นึกถึงบุญ
เมื่อประมาณปลายปี ๒๕๒๑
เวลานั้นข้าพเจ้าอายุ ๔๔ ปี ลาออกจากราชการแล้ว
ได้กลับไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อดูแลบิดาผู้ชราอายุ ๗๐ ปี และเจ็บป่วยเรื้อรัง
ท่านไม่ยอมมาอยู่กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นฝ่ายไปอยู่กับท่าน ประกอบกับเมื่อครั้งข้าพเจ้าฝึกธรรมปฏิบัติให้นักเรียน
มีเด็กบางคนได้ทิพพจักขุญาณชัดเจนมาก เวลาเขาพากันไปเที่ยวยมโลก
ข้าพเจ้าเคยวานให้เขาอ่านบัญชีอายุของมารดาบิดาให้ด้วย
ปรากฏว่ามารดาของข้าพเจ้าตายตรงตามอายุในบัญชีทั้งที่มีอายุเพียง ๖๑ ปี
ส่วนของบิดาในบัญชีระบุไว้ว่า ๗๕ ปี ฉะนั้น พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านอายุเต็ม ๗๐ ปี
ถ้าเป็นตามนั้นจริง นับว่ายังมีเวลาปรนบัติทดแทนคุณได้อีกถึง ๕ ปี
จึงตัดสินใจออกจากราชการ สละละทิ้งตำแหน่งหน้าที่ราชการระดับชั้นพิเศษเสีย
กว่าเราจะเติบโตหากินได้ พ่อเลี้ยงเราถึง ๒๐ กว่าปี เรากลับไปเลี้ยงท่านแค่ ๕ ปี
นับว่าน้อยนิด แต่เอาเถอะก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ ข้าพเจ้าคิด
วันนั้นบิดาของข้าพเจ้ายังไม่ตื่นนอน ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาตั้งแต่เวลาตี ๔ เศษ เพื่อเตรียมอาหารให้ท่านรับประทานด้วย เตรียมสำหรับให้ท่านใส่บาตรที่หน้าบ้านอีก ๗-๘ รูปด้วย พี่ชายซึ่งเป็นลูกของป้าข้าพเจ้า มาร้องเรียกแต่เช้ามืด ข้าพเจ้าใจเสียเล็กน้อย เพราะรู้ว่ามารดาของเขาก็ป่วยเป็นโรคเดียวกับมารดาของข้าพเจ้า คือโรคมะเร็งที่ปอด หรือว่าป้าจะตายตามแม่ของเราไปอีกคนหนึ่งแล้วนี้ ข้าพเจ้าคิดไปไกล รีบทักพี่ชายไปทันที
“พี่ทิดดี ป้าเป็นอะไรหรือเปล่านี่ พี่จึงมาแต่มืดเลย”
“ยังจ้ะหนูหวิน แต่ถ้าจะแย่เสียแล้ว เพ้อใหญ่เลยบอกว่ามืด เปิดไฟแล้วก็ยังเถียงว่าไม่เปิด แล้วร้องเอะอะโวยวายว่ามีคนนุ่งผ้าแดงตั้ง ๔ คนมาจับตัว ส่งเสียงเรียกหนูหวินใหญ่ นี่พอเรียกหาหนูหวินก็พูดบอกพี่ว่า คน ๔ คนนั่นเขาปล่อยมือแล้วบอกว่า วันหลังจะมาเอาตัวไปใหม่ แม่ให้พี่เดินทางมารับเราตั้งแต่ครึ่งคืนโน่นแน่ะ พี่ผลัดให้รอสว่างก่อน เพราะตอนดึกไม่มีรถเมล์วิ่ง แม่ก็ไม่ยอม เลยต้องเดินตัดทุ่งนามาตั่งแต่เวลาแม่ไล่นั่นแหละ เดือนก็มืด น้ำก็ท่วมหนทางขาดเป็นตอนๆ มาถึงแม่น้ำ เรือจ้างก็ยังไม่มีที่ท่าน้ำ ต้องไปตามปลุกเขาถึงบ้านให้เขาแจวข้ามไปเป็นพิเศษ”
พี่ชายบรรยายความเสียยาว ข้าพเจ้าแสดงความเห็นใจเพราะระยะทางไกลเกือบ ๒๐ กิโลเมตร ยังดีที่เป็นคนมีอาชีพทำนาทรหดอดทน จึงเดินด้วยเท้ามาถึง เป็นคนกรุงคงจะได้เหนื่อยเป็นลมล้มอยู่ตามทาง ข้าพเจ้าถามว่า
“ป้าอ้างเหตุผลยังไง จึงให้มาทั้งที่ยังไม่สว่าง”
“แม่กลัวคนพวกนั้นจะย้อนกลับมาจับตัวอีกน่ะ เลยไล่พี่ใหญ่” อีกฝ่ายตอบ
ข้าพเจ้านิ่งคิดไปว่า นี่ป้าจะเกณฑ์ให้ข้าพเจ้าเป็นอะไร คิดว่าจะให้ปราบผีหรือขอร้องยมทูต ขอความกรุณาพญายมราชได้ เอาถึงขนาดนั้นทีเดียวหรือ ตั้งแต่วัยเด็กมาแล้ว ข้าพเจ้าเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของญาติผู้ใหญ่ทุกคน พอเป็นผู้ใหญ่ ท่านเหล่านั้นก็พากันเพิ่มความนับถือให้อีกเป็นพิเศษ ใครมีเรื่องอะไร ทุกข์กายทุกข์ใจ ชอบถือข้าพเจ้าเป็นที่พึ่ง แทนที่จะคิดพึ่งลูกๆ ของตนเอง
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงขับรถไปเยี่ยมป้าตามที่ท่านเรียกหา คุณพ่อก็ตามไปเยี่ยมด้วย คนเจ็บดีใจมากที่เห็นข้าพเจ้า กล่าวโทษฟ้องเรื่องลูกๆ ของท่านทันที
“นี่นะ หนูใหญ่ ไอ้พวกลูกป้าทุกคนเลยมันว่าป้าบ้า ว่าป้าเพ้อ ป้าไม่ได้บ้า ไม่ได้เพ้อนะ ป้าเห็นคน ๔ คนนั่นเค้ามาจับตัวป้าจริงๆ นุ่งผ้าแดง โพกผ้าแดงที่หัว ถือไม้กระบองมาด้วยทุกคนเลย กระบองของเค้านะซ้วยสวย มาถึงเค้าก็พากันมาจับแขนป้า พูดว่าไปได้แล้ว ถึงเวลาต้องไปด้วยกันแล้วนะ เรี่ยวแรงเค้าเยอะ เค้าจับป้าแน่น ดิ้นเท่าไรไม่มีทางหลุดเลย ป้าเลยนึกถึงหนู ป้าก็เรียกหนูใหญ่ช่วยป้าด้วย หนูใหญ่ช่วยป้าด้วย พอเรียกออกมาเท่านั้นแหละเขาก็พากันปล่อยมือ แล้วบอกว่า เดี๋ยววันหลังจะมารับตัวใหม่ พากันลงบ้านไป ป้ากลัวพวกเค้าจริงๆ ป้าจึงอยากพบหนู หนูเชื่อป้าไหมมั้ยเนี่ย แล้วหนูจะให้ป้าทำยังไงดีล่ะ”
ป้าเรียกข้าพเจ้าว่าหนูใหญ่ เพราะเป็นลูกคนแรกของพ่อแม่ ข้าพเจ้าเกรงว่าท่านจะเข้าใจผิดว่าข้าพเจ้าเป็นผู้วิเศษ พอออกชื่อข้าพเจ้าแล้วทำให้ท่านพ้นจากอันตราย จึงอธิบายให้ท่านฟัง
“ป้าคิดถึงหนู เพราะเห็นหนูเป็นคนดีใช่ไหมคะ หนูเป็นคนรักษาศีล เจริญภาวนา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบทำบุญทำทาน มีความกตัญญูรู้คุณคน หนูชอบชวนญาติพี่น้องให้ทำความดีเหมือนหนู ไม่ว่า ลุง ป้า น้า หรืออา ก็อยากให้ลูกๆ เป็นเหมือนหนูทั้งนั้น การคิดถึงคนดี ทำให้เกิดบุญขึ้นที่ใจ บุญในใจป้านั่นแหละค่ะที่คนนุ่งผ้าแดง ๔ คนเขาเกรงใจ นี่แต่ป้าคิดถึงหนูซึ่งเป็นคนมีความดีอย่างธรรมดาเท่านั้น ยังเกิดบุญมากมายถึงเพียงนี้ ถ้าป้าคิดถึงผู้ที่มีบุญอย่างยอดเยี่ยม ที่ไม่มีใครเสมอเหมือนคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราแล้ว คน ๔ คนนี่จะไม่มาหาป้าอีกเลย”
ป้าฟังข้าพเจ้าอย่างตั้งอกตั้งใจ และก็เริ่มเข้าใจ ข้าพเจ้าจึงอธิบายต่อ
“ไม่เชื่อป้าลองไปถามท่านสมภารที่วัดซีคะ เวลาพระท่านนั่งเจริญภาวนากันน่ะค่ะ บางองค์ก็นึกถึงพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า กำหนดพุทธานุสสติ บางองค์กำหนดในใจนึกถึงพระคุณของพระธรรม เรียกว่าธัมมานุสสติ บางองค์ท่านนึกถึงพระสงฆ์ เรียกว่า สังฆานุสสติ อย่างที่ป้านึกถึงหนู ป้ารู้ว่าหนูถือศีล ไม่ทำความชั่วทางกาย ทางวาจา แล้วจะเรียกว่านึกถึง ศีล เรียกว่า สีลานุสสติก็ได้ นุสติเค้าแปลว่า คิดถึงบ่อยๆ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องภาวนาไว้ตั้งหลายแบบค่ะ”
ป้าตั้งใจฟังข้าพเจ้ายิ่งขึ้น พร้อมทั้งพูดเสริมว่า
“ป้าพอเข้าใจแล้ว จำได้ว่าตอนเด็กๆ เวลาตกใจ พวกผู้ใหญ่เขาห้ามร้องอุทานส่งเดช เขาให้ร้องว่า
“คุณพระช่วย” หรือไม่ก็ “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” หรือ “อนิจจัง อนิจจา”
“นั่นแหละค่ะ ป้าเข้าใจถูกแล้ว คำว่า พุทโธ่ พุทถัง ก็มาจากพุทโธ พุทธัง คือชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ เป็นคำสิริมงคล”
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็เล่าเรื่องยมทูต เรื่องพญายมราช เรื่องนรกขุมต่างๆ เรื่องสวรรค์ชั้นต้นๆ ให้ฟังอย่างย่อๆ จนเห็นจิตใจของป้าสนใจอยากไปเกิดในสวรรค์ หรือถ้าต้องเป็นมนุษย์ ก็ให้เป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์เพียบพร้อม ข้าพเจ้าจึงบรรยายถึงเรื่องบุญ เปรียบเทียบเหมือนกับบุญเป็นกองเสบียง เป็นทุนอุดหนุนชีวิตทุกภพทุกชาติ และจบท้ายรายการด้วยการถามว่า
“นี่ถ้าป้าถูกยมทูตเขาพาตัวไปเฝ้าพญายมราชจริงๆ ท่านถามป้าว่า ชั่วชีวิตที่ผ่านมาทำความดีอะไรไว้บ้าง ป้าจะตอบท่านว่ายังไงคะ นึกบุญกุศลอะไรออกบ้าง”
ป้าของข้าพเจ้านั่งนิ่งเงียบงันไปนานทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าสงสัย เมื่อคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่เคยเล่าประวัติป้าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ป้าเป็นคนตระหนี่ โลภจัด ชอบเอาเปรียบผู้อื่น พักใหญ่ท่านจึงพูดว่า
“ป้านึกได้เรื่องเดียวเท่านั้น เคยทำบุญสร้างโบสถ์ไว้ ๑๐ บาท เมื่อตอนเป็นสาวๆ”
“แค่เรื่องเดียวนี่ไม่พอหรอกค่ะ ทำบาปไว้ตั้งมากมาย ฆ่าปลา เลี้ยงหมูขาย พูดโกหกบ่อย ต้มเหล้า กินเหล้า เอามาเปรียบเทียบกันแล้วพญายมเค้าต้องตัดสินให้ป้าไปตกนรกก่อนแน่ๆ เลยค่ะป้า นี่ยังไม่ตายนะคะ ยังทำบุญทัน ต้องตัดใจทำแล้วล่ะค่ะ”
ข้าพเจ้าพูดรวบรัด เราจึงได้ปรึกษาหารือกัน ข้าพเจ้าถือโอกาสเรียกบรรดาลูกๆ ของป้ามาฟังคำอบรมสั่งสอนไปในตัว ไม่ให้มีใครเสียดายทรัพย์สินส่วนที่แม่ต้องการใช้ทำบุญ ใครพลอยยินดีเต็มอกเต็มใจด้วยก็จะพลอยได้บุญเหมือนตนเองกระทำไปด้วย
ตกลงคนเจ็บขอทำบุญถวายสังฆทานต่อพระภิกษุสงฆ์ทั้งวัดขายที่นาอีก ๒ แปลง เป็นเงินหลายแสน เพื่อสร้างศาลาวัดขึ้นใหม่แทนที่หลังเก่าซึ่งชำรุดจนใช้ไม่ได้ไปแล้ว เมื่อเห็นว่าป้าทำการบริจาคทานเต็มที่แล้ว ข้าพเจ้าพูดถึงเรื่องศีล
“การรักษาศีลก็ได้บุญมากมายนะป้า แค่ป้านึกถึงศีลที่หนูรักษาป้ายังได้บุญจนยมทูตต้องหนีไป ทีนี้ถ้าป้าเป็นคนถือเสียเองบุญจะเกิดขึ้นนับเท่าไม่ถ้วน ป้าก็จะได้มีศีลของป้าเองไว้นึกถึง ไม่ต้องนึกถึงศีลของคนอื่น ที่นี้แหละ ยมทูตคนไหนๆ ก็ไม่มีใครกล้ามาหรอก”
ข้าพเจ้าอธิบายเรื่องศีลไปทีละข้อ ทั้งให้กำลังใจว่า ป้าอยู่ในสภาพที่รักษาได้สะดวกมาก ๓ ข้อคือ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดเรื่องชู้สาว ไม่เสพเครื่องดองของเมา รักษาได้บริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ เพราะเดินไปไหนไม่ไหวอยู่แล้ว เหลือข้อฆ่าสัตว์ บี้มด ตบยุง ข้อพูดปด หรือคำหยาบเวลาลูกๆ ทำอะไรไม่ทันใจอยู่บ้างเท่านั้นที่ต้องสำรวม ป้ารับปากว่าจะพยายามทำ
เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องการเจริญภาวนา ข้าพเจ้าให้ทุกคนทั้งลูกๆ หลานๆ ของป้าฝึกภาวนากันหมดเดี๋ยวนั้น ข้าพเจ้าอ้างว่าทุกคนต้องรู้ และทำให้เป็น ผลจะเกิดหรือไม่เกิดไม่สำคัญ แต่ที่ต้องให้เป็นไว้จะได้ใช้พูดเตือนเวลาคนเจ็บหลงลืม ข้าพเจ้าใช้อุบายบังคับพวกเขาทางอ้อมดังนี้
ในเวลาเกิดเรื่องที่เล่านี้ แพทย์ผู้รักษาบอกต่อลูกของผู้ป่วยว่าคงอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือน อาการปวดขัดในอกกำเริบมากเป็นระยะๆ รับประทานอาหารได้น้อยเต็มที มื้อหนึ่งไม่เกิน ๖-๑๐ ช้อน ไม่มีแรงแม้แต่จะพยุงลุกขึ้นนั่งเอง เวลานั่งต้องให้ผู้อื่นอุ้มขึ้นนั่ง
หลังจากพบกับข้าพเจ้าและกระทำตามคำแนะนำ อาการป่วยดีขึ้นตามลำดับเป็นอัศจรรย์ จนปัจจุบันปีพ.ศ.๒๕๓๑ หายป่วย แข็งแรงเป็นปรกติ สามารถเดินไปตามบ้านใกล้เรือนเคียงได้รอบหมู่บ้าน ยังเดินไปดูศาลาที่วัดเป็นประจำด้วยความปิติยินดีว่าเป็นศาลาที่ตนเองเป็นผู้สร้าง
๑๐ ปีเต็มแล้ว คนนุ่งผ้าแดงไม่เคยปรากฏตัวอีกเลย บิดาของข้าพเจ้าเสียอีก ถึงแก่กรรมตามกำหนดอายุในบัญชียมโลกคือ ๗๕ ปี ในปลายปีพ.ศ.๒๕๒๕ นั้นเอง
ป้าของข้าพเจ้าไม่ใคร่ประกอบกุศลกรรมไว้ในชีวิตที่ผ่านมาก่อนล้มเจ็บ เรียกว่ามีบาปมากกว่าบุญ คนประเภทนี้ตายแล้วต้องไปยมโลก ดังนั้นยมทูตจึงมารับ แต่เมื่อท่านนึกถึงข้าพเจ้าที่มีคุณงามความดีอยู่บ้าง การที่จิตคิดถึงคนดีๆ เรียกว่าจิตเกิดบุญขึ้นแล้ว ยมทูตจึงผ่อนผันให้ ยิ่งได้สร้างกุศลใหญ่ต่อมาทันที ทั้งให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บุญยิ่งเกิดเป็นมหาศาล ปัจจุบันอายุ ๘๔ ปีแล้ว เกินอายุขัยเสียด้วยซ้ำไป แต่อย่างไร มนุษย์ทุกวันนี้จะมีอายุอย่างมากไม่เกิน ๒ เท่าของอายุขัยแน่นอน เป็นคำตรัสของพระผู้มีพระภาคไว้ดังนั้น
เรื่องทำนองนี้ข้าพเจ้ายังมีประสบการณ์อีกหลายเรื่อง แต่ครั้งนี้เล่าเพียง ๓ เรื่องก่อน จุดประสงค์เพื่อนำมาคุยกับท่านผู้อ่านว่า ถึงอย่างไรทั้งท่านและข้าพเจ้าก็จะต้องจากโลกด้วยกันอย่างหนีไม่พ้น เพียงแต่ว่าจะมีใครมารับเรา ดังเรื่องที่เล่าให้ฟังหรือเปล่าเท่านั้น
ถ้าท่านจะถามข้าพเจ้าว่า เอ๊ะ คนประเภทไหนกันที่เวลาใกล้ตาย ยมทูตจะมารับ
ข้าพเจ้าก็จะต้องตอบท่านว่า
ธรรมดาคนในโลกมนุษย์เรานี่มีอยู่กัน ๔ พวก
พวกที่หนึ่ง เป็นคนที่ตั้งหน้าบำเพ็ญแต่คุณงามความดี เรื่องความชั่วแล้วไม่ยอมแตะต้อง พวกนี้เวลาใกล้ตาย บุญกุศลที่ทำไว้เป็นพลังส่งให้เขาไปเกิดในที่ดีๆ เช่น ในกรณีที่สองที่เล่าไว้ ถ้าคนเจ็บต้องตายลงเวลานั้น จะได้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นต้น ด้วยอำนาจที่มีบุญอยู่บ้างในบั้นปลายชีวิต ทำให้เห็นญาติพี่น้องที่ไปเกิดอยู่ภูมินั้นๆ แล้ว แห่แหนกันมารับ ถ้ามีบุญมากกว่านี้ เช่น ในสมัยพุทธกาล เมื่อธรรมิกอุบาสกใกล้จะตายแลเห็นรถของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นมาคอยรับ แล้วแต่จะเลือกขึ้นรถคันใด คนทำแต่ความดีล้วนอย่างนี้ไม่ผ่านยมโลก ดังนั้นไม่ต้องมียมทูตมารับให้ยุ่งยาก
ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นพวกที่ตั้งหน้าตั้งตากระทำแต่ความเลวความชั่วอย่างเดียว หาดีไม่ได้ พวกนี้ก็ไม่ต้องทำให้ยมทูตเหน็ดเหนื่อย บาปของเขามีพลังแรงกล้าส่งโดยตรงลงนรกไปได้เองเลย
เหลือคนอีกสองพวกคือ พวกทำดีกับชั่วเท่าๆ กัน และทำชั่วมากกว่าดี ทั้งสองพวกนี้ ต้องผ่านการตัดสินของพญายมราช จึงมักมียมทูตมารับไปพิจารณาคดีบาปบุญ ฟังคำตัดสิน
ทีนี้คุณอาจถามข้าพเจ้าต่อไปอีกว่า เวลาตัดสินพญายมท่านทำอย่างไร
ข้าพเจ้าก็ตอบว่า
ท่านก็ให้เรานึกถึงความดีที่เราเคยทำไว้ในสมัยเป็นมนุษย์นั่นแหละ
ใครนึกออกท่านก็ให้ไปเกิดในที่ดีๆ ทันที
เรื่องบาปเอาไว้ทีหลังไม่พูดถึงกันในตอนนั้น
คุณคงถามแย้งข้าพเจ้าได้อีกว่า เอ้า ถ้าเวลานั้นมัวตกใจนึกถึงความดีเท่าไรๆ ก็นึกไม่ออกเล่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
คำตอบก็จะมีว่า พญายมราชท่านก็จะนึกแทนให้ เช่น
เวลาเราทำความดีใดๆ อุทิศส่วนกุศลไปถึงท่าน ดังในบทกรวดน้ำตรงคำว่า “ยะโม” นั่นแหละ
หมายถึงเราอุทิศส่วนกุศลให้พญายมแหละ พญายมท่านจำได้ ท่านก็เอามาพูดเตือนความจำเรา
ถ้าเรานึกออกก็ได้ไปดีอีก
คุณถามอีก ถ้าพญายมบอกยังงั้นแล้ว ก็ยังนึกไม่ออกอีกล่ะ
ข้าพเจ้าตอบ ยังมี พญายมยังไม่หมดความพยายามช่วยเหลือ
ท่านจะถามเราด้วยเรื่องเทวทูต ๕ คือ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนต้องโทษ
ถามว่าเราเห็นแล้วรู้สึกยังไง คิดยังไง ถ้าตอบไม่เป็นเรื่อง ไม่มีปัญญา
ก็เรียกว่าสอบตก ท่านหมดหนทางช่วย
ท่านก็จะบอกว่าที่เราต้องไปถูกทำโทษด้วยความทุกข์ต่างๆ ในอบายภูมินั้น
ไม่ใช่คนอื่นทำให้ เราทำอกุศลกรรมของเราไว้เอง
คุณอาจอยากถามว่า ตอบยังไง เรียกว่าตอบถูก จะได้จำไว้ เอาไปตอบบ้าง
คำตอบก็มีอยู่ว่า เมื่อเห็นเทวทูตเช่นเด็กแรกเกิด
ก็ต้องตอบว่าเราก็เห็นว่าเกิดแล้วเป็นทุกข์ แม้เราก็จะต้องเกิดอีก
จึงควรรีบสร้างบุญกุศล ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะได้เลิกเกิด
เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ก็อาจจะนึกถึงกุศลกรรมเหล่านี้ที่เคยทำเอาไว้ขึ้นมาได้
ก็ตอบท่านไป เรียกว่าสอบได้ไม่ต้องไปอบายภูมิ
ถ้าท่านถามเทวทูตแรกเราตอบไม่ได้ก็จะถามใหม่เรียงลำดับเรื่อยๆ ไป
ข้าพเจ้าคุยกับท่านมาถึงตอนนี้ บางท่านอาจคิดเรื่องเตรียมตัวไปตอบคำถามพญายม ข้าพเจ้าเห็นว่า อย่าเสียเวลาคิดเลย สู้เราทำตัวเราให้เป็นคนพวกที่หนึ่งคือ ชอบทำแต่ความดีฝ่ายเดียว ไม่ดีกว่าหรือ เราจะได้ไม่ต้องผ่านยมโลก พญายมราชก็ตาม ยมทูตก็ตาม เครื่องจองจำและศาสตราอาวุธ เปลวไฟ รูปร่างสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ไม่มีอะไรที่น่าดูเลย อย่าไปเห็นเสียดีกว่า ถ้าชาตินี้ยังไม่สามารถทำนิพพานให้แจ้ง เลิกเวียนว่ายตายเกิดได้ ต้องเกิดที่อื่นต่อ ก็ขอให้เกิดในที่ดีๆ มีโอกาส สร้างสมบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด
เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ ก็ยังมีโอกาสหนีพญายม ท่านว่าจริงไหม
Cr. อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๑
นึกถึงบุญ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:20
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: