ปัญหาท้ายเรื่อง
แต่มีคนจํานวนไม่น้อยไม่ยอมไปโดยอ้างว่า ถ้าปล่อยชีวิตสัตว์อย่างใดแล้ว จะกินสัตว์นั้นอีกไม่ได้ ถ้าพากันไปปล่อยปลากลับมาก็จะกินปลาไม่ได้ ถ้ากินเข้าจะมีอุบัติเหตุเภทภัยต่างๆ เกิดขึ้นแก่ตัว เป็นคําสอน ของคนแต่ก่อนกล่าวต่อๆ กันมาดังนี้
ใคร่จะขอเรียนชี้แจงในเรื่องนี้ตามสติปัญญาของข้าพเจ้าเองไว้ในที่นี้
ในสมัยก่อนบ้านเมืองของเราอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั่นแหละ ตามท้องถิ่นต่างๆ ไม่จําเป็นต้องมีตลาดขายกับข้าว เพราะสามารถหากินกันเองได้ในที่ทุกแห่ง จําได้ว่าในปี ๒๔๙๒ ข้าพเจ้า เดินทางเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ตามลําคลองต่างๆ น้ำสะอาดมาก มีกุ้งนางตัวโตๆ ลอยหัวสลอนเวลาน้ำขึ้น (เรียกว่าน้ำขึ้นใหม่ๆ มันเมาน้ำ) วันหนึ่งๆ บางทีน้ำขึ้นสองหน มันก็ลอยเต็มเป็นฝูง บางทีก็หมอบเกยหัวอยู่ข้างตลิ่ง ข้าพเจ้าอยู่โรงเรียนประจํายังเคยเอามือช้อนมันเล่นแล้วก็ปล่อยไป ไม่เห็นมีผู้คนในสมัยนั้นจับมาขาย ปลาก็ว่ายกันเป็นฝูงเหมือนกัน ข้าพเจ้ายังคิดเอาว่าคนกรุงเทพฯ กินกุ้งกินปลาไม่เป็น คงกินเป็นแต่เนื้อ หรือหมูหรือไก่กระมัง คนกินกุ้งกินปลามักถือกันว่าเป็นคนยากจน นี่ขนาดกรุงเทพฯ อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้เล่าให้คนสมัยนี้ฟังคงเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ
เมื่อบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์อย่างนั้น ใครจะกินปลาก็ต้องจับมากินเอง เช่นทอดแห ตกเบ็ดหรืออย่างอื่น เมื่อจับเองก็ต้องฆ่าเอง
ทีนี้ถ้าเราเคยปล่อยสัตว์เหล่านั้นเป็นการให้ทานชีวิตไว้แสดงว่า เราฝึกหัดตัวเราให้เป็นคนมีเมตตากรุณาคือทําใจเราให้มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิมเสียแล้ว จะมาคิดกินชีวิตเขาใหม่ เราก็ต้องเข่นฆ่าเขาอีก จึงเป็นเสมือนเคยเป็นคนใจดีแล้วมาเปลี่ยนแปลงเป็นคนใจร้าย เป็นนักบุญแล้วมากลายเป็นคนบาป
คนเราเมื่อประกอบคุณงามความดีแล้ว ควรรักษาความดีนั้นไว้และหมั่นทําใหม่เพิ่มเติมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไป จึงจะเรียกว่าเป็นการสร้างสมอบรมบารมี พูดง่ายๆ คือ เคยรักษาศีลได้ มาเลิกรักษาทําไมกัน
คนแต่ก่อนจึงกล่าวห้ามไว้อย่างนั้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลให้ยุ่งยาก เหมือนที่ห้ามกันว่า
“เด็กหนุ่มเด็กสาวอย่าหวีผมกลางคืนนะ หวีแล้วจะเกิดอัปรีย์จัญไร”
“กวาดบ้านกลางคืนไม่ได้ อุบาทว์จะขึ้นเรือน”
ห้ามหวีผม จะได้หนีออกไปเที่ยวนอกบ้านตอนกลางคืนไม่ได้
คนหนุ่มคนสาวไปไหนต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย อยู่ในวัยรักสวยรักงามถ้าหัวยุ่งเหยิงก็ไม่กล้าออกไป
ห้ามกวาดบ้านกลางคืน เพราะอาจมีของมีค่าที่มีขนาดเล็ก เช่น เพชรพลอย เข็ม หล่นอยู่ที่พื้นจะลงร่องตามเศษผงไปเสีย (สมัยก่อนพื้นบ้านเป็นไม้กระดานมีร่อง)
ทีนี้มาพูดเรื่องกินปลากันต่อ เหตุการณ์บ้านเมืองนี้เปลี่ยนไป “ในน้ำไม่มีปลา ในนาไม่มีข้าว” เหมือนแต่ก่อน ปลาก็ต้องเลี้ยงกันในบ่อแล้วจับมาขาย มีการฆ่าไว้ให้เสร็จ ใครจะกินก็ซื้อปลาที่หั่นเป็นชิ้นไว้ไป แกงได้เลย ไม่ใช่ปลาที่คนซื้อสั่งฆ่า ก็ไม่ถือว่าเป็นบาปกรรมอะไร จะกินสักเท่าไรก็ได้ นี่เป็นเหตุผลที่คนแต่ก่อนไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีการเลี้ยงปลาขาย จึงสั่งห้ามเป็นคําขาดไว้ดังที่กล่าว
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว จึงไม่ควรยึดถือความเชื่อที่ไม่รู้เหตุผล จะกลายเป็นความงมงายเพราะถ้าเชื่อดังที่ว่าไว้นั้น ก็จะหมดโอกาสทําบุญ ที่เรียกว่าทานชีวิตกุศล คือการให้ชีวิตผู้อื่นเป็นทาน แต่จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าเอง ในปัจจุบันนี้เมื่อได้ปล่อยสัตว์ปล่อยปลามากเข้า จิตใจมีการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ แต่ดั้งเดิมมาเคยชอบอาหารนี้มากคือ เนื้อชุบน้ำปลาตากแดดเดียวทอด หรือปลาดุกย่าง สะเดา น้ำปลาหวาน
เรื่องปลาก็ทํานองเดียวกัน แต่ก่อนพอเห็นลูกเอาปลาดุกย่างกรอบๆ มันเยิ้มใส่จานมาให้ แม้จะปลงพิจารณาว่าสักแต่ว่าเป็นอาหาร กินให้เหมือนยารักษาชีวิตเพื่อมีโอกาสสร้างบารมีก็จริง ในใจลึกๆ ที่ยังไม่สิ้นกิเลสยังคิดว่า “น่ากินจัง วันนี้คงกินข้าวอร่อย” มาเดี๋ยวนี้ พอเห็นปลาในจาน ภาพปลาที่ตนเองกําลังเทจากกระป๋องลงแม่น้ำก็ผุดขึ้นในใจ ใจก็อ่อนโยนเปลี่ยนไป การกินปลาแต่ละครั้งในปัจจุบัน จึงเป็นเพียงกินเพื่อมีชีวิตอยู่จริงๆ ไม่ต้องคิดปลงแล้ว ใจมันเปลี่ยนไปได้เอง หมดรสอร่อยไปได้อย่างไรไม่ทราบ
เล่าเรื่องของตนเองให้เป็นตัวอย่างดังนี้ ถ้าท่านยังติดรสอาหารอยู่ ก็ซื้อกินไปเหมือนเดิมเถิด ไม่มีวิบัติเหตุเภทภัยอันใด ขอเพียงอย่าฆ่าเขาหรือสั่งให้แม่ค้าหรือใครๆ ฆ่า ซื้อสัตว์ตายแล้วมากิน ถึงจะอร่อยน้อยหน่อย แต่ไม่มีบาปกรรมเวรภัย
ส่วนคนที่คิดมาก คิดละเอียดลออว่า ถ้าเรายังกินเนื้อสัตว์ก็เท่ากับสนับสนุนการฆ่า จะเว้นเสียเลยถือมังสวิรัติทํานองนั้น ก็เป็นความพอใจของแต่ละคนไม่ควรว่ากัน จะกลายเป็นการมีมานะ คือเย่อหยิ่งถือตัวว่าทําอย่างนี้ดีกว่าอย่างโน้นแล้ววิวาทกันไม่สมควร เหล่าสัตว์ที่เขามีเวรต่อกัน ถึงเราไม่กินเนื้อสัตว์ พวกที่เขามีเวรต่อกันเหล่านั้นเขาก็ต้องฆ่ากันจนได้ เราห้ามคนทั้งหมดไม่ได้ เพราะจิตใจคนเราต่างระดับกัน ไม่มีใครมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน เท่ากันเลยสักคนเดียว จะให้เขาเหมือนเราได้อย่างไร ขอคุยแถมท้ายไว้เพียงเท่านี้
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๒ บทที่ ๒
ปัญหาท้ายเรื่อง
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:04
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: