คิดได้เมื่อสาย
การเข้าสิงร่างมนุษย์นั้นมีอยู่
ทําได้จริง แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่มนุษย์หลอกลวงกันเอง ที่เห็นๆ กันอยู่ทั่วๆ ไป
ในบ้านเมืองเราขณะนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
ประเภทที่หนึ่ง พวกเข้าจริง
ประเภทที่สอง เข้าหลอก
คือมนุษย์หลอกลวงกันเอง
ประเภทที่สาม
บางครั้งจริงบางครั้งหลอก
“ผีที่มาเข้าร่างมนุษย์มาจากสัตว์ในภูมิไหนบ้าง?”
ถ้าจะมีใครถามข้าพเจ้าดังนี้ ข้าพเจ้าขอตอบตามประสบการณ์ต่างๆ ของตนเองที่พบมาตั้งแต่เด็กจนขณะนี้ด้วย ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากตำรับตําราและประสบการณ์การพบเห็นผีของผู้อื่น และจากธรรมภาคปฏิบัติทั้งของตนและผู้อื่น พอประมวลตอบโดยสรุปว่ามีอยู่ ๔ พวก คือ เปรต อสุรกาย ยักษ์ เทวดาชั้นต่ำ
ถ้าจะมีใครถามข้าพเจ้าดังนี้ ข้าพเจ้าขอตอบตามประสบการณ์ต่างๆ ของตนเองที่พบมาตั้งแต่เด็กจนขณะนี้ด้วย ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากตำรับตําราและประสบการณ์การพบเห็นผีของผู้อื่น และจากธรรมภาคปฏิบัติทั้งของตนและผู้อื่น พอประมวลตอบโดยสรุปว่ามีอยู่ ๔ พวก คือ เปรต อสุรกาย ยักษ์ เทวดาชั้นต่ำ
มาถึงตอนนี้บางท่านอาจแย้งขึ้นมาทันทีทันใดว่าพวกเทพชั้นสูงก็เข้าได้
ยังพวกพรหมอีก พวกเทวดาที่เป็นพระโพธิสัตว์อีก เอาละ ไว้เราค่อยมาคุยกันในเรื่องต่อไป
ตอนนี้ข้าพเจ้าขอคุยเรื่องเปรตที่เข้าสิง ร่างคนที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ผีปอบก่อน
สมัยนั้นข้าพเจ้ามีอายุราว
๙ ขวบ จําได้ว่าเป็นเวลาปิดภาคเรียนเทอมปลาย กลับมาพักอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ คืนหนึ่งตอนหัวค่ำ
แม่พูดกับข้าพเจ้าว่า
“คืนนี้พ่อไปประชุมที่วัดเพราะเป็นกรรมการของวัดอยู่
ทางวัดจะจัดงานสงกรานต์ แม่ก็จะไปเยี่ยม “ทุเรียน”
มันหน่อย เจ็บหนักมาเป็นเดือนแล้ว ใครๆ
เค้าพูดกันว่าผีปอบเจ้าเพชรมันกินอยู่ตัวทุเรียนจริงๆ น่ะตายไปหลายวันแล้ว
หนูจะอยู่บ้านหรือไปกับแม่”
ข้าพเจ้าครุ่นคิด
ไม่ชอบใจเลย ไปกับพ่อก็ง่วงนอน ไปกับแม่ก็กลัวผี คําว่าผีปอบกิน ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาหลายรายแล้วในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่นั้น
พอมีคนเจ็บหนักกันบ้านไหนก็บ้านนั้น ไม่มีใครนําคนไข้ไปโรงพยาบาลสักรายเดียว
เพราะโรงพยาบาลอยู่ในเมือง ถนนหนทางไม่มี ต้องใช้เรือพายเรือแจว
เสียเวลาไปมาเป็นวัน จึงใช้วิธีรักษาด้วยยาหม้อ ยาต้ม
และน้ำมนต์ในกรณีที่สงสัยว่าผีเข้า
ผีปอบกิน ก็หมายถึงคนไข้นั้นเจ็บหนักหรือบางทีตายไปแล้ว
แต่มีผีชนิดหนึ่งเข้าสิงร่าง ใช้ร่างนั้นแทน ใช้ปากคนเจ็บพูดแทนว่าอยากกินอะไร จะเอาอะไร
ขู่เข็ญให้ญาติพี่น้องลูกหลานหามาให้กิน ผีปอบบางตัวชอบของสดๆ คาวๆ เป็ดไก่เป็นๆ
เชือดเอาเลือดสดๆ มาให้กิน รวมทั้งสุราอาหารกับแกล้มอื่นๆ พอได้ของถูกใจบริโภค
คนเฝ้าไข้จะมองเห็นคนไข้หลับสบาย ไม่มีอาการทุรนทุรายไปได้ครั้งละ ๒-๓ วัน
แล้วก็ลืมตาตื่น มีอาการเจ็บปวดจะเป็นจะตายขึ้นมาอีก ร้องขอโน่น ขอนี่กินต่อไปใหม่
ทีนี้ผิดสังเกตมากเข้าชาวบ้านก็มักจะไปปรึกษาหลวงพ่อสมภารที่วัดประจําหมู่บ้าน
หลวงพ่อท่านก็จะมาทําน้ำมนต์ช่วยไล่มันออกไป พอผีออกไปแล้วอีกไม่นาน
ไม่ใคร่เกินวันสองวัน คนไข้ก็จะตาย แต่บางตัว มันก็ร้ายกาจ หลวงพ่อมาไล่มันก็ไม่ออก
มันเถียงว่า
“กูไม่กลัว
ไอ้สมภาร...(ออกชื่อ) มันถือศีลไม่บริสุทธิ์”
บางทีก็แจงเสียด้วยว่าผิดศีลข้อใดบ้าง
มีเรื่องสีกากับเรื่องใช้เงินสงฆ์เป็นส่วนตัว นี่แหละเรื่องใหญ่
ทีนี้พอพระภิกษุท่านรดน้ำมนต์ที่เสกเป่าด้วยคาถาพุทธคุณบ้าง ท่านหวดด้วยหวายเสกบ้าง
(พระสมัยนั้นชอบเรื่องเดรัจฉานวิชา) ผีก็ผีเถอะ มันก็ออกจากร่าง แต่ออกชั่วคราว
พอพระภิกษุท่านกลับวัดแล้ว มันก็เข้าสิงใหม่
ทีนี้พอญาติพี่น้องที่รักษาคนไข้ต้องหาเงินมาซื้อของให้ผีกินนานเข้า
เริ่มจะหมดตัวเพราะผีเล่นกินแต่ของดีๆ แพงๆ ทั้งนั้น และกินบ่อยถี่เข้าทุกที
และถ้าบังเอิญคนไข้ตายลงพอดี ของกินไม่มีอีก ผีก็จะเข้าสิงประจําอยู่ในร่างทันที
ไม่ใช่เข้าๆ ออกๆ เหมือนตอนยังไม่ตาย ต่อจากนั้นมันก็จะกินอวัยวะภายในของศพจนหมด
ตับปอดหัวใจลําไส้ ฯลฯ ที่เรียกว่ากินนี้ กินแบบผี คือกินของละเอียดอย่างที่พูดไว้แล้วนั่นแหละ
ตอนกำลังกินอยู่ ผีก็จะยังสิงให้คนเจ็บเคลื่อนไหวได้บ้าง เช่น ลืมตา ขยับมือ หายใจ
ฯลฯ เหมือนยังไม่ตาย แต่พอกินหมด เรียกว่าศพหมดรสแล้ว (อาจใช้เวลาถึง ๓-๕ วัน)
ผีก็จะออกจากซากศพ ตอนนี้ญาติพี่น้องก็จะรู้ว่าตายเพราะไม่หายใจ แต่จะพบความแปลกประหลาดกว่าศพธรรมดามาก
ตรงที่ศพจะเน่าขึ้นอืดและมีกลิ่นเหม็นตลบตามสภาพที่ตายมาแล้วจริงว่ามีจํานวนกี่วัน
ไม่ใช่ศพที่เพิ่งตายในขณะนั้นตามที่หมู่ญาติเข้าใจ
ฝ่ายเจ้าผีตัวนั้นเมื่อออกจากศพดังกล่าวไปแล้ว
ถ้ามีคนป่วยถึงคราวจะต้องตาย (คือหมดบุญ) อยู่ที่บ้านใด ส่วนมากมักจะต้องเป็นญาติกับผี
