บุญบริสุทธิ์

 ภาพจาก http://horoscope.sanook.com/

เคยมีคนพูดกับข้าพเจ้าบ่อยๆ ว่า

แหม อยากถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ๆ จัง จะได้เอาเงินไปทำบุญ ถ้ามีโอกาสชี้แจงข้าพเจ้ามักจะอธิบายให้เขาฟังว่า เงินล็อตเตอรี่เป็นเงินที่ได้มาจากการพนันชนิดหนึ่งนะคุณนะ ไม่บริสุทธิ์หรอก แต่แล้วก็มักจะได้ยินคําโต้แย้งกลับมาว่า

ไม่บริสุทธิ์ยังไง ไม่ได้ไปคดโกงใครเขามาสักหน่อย

มันเป็นเงินที่ได้มาจากความโลภจัดไงล่ะ มีอย่างหรือ ลงทุน แค่ ๑๐-๒๐ บาท แต่หวังจะให้ได้เงินจากคนอื่นเป็นแสนเป็นล้านบาท มันกี่เท่าตัวกันเล่า เป็นแสนๆ เท่าทีเดียว ค้ากําไรเกินควรขนาดไหน ทางธรรมเรียกว่า เป็นเงินที่ได้มาจาก โลภเจตนาแรงกล้า

อุตส่าห์อธิบาย อีกฝ่ายก็ยังแย้งว่า

ก็ได้มาตามกติกาแล้วนี่ น่าจะเป็นเงินบริสุทธิ์

เอ้าลองคิดดูใหม่ ค่อยๆ นึกตามไปนะ เวลาเราถูกล็อตเตอรี่น่ะ ทางสํานักงานสลากกินแบ่งเขาเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เรา

ก็เอาเงินที่คนซื้อสลากแต่ไม่ถูกไงละ

เอาจากกี่คนล่ะ

แล้วแต่ซี ถ้าถูกรางวัลใหญ่ๆ เช่น รางวัลที่หนึ่งยังงี้ ก็เท่ากับเอาเงินของคนมาเป็นแสนๆ คน ตีซะว่าคนเหล่านั้นซื้อกันคนละใบนะ

ตรงนี้แหละสําคัญนัก ลองคิดตามดูให้ดีนะ คนแต่ละคนที่เขาตั้งใจซื้อล็อตเตอรี่เหล่านั้นน่ะ เวลาเขาซื้อ เขาคิดยังไง อยากให้ตัวเองถูกหรืออยากให้คนอื่นถูก

ถามได้ แต่ละคนเขาก็คิดให้ตัวเองถูกกันทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครสักคนหรอกที่คิดจะให้คนอื่นถูก

ถ้ายังงั้น เวลาที่ทุกคนซื้อ ในใจของแต่ละคนมีกิเลสข้อ โลภะ เป็นเจ้าเรือนใช่มั้ย อีกฝ่ายเงียบ ข้าพเจ้าจึงอธิบายต่อไปว่า

นี่ไง เงินที่ได้จากการถูกล็อตเตอรี่จึงไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นเงินที่เจ้าของเดิมจํานวนหมื่นคน แสนคน หวงแหนไม่ได้อยากให้ผู้อื่นไปเลย อยากจะเอาเงินของตนดึงดูดเงินของคนอื่นมาทั้งสิ้น เป็นเงินที่ตกอยู่ ในกระแสบาปทั้งนั้น เงินที่ได้มาด้วยความไม่เต็มใจของเจ้าของเงินน่ะ มันเงินร้อน ไม่ใช่เงินเย็น

แล้วที่นี้ข้าพเจ้าก็จะอธิบายขยายความเรื่องของเงินเย็นเงินร้อนไปได้อีกยืดยาว ยกตัวอย่างผู้คนรายโน้นรายนี้ที่รู้จัก แล้วก็สรุปลงตรงที่ว่า บุญกุศลที่เกิดจากการทําทานนั้น จะได้มากหรือน้อยไม่ใช่อยู่ที่จำนวนเงิน แต่อยู่ที่

๑. สิ่งของ ที่นํามากระทําบุญทําทานนั้นบริสุทธิ์

๒. ผู้รับทาน เป็นผู้บริสุทธิ์ คือเป็นผู้ปราศจากกิเลส หรือกําลังบําเพ็ญเพียรเพื่อให้หมดกิเลส

๓. ผู้บริจาคทาน เป็นผู้บริสุทธิ์ คืออยู่ในศีลธรรมอันดี ประกอบด้วยเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้ เมื่อกําลังให้ และเมื่อได้ให้ไปแล้ว ถ้าทําได้อย่างนี้เวลาไปเกิดชาติไหนๆ ต้องได้รับผลทานทั้งในวัยเด็ก วัยกลางคน และวัยชรา

๔. วิธีกระทําทาน บริสุทธิ์ถูกต้อง เช่น ทําด้วยศรัทธา มีความเคารพ ถูกเวลา ไม่กระทบกระเทือนทั้งตนเองและผู้อื่น ดังนี้เป็นต้น

เมื่อพูดถึงตอนนี้ คนฟังมักสงสัยข้อที่ ๑ กับข้อที่ ๔ เป็นประจํา

ของบริสุทธิ์ มันเป็นยังไง ไม่มีเชื้อโรค รึยังไง ถามราวกับเด็กอายุสัก ๑๐ ขวบ คงนึกแค่ทําทานด้วยของกินเพียงอย่างเดียว

ไม่ใช่อย่างนั้นอย่างเดียว หมายรวมเอาทั้งหมดว่า เป็นของที่ได้มาจากการงานอาชีพที่บริสุทธิ์ด้วย เป็นของที่สมควร คือมีประโยชน์แท้จริงต่อผู้รับด้วย

ว่าเสียจนงงไปเลย งานบริสุทธิ์คือ งานที่ไม่ผิดกฎหมายหรือ ถามตื้นๆ ต่อไป แต่ดูฉลาดกว่าเดิมนั่นมันแคบไปจ้ะ คือต้องเป็นสิ่งของที่ได้มาจากการงานที่ไม่ประกอบด้วยทุจริตทางกาย ๓ อย่าง ทางวาจา ๔ อย่าง

ที่ว่าไม่ประกอบด้วยความทุจริตทางกาย ๓ อย่างคือ ต้องเป็นของที่ได้มาโดยเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติทางกาม

ที่ว่าไม่ประกอบด้วยความทุจริตทางวาจา ๔ อย่าง คือ ไม่พูดโกหก (มุสา) ไม่พูดส่อเสียด (ปิสุณา) ไม่พูดคําหยาบ (ผรุสะ) และไม่พูดเพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปา)

ต้องให้ครบอย่างนี้จึงจะเรียกว่าของบริสุทธิ์ แค่ไม่ผิดกฎหมายยังใช้ไม่ได้ ยังไม่พอ เช่น เงินที่ได้มาจากการทําฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ไม่ผิดกฎหมายเลย แต่เราต้องฆ่าสัตว์ไปขาย หรือส่งสัตว์ไปให้เขาฆ่าขายก็เหมือนกัน เป็นทุจริตกายกรรมข้อที่ ๑ ปาณาติบาตแล้วข้าพเจ้าขยายความเสียยืดยาว

อ๋อ...อย่างนี้นี่เอง

มีอีกนะ ของบางอย่างให้แล้วเกิดโทษต่อผู้รับ ของนั้นแม้จะได้มาจากอาชีพที่บริสุทธิ์ ก็ไม่ถือว่าเป็นของบริสุทธิ์ เช่น เราได้รับเงินเดือนจากการทํางานถือว่าเป็นเงินบริสุทธิ์ แต่เราเอาไปซื้อเหล้าเลี้ยงเพื่อน พาคนไปดูหนังฟังเพลง ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้ออาวุธ ซื้อเครื่องมือในการเบียดเบียนคดโกงต่างๆ เช่น ซื้อตาชั่งขี้โกงเอาไว้ขายของ ให้หนังสือลามก ภาพโป๊ ให้อะไรๆ ก็ตามแต่ที่ทําให้กิเลสหรือกามคุณของผู้รับกําเริบขึ้นน่ะ เรียกว่าของไม่บริสุทธิ์เหมือนกัน ควรให้ของที่มีคุณประโยชน์ เช่น ปัจจัย ๔ ได้แก่พวกอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ตลอดจนยานพาหนะ หรือของจําเป็นอื่นๆ เข้าใจไหม

เข้าใจแจ่มแจ้งเลยแหละ ที่นี้เมื่อเราทําทานไปแล้ว เราก็จะได้รับผลทานที่เราทําไป เช่น ให้อาหารเราก็จะได้ไม่อดอยาก ให้ความรู้จะทําให้เรามีปัญญาดี ให้ที่อยู่ก็จะได้ที่อยู่ดีๆ เรียกว่า ให้อะไรก็จะได้อย่างนั้นคืนมา แต่ว่าได้ดีกว่าใช่ไหมผู้ฟังถามต่อ

ก็ใช่เหมือนกัน แต่คิดแค่นั้นมันได้ประโยชน์น้อยไปหน่อย

แล้วคิดอย่างไรล่ะถึงจะได้ประโยชน์มาก ช่วยบอกเอาบุญหน่อยเถอะ”

เมื่อคู่สนทนาแสดงความสนใจเต็มที่ถึงระดับนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงอธิบายยกหลักฐานอ้างอิงมาจากตํารับตําราทีเดียว

ฟังนะ ในหนังสือพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้า ๑๔ ทานสูตร เขียนไว้ว่า สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา ใกล้จัมปานคร พระสารีบุตร พาอุบาสกชาวเมืองจํานวนมากเข้าทูลถามว่า การทําทานชนิดใดให้ผลมากน้อยต่างกันอย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้ากระทําทานโดย มีความหวัง คือมีจิตผูกพันว่าจะไปใช้ผลในทานที่ทําไว้แล้วนั้น คิดอย่างนี้เมื่อตายไปจะไปเกิดในสวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นแรก

โอ้โฮ งั้นพวกเรา หมายถึงคนทั่วๆ ไปที่ทําทานกัน แล้วมุ่งหวังสะสมผลบุญจะเอาไปใช้ชาติหน้า ได้เกิดกันบนสวรรค์ชั้นที่ ๑ เลยทีเดียวหรือ แต่สวรรค์มีตั้ง ๖ ชั้นไม่ใช่หรือ ถ้าอยากจะขึ้นสวรรค์ชั้นที่สูงกว่านี้ล่ะ จะต้องทําอย่างไร

งั้นก็นิ่งฟังซะดีๆ จําไว้ให้แม่นๆ จะได้ทําใจได้ถูกเวลาทําบุญทำทาน

เมื่ออีกฝ่ายไม่ขัดคอ ข้าพเจ้าจึงร่ายยาว อธิบายให้ฟังไปจนตลอด

ระดับที่สอง ทําทานเพราะมีความเห็นว่า ทานเป็นของดีควรทํา นี่ตายแล้วไปอยู่ ดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นที่สอง

ระดับที่สาม ทําเพราะเห็นว่าบรรพบุรุษของตนเคยทําอยู่เป็นประเพณี ไม่ควรทอดทิ้ง นี่ตายแล้วอยู่ ยามา สวรรค์ชั้นที่สาม

ขอขัดคอหน่อยก่อน ทําเพื่อสืบประเพณีของตระกูลนี่มันดีกว่าข้อสองยังไงอดถามไม่ได้

ไม่รู้เหมือนกัน ในตําราไม่บอกไว้ แต่เข้าใจเอาเองนะว่าคงเป็นเหมือนแสดงความกตัญญไงล่ะบรรพบุรุษเคยทํากันมา พอถึงรุ่นเราไม่ทํา ท่านตายไปกันแล้วรู้เรื่องเข้าจะเสียใจ ทรัพย์สมบัติหรือก็สู้อุตส่าห์หาทิ้งไว้ให้มากมาย ของที่เคยทําไว้ก็มาละลายเพิกเฉย คิดอย่างนี้แล้วเราก็อุตส่าห์ทํา เพื่อไม่ให้ท่านที่ล่วงลับไปแล้วนั้นจิตใจเศร้าหมองที่มีลูกหลานไม่รักประเพณี คงเป็นยังงี้นะ คือทําเพราะกตัญญ

เมื่ออีกฝ่ายไม่ค้าน ข้าพเจ้าก็ร่ายยาวต่อ

ระดับที่สี่ ทําทานเพราะเห็นว่า เราหุงหากินได้ แต่สมณพราหมณ์ ไม่ได้หุงหากิน เราสมควรให้ทานต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น อย่างนี้ตายไปแล้วไปเกิดเป็นเทวดาชั้น ดุสิต ชั้นที่สี่จ้ะ

อ้าว อย่าอ้าปาก ไม่ต้องถาม จะบอกให้ นี่คิดเอาเองนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกไว้หรอก คงจะเป็นการให้ด้วยใจที่มีเมตตาน่ะ เรียกว่าใจมีคุณธรรมสูงขึ้นกว่าเรื่องกตัญญ

ทีนี้ระดับที่ห้า ทําทานเพราะเห็นว่า แม้บัณฑิตในสมัยก่อนๆ ทุกยุคทุกสมัยมาก็ทํา เช่น ฤาษี นักปราชญ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีฤทธิ์ มีคุณวิเศษต่างๆ ยังนิยมการทําทาน เราก็ควรกระทําอย่างนี้ ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่ห้า นิมมานรดี นี่เรียกว่าทําทานด้วยการใช้ปัญญาขึ้นมาแล้ว เห็นตัวอย่างดี เลยเอาอย่างมั่ง
พอถึงระดับที่หก ทําทานเพราะมีความคิดเห็นว่า เมื่อทำแล้วจิตใจเราจะเกิดความเลื่อมใส เกิดความปลาบปลื้มใจ มีโสมนัส เห็นยังงี้แล้วจึงทํา พวกนี้ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่หกโน่นชื่อ ปรนิมมิตวสวัตดี

เดี๋ยว เดี๋ยว หยุดก่อนขอถามคั่นหน่อย ทําด้วยใจเลื่อมใส คือมีศรัทธาใช่ไหม

ก็ใช่ซี ถึงตอนแรกยังไม่เลื่อมใส แต่พอทําไปแล้ว เห็นฝ่ายรับได้ไปกินไปใช้ มีชีวิตสุขสบายดีขึ้นก็ทําให้เกิดความเลื่อมใส ปลื้มอกปลื้มใจ มีปีติโสมนัส สุขใจน่ะ เป็นผลตามมา เรียกง่ายๆ ว่า ทําเพื่อให้ได้ ความสุขใจเกิดขึ้น นี่อานิสงส์มากนักหนา ถึงสวรรค์ชั้นสุดท้ายเทียวนะ

ทําไมเป็นยังงั้นล่ะคนฟังถามอย่างงุนงงเล็กน้อย

อ้าว ก็คนเราอยากมีความสุขไม่ใช่หรือ

ใช่อีกฝ่ายยืนยัน

สุขอะไรมีค่ากว่ากัน สุขกายหรือสุขใจถามให้เลือก

ก็สุขใจซี ไม่น่าถามเลยตอบยืนยัน

เข้าใจรึยัง พอทําบุญทําทาน แล้วเกิดความสุขใจน่ะ ไม่ต้องรอผลชาติไหนเลย ได้เดี๋ยวนั้นแหละ มันดีกว่าระดับอื่นๆ ใช่มั้ยละ นอกจากนี้นะ ตอนนี้ฟังให้ดี คิดตามไปด้วย จริงหรือไม่จริงก็คิดพิจารณาเอาเอง

ต้องเน้นสุ่มเสียงหน่อยหนึ่ง ให้ผู้ฟังตื่นตัวแล้วอธิบายต่อไปว่า

ใจที่มีปีติโสมนัสน่ะ มันเป็นใจที่มีคุณภาพ ใช้เจริญภาวนาได้ผลดี เวลาเราทําสมาธิภาวนา วันไหนใจคอสบาย มีความสุข วันนั้นรู้สึกว่ากําหนดบริกรรมนิมิตบริกรรมภาวนาได้ดี แต่ถ้าวันไหนใจคอไม่สงบละก็ ฟุ้งไปหมด นี่แสดงว่า ถ้ามีความสุขใจ ก็จะมีผลดีต่อการปฏิบัติธรรม นี่พูดถึงเฉพาะเมื่อจิตเข้าถึงญาณขั้นต้นๆ เท่านั้นนะ ถ้าชั้นสูงขึ้นไปแล้วไม่ต้องมีความสุขใจประกอบ นอกจากนี้ยังมีวิธีทําใจในขณะทําทานให้ดีกว่าไปเกิดบนสวรรค์ชั้นที่ ๖ อีกนะ สนใจไหมล่ะ

ระดับสุดท้าย ถ้าทําทาน เพื่อให้เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คนพวกนี้เมื่อตายแล้วสามารถไปเกิดใน พรหมโลก หรืออาจไม่ต้องเกิดที่ไหนๆ อีก คือพ้นจากวัฏสงสารไปเลย นี่เป็นการทําทานที่มีอานิสงส์มากที่สุด

เอาล่ะซี ฟังแล้วยิ่งกว่างงไปเลย ปรุงแต่งจิตมันเป็นยังไง

ของที่เขาต้องปรุงแต่งน่ะ ของเดิมมันดีหรือไม่ดีละ

คงไม่ใคร่จะดีละกระมัง ถ้าดีเขาคงไม่ต้องปรุงแต่งซี

ดีมาก ตอบถูกต้องเยี่ยมเลยพูดให้กําลังใจกันเสียหน่อย เดี๋ยวจะเบื่อไปเสียก่อน

จิตใจของเรา เมื่อยังมีคุณภาพไม่ดี เช่น อาจมีโลภ โกรธ หลง อยู่เป็นประจํา ถ้ากระทํากิจกรรมใดๆ ขึ้นมา เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรืออะไรๆ ก็ได้ แล้วจิตใจมีคุณภาพดีขึ้นจากเดิม มีใจสูงขึ้น มีคุณธรรมประจําใจเพิ่มมากขึ้น เรียกว่าการทํากิจกรรมนั้นๆ เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต

แจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว แต่อยากให้ช่วยยกตัวอย่างให้หน่อยเถอะว่า ทานช่วยปรุงแต่งจิตใจเราให้ดีขึ้นในเรื่องอะไรบ้างบอกว่าเข้าใจแจ่มแจ้ง แต่ยังไม่วายให้อธิบายต่อ

เอาตัวอย่างง่ายๆ เห็นกันชัดๆ เลยนะ ถ้าเราทําทานบ่อย เราจะหายจากความเป็นคนขี้เหนียวไงละ คนไหนใส่บาตรทุกวันๆ ยังงี้ ถ้าเราไปบ้านเค้า เค้าไม่รอให้เราขอข้าวเค้ากินหรอก มีอะไรๆ เค้ารีบยกมาเลี้ยงเราเลย ตรงข้ามกับคนที่ไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยทําทาน ขนาดเราขอข้าวกินสักมื้อ เค้าจะรีบหาเหตุมาปฏิเสธเราทีเดียว ถ้าไปที่บ้านเค้า เค้าก็จะรีบซ่อนอะไรๆ ที่เค้ากลัวเราจะขอไว้เสียมิดชิดไปเลย เห็นมั้ยใจคอถูกปรุงแต่งกันยังงี้ไง”

เมื่อเห็นว่าผู้ฟังยังไม่เห็นส่งเสียงรับคำ คนสอนก็พูดต่อ

“อีกสักตัวอย่างก็ได้เอ้า ลองคิดถึงการกระทำของตนเองดูก็ได้ ถ้าเราหัดทำทานอยู่เสมอๆ บางครั้งเราใช้เงินทำทานเป็นร้อยๆ เป็นพันหรือเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าได้ทำอยู่บ่อยๆ จนใจคุ้นเคย ทีนี้เกิดมีอุบัติเหตุเภทภัยอะไรบางอย่างขึ้นมาที่ทำให้ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่สูญหายไป เช่นถูกโกง ถูกขโมย ไฟไหม้ หรืออะไรๆ อื่นๆ ทำให้สูญเสียไป ในวงเงินที่ไม่เกินกว่าที่เคยบริจาคทาน เราจะไม่ทุกข์มาก จะพอทนได้ จริงมั้ย”

“ใช่แล้ว บางคนไม่เคยทำทาน แมวขโมยปลาทูไปกินแค่ตัวเดียวบาทสองบาท นอนไม่หลับ คิดพยาบาทจะหายาเบื่อมาฆ่าให้ตายทีเดียว นี่เพราะไม่เคยทำทานไว้เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตบ้างเลย” คนฟังยกตัวอย่างได้ชัดเจน แสดงว่าเข้าใจจริงๆ แล้วเธอก็ย้อนถามเรื่องล็อตเตอรี่ขึ้นอีกว่า

“ขอถามอีกเรื่องเดียวเท่านั้น คือขอถามว่า การปฏิบัติธรรมแบบธรรมกายนี่นะ เห็นว่าไปดูโน่น ดูนี่ได้ เห็นตัวเลขล็อตเตอรี่ได้รึเปล่า” ที่อุตส่าห์พูดสอนมาแทบตาย สงสัยจะไม่ได้ผล... ข้าพเจ้าชักวิตก

“การปฏิบัติธรรม ความมุ่งหมายเพื่อกำจัดกิเลส ถ้าเอาไปใช้ดูล็อตเตอรี่ก็เท่ากับเพิ่มกิเลสน่ะซี” ข้าพเจ้าตอบ แต่ก็นึกได้ว่าในครั้งกระโน้น สมัยที่เด็กๆ ลูกศิษย์ที่ได้ธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ไปดูขุมเล่นการพนันกันนั้น จำได้แม่นว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อ (สมัยก่อนบวช) ยังให้ทดลองดูเรื่องล็อตเตอรี่เหมือนกัน แต่มิได้ดูเลขท้าย ให้ดู รางวัลที่หนึ่ง เสียเลย พอนึกออกจึงตอบต่อไปว่า

“การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายน่ะนะ เมื่อได้รับผลการปฏิบัติ จะได้ไม่เท่ากัน แล้วแต่ความละเอียดของจิต เรียกง่ายๆ ว่าแล้วแต่พลังสมาธิของใครของมัน บางคนเห็นภาพในญาณชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนตนเองเป็นส่วนหนึ่ง คือเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเหตุการณ์ที่เห็น บางคนจิตไม่ละเอียดเท่า ก็จะเห็นภาพชัดเจนน้อยกว่า เหมือนมองดูอยู่ห่างๆ คนที่จิตละเอียดมาก จะถอดความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด รวมทั้งการรับรู้ทางประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย เอาไปไว้ในกายธรรมจนหมด ไม่มีเหลือในกายมนุษย์นี่เลย ถ้าทําได้ถึงขั้นนี้ การเห็นจะชัดเจนยิ่งกว่าเรามองด้วยตาเนื้อนี่เสียอีก คนที่ทําจิตได้ละเอียดมากจนสามารถมองเห็นได้ทุกเรื่องที่ปรารถนา เรื่องล็อตเตอรี่นี่นะ สมัยโน้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อให้เด็กๆ ไปดูนรกขุมการพนัน เด็กๆ ก็ได้ดูล็อตเตอรี่ฉบับที่จะต้องออกรางวัลที่หนึ่งในงวดต่อไปด้วยซ้ำ อยากฟังมั๊ยข้าพเจ้าถามหยั่งเชิง

ไม่น่าถามเลย เล่าเร็วๆ เถอะอีกฝ่ายทําอาการตาโต ตื่นเต้น

เด็กๆ เค้ามองเห็นตัวเลข เห็นจนกระทั่งล็อตเตอรี่ฉบับนั้นขายอยู่ที่ไหนพูดแล้วแกล้งหยุด ให้อีกฝ่ายจ้องตาเป๋ง เหมือนจะถามว่า แล้วยังไง

แต่สมัยนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อยังไม่ได้บวชนะ ท่านไม่ได้ให้หยุดดูแค่นั้น ให้ดูเหตุการณ์ต่อไปจนตลอด จึงเห็นว่าล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ๆ นั่นเป็นของ มีเจ้าของ หมายถึงว่าต้องเป็นบุญของใครของมัน เค้าเคยทําทานของเค้าไว้ในอดีตชาติ ถึงเวลาบุญจากการทําทานนั้นส่งผลมาถึงเจ้าตัวก็จะมีเหตุบังเอิญให้ได้ซื้อล็อตเตอรี่ฉบับนั้นจนได้

ก็ถ้าเรารู้ล่วงหน้าอย่างนี้ เราชิงซื้อมาเองไม่ได้หรืออีกฝ่ายทนไม่ไหวต้องถาม

ครั้งนั้น เด็กๆ ก็ได้ดูเหมือนกันว่าจะซื้อก็ได้ แต่เนื่องจากมิใช่บุญของเรา เมื่อรับเงินรางวัลมาแล้ว จะมีเหตุเภทภัยต่างๆ เกิดตามมาจนเงินหมดนั้น และอาจทําให้สูญเสียสิ่งที่มีอยู่เดิมต่อไปอีกด้วย เช่น ได้รับอุบัติเหตุ เสียทรัพย์ไปแล้ว ยังถูกตัดอวัยวะไปบางส่วน ดีไม่ดีถึงเสียชีวิตไปเลย

ว้า... อย่างนี้ไม่ต้องเห็นเสียดีกว่านะ รู้มั้ยคนที่เป็นเจ้าของบุญจะได้ลาภอย่างนั้น เขาทําทานอะไรไว้

ถามต่อราวกับจะเตรียมทําไว้บ้าง ชาตินี้ไม่มีหวัง เผื่อจะถูกรางวัลเอาชาติหน้าก็ยังดี พูดสอนมาแทบตาย ยังคิดจะเป็นนักพนัน นักเสี่ยงโชคอยู่อีกหรือ แต่ก็ตอบไปว่า

อืม...ก็พอจําได้ เด็กๆ เค้าดูย้อนชาติกันด้วย คนที่มีโชคเหล่านี้เค้าเคยทําทานกับ พระอรหันต์บ้าง บางทีก็ พระอริยบุคคล ระดับต่างๆ

ตอบแล้วมองเห็นผู้ฟังถอนใจอย่างหมดหวังเลยต้องปลอบว่า

อย่าห่วงนักเลยน่า ทําได้ดีที่สุดแค่ไหนก็เอาแค่นั้นชี โลภมากทําไมกันคนฟังยิ้มเจื่อนๆ แล้วเหมือนจะนึกอะไรได้จึงถามว่า

ขอถามเรื่องการทําทานอีกหน่อยเถอะว่า การทําทานบ่อยกับนานๆ ทําที่หนึ่ง แต่ทําจํานวนมากให้คุ้มกันไปเลย จะได้บุญมากน้อยต่างกันอย่างไร

ทําบ่อยๆ ได้บุญมากกว่า เพราะเป็นอาจิณณกรรม ใจคุ้นเคย กาย วาจา ก็ได้ร่วมทําด้วยเหมือนกับเราได้ถ่ายภาพยนตร์ไว้บ่อยๆ ได้ภาพเก็บไว้ในอัลบั้มมากกว่า อัลบั้มของใจไงล่ะ ส่วนการทําชนิดนานๆ ทําทีนึง เหมือนได้ภาพถ่ายหนเดียว แหมนี่ถ้ามีเวลา จะคุยให้ฟังนะเรื่องความสําคัญของภาพที่เก็บไว้ในใจนี่ มีอานุภาพช่วยเราก่อนตายยังไง วันนี้ยังไม่คุยหรอก

ตกลง คุยกันมานานแล้ว จบก็จบอีกฝ่ายพยักหน้ารับ


                  ผีตัวร้ายทําลายได้หมด                      เกียรติยศเงินทองของทั้งหลาย
สูญเวลาเสียสุขภาพทั้งใจกาย                             เหมือนต้องตายทั้งที่ยังอยู่เป็นเป็น
                 ผีที่ว่าคือผีพนันนั้นไงเล่า                  มันเที่ยวเข้าสิงใจให้ทุกข์เข็ญ
เอาปัญญาฟันฟาดให้ขาดกระเด็น                      อย่ายอมเป็นทาสมันจะอันตราย

 Cr. อุบาสิกสถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๑
บุญบริสุทธิ์ บุญบริสุทธิ์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:56 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.