ผ่านไปเพียง 2 ปีเท่านั้น  เราก็ขยายโรงงานเพิ่มขึ้นเป็นโรงที่ 2 ในปี 2546 มีคนงานเพิ่มเป็น 40 คน มีเงินซื้อบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่และสวยกว่าเดิม มีเงินไปซื้อที่ดินสะสมเอาไว้มากมาย   สามารถทำบุญอื่นๆได้อีก อีกทั้งยังมีเงินทำบุญเป็นประธานกองกฐินในระดับ  M ได้ทุกปีอย่างต่อเนื่อง...

บ้านที่ซื้อหลังจากที่เจออานุภาพบุญ

โรงงานแห่งที่ 2

โรงงานแห่งที่ 3 และ 4 

ตอนนี้..เราเริ่มเป็นเศรษฐี มีความมั่นคงทางอาชีพและการเงินมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว จนกระทั่งถึงงานกฐินปี 2550 เรามีเงินทำบุญทอดกฐินมากถึง 10 M และพอหลังจากทำบุญไปนี่เอง กำไรเราก็เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 4-5 ล้านบาท   ทั้ง ๆ ที่จากเดิมเราคือมนุษย์เงินเดือนธรรมดาเท่านั้น


ส่งมอบธุรกิจให้รุ่นลูก ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำปี 2550  !!

“หลังจากที่มิ้มเรียนจบปริญญาโทจากเมืองนอกแล้ว ระหว่างที่รอต่อปริญญาเอก ก็บินกลับมาช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานโรงงานเนื่องจากคุณพ่อป่วยหนัก และคุณแม่ก็ต้องคอยดูแลคุณพ่อตลอดเวลา จึงกลายเป็นว่ามิ้มกับหม่อนต้องมารับช่วงกิจการแทนท่านทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นมิ้มอายุได้แค่ 25 ปีเท่านั้น แม้เป็นเด็กจบใหม่ไฟแรงก็จริง แต่ไม่มีประสบการณ์เพราะมิ้มกับหม่อนไม่ได้เรียนวิศวะฯ แถมเรียนมาทางสายศิลป์ภาษา ไม่มีความรู้เรื่องช่างกันเลย หนำซ้ำยังเป็นเด็กผู้หญิง


ในโรงงานมีแต่ผู้ชาย ที่เป็นทั้งวิศวกร ทั้งช่าง ซึ่งในสายตาของพนักงาน มิ้ม ก็เป็นแค่เด็กผู้หญิงที่ไม่มีประสบการณ์ จะคุมงานอย่างไร?

“ความรู้สึกจากใจจริงของมิ้มที่เข้ามาสานต่องานโรงงานจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งนอกจากเป็นการตอบแทนบุญคุณท่านทั้งสองแล้ว ยังเกิดจากความรู้สึกที่มิ้มอยากตอบแทนพนักงานทุกคนในโรงงานแห่งนี้ ที่มีส่วนช่วยกันสร้างโรงงานตั้งแต่สมัยคุณพ่อคุณแม่ จนท่านสามารถให้โอกาสมิ้มได้เรียนสูง ๆ จบอักษรจุฬาฯ จบเมืองนอก ซึ่งมิ้มถือว่า ทุกคนมีส่วนทำให้มิ้มได้โอกาสที่ดีที่สุดตรงนี้ และการที่มิ้มกลับมาวันนี้ มิ้มอยากจะกลับมาดูแลพี่ ๆ พนักงานทุกคน เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขขึ้น

แต่การที่มิ้มจะทำตรงนี้ได้นั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากมิ้มไม่ได้เอาสิ่งที่เรียนรู้จากวัดพระธรรมกายมาใช้ เพราะตั้งแต่เด็ก มิ้มได้รับการหล่อหลอมจากวัด ถูกฝึกฝนเรียนรู้จากกิจกรรมของวัด   เช่น การให้กำลังใจ ภาวการณ์เป็นผู้นำ การรวมใจ การสร้างความสามัคคี เพราะวัดพระธรรมกายเป็นองค์กรใหญ่ มีระบบการบริหารที่ดี เนื่องจากวัดต้องบริหารเจ้าหน้าที่ในองค์กรเป็นพัน ๆ คน อีกทั้งมิ้มยังถูกส่งไปต่างประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนของวัดในการทำกิจกรรมทางด้านศาสนา ซึ่งตรงจุดนี้เอง ทำให้มิ้มมีประสบการณ์ที่เอามาใช้ในการบริหารโรงงานได้อย่างดีเยี่ยม

อีกทั้งการที่มิ้มฝึกสมาธิมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้มิ้มเรียนรู้งานจากคุณพ่อได้เร็วและแอปพลายได้เก่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นงานสายวิศวะแท้ ๆ เพราะขณะคุณพ่อสอนงาน มิ้มมีสมาธิต่อเนื่องไม่วอกแวก จำแม่น จนสามารถดูแบบและแก้ปัญหางานได้ชนิดที่มิ้มเองก็ไม่อยากจะเชื่อ”



มิ้มมีหลักการบริหารโรงงานอย่างไร

“มิ้มดำเนินธุรกิจตามหลักการบริหารที่คุณพ่อแนะนำ แต่มิ้มเพิ่มนโยบายส่วนตัว คือ

ปีใหม่ไม่เลี้ยงเหล้าพนักงาน และไม่ให้ของขวัญที่เป็นเหล้า และไม่รับเหล้ากับใครเลย มิ้มชัดเจนตรงนี้มาก เพราะมิ้มมีความปรารถนาดีกับพนักงานกับลูกค้าของมิ้ม เพราะหากให้เหล้าเขาดื่ม หากเขาเมาแล้วประสบอุบัติเหตุตาย ก็เท่ากับมิ้มหยิบยื่นความหายนะให้กับเขา อีกทั้งพอกลับบ้านไป ก็ไปทะเลาะกับคนที่บ้าน ในเมื่อรู้ทั้งรู้ว่าเหล้าเป็นสิ่งไม่ดี มิ้มจะเอาไปให้ลูกค้าหรือพนักงานทำไม

อย่างหัวหน้างานที่นี่ มิ้มให้นโยบายว่า อย่าดื่มเหล้ากับลูกน้องเด็ดขาด เพราะการเป็นเจ้านาย ถ้าเราไปเมาให้ลูกน้องเห็นในวงเหล้า แล้วเผลอพูดจาเลอะ ๆ เทอะ ๆ เวลาสั่งงานเขา เขาจะไม่เชื่อเรา และจะเสียการปกครองในภายหลัง เพราะลูกน้องจะรู้สึกว่า หัวหน้าคนนี้ก็ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน ก็เป็นแค่ไอ้ขี้เหล้าวงเดียวกัน ดังนั้นเขาจะไม่เกรงใจเรา

นอกจากนี้ มิ้มยังส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เปิดโอกาสให้โรงงานของเราเข้าร่วมสอบทางก้าวหน้า (World-PEC) ไปร่วมงานตักบาตรพระตามจังหวัดต่าง ๆ นิมนต์พระอาจารย์มาอบรมสมาธิ อีกทั้งพอถึงช่วงงานสันทนาการประจำปี ต้องจัดกิจกรรมหล่อหลอมให้กับพนักงาน เพื่อให้เขาสามัคคีกัน และเพื่อเป็นการพัฒนาให้เขาเกิดจิตสำนึกรักโรงงาน โดยให้เขาช่วยกันพัฒนาโรงงาน เช่น ช่วยกันทาสี ช่วยกันทำความสะอาดโรงงาน จนเขาเกิดความรู้สึกว่า โรงงานเป็นของเรา เราต้องช่วยกัน  เพราะถ้าเราจับมือกันทำให้โรงงานดี เราก็จะดีไปพร้อม ๆ กันทุกคน สิ่งเหล่านี้มิ้มได้วัดพระธรรมกายเป็นต้นแบบค่ะ

การรับช่วงโรงงานต่อจากคุณพ่อคุณแม่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีผลกระทบอะไรไหม ?

“ไม่กระทบเลย แถมกำไรเพิ่มมากกว่าเดิม เพราะมิ้มใช้หลักเดียวกับที่คุณพ่อคุณแม่ทำมาโดยตลอด คือ ไม่ทิ้งบุญเลย และทำบุญทุกบุญเต็มที่ในระดับ  M และทำบุญทอดกฐินแบบสุดกำลังมาโดยตลอด จนอยู่ ๆ แม้ภาวะเศรษฐกิจตก  ในต้นปี 2553 บุญก็ส่งผลแบบพรวดพราด คือ งานเข้ามามากจนมิ้มถูกบีบให้ขยายโรงงานเป็นโรงที่ 3 อีก 1 โรง และตอนปลายปี ก็ขยายโรงงานโรงที่ 4  ได้อีก 1 โรง และสามารถซื้อโรงงานโรงที่ 5 เอาให้เขาเช่าได้อีก 1 โรง  ซึ่งรวมแล้วตอนนี้มีคนงานมากถึงเกือบ 100 คน

จนกระทั่งถึงงานบุญทอดกฐินปี 53 ซึ่งเป็นปีที่เราไม่มีเงินนอนนิ่ง ๆ อะไรมากมาย เพราะอยู่ในช่วงขยายโรงงานถึง 2โรง ต้องสั่งเครื่องจักรเข้ามาเยอะ แต่เราก็ทำกันอย่างสุดกำลังที่ 11 M และพอทำบุญเสร็จ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งขยายโรงงานแท้ ๆ แต่โรงงานของเราก็ทุบสถิติกลายเป็นโรงงานที่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) มากที่สุดโรงงานหนึ่งในละแวกนั้นเลย  เพราะงานเข้าเยอะจนทำไม่ทัน จนทุกวันนี้ต้องไปจ้างโรงงานอื่นให้ช่วย”


ความรู้สึกของพ่อแม่ น้องมิ้ม น้องหม่อน

“ทุกวันนี้ ครอบครัวเรามีความสุขมาก พอย้อนนึกถึงเมื่อก่อนที่เรายังจนเพราะเราไม่มีสมบัติ ไม่มีมรดก ไม่มีกิจการจากพ่อแม่ เป็นเพียงลูกจ้างกินเงินเดือน แม้อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่เมื่อเราบุญไม่ถึง กิจการจึงล้มแล้วล้มอีก แต่ปัจจุบันเรามีมากกว่าที่เราคาดหวัง คือ มีถึง 5 โรงงาน นึกแล้วยังปลื้ม รู้สึกคิดไม่ผิดที่เราตัดสินใจเป็นประธานกฐิน M แรก เพราะนับจากนั้นชีวิตก็พลิกมาโดยตลอด จนเราเองก็ไม่อยากเชื่อ”

วรรณนรี - พิมพวรรณ ไตรเนตร

ความรู้สึกของลูก ๆ

“มิ้มกับหม่อนไม่ใช่คนเก่ง แถมเป็นเพียงเด็กผู้หญิงที่ไม่มีประสบการณ์อะไรมาจากไหน จึงเชื่อมั่นว่า บุญมีจริงและบุญเท่านั้นที่ทำให้มิ้มมายืนอยู่ตรงนี้ได้ เพราะบุญ คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุขความสำเร็จในชีวิตมนุษย์

มีแต่คนแปลกใจที่เห็นมิ้มมาทำงานโรงงานได้ดีถึงขนาดนี้ ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นเพราะครอบครัวเรามาวัดและทำบุญอย่างสุดกำลัง มิ้มก็คงจะเป็นเหมือนนักศึกษาจบใหม่หลาย ๆ คน ที่ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ อาจจะตกงานหรือได้งานที่เลือกไม่ได้ ได้เงินเดือนแค่หลักหมื่น แต่เพราะบุญแท้ ๆ ทำให้แม้ไม่มีประสบการณ์การทำงาน ไม่มีความรู้โดยตรง ก็สามารถสืบทอดกิจการโรงงานและบริหารงานได้เดือนละหลายล้านบาท อีกทั้งยังขยายโรงงานได้เพิ่มอีก 3 โรงงานภายในปีเดียว ในเจนเนอเรชั่นเน็กซต์อย่างมิ้มและหม่อน หากไม่เรียกว่าบุญ แล้วจะให้เรียกว่าอะไร

ณ วันนี้ มิ้มกับหม่อนภูมิใจที่สุด ที่ได้เกิดมาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ เพราะถ้ามิ้มไปเกิดเป็นลูกคนรวยคนอื่นที่ไม่เข้าวัด มิ้มก็อาจจะรวย แต่ไม่เข้าใจวิถีการดำเนินชีวิต อาจใช้เงินลงทุนในธุรกิจอบายมุขหรืออาจจะรักษาสมบัติที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ไม่ได้ อีกทั้งยังไม่ได้ฝึกฝนตัวเอง จนมีความสามารถมารองรับงานได้ดีถึงขนาดนี้  เพราะตลอดเวลามิ้มรู้ตัวดีว่า มิ้มไม่ได้เป็นคนเก่งที่สุด ไม่ได้ฉลาดที่สุด แต่มิ้มได้โอกาสในการออกแบบชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งหมดนี้ได้มาเพราะการที่คุณพ่อคุณแม่พาไปวัดตั้งแต่เล็ก สอนมิ้มเรื่องการทำบุญ ให้มิ้มฝึกสมาธิ และทำกิจกรรมเยาวชนกับทางวัด อีกทั้งยังปลูกฝังลูก ๆ ว่า เราต้องสั่งสมบุญทุกบุญอย่างเต็มที่โดยเฉพาะทุกปีเราต้องเป็นประธานกองทอดกฐิน เพราะบุญนี้เป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก ที่ทำให้เรามีวันนี้


ดังนั้น มิ้มกับหม่อนจึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมเป็นประธานทอดกฐินกันเถอะค่ะ เพราะ ครอบครัวเราพิสูจน์แล้วว่า เป็นบุญที่พลิกชีวิตและพลิกวิกฤตได้จริงๆ”...  


ภาพ :  วีชิน  ปรีดาเกษมศักดิ์ / ประยงค์  เปรียบยอดยิ่ง
Cr. ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ














ภายในไม่กี่ปีมีตั้ง 5 โรงงาน ภายในไม่กี่ปีมีตั้ง 5 โรงงาน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:16 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.