ผีตัวนั้นก็จะไปเข้าสิงในคนป่วยรายใหม่ต่อ บางครั้งเวลาหลวงพ่อ มารดน้ำมนต์หรือหมอผีมาปราบ
ผียังพูดอวดโม้อีกว่าเมื่อตอนที่สิงอยู่กับคนนั้นคนนี้ได้กินของดีๆ อย่างไรบ้าง ตอนหลังที่กินคนเจ็บเอง
ผีก็จะพูดอวดอีกว่า
“ตับของ...(ชื่อคนตาย)
หวานอร่อยดีแท้ ไส้ของมันก็นิ่มดี ฯลฯ ”
ข้าพเจ้าคิดย้อนไปทั่วดังนี้
จึงพูดกับแม่ว่า
“ไม่ไปไม่ได้หรือแม่
หนูกลัว เดี๋ยวผีมันโดดจากคนเจ็บมาสิงเรานะแม่” พร้อมทั้งทําท่าหวาดกลัว
แม่หัวเราะแล้วตอบว่า
“กลัวก็อยู่บ้านซีลูก
ทุเรียนเค้าเป็นลูกศิษย์แม่ เจ้าเพชรมันก็ลูกศิษย์เหมือนกัน
พ่อกับแม่เป็นครูมันทั้งพี่ทั้งน้อง มันจะกล้าเป็นผีปอบกินครูทีเดียวหรือ
แล้วเราก็มีสายสร้อยห้อยพระคล้องคออยู่ ผีมันกลัวพระนะลูก”
แม่อธิบายถึงอํานาจพระพุทธคุณและบอกด้วยว่าผีเจ้าเพชรนั้นความจริงเป็นพี่ชาย
ทุเรียนเป็นน้องสาวสองคนพี่น้องนี่เป็นกําพร้าพ่อแม่ตั้งแต่วัยรุ่น อยู่กันด้วยการรับจ้างทํานาต่อมาเมื่อทุเรียนแต่งงานก็ให้ความสนใจสามีมาก
พี่ชายคือนายเพชรก็กลายเป็นเสเพล เล่นการพนัน ดื่มสุราเป็นอาจิณ
ไม่ยอมทํามาหากินอะไร อาศัยกินอยู่กับน้องสาว น้องสาวรู้สึกเบื่อหน่าย นานเข้าก็ทะเลาะกัน
ท้ายที่สุดน้องเขยซึ่งเป็นคนบ้านอื่นก็หนีหายไปไม่กลับ ยังดีที่ไม่มีลูกด้วยกัน
ทุเรียนมีความทุกข์ใจมาก พาลถือว่าพี่ชายเป็นสาเหตุให้สามีทอดทิ้งตน
จึงกินเหล้าประชดบ้าง ไปรับจ้างดํานาเกี่ยวข้าวได้เงินมาเท่าไรก็ซื้อเหล้าดื่ม
ดื่มแล้วก็ทะเลาะตบตีกันเป็นประจํา เสียงลั่นได้ยินกันทั้งหมู่บ้าน
มีความเป็นอยู่ด้วยความทุกข์กันมาดังนั้นเป็นปีๆ
ท้ายที่สุดนายเพชรตายก่อนด้วยความอดอยาก
ตายไปได้ประมาณไม่เกินเดือน ทุเรียนก็เจ็บไข้นอนซม ญาติพี่น้องผลัดกันมาเยี่ยม มีอาหารการกินสิ่งใดก็พอแบ่งมาให้กินบ้าง
ตรงข้ามกับตอนที่นายเพชรเจ็บไม่มีใครดูแล เพราะเห็นว่ามีทุเรียนน้องสาวดูอยู่แล้ว
ตอนนี้ที่พวกญาติเล่าลือกันว่านายเพชรเป็นผีปอบสิงอยู่ในร่างน้องสาว
เพราะบางครั้งคนเจ็บคือทุเรียนก็เผลอพูดเป็นเสียงนายเพชรออกมา เวลาขอของกินต่างๆ
จากผู้มาเยี่ยม
ข้าพเจ้าฟังแม่เล่าเรื่องของสองพี่น้องให้ฟังมีความรู้สึกว่า
สองคนคือผีนายเพชรกับน้องสาว นี้ไม่มีความดีในใจเลย พี่น้องทําไมไม่รักกัน ถ้าข้าพเจ้ามีน้อง
ข้าพเจ้าจะต้องรักน้องให้มาก เราจะเป็นพี่น้องที่ไม่ทะเลาะกัน เราจะเป็นพี่ที่ดี
ไม่ใช่พี่ขี้เมาเหมือนนายเพชร...
เมื่อแม่ยืนยันว่าจะต้องไปเยี่ยมให้ได้
เพราะอยากไปเห็นว่าทุเรียนลูกศิษย์ของแม่ตายแล้วหรือยัง
และอยากไปสั่งสอนผีนายเพชรบ้าง เกิดมาไม่ได้ทําความดีอะไร
แม่ของข้าพเจ้าห่วงใยลูกศิษย์เสมอ แม้ว่าจะเป็นผีไปแล้วก็ยังตามเป็นห่วง
ข้าพเจ้ามีความรู้สึกขึ้นมาในขณะนั้นทันทีว่า
“แม่เราเป็นคนดีเหลือเกิน ห่วงกระทั่งลูกศิษย์ผีๆ อย่างนี้ความดีต้องรักษาคุ้มครองแม่เรา
ไม่มีผีที่ไหนทําอันตรายได้แน่ แม่คงไปกลับได้อย่างปลอดภัย เราเป็นลูกของแม่ผี
ก็ต้องเกรงใจเหมือนกันเราก็ไม่ต้องกลัวผี”
คิดอย่างนี้แล้วข้าพเจ้าก็วิ่งตามแม่ไปไม่ลืมดูที่คอของตนเองและคอแม่ว่าใส่สร้อยแขวนพระที่คอเรียบร้อย
ข้าพเจ้าจับมือแม่ไว้แน่นขณะที่วิ่งบ้างเดินบ้างไปกับท่าน
ยิ่งใกล้บ้านคนป่วยก็ยิ่งรู้สึกหวาดหวั่น ทั้งที่เพิ่งพลบค่ำไปไม่นาน อีกประมาณ ๒oo เมตร จะถึงอยู่แล้ว ไม่มีลมพัดเลย ทุกอย่างเงียบสงบ
เราสองคนแม่ลูกต้องเดินลอดใต้ต้นชมพู่ใหญ่ที่มีใบดกครึ้ม ทันใดนั้นเองก็มีเสียงดังกราวติดต่อกัน
เหมือนคนขึ้นไปขย่มต้นชมพู่บนหัว ลูกชมพู่หล่นลงดินเสียงตุ้บตั้บ
บางผลก็ถูกตัวข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเงยหน้าขึ้นมอง
พอเห็นอยู่บ้างยังไม่มืดสนิท แต่ก็มองไม่เห็นว่ามีใครอยู่บนต้นไม้นั้น
“นี่เจ้าเพชร
ไม่ต้องมาแกล้งครูขานะ ครูจะมาเยี่ยมทุเรียนเค้า เราน่ะมาแกล้งน้องอยู่รึเปล่า”
คําว่า
ครูขา เป็นสรรพนามแทนชื่อมารดาของข้าพเจ้าอีกชื่อหนึ่ง
มีอยู่หลายครอบครัวที่ให้ลูกๆ ของเขาเรียกแม่ข้าพเจ้าว่า “ครูขา” และเรียกพ่อข้าพเจ้าว่า “ครูครับ” สมัยนั้นข้าพเจ้าไม่รู้สึกอะไร ตอนหลังๆ เมื่อข้าพเจ้าเติบโตขึ้น
มีความรู้สึกทุกครั้งที่มีคนเรียกพ่อแม่ด้วยถ้อยคําอย่างนี้ว่า
ช่างเป็นคําแทนชื่อที่น่ารักจริงๆ ในบ้านหลังเดียวกัน เมื่อสามีก็เป็นครู
ภรรยาก็เป็นครู เด็กๆ เลยเรียกเป็นครูขา ครูครับ แทนที่จะเรียกครูผู้หญิง
ครูผู้ชาย ซึ่งไม่เหมาะสมนัก แต่ชื่อหลังนี้ก็มีคนเรียกอยู่มาก
ในกรณีที่ผู้เรียกแก่กว่าพ่อแม่ข้าพเจ้า
แม่เงยหน้าขึ้นดูบนต้นชมพู่พร้อมกับส่งเสียงดุผีขึ้นไปดังที่กล่าวนั้น
แม่ไม่แสดงความหวาดกลัวอะไรเลย พลอยให้ข้าพเจ้าไม่รู้สึกกลัวตามไปด้วย
นี่เป็นความจริงอย่างยิ่ง ในการเป็นผู้นําคนเมื่อพบอุปสรรค ทุกข์ยากอันตรายใดๆ
ถ้าเราไม่ต้องการให้หมู่คณะหวาดหวั่น
ให้มีจิตใจองอาจเข้มแข็งมีความกล้าหาญคิดสู้แล้ว ผู้นําจะต้องทําเป็นตัวอย่างให้ดู
แม่เป็นตัวอย่างให้ข้าพเจ้าดูเสมอๆ
ในการทําหน้าที่ของครูที่ดี ท่านทําคุณสมบัติดังนี้ให้เห็นเป็นประจํา คือ
๑. ปิโย
เป็นผู้น่ารักน่าเลื่อมใส
๒. ครุ
เป็นผู้น่าเคารพ
๓. ภาวนีโย
เป็นที่น่าสรรเสริญ เช่น มีจิตเที่ยงธรรม ไม่ลําเอียงในหมู่ศิษย์
๔. วัตตา
เป็นผู้มีความสามารถในการอบรมลูกศิษย์ให้ดี
๕. วจนักขโม
เป็นผู้ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมทั้งของศิษย์
๖. คัมภีรัญจะ
กถัง กัตตา สามารถแสดงความรู้ที่ยากให้ง่ายได้
๗. อัฏฐาเน
โน จ นิโยชเย เป็นผู้เว้นจากการชักชวนให้ศิษย์ทําสิ่งไม่เป็นประโยชน์
แม้เพียงครั้งเดียวก็ไม่ทํา
คืนนั้นเมื่อไปถึงบ้านคนป่วย
จริงอย่างที่แม่คาดคะเนไว้ ผีนายเพชรอยู่ในร่างของน้องสาวจริงๆ ร่างคนป่วยพูดคุยกับแม่ด้วยสำเนียงผู้ชาย
อันเป็นเสียงของนายเพชร บอกแม่ข้าพเจ้าว่า
“ก่อนตาย
ผมหิวโหยอดอยากจริงครับครูขา ญาติพี่น้องก็พากันเกลียดชัง เห็นผมเป็นไอ้ขี้เมา
ไม่มีใครสงสารให้อะไรผมกินเลย ตอนนี้ผมฝังอยู่ในร่างทุเรียนมันก็พอได้กินมั่ง” ผีคุยกับแม่
“เพชรเอ๊ย
ไม่ใช่ครูไม่สั่งสอนนะเรื่องโทษของเหล้านะ ไหนมันจะทําให้เราเสียสุขภาพร่างกาย เสียเวลา
เสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง เสียคนดีที่เค้าจะมาคบด้วย เสียอนาคต
ครูสอนไว้ทุกอย่างเลย ตอนที่เธอยังไม่ตาย คนเค้าพากันเกลียดชังเธอไปทั่วหมู่บ้าน
ลูกเด็กเล็กแดงมันก็ไม่เคารพ แทนที่เด็กๆ มันจะเรียก พี่ อา น้า ลุง
มันเรียกกันแต่ว่า ตาเพชรขึ้เมา ตาเพชรขี้เมา วิ่งล้อเลียนเธอเป็นฝูงเลย
เธอก็ไล่ตีเด็กหกล้มหกลุก วิ่งไล่เด็กไม่ทัน เป็นตัวตลกยังงั้นทุกเย็นๆ
นี่มาเป็นผีก็ยังร้องขอเหล้าคนโน้นกิน คนนี้กิน ใครเค้าจะให้ เหล้ามันทําให้เป็นคนดีไม่ได้
มันก็ทําให้เป็นผีดีไม่ได้เหมือนกัน”
แม่ทําหน้าที่ครูของแม่ไม่สิ้นสุด
ลูกศิษย์ตายเป็นผีแล้วแม่ก็ยังตามสอน คนป่วยร้องไห้สะอึกสะอื้น
ความจริงเป็นเสียงร้องไห้ของนายเพชร
“ครูขาครับ
ผมตายแล้ว มันสายไปหมดทุกอย่าง
ผมไม่มีโอกาสแก้ตัวทําชีวิตให้มีคุณค่าอะไรๆ ขึ้นมาอีกเลย
ผมเสียใจที่ไม่ได้บวชให้พ่อแม่ เสียแรงเป็นลูกชายคนเดียวของท่าน
ท่านคงจะคอยรับส่วนบุญของผมอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ผมเลวจริงๆ
ตอนนี้ตัวเองก็จนหนทางแล้ว ทุเรียนมันก็ตายแล้ว
ผมคงจะอยู่ในร่างมันได้อีกไม่กี่วัน เพราะญาติๆ เค้ารู้กันแล้ว เค้าก็ไม่ให้อะไรกินอีก
ตอนเป็นคนเราอดอยากเรายังทํามาหากินได้ รับจ้างทํางานให้ใคร เขาก็ให้ค่าจ้างเรา
ตอนนี้ผมมาเป็นผีไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีงาน เป็นมนุษย์ไม่มีกิน อดมากเข้าๆ
มันยังรู้จักตาย แต่เป็นผีอดอยาก อย่างนี้หิวจนใจแทบขาด หิวรุนแรงร้ายกาจเท่าไรมันก็ไม่รู้จักตายครับครู
ครูช่วยผมด้วยนะครับ” ผีคร่ำครวญ
แม่ข้าพเจ้าฟังลูกศิษย์ผีรําพันแล้วรับปากว่า
จะไปปรึกษาท่านสมภารว่าจะทําบุญอย่างไรดี จึงจะทําให้ผีขี้เมาตัวนี้มีความเป็นอยู่สบายขึ้น
ให้คอยฟังข่าว
หลังจากนั้นญาติพี่น้องของคนทั้งสองและบิดามารดาข้าพเจ้า
ก็ได้ไปนมัสการปรึกษาหารือท่านสมภาร มีการทําบุญเลี้ยงพระกันทั้งวัด
คงจะเป็นสังฆทานอุทิศส่วนกุศลกันเป็นการใหญ่ แล้วก็ทํางานศพทุเรียนต่อ
เพราะในวันทําบุญนั้น ผีก็ออกจากร่างน้องสาว ไม่มีใครทราบว่านายเพชรไปเกิดที่ไหน
เพียงแต่หวังกันว่าคงจะอนุโมทนารับส่วนกุศลแล้วหายอดหายอยาก
ข้าพเจ้าถามแม่ว่า
“ถ้าผีพวกนี้กินศพคนตายจนไม่มีอะไรจะกินแล้ว
จะไปเข้ากินมนุษย์คนอื่นใหม่ได้หรือไม่”
“คนที่อยู่ในศีลในธรรม
คนที่มีความดีนะลูก ผีมันไม่กล้าไปยุ่งด้วยหรอก มันกลัว
คนที่ร่างกายยังมีกําลังวังชาแข็งแรง ผีก็ไม่ไปยุ่งด้วย มักจะเข้าสิงคนมีเคราะห์
คนที่ไม่ทําความดี และกําลังหมดบุญจะต้องตายน่ะ”
ฟังแม่พูดแล้วข้าพเจ้ารู้สึกรัก
ความดี ขึ้นมาจับใจความดีนี้เป็นของป้องกันผีได้ ในความคิดของเด็กๆ
ก็คิดออกแต่เพียงว่า ความดีคือ เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ดื้อ
ตั้งใจเรียนหนังสือ นึกว่ามีเพียงแค่นี้ ถ้ามากกว่านั้น
ก็คงเป็นการทําบุญกับพระที่วัด และตามความเป็นจริง
คนส่วนใหญ่ก็นึกในทํานองนี้เช่นเดียวกัน คือคิดกันว่า
บุญคือการใส่บาตรหรือบริจาคทาน กว่าจะรู้ว่าการทําบุญทําได้ถึง ๑๐ ประการ
(บุญกิริยาวัตถุ) ข้าพเจ้าก็มีอายุมากถึงยี่สิบกว่าปี ดังนั้นขณะนี้ เมื่อเห็นเด็กเล็กๆ
มาวัด พวกเขามีโอกาสรู้ว่าการทําบุญทําได้หลายวิธี แล้วก็ลงมือทําตามนั้น
ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมยินดีด้วยจริงๆ
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๑
คิดได้เมื่อสาย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:52
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: