สละแม้ชีวิต เพื่อรักษาธรรม
“อาจารย์ ดีใจจังค่ะที่ได้พบ คราวนี้ไม่ได้เห็นหน้ากันเป็นปีๆ
ทีเดียว”
ข้าพเจ้าก็รู้สึกดีใจที่ได้พบเขา
เราทักทายซักถามสารทุกข์สุกดิบกันด้วยเรื่องความเป็นไปต่างๆ
และที่สุดมาลงท้ายเรื่องที่เขาไม่สบายใจมากในระยะนั้น คือเรื่องหนังสือพิมพ์กล่าวโจมตีวัดและพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาส
รองเจ้าอาวาส ด้วยเรื่องเสียหายต่างๆ ไม่ยอมเลิกรา
การไม่สบายใจอย่างหนักนั้นเป็นเพราะเขารู้ดีว่า เป็นการกล่าวร้ายที่ไม่มีมูลความจริง
แต่หนังสือพิมพ์หลายฉบับกลับหลงเชื่อผู้ต้องการทำลายงานส่วนรวมของพระพุทธศาสนาด้วย
ข้าพเจ้าได้พูดปลอบใจไปหลายประการ
วิธีที่ใช้กับตนเองและชวนให้ผู้อื่นใช้อยู่เสมอ คือ
ให้พยายามมองเรื่องร้ายให้เป็นเรื่องดี มองเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก
มองหาสาระในเรื่องที่ไม่มีสาระ เรียกง่ายๆว่ามองอะไรๆ ให้มันกลับกันเสีย
เพื่อคานน้ำหนักของความรู้สึกในจิตใจไม่ให้มีความเสียใจหรือดีใจในอะไรๆ มากเกินไป
ให้ใจอยู่ในสภาพคงความสมดุลอยู่เสมอ หรือจะเรียกด้วยคำทางภาษาธรรมะว่าให้ใจมี อุเบกขา
อยู่เป็นนิตย์ สภาพใจอย่างนี้เหมาะในการปฏิบัติธรรมมาก
เกิดผลการปฏิบัติได้ง่าย ตรงข้ามกับใจที่ต้องกวัดแกว่ง
กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงด้วยความดีใจเสียใจ ปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล
ข้าพเจ้ากล่าวย้ำในตอนท้ายว่า
“วัดของเราเป็นเสมือนต้นผลไม้ต้นใหญ่ มีลูกดก ดกมากจริงๆ
แต่ลูกผลไม้เหล่านั้นมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่มีหนอนกินอยู่ข้างในลูก เรามองไม่เห็น
เมื่อมีการเขย่าต้นแรงๆ เสียบ้าง ลูกไหนที่มีหนอนกินก้านของมันจะเปราะบาง
มันก็จะร่วงหล่นลงดินไป เหลือลูกดีๆ ขั้วเหนียวๆ ติดต้นอยู่
เท่ากับเป็นการคัดเลือกไปในตัว ลำต้นไม่ต้องเสียเวลาหาอาหารบำรุงลูกที่หนอนกินเหล่านั้นอีก
ต่อจากนี้ไปคนที่มีศรัทธาไม่มั่นคง ขาดปัญญาพิจารณาหลงเชื่อข่าวอะไรๆ
ง่ายๆ มีธาตุของความเป็นคนใจคอโลเล ขาดเหตุผลก็จะหลุดออกจากวัดไป จะเหลือแต่คนดีๆ
ไว้เป็นลูกศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อ คัดเลือกเอาไม้แก่น คุณอย่าเสียใจเลย
ถือว่าหนังสือพิมพ์เค้าช่วยกรองคนให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็แล้วกัน”
ฟังแง่คิดใหม่ของข้าพเจ้าเข้า
เขาไม่เถียง แต่คงจะทำใจให้คล้อยตามทันทีได้ยากเหมือนกัน นิ่งเงียบไปเป็นครู่แล้วยังอุตส่าห์ถามต่อเหมือนเรากั้นกระแสน้ำให้หยุดได้ไม่สนิท
ต้องมีรั่วๆ ซึมๆ ต่ออีกบ้างว่า
“อาจารย์ คนพวกที่มันกล่าวร้าย ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ยังงี้
มันไม่ได้รับกรรมอะไรหนักๆ ทันตาเห็นบ้างหรือ”
“มีสิคะ กรรมทันตาเห็นน่ะ ไม่ใช่พูดเอาเองนะคะ
นี่เป็นคำตรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทีเดียว พระองค์ตรัสว่า ผู้กล่าวร้าย
ผู้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์จะต้องได้รับผลกรรมหนักทันตาเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐
ประการนี้คือ
๑.
มีเวทนากล้า
เช่น อยู่ดีๆ ไม่มีสาเหตุก็ให้เกิดความเจ็บปวดในอวัยวะใดๆ ขึ้นมาได้เองโดยสาหัส
๒.
ทรัพย์หรือโภคะที่เคยทำมาหากินได้ก็เกิดเหตุขัดข้องทำให้เสื่อมไปกะทันหัน
๓.
ถึงสรีระขาด
เช่น ต้องพิการด้วยอุบัติเหตุ บางทีถึงตายกะทันหัน
๔.
อาพาธหนัก เช่น
เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง
๕.
จิตฟุ้งซ่าน คือ
เป็นบ้า
๖.
ได้รับการดูหมิ่นจากพระราชาหรือได้รับโทษจากทางราชการ
๗.
ถูกผู้คนกล่าวตู่อย่างร้ายแรง
๘.
พบความย่อยยับของเครือญาติ
เช่น ญาติที่พอพึ่งอาศัยกันได้ตายจาก หรือทะเลาะวิวาท เลิกคบกัน
๙.
ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่เดิมวิบัติเสื่อมสูญไปหมด
เช่น เรือสินค้าอับปาง โจรปล้น ถูกโกง ฯลฯ
๑๐.ไฟไหม้ เช่น ไฟจากอุบัติเหตุ ไฟจากฟ้าผ่า ไฟป่า ฯลฯ
ข้าพเจ้าตอบไปอธิบายไปให้ดูน่าหวาดกลัว
เพื่อปลอบใจคู่สนทนาให้คลายความเครียดแค้นลง ยิ่งในกรณีคนที่มาทุบพระพุทธรูปที่ลานธุดงค์ด้วยแล้ว
ยิ่งจำแนกแจกแจงให้เห็นถี่ถ้วนว่า เป็นกรรมหนักเหลือกำลัง
ทำร้ายจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งโลกที่ได้ทราบข่าวผู้ที่กราบพระพุทธรูปมีทั้งพระภิกษุสามเณรและผู้คนที่ล้วนแต่อยู่ในศีลในธรรม
เขาทำร้ายจิตใจของคนดีคนบริสุทธิ์ จะต้องรับกรรมในไม่ช้า
ตายแล้วยังต้องตกอเวจีมหานรกอยู่ถึงหนึ่งอันตรกัป คือนับเวลากันไม่ไหว
ตั้งแต่เวลาที่มนุษย์มีอายุขัย ๑ อสงไขยปี (เลขหนึ่งอยู่ข้างหน้าตามด้วยเลขศูนย์
๑๔๐ ตัว) แล้วลดลงเรื่อยๆ จนอายุขัยมนุษย์ ๑๐ ปี แล้วอายุขัยเพิ่มขึ้นใหม่เรื่อยๆ
จนถึงอสงไขยปีตามเดิม เรียกว่า ๑ อันตรกัป
ขณะนั้นพูดไปเพียงมุ่งหวังปลอบใจเพื่อนให้ปลงใจวางอุเบกขาว่า
ใครทำกรรมใด ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น นึกไม่ถึงว่ากรรมชั่วตามให้ผลคนทำรวดเร็วจริง
เพียงต้นๆ เดือนมิถุนายนต่อมานั้นเอง มีคนเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ๓ รายว่า
เขาอ่านคอลัมภ์เล็กมากในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงไว้ว่า
คนทุบพระพุทธรูปป่วยกะทันหัน มีเลือดออกทางปากทางจมูก (เขาทุบจมูกพระพุทธรูปหัก)
เลือดไหลไม่ยอมหยุด พอมีญาตินำไปส่งโรงพยาบาล หมอใช้เข็มแทงแขนทั้งสองข้าง
ให้เลือดข้างหนึ่ง ให้น้ำเกลือข้างหนึ่ง (ทุบแขนพระพุทธรูปจนหักทั้งสองข้าง)
คนเจ็บบอกกับหมอว่าไม่ต้องรักษา เขาจะต้องตายแน่ในวันนั้น
สารภาพว่าตนเองเป็นคนทุบพระพุทธรูปวัดพระธรรมกายโดยมีผู้ว่าจ้าง ๕ พันบาท
ซึ่งยังไม่ได้ค่าจ้างมาเลยแม้แต่บาทเดียว
สตรีคู่สนทนาของข้าพเจ้าดูสบายใจดีขึ้นมาก
เราจึงได้คุยเรื่องอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องงานกุศลที่เรากระทำกันอยู่
เช่นเรื่องทุนภัตตาหารถวายพระ
เรื่องงานกฐินประจำปีที่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
จะเป็นเจ้าภาพใหญ่ เรื่องการเผยแผ่ธรรมปฏิบัติ เรื่องการปล่อยปลาประจำเดือน ฯลฯ
ก่อนจากกันข้าพเจ้าย้อนถามถึงเหตุการณ์เมื่อเขากับข้าพเจ้ารู้จักกันเป็นครั้งแรกว่า
ตัวละครเอก ๒ คน คนหนึ่งมียศเป็นนายพลตำรวจโท อีกคนมียศพันตำรวจโท
ซึ่งทำความเดือดร้อนให้เขาอย่างสาหัสในครั้งกระโน้น เมื่อราวๆ ปี ๒๕๓๗
อยู่ดีมีสุขกันไหม
“ตายหมดเลยค่ะอาจารย์ ตายเร็วๆ นั้นเอง หลังจากถูกศาลตัดสินคดีไม่นาน
นายพลฯ ถูกถอดยศ ถูกไล่ออกจากราชการเลยตรอมใจตาย
ส่วนายพันก็มองหน้าผู้คนเพื่อนร่วมงานไม่สนิท
ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาจึงลาออกราชการ
ท้ายที่สุดก็ป่วยตายในเวลาไล่ๆ กันนั่นแหละค่ะ”
สตรีท่านนั้นจากไปแล้ว
แต่เสียงที่เขาบอกข้าพเจ้ายังก้องอยู่ในหู ...ตายหมดเลยค่ะอาจารย์
ตายหมดเลยค่ะอาจารย์ ตายหมดเลยค่ะอาจารย์...
ข้าพเจ้าได้แต่นึกรำพึงต่อว่า
...โธ่เอ๋ย แย่งยศถาบรรดาศักดิ์กันไป แสวงหาเงิน แสวงหาอำนาจ
ไขว่ขว้าหาความยิ่งใหญ่ ผลที่สุดยังไม่ทันตายก็ถูกถอดยศ หมดอำนาจ
เสื่อมเสียชื่อเสียง มองหน้าผู้คนไม่ได้ พอตายลงเล่า ได้อะไรไป เอาอะไรกันไป
ไม่ได้อะไรไปเลย ยังทิ้งความเสียชื่อไว้ให้วงศ์สกุล ใจก็เศร้าหมอง
ต้องทุคติน่าอนาถแท้ๆ
พอเล่ามาถึงตอนนี้
ท่านผู้อ่านคงอยากทราบว่าเรื่อราวเป็นไปเป็นมาอย่างไร
จึงทำให้ข้าพเจ้ายืนสลดใจอยู่ ข้าพเจ้าจะเล่าให้ท่านฟัง
วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ธรรมดา
ราวๆ กลางเดือน ปลายปี ๒๕๑๗ ทางวัดสร้างศาลาจาตุมหาราชิกาเพิ่งเสร็จได้ไม่นาน ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่
ได้ขับรถส่วนตัวไปถึงวัดแต่เช้า
สมัยนั้นทางวัดยังไม่ได้จัดรถบัสรับบรรดาสาธุชนไปวัดดังทุกวันนี้
ใครจะไปวัดต้องเดินทางกันไปเอง ขับรถส่วนตัวกันไปบ้าง
ขึ้นรถประจำทางกันไปแต่เช้ามืดบ้าง ถนนจากปากทางบางขันเข้าไปถึงวัดยังไม่ได้ราดยาง
เป็นถนนลูกรังสีแดง ใครๆ มาถึงวัดจึงมักจะมีผมเปื้อนฝุ่นสีแดง เสื้อผ้าก็เป็นสีแดง
สีด่างไปตามเรื่อง เพราะขณะนั้นยังไม่ได้ขอร้องให้สาธุชนแต่งกายด้วยชุดขาวหรืออย่างน้อยใส่เสื้อขาวดังทุกวันนี้
ใครใส่เสื้อสีอะไรก็จะถูกฝุ่นสีแดงย้อมให้เป็นสีประหลาดๆ ไปตามกัน
ผู้คนที่ไปวัดในวันอาทิตย์ธรรมดามีจำนวนไม่มาก
ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ คน ถ้าเป็นอาทิตย์ต้นเดือนจำนวนก็เพิ่มอีกประมาณ ๓-๔ เท่า
บริเวณวัดไม่ร่มรื่นเช่นทุกวันนี้ เป็นพื้นดินสูงบ้างต่ำบ้าง
ทางเดินล้วนแต่เป็นดินลูกรัง เวลาใดฝนตกก็เลอะเทอะเฉอะแฉะ
ข้าพเจ้าไปถึงวัดเป็นคนแรกในวันนั้น
จึงนั่งอยู่บนศาลาจาตุมหาราชิกาเพียงลำพังผู้เดียว เวลายังเช้าอยู่มาก
ข้าพเจ้านั่งสมาธิไปบ้าง ลืมตาไปบ้าง ที่ต้องลืมตาก็เพื่อให้หายง่วง
ลืมตาแล้วก็กวาดตามองไปไกลๆ ก็เป็นวิธีการแก้ง่วงที่ได้ผลอยู่บ้างเหมือนกัน
พอหายง่วงก็หลับตาลงใหม่
ช่วงลืมตาช่วงหนึ่ง
ข้าพเจ้าพบว่ามีสตรีผู้ที่ข้าพเจ้าพูดถึงในตอนต้น
เดินตรงเข้ามาหาด้วยกิริยาร้อนรนจนข้าพเจ้าแปลกใจจึงหลับตาไม่ลง
ได้แต่เฝ้ามองอาการของเธอนิ่งอยู่ เธอมีอายุประมาณ ๓๐ ปีเศษ ดูจะอ่อนกว่าข้าพเจ้าอยู่
๓-๔ ปี ใบหน้าซีดเซียวหมองคล้ำราวกับคนอดนอนติดต่อกันมาหลายๆ คืน
สีหน้าและแววตาหมองหม่นเต็มไปด้วยความกังวลใจมากมายใหญ่หลวง
เมื่อนั่งลงตรงหน้าข้าพเจ้าเธอกล่าวขึ้นว่า
“พี่คะ หนูมีเรื่องไม่สบายใจมาก อยากจะมาปรึกษากับใครสักคนที่นี่
แต่ก็ไม่รู้จักใครเลย เพิ่งมาวัดนี้เป็นครั้งแรก อ่านหนังสือที่วัดแจกไป
เลยนึกอยากมาน่ะค่ะ”
“ก็คงขอคำแนะนำจากคุณยายอาจารย์ฯ หรือไม่ก็ท่านเจ้าอาวาสก็ได้กระมัง
แต่ถ้าเป็นเรื่องครอบครัวสามีภรรยาอะไรทำนองนั้น ปรึกษากับคุณยายอาจารย์ฯ
คงดีกว่านะ ท่านเจ้าอาวาสท่านเป็นพระหนุ่มไม่เคยแต่งงานมาก่อนบวช
ท่านอาจจะไม่ทราบเรื่องครอบครัวเท่าไร”
ข้าพเจ้ากล่าวตอบ
ระยะนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อยังเป็นหนุ่ม
ข้าพเจ้าไม่อยากให้ท่านต้องนั่งให้คำปรึกษาเรื่องวุ่นๆ ในครอบครัว
ซึ่งไม่ใช่กิจของสงฆ์
“จะพบท่านทั้งสองท่านได้ที่ไหนกันล่ะคะ หนูอยากพบเดี๋ยวนี้”
กล่าวแสดงความร้อนรนเต็มที่
เมื่อข้าพเจ้าชี้แจงว่าคงต้องรอตอนเพลแล้ว
“ไม่ได้ค่ะ หนูรอนานขนาดนั้นไม่ได้ ใจมันทุกข์มากเหลือเกิน
พี่มาวัดนี้นานแล้วหรือยัง พี่ปฏิบัติธรรมมานานเท่าไร พี่ชื่ออะไร เป็นใคร”
คำถามหลั่งไหลออกมาเป็นสายน้ำ
ไม่เว้นว่าง ถ้าไม่เห็นหน้าตาข้าพเจ้าจะต้องคิดว่าคนๆ
นี้ช่างไม่มีมารยาทเอาเสียเลย เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกก็ถามอะไรเสียมากมาย
แต่สีหน้าและแววตาทุกข์ร้อนของเธอทำให้ข้าพเจ้าโกรธไม่ลง จึงตอบเธอไปตามตรง
เมื่อรู้ว่าข้าพเจ้าชื่ออะไร เขารู้จักชื่อจากหนังสือที่อ่านพบอยู่แล้ว
จึงระบายความทุกข์ใจพรั่งพรูออกมา
“พี่อ่านข่าวหนังสือพิมพ์
เรื่องนายตำรวจซื้อตำแหน่งที่ลงข่าวอยู่ทุกวันๆ หรือเปล่าคะ”
ข้าพเจ้าพยักหน้ารับ
เธอกล่าวต่อ
“นั่นแหละ นั่นแหละ หนูถูกเค้าขู่ฆ่า” ละล่ำละลักเล่า
“หนูเป็นเพื่อนกับเมียตำรวจที่เอาเงินไปติดสินบนนาย ๓ แสน นั่นแหละ
เค้าวานหนูหอบเงินไปด้วยกันวันนั้น
พอซื้อตำแหน่งแล้วถูกเบี้ยวเกิดฟ้องร้องกันขึ้นมา พอคดีถึงโรงถึงศาล
เค้าก็ต้องอ้างหนูเป็นพยาน อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายนายพลที่เป็นจำเลยก็ติดต่อหนูมา
เค้าขอให้หนูกลับคำให้การทั้งหมดว่าไม่รู้เรื่องด้วย เค้าจะให้ชดเชย ๕ แสน
แต่ถ้าไม่ยอมทำตามที่เค้าขอร้อง เค้าจะฆ่าหนูค่ะ หนูเลยกินไม่ได้นอนไม่หลับ
หนูกลัวค่ะพี่ พี่คะ พี่ลองให้คำแนะนำหนูหน่อยหนูจะทำยังไงดี!”
ในความรู้สึกของข้าพเจ้าตอนนั้น
ฟังแล้วรู้สึกเห็นใจมากเหลือเกิน มันเป็นเรื่องจริงๆ จึงได้ตอบไปว่า
“เรื่องนี้คุณต้องขอคำแนะนำจากคุณยายอาจารย์ฯ และพระภิกษุท่านแล้ว
ส่วนคำแนะนำของพี่ คุณอย่าถือเอาเป็นเกณฑ์นะคะ”
ที่ตอบไปอย่างนั้น
เพราะข้าพเจ้ารู้ตัวเองดีว่า ถ้าข้าพเจ้าเป็นสตรีผู้นี้
ข้าพเจ้าจะไม่ยอมเป็นพยานเท็จ ทีนี้เมื่อแนะนำเขาไปตามความเห็นดังนั้นแล้ว
เขาเกิดถูกยิงตายไปเล่า ข้าพเจ้าจะรู้สึกอย่างไร
ย่อมสงสัยตนเองไปตลอดว่าเราแนะนำผิดหรือถูก ทำไมไม่หาทางออกที่ดีกว่านี้
คือไม่ผิดศีลด้วย ไม่ต้องตายด้วย
“พี่ พี่ลองบอกหนูเถอะค่ะ พี่คิดยังไง ถ้าพี่เป็นหนูพี่จะทำอย่างไร” อีกฝ่ายเร่งเร้า
ข้าพเจ้าลังเลชั่งใจอยู่ครู่ใหญ่
กระทั่งคู่สนทนากระสับกระส่าย จึงตัดใจกล่าว
“ถ้าเป็นพี่ พี่ยอมตาย” ตอบเขาแล้วก็จ้องหน้าเขา
รู้สึกโล่งใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก
“พี่ พี่ ลูกของหนูยังตัวเล็กๆ ทั้งนั้นเลยนะคะพี่” ฝ่ายนั้นท้วงเสียงเบาๆ
ข้าพเจ้าขยับตัวให้ทะมัดทะแมงกล่าวเสียงขึงขังเข้มแข็งเหมือนจะหาเสียงให้เขาเห็นคล้อยตาม
“เมียของนายพันตำรวจคนนั้นน่ะ เป็นเพื่อนรักกับหนูใช่มั้ย”
“ใช่ค่ะ เพื่อนรักกัน เราสนิทกันมากที่สุด”
“ถ้าหนูยอมเป็นพยานเท็จเพราะกลัวตาย
หนูกับเพื่อนจะรักกันต่อไปตามเดิมได้รึเปล่า”
“มันต้องทั้งโกรธ ทั้งเกลียดหนูจนวันตายแหละค่ะ”
“เพื่อนเค้ารู้มั้ยว่าหนูให้การโกหก”
“โธ่ พี่ถามได้ ความจริงเป็นยังไงเราก็รู้กันอยู่”
“เรื่องที่เพื่อนโกรธเกลียดหนูนั่นน่ะ
หนูยังพอหลีกเลี่ยงไม่พบหน้าเค้าได้ แต่เรื่องที่หนูรู้ว่าหนูเป็นคนโกหก ทรยศต่อเพื่อน
เป็นคนไม่มีศีลธรรม ทำร้ายคนบริสุทธิ์ เข้าข้างคนชั่ว หนูหนีตัวเองได้รึเปล่าล่ะ”
“ไม่ได้ค่ะพี่ หนูก็คงตำหนิติเตียนตนเองไปตลอดชีวิต”
“ใครจะด่าเรา ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอก เราพอหนีหน้าเค้าได้
แต่การที่ตนเองไม่นับถือตนเอง ตนเองด่าตนเองได้ นี่ต่างหากเป็นเรื่องร้ายแรง
เพราะเราหนีตัวเองไปอยู่ที่ไหนก็ไม่พ้น เราจะเคารพตัวเองไม่ลง
สาปแช่งตนเองไปตลอดชีวิต นี่แหละเรียกว่าตายทั้งเป็นแล้ว”
“ตายทั้งเป็นเชียวหรือคะพี่” เธอทวนคำของข้าพเจ้าเบาๆ
“ถ้านายพลเขาจะให้ใครมายิงคุณตายตอนนี้ คุณรู้ว่าคุณไม่ผิดศีลข้อ ๔ ใจคุณเป็นกุศล
ตายไปจะไปเกิดในภูมิสุคติ ตรงข้ามคุณยอมเป็นพยานเท็จ คุณได้ใช้เงิน ๕ แสน
และอาจมีชีวิตยืนยาวอีกหลายสิบปี แต่ตลอดเวลาเหล่านั้นคุณตายทั้งเป็น
จิตใจของคุณเศร้าหมองไปตลอด ยิ่งคุณเห็นความทุกข์ยากในชีวิตครอบครัวของเพื่อน
ซึ่งเป็นผลจากการให้การเท็จของคุณ คุณยิ่งเดือดร้อนใจ
ตายจากชาตินี้คุณต้องไปตกนรกแน่ๆ ยังไงๆ ก็ต้องตายแล้ว
เราเลือกเอาตายแล้วไปดีไม่ดีกว่าหรือ แต่พี่มีลางสังหรณ์นะว่าแม้คุณจะให้การไปตามจริง
คุณก็ไม่ตายหรอก เค้าไม่ยิงคุณจริงๆ หรอก เค้าเพียงพูดขู่เท่านั้นแหละ
เชื่อพี่เถอะ”
พูดทั้งขู่ทั้งปลอบไปแล้ว
ใจข้าพเจ้าเองก็อดหวั่นไหวไม่ได้ เกิดฆ่ากันตายจริงๆ
เราจะมีบาปกรรมไปกับเขาด้วยหรือเปล่า แต่ถ้าแนะนำให้เป็นพยานเท็จ
เรานี่แหละจะตกนรกก่อนใครเลย ข้าพเจ้าสั่งสอนตนเองดังนี้แล้ว
ก็มองท่าทางอีกฝ่ายต่อไป
“พี่ว่ายังงั้นหรือ”
ตอนนี้ไม่มีคำท้วงติง
แต่เสียงยังไม่เข้มแข็งขึงขัง ข้าพเจ้าจึงกล่าวย้ำเพิ่มเติม คราวนี้อ้างคัมภีร์ตำรับตำราเลยทีเดียว
“หนูรู้มั้ย พระพุทธเจ้าของเราสอนเอาไว้ทีเดียวนะ ท่านสอนว่า
ธะนัง จะเช อังคะวะรัสสะ เหตุ
บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะอันประเสริฐ
อังคัง จะเช ชีวิตัง รักขะมาโน พึงยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
อังคัง ธะนัง ชีวิตัญจาปะ สัพพัง นะโร ธัมมะนุสะรันโต
แต่เพื่อรักษาธรรมะแล้ว พึงสละทั้ง ๓ อย่าง คือ สละทรัพย์ อวัยวะและชีวิต”
“ถ้าหนูยอมตายเพื่อรักษาศีลข้อ ๔ ไว้อย่างนี้ เป็นได้บุญมากแน่ๆ
ไม่เชื่อเดี๋ยวหนูลองไปกราบขอคำปรึกษาจากคุณยายอาจารย์ฯ จากท่านเจ้าอาวาสซี
ท่านทั้งสองจะได้ให้ศีลให้พรคุ้มครองรักษา ให้หนูพ้นจากอันตรายด้วย” ข้าพเจ้ารีบคะยั้นคะยอ
“ไปนั่งคอยอยู่แถวๆ ในครัวนั่นแหละ คุณยายอาจารย์ฯ
ท่านชอบเดินออกมาดูครัว”
ในใจข้าพเจ้าก็ภาวนาว่า...ขอให้คุณยายอาจารย์ฯ
และท่านเจ้าอาวาสแนะนำเหมือนเราด้วยเถอะ
เราจะได้ไม่ใช่คนใจร้ายคนเดียวคิดไปเสียโน่น คิดมากเกินไป
ต่อจากนั้นอีกหลายอาทิตย์
ข้าพเจ้าได้พบสตรีผู้นี้อีก หน้าตาของเธอผ่องใส ยิ้มระรื่นราวกับเป็นคนละคน
สอบถามดูได้ความว่า ไม่ยอมเป็นพยานเท็จไปเป็นพยานจริงในศาล ตามคำแนะนำของคุณยายอาจารย์ฯ
และพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และเธอก็มีความเชื่อความเลื่อมใสว่า
ทั้งสองท่านมีบารมีคุ้มครองภัยอันตรายให้เธอได้ เมื่อเรื่องราวครั้งนั้นผ่านไป
เธอผู้นี้มีความศรัทธาในการปฏิบัติธรรมมาก ได้มาสมัครตนเป็นศิษย์ของคุณยายอาจารย์ฯ
และพระเดชพระคุณหลวงพ่อช่วยทำงานกุศลต่างๆ ให้วัดตลอดมาจนทุกวันนี้
เธอจะกล่าวกับใครๆ อยู่เสมอว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้สิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ
ที่ไม่น่าเป็นไปได้ต่อตัวเธอและครอบครัวของเธอเสมอมา
ข้าพเจ้าเล่าเรื่องของการยอมสละแม้ชีวิตเพื่อรักษาธรรมะให้ท่านฟังเป็นตัวอย่าง
ส่วนเรื่องตรงข้ามเรื่องนี้ ข้าพเจ้าต้องพบเห็นและถูกไต่ถามอยู่เสมอ ในความรู้สึกของข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าล้วนแต่เป็นเรื่องน่าเกลียด
น่าขยะแขยงจริงๆ เช่นอ้างว่า
“ถ้าไม่ให้ผมทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เลี้ยงหมูเอาไปขาย
แล้วผมกับครอบครัวไม่อดตายหรือ”
“เรื่องคอรัปชั่นนี่ ใครๆ เค้าก็ทำกันทั้งนั้น เราไม่ทำเหมือนเค้า
เราจะอยู่ได้ยังไง”
“เรื่องเป็นชู้กับลูกเมียเค้าเนี่ย
ก็ฝ่ายหญิงเค้าเต็มใจให้ผมล่วงเกินนี่ครับ จะบาปยังไง”
“เรื่องโกหกกันนี่ ผมว่ามันเรื่องธรรมดานะครับ
งานธุรกิจมันต้องใช้เล่ห์เหลี่ยม หลีกไม่พ้นหรอกครับ ขืนไม่ให้ทำก็อดตาย”
“สุรา บุหรี่ เบียร์หรือครับ เป็นแฟชั่นของสังคม
ใครไม่แตะต้องก็ร่วมสังคมไม่ได้หรอกครับ
มนุษย์เราต้องเกี่ยวข้องติดต่อกันอยู่ในสังคม เราจะไปฝืนได้ยังไง เดี๋ยวใครๆ
เขาไม่ยอมคบกับเรา ผลประโยชน์ต่างๆ ก็พลอยเสียหายไปหมดเท่านั้น”
นี่คือข้ออ้างของคนในยุคนี้
เขาไม่เคยนึกหรือแม้แต่ได้ฟังได้รู้ว่าควรสละสิ่งใดบ้างเพื่อรักษาธรรม
เขากลัวแต่เรื่องการอดตายในชีวิตปัจจุบัน กลัวแต่เรื่องจะไม่ได้ร่ำรวยเฉพาะในชีวิตนี้
แต่ไม่เคยนึกถึงเลยว่าชีวิตในภพชาติข้างหน้าจะต้องทุกข์ยากลำบากเพียงใด นี่คือเรื่องของคนโง่เขลา
คนขาดปัญญา มองสิ่งใดๆ ตื้นๆ เอาเฉพาะหน้า ไม่นึกถึงระยะไกล
อาชีพดีๆ
ที่ปราศจากบาปกรรมมีถมเถไป เพียงแต่อาจจะรวยไม่ได้ทันใจ ก็ไม่ยอมกระทำ ชอบอาชีพที่เป็นบาปกรรม
เห็นว่ารวยได้เร็วดี นี่คือพวกโลภมาก
เรื่องคอรัปชั่นที่เอามาอ้าง
ครั้นถูกแนะนำว่าให้เอาเงินที่ได้เหล่านั้นมาทำบุญซี ก็ไม่ยอม
แสดงว่าความจริงในใจคือมีความโลภอยู่เต็มแต่หาเหตุอื่นมาอ้าง
เรื่องกรรมกาเมสุมิจฉาจารก็เป็นเพราะความติดรสในเรื่องเพศจนไม่กลัวบาป
เรื่องพูดปดก็ทำเสียจนเห็นเป็นเรื่องปกติ
เสียคุณภาพของความเป็นคนไปจนหมด
เรื่องเสพของมึนเมานี่เขาไม่รู้ว่า
แม้ขณะเสพจะไม่ได้ประพฤติผิดศีล
แต่สิ่งที่เสพนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นของหยาบและของละเอียด พิษในของหยาบ เช่น พิษของแอลกอฮอล์ในสุราก็ทำลายสุขภาพในกายหยาบ
สารพิษส่วนที่เป็นของละเอียดก็ไปทำลายในกายมนุษย์ละเอียด เวลาตายกายละเอียดหลุดออกไปจากกายหยาบ
กายละเอียดก็ถูกสารพิษที่เป็นของละเอียดทำลายไปด้วย
เวลาไปเกิดใหม่จึงมีธาตุของความโง่ สติปัญญาฟั่นเฟือนติดตามไป
ร่างใหม่ที่เกิดขึ้นก็ล้วนแต่ไม่มีปัญญาและอ่อนแอ คนบ้าใบ้ ปัญญาอ่อน
ฟั่นเฟือนวิกลจริตต่างๆ ที่เราพบเห็น ล้วนแต่มีอดีตชาติเป็นผู้เสพของเสพติดด้วยกันทั้งนั้น
พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายท่านมักพูดสอนย้ำอยู่เสมอว่า
ใครมีศีล ๕ ไม่ครบ คนนั้นไม่ใช่คนบริบรูณ์ ศีลขาดไปข้อหนึ่งก็เหลือความเป็นคนอยู่
๘๐% ถ้าขาดทั้ง ๕ ข้อ ก็ไม่ใช่คนเลย
บางทีท่านก็ใช้คำหนักๆ ว่า “ไม่มีศีลเลยสักข้อก็เป็นหมาน่ะซี” มีเหมือนกันที่บางรายฟังท่านสอนตรงๆ
ดังนี้แล้วโกรธ แต่ถ้าคิดให้ดีคำสอนของท่านเป็นความจริงที่สมบรูณ์ที่สุด
คนกับสัตว์มีตรงกันอยู่
๔ อย่าง คือ การต้องกินอาหาร การเสพกามเพื่อสืบพันธุ์ การนอนหลับพักผ่อน
และการกลัวต่อมรณภัย แต่สิ่งที่มนุษย์มีเหนือสัตว์คือ เรื่องการมีคุณธรรม
ฉะนั้นถ้าใครปราศจากคุณธรรมโดยเฉพาะศีล ๕ ซึ่งเป็นคุณธรรมของมนุษย์แล้ว
เราจะเรียกว่าเขาเป็นเพียงสัตว์ตัวหนึ่งก็ไม่น่าแปลกอะไร
ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งเหลือเกินเมื่ออ่านพบในคำแปล
คำว่า มนุษย์ เป็นครั้งแรกว่า มนุษย์ คือคำว่า มะนะ ซึ่งแปลว่า ใจ
รวมกับคำว่า อุษะยะ เป็นภาษาสันสกฤต ถ้าภาษาบาลีใช้คำว่า อุตะมะ
ซึ่งแปลเหมือนกันคือแปลว่า สูง ภาษาไทยคำว่า อุตะมะ เราใช้ว่า อุดม
ดังนั้น
คำว่ามนุษย์ ถ้าแปลกันตรงๆ ก็คือ ผู้มีใจสูงนั้นเอง ในทางธรรมท่านกล่าวว่า
คือสูงพ้นจากกิเลส
เมื่อเป็นอย่างนี้ใครก็ตามที่ยังมีจิตใจต่ำทรามจึงไม่ควรมีสิทธิ์ใช้คำเรียกตนเองว่า
มนุษย์ เรียกว่าคนก็ดีถมไปแล้ว คือคนกันให้วุ่น ท่านว่าข้าพเจ้าพูดถูกหรือไม่
ทีนี้เราพูดถึงกันเรื่องเงินสักหน่อยเถอะ
จริงอยู่ขึ้นชื่อว่า
“เงิน” มองดูอย่างผิวเผินแล้ว เงินใดๆ ก็เหมือนกัน
คือถ้าเป็นธนบัตรก็เป็นกระดาษที่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ธนบัตรฉบับไหนๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น
แต่ถ้าเราจะดูด้วยอำนาจของปัญญาญาณในภาคธรรมปฏิบัติจะเห็นว่า
เงินนั้นมีพลังของกระแสกรรมแฝงอยู่ ถ้าเป็นเงินที่ได้มาด้วยดีมีความบริสุทธิ์
เป็นเงินที่ได้มาจากอาชีพการทำงานที่ไม่ผิดศีลผิดธรรม
เงินนั้นเราจะเอามาทำสิ่งใดที่ดีๆ เช่น เลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัว ซื้อสิ่งของใดๆ
ก็จะพาผลดีให้ติดตามมา เลี้ยงตนเองก็ได้สุขภาพที่ดีงาม เลี้ยงบุตรภริยาบริวารทั้งหลาย
ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นอยู่ในโอวาท เป็นคนดีทำความสบายกายสบายใจให้เกิดขึ้น
จะนำไปซื้อสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์
ก็ล้วนแต่เจริญรุ่งเรืองไม่มีวิบัติภัยใดมากล้ำกลาย
ตรงข้ามถ้าเป็นเงินที่ได้มาด้วยมิจฉาอาชีพ
จะนำไปทำกิจการใดๆ ก็จะมีโทษภัยติดตามให้ผลอยู่ไม่เร็วก็ช้า
นี่ข้าพเจ้าลองย้อนคิดดูนะ
อย่างกรณีเรื่องของสตรีที่เล่าไว้ในเรื่องนี้ ถ้าเขายอมรับเงินค่าจ้างกล่าวเท็จมา
๕ แสน เอาเงินนั้นมาเลี้ยงครอบครัวหรือมาซื้อบ้านซื้อรถยนต์อะไรป่าวๆ
ป่านนี้สิบกว่าปีผ่านไป คงจะมีเหตุวิบัติเกิดขึ้นให้ได้เห็นมากมาย
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๑
สละแม้ชีวิต เพื่อรักษาธรรม
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:48
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: