สว่าง ณ กลางใจ
ข้าพเจ้ามองดูพระภิกษุรูปนี้ไม่มีลักษณะคนทางภาคนั้น
แววตาของท่านแสดงความปีติยินดีอย่างเห็นได้ชัด ใบหน้ายิ้มละไมเหมือนได้พบผู้เป็นที่รักใคร่นับถือที่อยากพบ
อิริยาบถสำรวมเหลือเกิน ใจของข้าพเจ้าติดสินได้ทันทีว่า “นี่ไม่ใช่พระเก๊” จึงนิมนต์ท่านเข้ามานั่งในห้องรับแขก
แล้วก้มลงกราบที่พื้นตามนิสัยของข้าพเจ้าที่ชอบแสดงความยินดีกับผู้ซึ่งนับเป็นอุดมเพศ
เป็นเพศสูง คือ เพศชายซึ่งมีสิทธิ์บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ในยุคนี้
ส่วนเพศหญิงหมดสิทธิ์จากการบวชเป็นพระภิกษุณีเสียแล้ว เพราะมีธรรมวินัยว่าการบวชพระภิกษุณีต้องบวชโดยมีพระภิกษุทั้งสองฝ่าย
คือ พระภิกษุและพระภิกษุณีเป็นพยานที่เรียกว่าเป็นพระนั่งอันดับดังที่เรารู้จักกัน
เมื่อในสมัยนี้ไม่มีพระภิกษุณีเหลืออยู่ ทำให้การบวชพระภิกษุณีพลอยทำไม่ได้ไปด้วย
เพศหญิงอาภัพขนาดนี้ ดังนั้นพอเห็นพระภิกษุที่ใด
ข้าพเจ้าจะกราบไหว้ชื่นชมยินดีกับท่านในฐานะที่ท่านมีมหาโชคมหาลาภ
ได้อานิสงส์บวชถึง ๖๔ กัป โดยที่ผู้หญิงอย่างเราหมดสิทธิ์
“อาตมาดีใจมากที่สุดที่ตามหาบ้านโยมอาจารย์จนพบ”
พระภิกษุรูปนั้นกล่าวขึ้น
และท่านคงเห็นท่าทางของข้าพเจ้าแสดงอาการงุนงงสงสัย พูดอะไรไม่ถูก
ทำหน้าตาพิกลอยู่ ท่านจึงยิ้มเล็กน้อยแล้วกล่าวว่า
“โยมอาจารย์จำอาตมาไม่ได้มั่งเนี้ย
อาตมาคือ เด็กชายจ๋องกรอด ของโยมไงล่ะ อาตมาบวชเป็นพระแล้ว
คนที่อาตมาคิดถึงมากที่สุด หลังจากบวชแล้วคือโยมอาจารย์ เพราะโยมทีเดียว
อาตมาจึงมีโอกาสมีชีวิตสร้างบุญกุศลยังงี้”
คำว่า
“จ๋องกรอด” เตือนความจำทั้งมวลของข้าพเจ้าในชีวิตนี้
ข้าพเจ้าตั้งชื่อเด็กไว้คนหนึ่งเพียงคนเดียวเท่านั้น ว่าชื่อจ๋องกรอด
แล้วก็มีคนเรียกตามข้าพเจ้าอีก ๒-๓ พันคน แม้แต่แม่ของเด็กเองก็เลิกเรียกชื่อเก่าของลูก
มาเรียก จ๋องกรอด ตามชื่อที่ข้าพเจ้าตั้ง
เวลานี้จำไม่ได้เสียแล้วว่าชื่อเล่นที่แม่ของเด็กตั้งไว้เดิมนั้นชื่ออะไร
แต่ชื่อจริงดูเหมือนจะชื่อ “สันติ” ซึ่งเป็นชื่อที่ข้าพเจ้าพอใจด้วยจึงไม่คิดเปลี่ยนชื่อจริงของเขาอีก
ประวัติของ
“จ๋องกรอด” ในเวลาที่ข้าพเจ้ารู้จักมีดังนี้
ปีนั้นเป็นปี พ.ศ.๒๕๑๐ ข้าพเจ้ายังมีอาชีพรับราชการ
ได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนใกล้ๆ ทางท่าเรือคลองเตย ในสมัยนั้นถือกันว่าบริเวณย่านนั้นเป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ในฐานะที่เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนสร้างใหม่แห่งนั้น
ข้าพเจ้าจึงมักไปถึงที่ทำงานแต่เช้าก่อนใครๆ
วันนั้น
ข้าพเจ้าไปแต่เช้าเช่นปรกติ พอก้าวเท้าเข้าประตูโรงเรียน สายตามองไปที่ถังขยะก่อนสิ่งอื่น
เพราะแทบทุกเช้าสุนัขชอบรื้นค้นถังขยะหกเลอะเทอะ
และข้าพเจ้าจะต้องเรียกภารโรงมาจัดการเก็บให้เรียบร้อยก่อนเด็กนักเรียนจะมาถึง
ครั้งนี้ถังขยะไม่หกคะเมนเหมือนวันอื่น ข้าพเจ้ามองดูข้างๆ ถังแล้วคิดว่า
เป็นสุนัขตัวหนึ่งนอนขดตัวหลับเงียบอยู่จึงคิดว่า
...อ้อ
วันนี้ยังไม่คุ้ยนะ หลับเงียบเชียว ยังเช้าอยู่รึไง คิดแล้วก็เหลียวหาไม้เล็กๆ
ได้อันหนึ่ง ไม่ใช่คิดจะไปตี แต่จะเอาไปเคาะที่พื้นขู่ให้สุนัขหนีไป
พอเดินเข้าไปใกล้อีกหน่อยก็ต้องนึกต่อไปอีกตามสายตาที่มองเห็น
...โธ่ถังเอ๊ย
เป็นหมากลางถนน ไม่มีคนเลี้ยง อดอยากจะแย่แล้วยังไม่พอ
นี่ยังเป็นขี้เรือนหนังกลับเสียทั้งตัวทีเดียวรึนี่ ดูสิตัวไม่มีขนเลย
มีแต่แผลน้ำเลือดน้ำเหลืองเยิ้ม คงจะเกาจนหนังถลอกปอกเปิกหมด...
ข้าพเจ้าเกิดความสงสารขึ้นมา
คิดอยากจะให้คนงานเก็บอาหารที่เหลือจากโรงครัวของโรงเรียน มาเลี้ยงพวกสุนัขจรจัดหรือแมวพเนจรบ้าง
แต่พอนึกถึงเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าก็ต้องเลิกล้มความคิดเพราะนักเรียนของเรามีเป็นพันๆ
คน หากมีหมาบ้าแมวบ้า เด็กๆ จะได้รับอันตราย อีกประการหนึ่งยิ่งเลี้ยงไว้
ผู้คนชาวบ้านรู้เข้าจะยิ่งเอามาปล่อย เดี๋ยวก็ออกแม่แผ่ลูกกันเต็มโรงเรียน
จะเอาอาหารที่ไหนมาเลี้ยงไหว
เมื่อตัดสินใจจะเอาไม้ไปเคาะที่พื้นไล่ให้หนีไป
จึงเดินเข้าไปใกล้แล้วก็ต้องตกใจ ภาพที่เห็นนั้นไม่ใช่สุนัข แต่เป็นเด็กชายคนหนึ่ง
ไม่สวมใส่เสื้อผ้า ผอมหัวโต อายุประมาณ ๖-๗ ขวบ ตามตัวเต็มไปด้วยแผลด้วยฝี
เลือดและน้ำหนองน้ำเหลืองเกรอะกรัง ตั้งแต่หัวถึงเท้า
โดยเฉพาะที่หัวแผลเป็นเต็มไปหมด เส้นผมที่มีอยู่เล็กน้อยก็ติดแน่นกับหนังศีรษะ
ด้วยน้ำเหลืองที่แห้งกรังนั้น
เด็กนอนขดอยู่ด้วยความหนาวเย็นของอากาศตอนเช้าฤดูฝนจึงมองเป็นก้อนกลมๆ
คล้ายสุนัขนอนขด ข้าพเจ้าจับตัวเขย่าเรียกให้ลุกขึ้น แกแสดงอาการตื่นตกใจเตรียมจะวิ่งหนี
แต่เมื่อได้ยินเสียงพูดอ่อนโยนจากใจจริง จึงยืนชะงักอยู่
“ทำไมหนูมานอนอยู่นี่ล่ะจ๊ะ นี่ไม่ใส่เสื้อผ้าเลย ไม่หนาวหรือ”
เมื่อพูดคุยปลอบโยนจนเด็กหายกลัวแล้ว
เด็กจึงบอกข้าพเจ้าว่า มาคอยอยู่ที่ถังขยะ เพราะอีกสักครู่นักเรียนจะพากันมาโรงเรียน
เด็กบางคนมีของกินติดมือมากินตอนเช้า เศษที่เขาทิ้งที่ติดใบตองหรือถุงพลาสติกนั่น
แกจะได้เก็บกิน
ข้าพเจ้าพูดไม่ออก
หลังจากพาไปกินข้าวที่โรงครัวของโรงเรียนจนอิ่มแล้ว ข้าพเจ้าก็ขอเสื้อผ้าชุดที่เก่าที่สุดของลูกคนงาน
๑ ชุด โดยสัญญาว่าวันรุ่งขึ้นจะซื้อไปใช้คืนให้ พอสายหน่อยจึงจับเด็กอาบน้ำฟอกสบู่ด้วนตนเอง
ไม่กล้าใช้ผู้อื่นเพราะเนื้อตัวเด็กน่าเกลียดและสกปรกมาก เสร็จแล้วจึงใช้ยาเหลืองทาตามแผลให้จนทั่วตัว
สั่งว่า
“หนูต้องมาหาครูทุกวันนะ ครูจะใส่ยาให้ ตอนมาให้เอาหม้อมาใส่ข้าวด้วย
ครูจะให้ข้าวหนูไปกินที่บ้าน”
วันรุ่งขึ้นเด็กมาหาข้าพเจ้าตามที่สั่ง
ครั้งนี้พาพี่สาวมาด้วยอีกคนหนึ่ง อายุแก่กว่าประมาณ ๓ ปี นุ่งผ้าถุงตัวเล็กสั้นๆ
เก่าจนมองไม่รู้ว่าเป็นสีอะไร ผมเผ้ารุงรังเต็มไปด้วยเหา ไม่ใส่เสื้อ
ที่น่าสังเวชเป็นที่สุดอีกอย่างคือ มีตาเพียงข้างเดียว บอดเสียข้างหนึ่ง
รูปร่างผอมโซเหมือนน้อง
คราวนี้ข้าพเจ้าเหลืออดเหลือทนจริงๆ
หลังจากให้อาหารที่เหลือใส่หม้อไปแล้ว ก็ขอตามไปดูถึงบ้านเด็ก
ครั้นเห็นที่อยู่ถึงกับพูดไม่ถูก เพราะเรียกว่าบ้านไม่ได้
พื้นที่นั่งทำด้วยเศษไม้ที่แม่ของเด็กขโมยไปจากงานก่อสร้างของโรงเรียนนั้นเอง
รวมทั้งสังกะสี ๕-๖ แผ่น บนหลังคา ไม่มีฝาบ้าน
ด้วยเหตุที่ปลูกอยู่ในน้ำครำตรงซอกบ้านคนอื่น
จึงอาศัยฝาบ้านของผู้อื่นช่วยบังบ้านของตน มีหม้อข้าวเพียงใบเดียว เตาถ่านพังๆ
หนึ่งเตา บ้านนี้ไม่มีมุ้ง เด็กทั้งคู่อยู่กับมารดา บิดาทิ้งไปตั้งแต่เด็กคนเล็กยังอยู่ในท้องแม่
อาชีพที่แม่ทำเลี้ยงลูกคือช้อนลูกน้ำ ในน้ำเน่ารอบๆ บ้าน
และบริเวณใกล้เคียงย่านนั้น เพื่อนำไปขายที่ร้านขายปลาเงินปลาทองที่ตลาด
สมัยนั้นราคากระป๋องนมละ ๓-๔ บาท เป็นตัวลูกน้ำแท้ๆ ต้องกรอง ไม่ให้มีน้ำติด
ฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะหาได้อย่างมากประมาณ ๒-๓ กระป๋องนม
จึงไม่สามารถหาเงินซื้อมุ้งมาใช้กางนอน
ต้องแบ่งรายได้ประจำวันซื้อยาจุดกันยุงวันละ ๑ บาท จุดตั้งแต่เข้านอน
เมื่อหลับไปแล้วยาจะหมดเมื่อใดก็แล้วไป
ยุงจึงกัดเด็กทุกคืนจนตามตัวเป็นแผลพุพองดังที่เล่าไว้
ข้าพเจ้าจำได้ว่า
ได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวนี้ไปหลายประการ เรื่องของใช้ เรื่องมุ้ง
เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว
ตลอดจนกระทั่งไปขอร้องให้ที่ว่าการอำเภอแจ้งเด็กลงทะเบียนบ้านของโรงเรียน
ตั้งแต่เกิดแม่ไม่เคยแจ้งเกิดตามกฎหมาย เด็กจึงไม่มีสิทธิ์เข้าเรียน
ต่อมา
ข้าพเจ้าเอาเด็กเข้าเรียนและเนื่องจากพบปัญหาเด็กขาดแคลนอีกเป็นจำนวนมากรายด้วยกัน
จึงได้ริเริ่มหาทุนช่วยนักเรียนตั้งแต่นั้นมา
เด็กที่ข้าพเจ้าเห็นครั้งแรกนึกว่าเป็นสุนัขขี้เรือนคนนี้
ข้าพเจ้าเรียกเขาด้วยความเอ็นดูว่า “จ๋องกรอด” เพราะผอมและเดินจ๋องๆ
ทำตาเซื่องๆ ซื่อๆ น่าสงสาร เมื่อมีชีวิตสบายขึ้น
มีอาหารเหลือจากโรงอาหารของโรงเรียนกินทุกวัน นอนในมุ้ง มีผู้ทายาแผลพุพองให้จนหาย
เด็กจึงมีรูปร่างสมบรูณ์ผิวพรรณผ่องใสขึ้น ข้าพเจ้าให้มาเข้าเรียน
ทั้งครูและเพื่อนๆ พากันเรียกชื่อเด็กตามข้าพเจ้าไปหมดทุกคน
จ๋องกรอดชอบแอบมามองดูข้าพเจ้าทุกเช้า เมื่อข้าพเจ้าไปถึงโรงเรียนเพียงข้าพเจ้ายิ้มด้วย
เรียกทักชื่อเขา ถามสารทุกข์สุกดิบไม่กี่คำ
เขาก็จะยิ้มแย้มด้วยความสุขใจและกลับไปเล่นกับเพื่อนๆ ต่อ
จนเรียนชั้นสูงขึ้นเป็นผู้ใหญ่เข้า จึงไม่ค่อยมาเฝ้าดูข้าพเจ้าอีก
ในสมัยยังเล็กๆ
นั้น ถ้ามีสิ่งใดขาดเหลือ เขาจะมาพบข้าพเจ้าแต่จะไม่ออกปากขอ
ต้องรอให้ถูกซักก่อนว่ามีสิ่งใดที่ต้องใช้ จึงจะค่อยๆ บอกด้วยความเกรงใจ ต่อมา
ครูประจำชั้นเห็นเด็กเป็นคนขี้เกรงใจให้ซื้อหนังสือหรืออุปกรณ์ใดๆ
ก็ไม่ค่อยทันเวลา ครูจึงเลยเป็นผู้เบิกแทนเสียเอง
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้าจำประวัติของจ๋องกรอดได้แม่นเป็นพิเศษ
เวลานั้นมีพายุไต้ฝุ่นพาฝนตกหนักในกรุงเทพมหานครถึง ๔ วัน ๔ คืน
แม้พายุจะเลิกพัดไปแล้ว ในห้องเรียนของจ๋องกรอด เพื่อนๆ ทุกคนมากันครบ
ขาดไปแต่จ๋องกรอดและพี่สาว ครูประจำชั้นรายงานให้ข้าพเจ้าทราบ
ข้าพเจ้าจึงชวนเขาไปยังที่อยู่ของเด็กด้วยกัน ปรากฏว่าน้ำท่วมเต็มไปหมดเข้าไม่ได้
จ๋องกรอดลุยน้ำออกมาพบพร้อมกับมารดา
อธิบายให้ข้าพเจ้าทราบว่าน้ำท่วมจนหาลูกน้ำไปขายที่ตลาดแทบไม่ได้
จึงต้องให้ลูกทั้งสองคนขาดโรงเรียนช่วยกันหาช้อนลูกน้ำ
แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้เงินพอซื้อข้าวสารกินในแต่ละวัน ข้าพเจ้าพูดกับเขาว่า
“พรุ่งนี้ให้ลูกไปโรงเรียน เรื่องข้าวสารไม่ต้องห่วง
ครูจะฝากให้มากับจ๋องกรอด”
ขณะที่พูด
ข้าพเจ้าก็นึกถึงว่าจะนำข้าวสารจากบ้านตนเอง พร้อมทั้งเครื่องกระป๋อง ไข่ ปลาเค็ม
ที่มีอยู่แบ่งมาให้ก่อน ต่อจากนั้นจึงค่อยให้การช่วยเหลือระยะยาว ครั้งนั้น
ข้าพเจ้าได้ไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ และคนรู้จัก ได้ข้าวสาร ๒-๓ กระสอบ
ของแห้ง ของเค็มตามสมควร ได้อนุเคราะห์เพิ่มอีกหลายครอบครัว
แต่สำหรับจ๋องกรอดที่ต้องจำได้จนเดี๋ยวนี้
เพราะวันที่ข้าพเจ้านำข้าวสารจากที่บ้านประมาณครึ่งถัง ไข่ดิบ ๑๐ ฟอง ของแห้งอีกบางอย่างให้เด็กกับพี่สาวนำกลับบ้าน
ทั้งคู่เกิดหกล้มระหว่างทาง ข้าวสาร ไข่ดิบ และของอื่นๆ
ตกลงในน้ำเน่าสกปรกสูญเสียไปหมดสิ้น วันนั้นครอบครัวเขาต้องอดข้าวไปตามเคย
วันต่อมาเมื่อข้าพเจ้ารู้ข่าว
ครั้งนี้ข้าพเจ้าเป็นคนถือด้วยมือของตนเองไปวางไว้จนถึงในที่เก็บข้าวสาร
เวลาครูบางคนถาม ข้าพเจ้าจะตอบเขาไปว่า
คุณรู้มั้ย
เรื่องของกรรมนั้นมีอานุภาพรุนแรงนัก ถ้าเคยเบียดเบียน เช่น คดโกง
ขโมยของคนอื่นเค้าไว้ ทำให้ต้องลำบากอดอยากแล้ว แม้เราจะสงสารหยิบยื่นสิ่งใดๆ ให้
เขาก็กินก็ใช้ไม่ได้ ต้องมีอันเป็นไปให้ต้องอดอย่างกรณีนี้แหละ
ให้เด็กไปเด็กก็ต้องหกล้ม ข้าวของหล่น อดกันหมดทั้งบ้าน แต่เมื่อพี่(หมายถึง
ตัวข้าพเจ้า) เป็นคนเอาไปให้
พี่อธิษฐานว่าด้วยบุญของพี่ขออย่าให้พี่เห็นครอบครัวนี้อดอยาก ขอให้เขาได้กิน
เพื่อพี่และพวกเราจะได้ดีใจ เขาจึงได้กิน
พี่น้องคู่นี้ได้ทุนเล่าเรียนเหมือนเด็กที่ขาดแคลนรายอื่นๆ
ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน เมื่อจบชั้นสูงสุดพี่สาวออกไปช่วยมารดาประกอบอาชีพรับจ้างในร้านขายของ
ส่วนจ๋องกรอดเป็นเด็กมีนิสัยดี เรียนเก่ง
ไปสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งสอบได้ที่ดี ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือราชการขอความช่วยเหลือไปยังสถานศึกษาแห่งนั้น
ขอทุนให้เด็กได้เรียนต่อ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดี
ในระยะที่จ๋องกรอดไปเรียนที่อื่นแล้ว มีโอกาสสว่างยังกลับมาเยี่ยมข้าพเจ้า
ดูเขาไม่ลืมช่วงชีวิตที่เขาได้รู้จักและเล่าเรียนอยู่กับข้าพเจ้าถึง ๗ ปี กระทั่งเวลาต่อมาเมื่อข้าพเจ้าออกจากราชการ
เราก็ไม่ได้พบกันอีกเลยนับกว่า ๑๐ ปี
มาเห็นในบัดนี้จ๋องกรอดของครู
เธอยู่ในเพศสมณะอันสำรวมเรียบร้อย ครั้งก่อนพบกันเธอต้องกราบครูทุกครั้ง
ครั้งนี้ครูต้องเป็นฝ่ายกราบเธอ
ครูเต็มใจกราบคารวะเธอเป็นที่สุด...จากนั้นเราได้เล่าเรื่องเหตุการณ์ในชีวิตระหว่างเวลาที่จากกันสู่กันฟัง
เมื่อจ๋องกรอดเรียนชั้นมัธยมสูงสุดแล้ว ไม่มีทุนเรียนชั้นสูงต่อ
จึงได้ออกมาประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งมีรายได้พอเลี้ยงมารดาและเหลือเก็บไว้ส่วนหนึ่ง
ในพรรษานั้นปี ๒๕๒๙ จึงเอาเงินที่เก็บไว้มาให้มารดาจัดงานบวชให้ตนและเหลืออีกส่วนหนึ่งให้มาดาไว้ใช้เลี้ยงชีวิตในระหว่างที่ลูกชายบวชในระยะที่ทำงานได้
จ๋องกรอดไม่ยอมให้มาดาช้อนลูกน้ำขายอีกเพราะจำคำขอร้องที่ข้าพเจ้าเคยพูดไว้
ก่อนที่เราจะจากกันในครั้งเขาย้ายโรงเรียนว่า เมื่อใดมีอาชีพบริสุทธิ์เลี้ยงตัวและแม่
ขอให้แม่อยู่ให้สบาย อย่าให้หากินในทางบาปอย่างที่ทำอยู่ คือช้อนลูกน้ำบ้าง
ให้คนมาตั้งเล่นวงไพ่ในที่อยู่บ้าง เพื่อเก็บ “ค่าต๋ง”
พอตำรวจรู้พากันมาจับ คนเล่นก็ต่างคนกระโจนวิ่งหนี บางครั้งถึงกับที่อยู่อาศัยแคบๆ
นั้น พังระเนระนาดต้องซ่อมกันเป็นวัน
เมื่อบวชแล้วได้ย้อนกลับไปที่โรงเรียนเดิม
เพื่อสอบถามที่อยู่ของข้าพเจ้าจากครูเก่าๆ
เมื่อรู้ว่าข้าพเจ้ากลับไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อเลี้ยงดูบิดาก็หมดหวัง
ต่อมาได้พบคนรู้จักอีกคนหนึ่งเขาบอกว่าบิดาของข้าพเจ้าถึงแก่กรรมแล้ว
จึงได้เสี่ยงมาดูบ้านที่อยู่บางยี่ขันและได้พบข้าพเจ้า
หลังจากคุยกันเรื่องความเป็นอยู่ในชีวิตแล้ว
เราก็ได้สนทนาธรรมกันอีกหลายเรื่องทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ท่านกล่าวในที่สุดว่า
“อาตมาได้เรียนหนังสือก็เพราะความช่วยเหลือของโยมอาจารย์ ได้บวชก็เพราะนึกถึงสมัยเป็นนักเรียนอยู่กับโยม
โยมสอนอาตมาและเพื่อนๆ ให้ฝึกสมาธิ อาตมารู้ว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องดีงาม
โยมอาจารย์จึงเอามาสอนลูกศิษย์ จำได้มาตลอดเวลา เมื่อมีโอกาสจึงขออนุญาตโยมแม่บวช
มามีปัญหาตอนนี้ตรงที่อาตมาบวชแล้วมีศรัทธามาก ชีวิตเป็นสุขจริงๆ
ไม่อยากสึกหาลาเพศอีกเลย แต่เงินที่ให้โยมแม่ไว้เป็นจำนวนไม่มาก
ถ้าไม่คิดสึกก็ไม่มีใครเลี้ยงโยมแม่ พี่สาวก็มีรายได้น้อย แต่งงานไปกับคนจนๆ
ด้วยกัน มีลูกอีก ๒-๓ คน ช่วยเลี้ยงแม่ไม่ได้ โยมแม่จึงมีแต่อาตมาเท่านั้น”
ข้าพเจ้าต้องนิ่งอั้นคราวนี้จนปัญญา
นึกถึงเรื่องพระภิกษุองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล ท่านบิณฑบาตเลี้ยงโยมบิดามารดาได้
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ แต่เมื่อสอบถามการบิณฑบาตของท่านจ๋องกรอด
เห็นว่าได้น้อยมาก พอเพียงสำหรับท่านเองเท่านั้น คงจะไม่พอถึงโยมแม่
ทั้งผู้คนสมัยนี้มีความเป็นอยู่ที่จำเป็นหลายอย่าง
เครื่องอุปโภคบริโภคล้วนแต่ต้องใช้เงินซื้อทั้งสิ้น จึงต้องขอให้ท่านตัดสินใจเอง
แต่ขอร้องว่าแม้ต้องสึกหาลาเพศออกมาขอให้อยู่ในศีลธรรม โดยเฉพาะให้มีศีล ๕
เป็นประจำ ถึงจะอยู่ในแดนคนจนมีปัญหาสารพัดอย่างที่เป็นอยู่
ก็ขอให้คงความเป็นเพชรไว้ เมื่อใดมีโอกาสถูกใครหยิบขึ้นมาล้างโคลน
ก็ให้ส่องประกายเจิดจ้าดังเดิม ขอให้หลีกเลี่ยงการคบเพื่อนเลวๆ ให้มากที่สุด
จากวันนั้นจนถึงวันนี้
๒ ปีผ่านไป พระภิกษุ “จ๋องกรอด” ของข้าพเจ้าได้หายไป
ยังมิได้กลับมาเยี่ยมกันอีก ท่านอาจจะสึกจากสมณเพศแล้ว
ครูขอภาวนาให้จ๋องกรอดของครู จงมีชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุข
ปฏิบัติตนอยู่ในครรลองที่ดีงามสร้างสมแต่กุศลกรรมไปให้ตลอดรอดฝั่งจนชั่วชีวิต
การที่กลับมาให้ครูเห็นชายผ้าเหลือง ครูก็ถือว่าดอกไม้ที่ครูปลูกไว้ออกดอกแล้ว
ถึงจะรอนานหน่อยถึง ๑๙ ปี แต่ดอกสีเหลืองก็งามเบิกบาน
สว่างไสวอยู่กลางใจครูมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้จ้ะ
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๑
สว่าง ณ กลางใจ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:20
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: