ความจริงก็คือความจริง
ในปี
พ.ศ. ๒๔๘๘ สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสงบลงใหม่ๆ ตัวเมืองราชบุรีที่ข้าพเจ้าเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนสตรีประจําจังหวัดเสียหายมาก
บิดาของข้าพเจ้าจึงย้ายข้าพเจ้าให้ไปเรียนอยู่ในโรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่งที่อําเภอโพธาราม
โดยอาศัยอยู่ที่บ้านญาติห่างๆ คนหนึ่งในหมู่บ้านใกล้ตัวอําเภอ ต้องเดินทางด้วยเท้าจากบ้านไปโรงเรียนประมาณ
๒ กิโลเมตร
ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าต้องออกจากบ้านระเหเร่ร่อนอาศัยคนโน้นคนนี้อยู่เพื่อศึกษาเล่าเรียนทั้ง
๑๕ ปีนั้น มีบ้านญาติที่อําเภอโพธารามแห่งนี้
เป็นที่อยู่ที่คับแค้นทุกข์ยากลําบากที่สุดในชีวิต ญาติผู้ใหญ่ห่างๆ ที่อาศัยอยู่ด้วยเป็นหญิงม่ายอายุประมาณเกือบ
๖๐ ปี ลูกชายคนโตเรียนฝึกหัดครูอยู่ในกรุงเทพฯ ลูกสาววัยรุ่นอายุ ๑๗-๑๘ ปี
อยู่บ้านไม่ได้เรียน ลูกชายคนเล็กอายุ ๙ ขวบ เรียนอยู่ประถมปีที่ ๓
ส่วนข้าพเจ้าเวลานั้น ๑๐ ขวบเศษ
ทุกเดือนบิดาของข้าพเจ้าจะนําข้าวสาร
เงินค่ากับข้าว และค่าอาหารกลางวันของข้าพเจ้า
รวมทั้งน้ำมันก๊าดสําหรับให้ข้าพเจ้าจุดตะเกียงดูหนังสือตอนกลางคืนอีก ๔ ขวด
(สมัยนั้นน้ำมันก๊าดมีราคาแพงมาก และไม่มีขายตามท้องตลาด ต้องซื้อโดยวิธีปันส่วน
บิดาของข้าพเจ้าเป็นครู ทางราชการให้โควต้าพิเศษ) ไปมอบให้ญาติผู้นั้น ทุกครั้งที่พ่อไปเยี่ยม ข้าพเจ้าไม่สามารถพูดคุยสิ่งใดกับพ่อตามลําพังได้เลย
ญาติดังกล่าวจะให้ลูกสาวหรือไม่ก็ลูกชายตามนั่งใกล้ข้าพเจ้าตลอดเวลา เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าบอกทุกข์ร้อนต่อบิดา
ตลอดปีที่อยู่ที่นั่น
ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับค่าอาหารกลางวันที่บิดาฝากไว้ให้ ต้องอดอาหารกลางวันทุกวัน
เวลาเพื่อนหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน ข้าพเจ้าจะแอบไปดื่มน้ำที่ก๊อกน้ำ
ถ้าหิวมากท้องร้องจ๊อกๆ หูอื้อตาลาย ข้าพเจ้าก็จะแอบเก็บยอดกระถินที่รั้วหน้าโรงเรียน
หรือลูกพุทราสุกเปรี้ยวๆ ริมทางเดินข้างถนนกินประทังความหิว
ตอนเย็นเมื่อมาถึงบ้านพักจะต้องรีบไปตักน้ำรดน้ำผัก
ประมาณไม่ต่ำกว่า ๔๐ กระป๋อง ใช้เชือกผูกกระป๋องหย่อนลงไปในบ่อน้ำลึกประมาณ ๘ เมตร
ดึงขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าจะครบ ๔๐ กระป๋อง ก็เหน็ดเหนื่อยแทบขาดใจ
วันใดมีฝนตกลงมาก็ถือว่าวันนั้นเทวดาโปรดข้าพเจ้าเป็นพิเศษ
ผักที่ปลูกส่วนมากเป็นมันเทศ ข้าวโพด ถั่วลิสง
หลังจากนั้นต้องมาใช้มีดบางเล่มใหญ่มาก ค่อยๆ หั่นต้นกล้วยเพื่อเลี้ยงหมู ถ้าเป็นต้นเล็กต้องหั่นพร้อมกันทีละ ๒
ต้น ถ้าต้นใหญ่ก็หั่นทีละต้น หั่นให้บางที่สุดเท่าที่จะทําได้
แล้วนําไปใส่ครกโขลกให้ละเอียดขยําปนกับรําและน้ำ นําไปเลี้ยงหมูอีกสิบกว่าตัว
สําหรับตุ่มน้ำใช้ในบ้าน ๓ ตุ่ม ก็ต้องคอยหมั่นตรวจดู
ถ้าเห็นพร่องไปมากต้องรีบตักเติมให้เต็มไว้ มิฉะนั้นจะถูกทั้งแม่ และลูกสาวด่า
ข้าพเจ้าใช้คําว่า “ด่า” เพราะเขาด่าจริงๆ เรียกข้าพเจ้า
ว่า “อี” ทุกคํา
ซึ่งทุกครั้งที่ได้ยินเหมือนมีดกรีดกลางใจ เพราะเมื่อข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ไม่เคยมีใครเรียกข้าพเจ้าดังนี้
ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือผู้คนในหมู่บ้าน ทุกคนจะเรียกว่า “หนู” ส่วนที่นี่ถ้าทํางานไม่ทันใจจะถูกด่าว่า “อีขี้เกียจ” “อีผู้ดี” “อีช่างเลี่ยง”
ระหว่างที่ข้าพเจ้าเลี้ยงหมู
แม่ลูกทั้งสามคนก็จะรับประทานอาหารเย็น เมื่อข้าพเจ้าเสร็จงานแล้วจึงมากินข้าว
กับข้าวที่เหลือจึงเป็นชนิดเหลือเดนแท้ๆ ถ้าเป็นปลาทูก็จะเหลือเป็นหัวปลาล้วนๆ ๓-๔
หัว ถ้าเป็นแกงเนื้อก็จะเหลือแต่มะเขือจริงๆ ไม่มีเนื้อหมูหรือปลาเลย
ยังดีที่มักมีน้ำพริกก้นถ้วยติดไว้ให้ทุกมื้อ ข้าพเจ้าพอได้อาศัยเก็บมะเขือขื่น มะเขือเปราะมาจิ้มกินเป็นกับข้าวแกล้มกับหัวปลา
ก็พอกินข้าวได้ลงเพราะความหิวทุกเย็น สําหรับแกงหรือขนมที่ลูกสาวของเขาทํากินกันเป็นพิเศษ
เขาจะเก็บใส่ไว้ในกระจาด แล้วผูกเชือกชักรอกไว้ในที่สูงเกินกว่าที่ข้าพเจ้าจะนำลงมากินได้
ตกค่ำข้าพเจ้าไม่มีตะเกียงทําการบ้าน
เขาจะจุดให้เฉพาะลูกชายคนเล็กของเขา ทําการบ้านอยู่ในเรือนใหญ่
ส่วนข้าพเจ้าไม่ได้รับอนุญาตให้นอนในบ้าน
เขาให้มานอนในครัวซึ่งต่อออกมาเป็นเพิงอยู่ท้ายเรือน ไม่มีฝา ตกกลางคืนเดือนมืด
มองไปทางใดก็มีแต่ความมืด มีดาวเป็นประกายระยิบระยับอยู่แสนไกล
กลัวหนักเข้าก็ต้องนอนคลุมโปง ถ้าเดือนหงายก็พอมองเห็นต้นหมากรากไม้ตะคุ่มตะค่ำก็น่ากลัวพอกัน
ต้องคลุมโปงทุกคืน เวลาฝนตกฝนก็สาดละอองเปียกชื้นไปทั่วทิศ
เวลาลมหนาวพัดมาก็หนาวยะเยือกสั่นสะท้าน
เช้ามืดประมาณตีสี่
ข้าพเจ้าจะต้องลุกขึ้นหุงข้าวด้วยหม้อดินและไฟฟืน ไม่กล้าใช้ไม้ขีดของเจ้าของบ้าน
เพราะไม้ขีดในเวลานั้นมีราคาแพงมากเหมือนน้ำมัน ข้าพเจ้าจะนํา “ไต้” เป็นท่อนยาวๆ
ห่อด้วยใบไม้แห้ง ข้างในมีเศษไม้ผุๆ คลุกกับน้ำมันยาง นําไปต่อเปลวไฟจากบ้านใกล้เคียง
ซึ่งตื่นหุงข้าวพร้อมกัน อาหารเช้าของข้าพเจ้าคือข้าวกับน้ำพริกก้นถ้วยเป็นประจํา
เพราะหัวปลาทูมักจะหมดไปแล้วตั้งแต่วันวาน แล้วรีบไปโรงเรียน
ทุกเช้าเมื่อครูประจําชั้นซึ่งเป็นผู้ชายถามว่า
“วันนี้นักเรียนคนไหนไม่ได้ทําการบ้านมามั่ง” ก็จะมีข้าพเจ้ายกมือขึ้นเจ้าประจํา
เพื่อนๆ จะหัวเราะเยาะขบขันกันครื้นเครง ครูเองก็ไม่เคยถามถึงสาเหตุว่าทําไมไม่ทํา
ข้าพเจ้าถูกเรียกออกไปหน้าชั้น ถูกตีก้นด้วยไม้เรียวยาวๆ เต็มเหนี่ยว ๓ ทีทุกเช้า
เพื่อนก็หัวเราะชอบใจ รอยเจ็บจากไม้เรียวพอทนได้ เจ็บตอนถูกตีพักเดียวก็หายไป
แต่รอยเยาะเย้ยของเพื่อนเจ็บช้ำไม่จาง ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีแก้เผ็ดโดยต้องเรียนให้เก่งกว่าพวกเขา
ตอนกลางคืนจึงต้องใช้วิธีทําเป็นนอนคลุมโปงแต่หัวค่ำ ที่แท้เอาผ้าห่มคลุมหมอนไว้
แล้วปีนลงทางคอกวัว ไปขออาศัยไฟตะเกียงที่ลอดลงมาทางใต้ถุนของบ้านอื่นที่เขานั่งแกะเม็ดมะขามออกจากฝักเพื่อทําการบ้าน
ถ้าคืนใดถูกใช้ให้ล้างผลละมุดอีกเป็นกระบุงๆ
จนดึก ก็จะต้องใช้วิธีทําการบ้านด้วยแสงไฟที่เตาหุงข้าวตอนตีสี่
การล้างละมุดนี้ต้องใช้มือถูลูกของมันในกระป๋องน้ำ จะใช้เศษผ้าหรือกาบมะพร้าวไม่ได้เพราะผิวของมันจะเสีย
คืนหนึ่งๆ บางทีต้องล้างถึง ๒-๓ กระบุงใหญ่ มือของข้าพเจ้าทั้งตักน้ำ หั่นหยวก
ล้างละมุด จึงหยาบและสากกร้าน บ่าก็เป็นรอยหนาเพราะแรงกดของไม้คานตั้งแต่อายุยังไม่ครบ
๑๑ ปี แต่ท่านจะเชื่อหรือไม่ถ้าข้าพเจ้าจะบอกว่า
ละมุดที่บ่มนั้นไม่ว่าจะผ่านไปกี่โอ่งก็ตาม เจ้าของจะนําไปขายที่ตลาดจนหมด
ข้าพเจ้าไม่เคยได้ชิมเลยแม้แต่ผลเดียว มีชีวิตไม่แตกต่างกับทาสจริงๆ
เหตุการณ์ที่จําได้ไม่มีวันลืมคือ
กลางวันวันตรุษจีนวันหนึ่งมีญาติผู้ชายหลายคนมาเยี่ยมเจ้าของบ้าน
พวกเขาสูบบุหรี่มวนด้วยใบจากกันทั้งวัน จนเย็นจึงลากลับกันไป
คืนนั้นเมื่อลูกชายคนเล็กของเขาจะจุดตะเกียงเพื่อทําการบ้าน
(น้ำมันตะเกียงนั้นบิดาของข้าพเจ้านำมาให้ไว้ แต่ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิ์ใช้)
ปรากฏว่าไม้ขีดหมดกล่อง เสียงแม่และลูกสาวส่งเสียงด่าท่อข้าพเจ้าเอ็ดอึงไปหมดทั้งบ้าน
ข้าพเจ้ารีบเอาผ้าห่มคลุมโปงนอนตัวสั่นด้วยความหวาดกลัว
เมื่อชาวบ้านใกล้เคียงได้ยิน ก็พากันมาซักถามเรื่องราว
ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่ากลั่นแกล้งให้เขาพินาศล่มจมโดยขีดไม้ขีดทิ้งเล่นจนหมดกล่อง ถ้อยคําที่ด่าทอนั้นเหมือนมีดกรีดลงไปกลางใจ
ข้าพเจ้าร้องไห้
เจ็บปวดไปหมดทั้งกายและใจ
“อีเด็กฉิบหาย อีเด็กล้างผลาญ อีเด็กอัปรีย์ มันแกล้งกู ฯลฯ”
ข้าพเจ้ามิได้ขีดไม้ขีดเล่นจนหมดกล่อง
กล่องไม้ขีดก็ไม่เคยเห็นว่าอยู่ไหน
ท่าทางเกรี้ยวกราดโกรธแค้นที่แม่และลูกสาวคู่นั้นแสดงออก ข้าพเจ้ากลัวจนจับใจ
คิดว่าการโกรธถึงขนาดนั้นจะชี้แจงอย่างไรก็คงไม่มีใครเชื่อ
ข้าพเจ้านอนนึกถึงพ่อแม่ น้ำตาอาบหน้า คิดถึงท่านทั้งสองเหมือนหัวใจจะขาดรอน
พ่อแม่ไม่เคยด่าว่าข้าพเจ้าด้วยถ้อยคําที่น่าขยะแขยงพวกนี้ ข้าพเจ้าทําของๆ
ท่านเสียหายมากกว่าไม้ขีดกล่องเดียวนี่เป็นไหนๆ ทําถ้วยชามแตก ทําหม้อข้าวแตก
ทําโอ่งแตก พ่อแม่ไม่เคยดุว่าสักคําเดียว เพียงแต่เตือนให้ระวังเท่านั้น
จะด้วยอานุภาพนึกถึงบิดามารดาหรืออย่างไรก็เหลือเดา
น้านีผู้หญิงสาวใหญ่คนบ้านใกล้ กลับมาถึงบ้านของเขาในเวลานั้นพอดี
เห็นผู้คนมามุงอยู่ที่บ้านที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ ฟังญาติของข้าพเจ้าพูด
ถ้อยคําไม่จริงต่างๆ
“มันแกล้งขีดไม้ขีดเล่นให้หมดกล่อง มันแกล้งทํากระป๋องตกลงในบ่อ
มันแกล้งเปิดคอกให้หมูหลุดออกจากเล้า มันแกล้ง ฯลฯ”
ข้าพเจ้าได้แต่เถียงในใจว่า
ไม่จริง ไม่จริง ไม่จริง ข้าพเจ้าไม่ได้แกล้ง ของไม่จริง ทําไมเขาจึงพูดได้เป็นตุเป็นตะ
กล่าวโทษข้าพเจ้าพร้อมคําด่าทอไม่มีชิ้นดี ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะมองหน้าผู้คนในหมู่บ้านนี้ได้อย่างไร
ใครๆ คงเชื่อกันทั้งหมดเพราะเป็นคําพูดของผู้ใหญ่ ใครจะเชื่อคําพูดของเด็กอย่างข้าพเจ้า
ไปโรงเรียนเพื่อนก็เห็นเป็นตัวตลกถูกตีหน้าชั้น อยู่บ้านเพื่อนบ้านก็เห็นเป็นเด็กนิสัยเลว หัวใจเล็กๆ ตอนนั้นเหมือนถูกบีบแทบแตกดับ
เหมือนบุญที่เกิดจากการนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่มาช่วย
น้านีผู้ที่ข้าพเจ้าไปขอต่อไฟจากเขาทุกเช้า เดินปราดมาที่กลุ่มคนซึ่งยืนฟังคํากล่าวมุสาประจานอยู่นั้น
ได้ส่งเสียงขึ้น เป็นเสียงที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมไปจากความทรงจําเลย
และคงไม่ลืมไปจนชั่วชีวิต
“นี่น้า... หยุดพูดโกหกเสียที ด่าเด็กด้วยเรื่องโกหกทั้งเพ ข้าอยู่บ้านใกล้ที่สุดนะ
ข้าเห็นหมดทุกอย่าง น้าใช้งานเด็กทารุณแค่ไหน เรื่องไม้ขีดอะไรนั่นเด็กคนนี้มันไม่เคยใช้
มันบอกว่าไม่เคยเห็นเลยว่าน้าเก็บไว้ที่ไหน มันเอาไต้มาต่อเปลวไฟจากข้าไปหุงข้าวทุกเช้า
มันจะแกล้งใช้ไม้ขีดได้ยังไง ในเมื่อกล่องไม้ขีดมันก็ไม่เคยเห็น วันนี้ข้าเห็นญาติน้ามาสูบยากันควันโขมง
ใช้อะไรจุดล่ะ นี่พวกเราทุกคนอย่าเชื่อน้า... นี่นะ โกหกทั้งนั้น ตอนเย็นข้าเห็นนะ
ให้เด็กมันทํางานหนักเกินตัวทั้งตักน้ำ เลี้ยงหมู ล้างละมุด แล้วให้มันกินข้าวกับหัวปลาทูทุกวัน
วันนี้ข้าเหลืออดเหลือทนจริงๆ มันมากไป !”
เสียงแม่ลูกคู่นั้นเงียบกริบลงทันทีไม่โต้เถียงอะไร
เข้าบ้านเงียบ ผู้คนแยกย้ายกันไปบ้านของตน ยังได้ยินเสียงสตรีผู้นั้นชี้แจงต่อคนอื่นอยู่แว่วๆ
ข้าพเจ้าลุกขึ้นนั่งในความมืด ใจนั้นอยากจะไปกราบขอบพระคุณให้แทบเท้า แต่ไม่กล้าลงจากบ้าน
ทั้งที่ตัวเนื้อยังสั่นเทาอยู่ข้าพเจ้าก้มกราบลงบนหมอน
“น้านี หนูขอบคุณที่สุดค่ะ หนูจะไม่ลืมพระคุณของน้าเลยที่ช่วยอธิบายให้ชาวบ้านฟัง
น้าเป็นคนพูดตามความจริง หนูรักน้ามาก น้านีขา หนูขอบพระคุณมากนะคะ”
ด้วยอายุเพียง
๑๑ ขวบ ข้าพเจ้ารู้รสชาติของการพูดมุสา และผรุสวาทของคน มันเจ็บช้ำน้ำใจ เสียใจ
ยิ่งอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชี้แจงแก้ตัวได้ ให้ความขมขื่นเผ็ดร้อน
จึงทําให้ข้าพเจ้าตั้งใจไว้แต่บัดนั้นว่า เรื่องอย่างนี้เราจะไม่ทําต่อใครๆ
เป็นอันขาด
เมื่อบิดามาเยี่ยมข้าพเจ้า
ญาติผู้นั้นยังกล่าวมุสาต่อหน้าข้าพเจ้า ว่าเขาให้การเลี้ยงดูข้าพเจ้าเป็นอย่างดี
ให้เงินไปโรงเรียนถึงวันละ ๑๕ สตางค์ (ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์) ทั้งที่ไม่เคยให้เลย
ไม่เคยใช้งานสิ่งใด ข้าพเจ้าเป็นเด็กดีอย่างนั้นอย่างนี้
หยุดเทอมปลายข้าพเจ้ากลับบ้าน
แม่ลูกคู่นั้นอ้อนวอนให้กลับมาอยู่กับเขาอีก เขาจะดีต่อข้าพเจ้าทุกอย่าง
ข้าพเจ้านิ่งเงียบไม่รับปาก ใครจะกล้าคิดกลับมาตกนรกต่อ เมื่อแม่เห็นข้าพเจ้ายังไม่ทันซักถามถึงความเป็นอยู่
เพียงเห็นสารรูปของลูกเท่านั้น แม่ก็รู้ทุกอย่างหมดสิ้น
แม่ดึงข้าพเจ้ากอดกับอกไว้แน่น ปากก็รําพันว่า
“โธ่ลูกเอ๋ย ทําไมผอมดําจนตัวเกร็งยังงี้ อดมากหรือลูก ผอมหัวโตเลย”
แม่หันหน้าไปทางพ่อพูดเสียงเฉียบขาดว่า
“พี่ ชั้นไม่ให้พี่เอาลูกไปอยู่กับญาติคนนี้ของพี่อีกแล้วนะ ดูซีเลี้ยงลูกเราหุ่นเหมือนเด็กขอทานเลย
มือไม้หยาบกร้าน นี่ต้องใช้งานหนักเต็มที่ ดูบ่าซี ด้านจนหนังดําหนา ไม่รู้ตักน้ำวันละกี่สิบหาบ”
แม่พูดแล้วก็กอดข้าพเจ้าร้องไห้รําพันไปตามความรักความห่วงใยของท่าน
เด็กๆ
คนใดก็ตามที่อ่านมาถึงความลําบากของชีวิตข้าพเจ้าในตอนนี้ ที่ต้องอดทนต่อความลําบากทุกข์ยากเพื่อเรียนหนังสือแล้ว
ถ้าท่านมีชีวิตที่สบายกว่าผู้เขียน ขอให้ใช้โอกาสอันนั้นตั้งใจเล่าเรียน บางคนมีความสุขสมบูรณ์พร้อมมูล
มีที่อยู่อาศัยอย่างดี มีรถรับส่งไม่ต้องเดินทางเอง มีอาหารการกินเพียบพร้อม
ไม่ต้องทํางานใดๆ เลย มีหน้าที่เพียงเรียนหนังสืออย่างเดียว แถมครูก็ยังใจดีไม่เคยดุเคยตี
ได้โอกาสวิเศษยิ่งกว่าผู้เขียนเป็นพันเป็นหมื่นเท่า ควรตั้งใจเล่าเรียนให้ดีที่สุด
ในเวลาที่กําลังอดอยากมากที่สุดที่เล่าแล้ว
ปัญญาคิดช่วยตนเองก็พอมีอยู่ เลิกเรียนแล้วตอนเดินทางกลับบ้าน ข้าพเจ้าจะไปที่ต้นข่อยใหญ่ใกล้ทาง
ใครๆ ก็ลือว่าผีที่ต้นข่อยดุมาก ไม่มีใครกล้าเดินเข้าใกล้
เพราะเคยมีผู้หญิงผูกคอตายที่นี่ เมื่อไม่มีใครไปใกล้ ลูกข่อยก็มีเต็มต้นจนถึงดิน
ข้าพเจ้าก็ยกมือไหว้ไปที่ต้นข่อย บอกผีว่า
“หนูหิวข้าว ไม่มีกิน อดมาก ถ้าต้นข่อยนี้มีผีเฝ้าอยู่ ผีเองก็ไม่กินลูกข่อย
ขอให้หนูกินหน่อยเถิดจ้ะ”
ผีจะมีหรือไม่ก็ตามใจ
แต่ข้าพเจ้าก็กินลูกข่อยได้ทุกวัน หมดหน้าลูกข่อยออกลูก ข้าพเจ้าก็เก็บมะขามหล่น
มะม่วงหล่นกินไปตามเรื่อง นอกจากนั้นเมื่อไม่มีอะไรหล่นให้กิน
ก็เข้าไปในสวนละมุดของญาตินั้นเอง มีฝรั่งป่าอยู่หลายต้นพอได้เก็บกิน
พอเดินผ่านต้นละมุด ข้าพเจ้าล้างผลละมุดจนชํานาญ สังเกตผิวลูกละมุดเป็น ลูกไหนแก่จัดข้าพเจ้าดูออก
เมื่อไปจับก็จะพบว่ามันแก่จนสุกทุกที ก็ได้อาศัยเก็บกินวันละ ๓-๔ ลูก จึงพอไม่อด
หรือต้นชมพู่มีดอกที่โคนต้น ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิ์กินลูกบนต้น
ข้าพเจ้าก็เอาไม้ไผ่ที่วางพิงโคนต้นมาวางปิดๆ ดอกตรงโคน ทิ้งไว้พอลืมๆ ๒-๓ อาทิตย์
ไปเปิดไม้ดูก็ได้ชมพู่ลูกงามๆ กินเป็นพวง กินขณะที่เลี้ยงอาหารหมูนั่นแหละ
เพราะต้นชมพู่อยู่หน้าเล้าหมู แม้จะหากินเก็บกินเองตามประสาปัญญาเด็ก
ก็เป็นเพียงแก้โหย จะให้อิ่มเต็มไปทุกวันเป็นไปไม่ได้ จำได้ว่าครั้งนั้นความไม่มีที่พึ่ง
ข้าพเจ้าพึ่งกระทั่งพระจันทร์ วันใดพระจันทร์เต็มดวง ข้าพเจ้าจะเดินไปยืนมอง
ยกมือไหว้ ขอให้พระจันทร์ช่วยพาข้าพเจ้าไปจากที่นั่น
มีบางคืนได้กินขนมอร่อยพิเศษเช่น
ข้าวตู กล้วยแขก เพราะมีหนูมันขโมยขนมพวกนี้ที่ลูกสาวเจ้าของบ้านทําและเขาชักรอกซ่อนไว้เหนือศีรษะไม่ให้ข้าพเจ้ามองเห็น
ขณะที่มันคาบวิ่งไต่ไปตามเพดานมันก็แย่งกัน กัดกินเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว ก้อนขนมก็หลุดลงมาที่พื้นครัว
ข้าพเจ้าจําทิศทางเสียงขนมตกได้ ก็ใช้มือคลําๆ ไปตามความมืดหยิบขึ้นมากิน
บางทีได้ถึง ๒-๓ ชิ้น ชื่นใจแท้เชียว กินขนมแล้วก็คลานไปที่ตุ่มน้ำ กินน้ำตาม
ไม่สนใจว่าจะมีเชื้อโรคจากหนูหรือไม่ อดอยากขนาดนั้น นี่เพราะในอดีตชาติเวลาทําบุญสุนทาน
เจตนาก่อนลงมือกระทําไม่บริสุทธิ์ คืออาจไม่เต็มใจทํา มีความเสียดาย เกิดชาตินี้จึงอดมากในวัยเด็ก
ตรงนี้เล่าแถมไว้ให้เด็กๆ อ่าน ให้รู้ว่าถ้าไม่ทําทานไว้จะอดหิวอย่างนี้
อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๒ บทที่ ๑๙
ความจริงก็คือความจริง
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:18
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: