บุญต่อชีวิต
ราวต้นปี ๒๕๑๖
หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว
รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเพิ่งอยู่ในสมณเพศได้ไม่นาน
ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ที่เดิม
ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของข้าพเจ้า กลับจากลาไปเฝ้ารักษาพยาบาลมารดาอายุ ๗๕ ปี ที่โรงพยาบาล เล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยสีหน้าวิตกกังวลว่า
“อาจารย์คะ ๒-๓ วันมานี่ แม่ของดิชั้นสติฟั่นเฟือนเสียแล้วล่ะคะ เพ้อใหญ่เลย”
“ท่านเพ้อว่ายังไงมั่งล่ะคะ” ข้าพเจ้าต้องถามอาการดูก่อนไม่ยอมเชื่อคนพูดง่ายๆ
“ท่านเพ้อเห็นแต่ญาติพี่น้องที่ตายแล้วทุกคน คนนั้นไปคนนี้มา มาเยี่ยมท่าน ล้วนแต่บอกว่ามารับทั้งนั้นเลย ท่านมองเห็นอยู่คนเดียว คุยกับเค้าจ้อเชียว แล้วยังไล่ให้ดิฉันไปหุงข้าวหุงปลา เลี้ยงพวกญาติๆนั่นด้วย พอดิฉันไม่ลุกไป ก็โดนด่าเสียใหญ่ว่าไม่มีน้ำใจต้อนรับแขก”
“ท่านบอกมั้ยว่าแขกแต่งตัวกันมาอย่างไง เดินทางกันวิธีไหน” ข้าพเจ้าซักต่อ
“บอกค่ะ มากันด้วยคานหามทั้งหมดค่ะ (คงหมายถึงเสลี่ยง) มีคนกั้นร่มให้ด้วย คานหามเปล่าที่เตรียมให้คุณแม่ก็เอามาด้วย จะมารับ ได้ยินคุณแม่พูดแต่ว่า เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน ยังไม่ได้ลาอาจารย์.....(ออกชื่อข้าพเจ้า) นี่แหละค่ะ ดิฉันจึงว่าคุณแม่ท่านเพ้อใหญ่ ท่านก็อยู่ในศีลในธรรมมาตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้ว บุญไม่ช่วยท่านเลยหรือคะ ยังงี้เค้าเรียกว่าไม่มีสติ หลงตายหรือเปล่าคะเนี่ย อาจารย์บอกว่า ถ้าใครไม่มีสติ หลงตาย เดี๋ยวได้ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ไม่ใช่รึคะ”
พูดเท้าความถึงเรื่องที่ข้าพเจ้าเคยสั่งสอนเอาไว้เสียด้วย ข้าพเจ้าเห็นเรื่องจะเข้าใจผิดเกินไป จึงถามต่ออีกว่า
“คุณแม่บอกมั้ยว่า พอคุณแม่ไม่ยอมไป พวกญาติเค้าว่าจะมารับเมื่อไหร่อีก”
“บอกค่ะ บอกว่าเขาจะมารับใหม่วันพรุ่งนี้” อีกฝ่ายตอบ
นี่ไม่ใช่เรื่องสติฟั่นเฟือนเสียแล้ว เป็นเรื่องจริงที่เค้าเรียกว่า คตินิมิต ของคนใกล้ตายต่างหาก ข้าพเจ้าตัดสินใจพูดทันที
“งั้นวันนี้ อีกครึ่งชั่วโมงจะเลิกงานแล้ว พี่ต้องพาดิชั้นไปคุยกับคุณแม่แล้ว”
โดยปรกติ ข้าพเจ้าจะเรียกขานญาติของผู้ใต้บังคับบัญชาตามอย่างที่เขาเรียก ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีอายุอ่อนกว่า ข้าพเจ้าจะใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า พี่ ให้สมกับที่เขาเป็นลูกน้อง คือเป็นทั้งลูกเป็นทั้งน้อง ในรายนี้ ลูกสาวคนเจ็บอายุแก่กว่าข้าพเจ้าถึง ๑๕ ปี ข้าพเจ้าเลยต้องเรียกเขาว่า พี่ ถ้าอายุแก่กว่าไม่มากก็จะเรียกเขาว่า คุณ เพื่อมิให้เสียการปกครอง
ฝ่ายนั้นแสดงความดีอกดีใจเป็นพิเศษ เพราะความจริงเขาอยากให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมมารดาของเขาอย่างยิ่งอยู่แล้ว เพราะแต่ไหนแต่ไรมารดาของเขารักและนับถือข้าพเจ้ามาก ท่านอยากให้ลูกของท่านเหมือนข้าพเจ้า แต่เขาก็ไม่กล้ารบกวน เพราะเห็นภาระราชการของข้าพเจ้าระยะนั้นมากและวุ่นวาย เพราะต้องทำงานแทนให้ตัวเขานั่นเอง เมื่อข้าพเจ้าออกปาก เขาจึงดีใจจนน้ำตาไหล
คนป่วยป่วยเพราะอยู่ในรถตู้ที่ถูกรถเก๋งชนตกลงข้างทางถนน สะโพกหัก ต้องเข้าเฝือกหมดทั้งตัวความร้อนที่ถูกเฝือกอบตัวอยู่ตลอดวันตลอดคืน ทรมานอย่างหนักจนกินอาหารใดๆ ไม่ลง นอนก็ไม่หลับ ไหนจะปวดกระดูกที่หัก ไหนจะคันตามเนื้อตัวที่อยู่ในเฝือก อาการจึงมีแต่ทรงกับทรุด
ข้าพเจ้าไปถึงตั้งใจรับฟังคำบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนป่วยพบเห็นอย่างจริงใจ และอธิบายให้ผู้เป็นลูกทราบว่า ไม่ใช่เรื่องสติฟั่นเฟือน แต่เป็นเหตุการณ์จริง
ในเวลานั้น ข้าพเจ้าอยู่ในหมู่คณะที่กำลังริเริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย จึงได้ชักชวนคนเจ็บให้ช่วยข้าพเจ้าสร้างวัด คนเจ็บรับปากและขอทำสังฆทาน ข้าพเจ้าก็ยินดีด้วย ลูกสาวจึงจัดเตรียมการกันในเย็นนั้น ข้าพเจ้าได้ไปนิมนต์พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยและพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว พระอาจารย์ทั้งสององค์ของข้าพเจ้า เราจัดตามพิธีและถวายเงินช่วยสร้างวัดจำนวนหนึ่งที่ห้องคนป่วยในโรงพยาบาลนั้นเอง ข้าพเจ้าสั่งคนเจ็บไว้ว่า
“คุณแม่ ถ้าพวกญาติๆ เค้ามารับอีกให้บอกนะว่า จะขออยู่ช่วยหนูสร้างวัดก่อน” คนเจ็บพยักหน้ารับคำ
เย็นวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนเจ็บอีก ได้รับรายงานทันทีว่า
“เมื่อวานตอนเย็นๆ พวกญาติเค้ามารับแม่อีกแล้ว แม่บอกว่าจะอยู่ช่วยอาจารย์สร้างวัดก่อน พวกเค้าบอกว่า อยู่ก็ได้ ให้เวลาอีก ๒ ปี ครบสองปีแล้วจะพากันมารับใหม่นะ”
จากนั้นคนเจ็บก็หายวันหายคืน จนถอดเฝือกกลับบ้านได้ เพียงแต่หมอยังฝังเหล็กดามกระดูกไว้ที่สะโพก แล้วท่านก็กระทำบุญกุศลเป็นปรกติต่อมา เป็นการกระทำสถานปานกลาง ไม่เข้มแข็งนักเพราะไม่มีลูกคนใดว่างพอจะคอยเอาใจใส่ดูแล ท่านคิดจะทำแต่ก็ไม่มีใครพาไป ไปเองก็ไม่ไหว จึงต้องรอจนกว่าลูกๆ จะว่าง
พอใกล้จะครบ ๒ ปี มีอาการปวดบริเวณสะโพกที่ฝังเหล็กดามกระดูก ข้าพเจ้าจึงพูดเตือนลูกสาวคนป่วยให้นึกถึงเรื่องที่แล้วมา
“อาจารย์ ญาติที่ตายเค้าจะมารับคุณแม่ตามที่เค้าบอกไว้มั้ยคะ นี่จะครบกำหนดแล้ว” เขานึกได้ รีบถามขึ้น
“ไม่รู้เหมือนกันนะคะ แต่เราก็ไม่ควรประมาท คุณแม่บอกว่าอาจจะเป็นกรรมของท่าน ตอนที่ท่านอยู่ในวัยครองเรือน ทำมาหากินเลี้ยงลูก ทอผ้าไหมขาย ช่วยคุณพ่อทำมาหากิน ตอนนั้นต้องต้มตัวไหมมากมายก่ายกอง เวลานอนป่วยถูกเข้าเฝือกทั้งตัว รู้สึกทั้งร้อนและคันได้รับความทุกข์มาก ท่านคิดว่าอาจจะเป็นเพราะกรรมเรื่องนี้ตามมาทัน ส่วนเรื่องเจ็บสะโพกนี่ คุณแม่ไม่ได้บอกว่าท่านทำกรรมอะไร ตอนนี้เริ่มปวดสะโพกขึ้นมาใหม่อีก อาจจะมาจากเรื่องกรรมก็ได้ ถ้าจะคิดแก้ไขเราคงต้องแก้กันที่จุดนี้” ข้าพเจ้าปรารภ
“ดิชั้นรู้ค่ะ ยังเคยช่วยคุณแม่เลย นอกจากเรื่องเลี้ยงไหมต้มตัวไหมแล้ว เรายังทำเรื่องแลกข้าวกันอีกเรื่องหนึ่ง คือทำปลาแดก ปลาร้า ใส่ไหไว้ เวลามีตลาดนัดที่ไหน ก็ขนใส่เกวียนไปแลกข้าวเปลือกจากชาวบ้าน เอาข้าวเปลือกมาขายได้กำไรดีมาก แต่น่าจะเป็นบาปกรรมก็ตรงที่คุณแม่ได้ทรมานวัวที่ลากเกวียนอยู่ ท่านเอาปฏักแทงมันบริเวณแถวๆ สะโพก บ่อยเชียวค่ะ เพื่อให้วัวมันวิ่งลากเกวียนจะได้ไปถึงตลาดนัดก่อนคนแลกข้าวรายอื่นๆ” อีกฝ่ายเล่าความจริง
“นี่ถ้าเราจะเหมาเอาว่า เรื่องเจ็บสะโพกนี่เป็นเรื่องกรรมเบียดเบียนวัว ชวนท่านทำบุญกุศลเสียเลย ก็ไม่มีอะไรเสียหาย ทั้งยังทำให้เราอุ่นใจกันทุกคนด้วย ดีมั้ยคะ” ข้าพเจ้าออกความเห็น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงชวนกันไปซื้อวัวที่โรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่ง ซื้อจากหลักประหารทีเดียว คือเอาตัวที่คนงานเขาล่ามไว้กับหลักเตรียมทุบหัวที่โรงฆ่าวันละ ๒ ตัว เป็นวัวตัวหนึ่ง ควายตัวหนึ่ง เราตั้งใจซื้อปล่อยเพียงตัวเดียว เพราะมีเงินกันไม่มากนัก แต่พอเราซื้อวัวจูงออกมาจากหลักประหาร ควายอีกตัวหนึ่งที่ยืนอยู่ในหลักก็มองพวกเรานิ่งๆ สักครู่หนึ่ง น้ำตาของควายก็ไหลพรากออกมา
แม้มันจะไม่มีเสียงสะอื้น เสียงร้องขอให้ช่วย แต่จากสายน้ำตาที่ไหลเป็นทางอาบหน้า ก็เหมือนจะพูดว่า ท่านทั้งหลายท่านไม่ช่วยข้าอีกสักชีวิตหนึ่งหรือ เจ้าวัวเอ๋ย เจ้าช่างโชคดีนัก เจ้ารอดชีวิตไปแล้ว ส่วนข้าเป็นผู้อาภัพ คงต้องตายตามลำพังในนี้ขอให้เจ้าอยู่เย็นเป็นสุขเถิด ข้าขอลาเจ้าไปก่อนแล้ว.....
เราทุกคนยืนนิ่งงัน ไม่เคยเห็นควายร้องไห้ต่อหน้าต่อตาอย่างนี้มาก่อนในชีวิต จึงไต่ถามราคาค่าตัว แล้วก็ช่วยกันเทเงินจากกระเป๋าสตางค์จนเกลี้ยงทุกๆ คน รวมกันแล้วยังขาดอยู่อีก ๕๐๐ บาท ทางโรงฆ่าสัตว์ก็ไม่ยอมลดราคาให้เรา ขอผ่อนผันจะส่งธนาณัติมาให้ เขาก็ไม่ยอม เพราะเขาไม่รู้จักว่าเราเป็นใคร เราจึงตัดสินใจขับรถมาวัดที่อยู่ใกล้ๆ ที่นั่น พบพระภิกษุรูปหนึ่ง อธิบายให้ท่านทราบขอยืมเงินท่าน ๕๐๐ บาท แล้วนิมนต์ท่านไปซื้อด้วยกัน ท่านก็เต็มใจให้ความช่วยเหลือ เรานำสัตว์ทั้งสองไปปล่อยไว้ในโครงการขององค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ซึ่งรับบริจาคสัตว์ประเภทนี้ นำไปเลี้ยงไว้ในสวน มีเนื้อที่ถึง ๓ พันไร่ ตัวใดตายก็ฝังซากทิ้งเป็นปุ๋ยในดิน ไม่มีการกินเนื้อ ตัวใดแข็งแรง คนยากจนมาขอยืมไปใช้งานบ้างก็ได้ แต่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ กำหนดการใช้ไว้อย่างเต็มไปด้วยเมตตาธรรม
ครั้งนั้น แม้คุณแม่ผู้ต้องเข้าผ่าตัดสะโพกเพื่อเอาเหล็กที่ดามไว้ออก จะต้องไปนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลอีกเกือบเดือน แต่ก็ไม่มีวี่แววเรื่องญาติที่ตายแล้วจะเอาคานหามมารับกันอีก
ขณะที่เล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟัง เป็นเดือนมิถุนายน ๒๕๓๑ จากเวลานั้นมา ๑๕ ปีแล้ว ท่านผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ในเพศของแม่ชี อายุ ๙๐ ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง สติปัญญาไม่หลงลืม ที่เคยเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ไม่เกิดขึ้นอีก ท่านหมั่นประกอบบุญกุศลได้เต็มที่ เพราะลูกสาวคนที่เคยเป็นลูกน้องข้าพเจ้าปลดเกษียณอายุราชการแล้ว มีเวลาเอาใจใส่
สำหรับท้ายเรื่องนี้ อาจจะมีผู้ถามว่า ทำไมรายนี้ยมทูตจึงไม่มารับ ข้าพเจ้าขอนำไปตอบรวมไว้ตอนท้าย ส่วนสาเหตุที่ว่ารายนี้ถ้าต้องตาย เพราะเหตุใด ขอตอบว่า คงตายเพราะหมดทั้งกรรมและหมดทั้งอายุ ทีนี้เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ คุณแม่รายนี้แม้จะมีอายุ ๗๕ ปี ในเวลานั้นก็ตาม แต่ท่านมิได้กินอาหารย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ มาตลอดเวลาเกินกว่า ๑๕ ปี อาหารของท่านมีแต่ข้าว ผัก ผลไม้ ถั่ว ร่างกายยังแข็งแรงใช้การต่อไปได้ เรื่องอายุขัยจึงไม่น่าเป็นปัญหา
ทีนี้ก็มีเรื่องกรรมมาตามทันนั้นแหละ ที่อาจเป็นไปได้เพราะเคยทำปาณาติบาต ฆ่าตัวหนอนไหมไว้มาก แต่เมื่อได้กระทำกุศลเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องทำทานชีวิตกุศล ให้ชีวิตเป็นทาน เป็นสัตว์ใหญ่มีคุณ บุญกุศลค้ำคูณทันตาเห็น ต่อชีวิตตนเองได้ทันที
เรื่องอย่างนี้ในสมัยพุทธกาล ก็มีสามเณรลูกศิษย์ท่านพระสาลีบุตรเป็นตัวอย่าง พระเถระท่านทราบด้วยญาณว่า สามเณรจะต้องตายภายใน ๗ วัน จึงให้เดินทางกลับไปร่ำลาโยมบิดา มารดา ระหว่างเดินทาง สามเณรได้ช่วยชีวิตปลาที่ตกคลั่กอยู่ในหนองน้ำ กำลังจะถูกแดดเผาตาย โดยเอาจีวรห่อไปปล่อยที่แม่น้ำจนหมดฝูง ท่านจึงมีอายุยืนยาวต่อไปจนถึงอายุขัย
Cr. อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๑
บุญต่อชีวิต
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:17
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: