ภารกิจมอบความสุขที่หายไปของวัดพระธรรมกายสิงคโปร์


สาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นประเทศอัศจรรย์ที่ใช้เวลาเพียงไม่ถึง ๑ ชั่วอายุคนทะยานขึ้นมาอยู่ในแนวหน้าของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และเทคโนโลยี รวมทั้งยังได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ดีที่สุดในโลก ที่ใช้เกณฑ์ การศึกษา สุขภาพ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ พลังงาน และสภาพแวดล้อมทางการเมืองเป็นตัวตัดสิน

นับถึงปัจจุบัน สิงคโปร์แยกตัวออกมาจากประเทศมาเลเซียเป็นเวลาได้ ๕๑ ปี โดยมีอาณาเขตที่ครอบครองเป็นเกาะขนาดเล็กและขนาดกลาง ๖๓ เกาะ เกาะสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศ หลังจากถมทะเลออกไปแล้วก็ยังมีพื้นที่ประมาณ ๗๑๘ ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับเกาะภูเก็ตของเรา ประชากรก็มีอยู่แค่ประมาณ ๕.๕ ล้านคน ทรัพยากรทางธรรมชาติมีน้อยมาก ขนาดน้ำจืดยังต้องซื้อจากมาเลเซียมากินมาใช้* แต่ด้วยการบริหารจัดการที่เยี่ยมยอดทำให้สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในผู้นำหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ--เป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวอยู่ในแนวหน้าของโลก และเป็นศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทดัง ๆ จากทั่วโลก ด้านการศึกษา--ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับ ๑๒ ของโลก และมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น MIT, Yale, INSEAD, NYU และ Chicago Booth มาก่อตั้งวิทยาเขตในสิงคโปร์ ทำให้มาตรฐานการศึกษาของสิงคโปร์รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้านเทคโนโลยี--ความเร็วของอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ ๓ ของโลก

*ปัจจุบันนี้สิงคโปร์เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) ของสิงคโปร์พบว่า ความสุขของชาวสิงคโปร์อยู่ในระดับที่ต่ำจนน่าใจหาย ชาวสิงคโปร์ ๙ ใน ๑๐ คน เต็มไปด้วยความเครียดที่เกิดจากการเร่งรีบ การทำงานหนัก การแบกรับค่าครองชีพที่สูงลิ่ว รวมทั้งการแข่งขันในด้านการศึกษา วัตถุ เงินทอง และอื่น ๆ

สิ่งเหล่านี้ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์รวมของคนไร้สุขจำนวนมาก จนกระทั่งครั้งหนึ่งถึงกับมีโครงการประกวดค้นหาบุคคลผู้มีความสุขมากที่สุดบนเกาะสิงคโปร์ เพื่อนำมาศึกษาแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

ในท่ามกลางมวลความเครียดที่แผ่ซ่านครอบคลุมเกาะสิงคโปร์นี้ ครูสอนโยคะคนหนึ่งชื่อ ควินินเกิดความรู้สึกอยากทำสมาธิปฏิบัติธรรม ด้วยหวังว่าจะเป็นหนทางหลุดรอดไปจากความเครียด ซึ่งเธอก็โชคดีที่มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย เป็นเวลา ๒ ปี

คุณยายอาจารย์ฯ และกัลยาณมิตรควินิน

ต่อมา หลังจากที่ค้นพบว่า ความสุขอยู่ที่ไหน” “จะสร้างขึ้นมาได้อย่างไรและผ่านการเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรจากวัดพระธรรมกายแล้ว เธอจึงกลับไปยังสิงคโปร์เพื่อตอบโจทย์นี้แก่เพื่อนร่วมชาติผู้ห่างไกลความสุขเช่นเดียวกับตัวเธอในอดีต ซึ่งปรากฏว่า มีผู้สนใจที่จะมาทำกิจกรรมแสวงหาความสุขด้วยกันเป็นจำนวนไม่น้อย เธอและเพื่อน ๆ จึงร่วมกันจัดตั้ง ศูนย์กัลยาณมิตรสิงคโปร์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ และนิมนต์พระอาจารย์จากวัดพระธรรมกายไปอยู่ประจำศูนย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ระยะแรกที่ก่อตั้งศูนย์ฯ นั้น กิจกรรมที่ทำร่วมกันก็คือ งานบุญวันอาทิตย์ในช่วงเวลาธรรมกาย เน้นการหลับตาเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งมีผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งต้องย้ายศูนย์ฯ เพราะสถานที่คับแคบไม่เพียงพอรองรับผู้คน และต่อมามีการย้ายศูนย์ฯ อีก ๓ ครั้ง เพื่อแก้ปัญหาเดียวกันนี้

ในปัจจุบันพระอาจารย์ ทีมงาน และกัลยาณมิตร ร่วมแรงร่วมใจที่จะสถาปนาวัดพระธรรมกายสิงคโปร์เป็นอาคารที่ถาวรในเกาะสิงคโปร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมาเรียนรู้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเข้าถึงความสุขภายในได้ครั้งละมาก ๆ

วัดพระธรรมกายสิงคโปร์แห่งใหม่อยู่ในเขต Sumang Walk, Punggol สร้างบนพื้นที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ตัวอาคารเป็นตึกที่ทันสมัย มี ๕ ชั้น มีห้องปฏิบัติธรรมที่รองรับสาธุชนได้ ๔๕๐ คน


พิธีตอกเสาเข็มต้นแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และมีพิธีเทคอนกรีตฐานรากเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ คาดว่าการก่อสร้างอาคารจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐

ภาพโมเดล 3D วัดพระธรรมกายสิงคโปร์





สำหรับภารกิจเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย เพื่อนำพาความสุขที่แท้จริงไปสู่ชาวสิงคโปร์นั้น เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยพระครูภาวนากิจวิเทศ (สมเกียรติ วรวํโส) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายสิงคโปร์ (ขณะนั้นยังเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม) ดำริให้เปิดคอร์สสอนสมาธิเบื้องต้นด้วยภาษาจีนกลาง สัปดาห์ละ ๒ วัน คือ ช่วงค่ำวันอังคารและเย็นวันเสาร์ แต่ละคอร์สใช้เวลา ๑๔-๑๕ สัปดาห์ และมีคอร์สต่อเนื่องอีก ๘ สัปดาห์สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม รวมระยะเวลาการเรียนการสอน ๕ เดือน

การเปิดคอร์สสอนสมาธิดังกล่าวจัดขึ้นปีละ ๒ คอร์ส และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน ๓๒ รุ่นแล้ว เนื้อหาการสอนเน้นเรื่องการผ่อนคลาย การปรับร่างกายและจิตใจ และที่ตั้งของศูนย์กลางกาย ซึ่งสาธุชนที่มาเรียนต่างได้รับความสบาย รู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ หลายท่านเข้าถึงองค์พระหรือดวงธรรมภายใน


หลังจากจบหลักสูตรเบื้องต้นแล้ว ผู้เรียนสามารถสมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๗ วัน ณ สวนพนาวัฒน์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะทำให้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ดีขึ้น และเกิดความปรารถนาที่จะขยายความสุขอย่างที่ตนได้รับไปสู่บุคคลอื่น จึงพากันไปชักชวนเพื่อน ๆ และคนในครอบครัวให้มาเข้าคอร์สเรียนสมาธิ ทำให้แต่ละคอร์สมีผู้มาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก

นอกจากคอร์สฝึกสมาธิแล้ว วัดพระธรรมกายสิงคโปร์ยังจัดกิจกรรม ค่ายคุณธรรม ๓ วันสำหรับเด็กเพื่อส่งเสริมศีลธรรมแก่เยาวชน และปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐาน คือ วินัย เคารพ อดทน ความกตัญญูกตเวที และมารยาทชาวพุทธ เช่น การกราบ การไหว้ การทักทาย การช่วยเหลืองานบ้าน รวมทั้งความดีสากล ๕ ประการ (สะอาด, ระเบียบ, สุภาพ, ตรงต่อเวลา, สมาธิ) ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นคนเก่งและดี สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข


ผลการอบรมในโครงการนี้สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าลูกหลานของเขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างคนในครอบครัว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยหากจะเห็นครอบครัวเหล่านี้พากันมาเติมความสุขที่วัดอย่างสม่ำเสมอ

ตลอดเวลา ๑๖ ปีที่ผ่านมา การเผยแผ่ของวัดพระธรรมกายสิงคโปร์มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นวัดสาขาแห่งหนึ่งของวัดพระธรรมกายที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังชาวท้องถิ่น คือมีสมาชิกผู้เข้าอบรมสมาธิเป็นชาวท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อาสาสมัครซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ผ่านการอบรมสมาธิมาก่อนก็เป็นชาวท้องถิ่น

ปัจจัย (ภายนอก) ที่มีผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปสู่ชาวท้องถิ่นได้สำเร็จนั้น ที่เด่น ๆ ก็คือ

ประการแรก ประชาชนในประเทศสิงคโปร์กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นคนจีนที่มีพื้นฐานด้านศาสนาพุทธอยู่แล้ว การเผยแผ่ไปสู่ชาวสิงคโปร์จึงเหมือนเป็นการต่อยอดให้เขา

ประการที่สอง ชาวสิงคโปร์มีระดับความเครียดสูงมาก เมื่อมาพบกับวิธีพักผ่อนทางใจแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ที่ทำให้เกิด ความสุขที่แท้จริงซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังแสวงหาอยู่พอดี พวกเขาจึงเห็นคุณค่าและให้ความสนใจที่จะมาปฏิบัติธรรมกันอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัย ๒ ประการนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยให้การเผยแผ่สะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพียงเพราะโชคช่วยนอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว คณะพระภิกษุและทีมงานต่างทุ่มเททำงานหนักอย่างเสมอต้นเสมอปลาย อาทิ การต้อนรับปฏิสันถารเจ้าภาพที่มาถวายภัตตาหารในแต่ละวัน การดูแลอาคารสถานที่ให้สัปปายะอยู่เสมอ การประชาสัมพันธ์ และการทำภารกิจที่จำเป็นอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหลักในแต่ละวันดังนี้

วันอาทิตย์--ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับวัดพระธรรมกาย ประเทศไทย, วันจันทร์--เตรียมการเทศน์สอน, วันอังคาร--เปิดคอร์สสอนสมาธิภาษาจีน (คอร์สปัจจุบันมีนักเรียน ๑๘๐ คน), วันพุธ--สอนภาษาบาลีแก่ผู้นำบุญชาวสิงคโปร์, วันพฤหัสบดี--แสดงธรรมและนำนั่งสมาธิแก่นักเรียนที่จบคอร์สสมาธิไปแล้ว,   วันศุกร์--สอนภาษาไทย, วันเสาร์--เปิดคอร์สสอนสมาธิภาษาจีนอีกคอร์สหนึ่ง (คอร์สปัจจุบันมีนักเรียน ๑๙๐ คน)

อีกประเด็นสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของงานก็คือ การนำคำสอนของครูบาอาจารย์มาปรับให้เข้ากับอุปนิสัยและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และเรียนรู้กฎระเบียบข้อห้ามต่าง ๆ ที่เข้มงวดมากในประเทศนี้ ซึ่งมีผลให้การเผยแผ่เป็นไปด้วยความราบรื่น

นอกจากนี้ คุณสมบัติเฉพาะตัวของคณะพระภิกษุและทีมงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อต่อความสำเร็จในการเผยแผ่ อาทิ ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวม, ความอดทน, ความมีไหวพริบปฏิภาณ, ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้, การเป็นต้นบุญและต้นแบบในการทำความดี ฯลฯ รวมทั้งการมีทักษะในการใช้ภาษาจีนได้ดีราวกับเป็นชาวท้องถิ่น ซึ่งนอกจากได้ใจพวกเขาไปเต็ม ๆ แล้ว ปัญหาในการสื่อสารก็ไม่มี สร้างความเข้าใจอันดีต่อกันก็ไม่ยาก

จากการทุ่มเทเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปสู่ใจชาวสิงคโปร์ ด้วยการสอนทำสมาธิเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการทำทานและรักษาศีล เกิดเป็นผลงานที่น่าปลาบปลื้มใจนานัปการ เช่น ทำให้พวกเขาคลายความเครียด มีความสุขมากขึ้น และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมากขึ้น คือ มีความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม รู้จักการสร้างบุญสร้างบารมี ยินดีในการทำความดี ละเว้นความชั่ว กลั่นใจให้ผ่องใสอยู่เป็นนิจ และรู้จักทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนคนมาทำความดี อีกทั้งยังมีจิตสำนึกรักพระพุทธศาสนา มีความรู้สึกรักวัดเสมือนกับเป็นเจ้าของวัด ทำให้ร่วมแรงร่วมใจกันมาดูแลพัฒนาวัดให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น

นอกจากนี้ หลายคนยังได้ไปบวชในโครงการ IDOP ที่วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ลาสิกขาแล้วก็กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นำความสุขสงบไปสู่ใจเพื่อนร่วมชาติต่อไป

ในพื้นที่ไม่กี่บรรทัดสุดท้ายนี้ ขอสรุปว่า สิงคโปร์มีหลายสิ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ขาดเพียงสิ่งสำคัญก็คือ ความสุขที่แท้จริงที่เกิดจากการทำสมาธิ ถ้าชาวสิงคโปร์พากันเติมความสุขที่แท้จริงลงในหัวใจแล้ว สิงคโปร์ก็จะเป็นประเทศที่อยู่ในแนวหน้าของโลกทั้งทางด้านวัตถุควบคู่กับจิตใจ และจะเป็นประเทศหนึ่งที่น่าอยู่ที่สุดในโลกอย่างแท้จริง

การไปเผยแผ่คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาในสิงคโปร์ของวัดพระธรรมกาย จึงถือเป็นความโชคดีมีบุญของชาวสิงคโปร์      ที่จะได้เรียนรู้วิธีพลิกชีวิตเครียด ๆ ไปพบกับความสุขที่แท้จริง และยังเป็นบุญของทีมงานอีกด้วย ที่ได้มอบความสุขแก่ผู้คนในดินแดนที่หาความสุขได้ยากแห่งนี้ เปรียบเสมือนการมอบน้ำดื่มแก่คนหลงทางกลางทะเลทราย ย่อมมีค่ามากมายกว่ามอบให้ใคร ๆ ที่เขายังไม่ต้องการ
--กราบอนุโมทนาบุญ--

Cr. มาตา วารสารอยู่ในบุญ สำนักสื่อธรรมะ 
ภารกิจมอบความสุขที่หายไปของวัดพระธรรมกายสิงคโปร์ ภารกิจมอบความสุขที่หายไปของวัดพระธรรมกายสิงคโปร์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:11 Rating: 5

6 ความคิดเห็น:

  1. สาธุครับ คนสิงค์โปร์ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่เจริญแล้ว มีระเบียบวินัย ยังต้องแสวงหาการเติมเต็มของชีวิต

    ตอบลบ
  2. สาธุค่ะ พื้นฐานชาวสิงคโปร์พร้อมในหลายๆ ด้านอยู่แล้วจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วง 51 ปีที่ผ่านมา ยิ่งถ้าได้พัฒนาด้านจิตใจควบคู่แล้ว เชื่อมั่นว่าสิงคโปร์จะก้าวหน้ายิ่งขึ้นแน่นอนค่ะ

    ตอบลบ
  3. สาธุค่ะ พื้นฐานชาวสิงคโปร์พร้อมในหลายๆ ด้านอยู่แล้วจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วง 51 ปีที่ผ่านมา ยิ่งถ้าได้พัฒนาด้านจิตใจควบคู่แล้ว เชื่อมั่นว่าสิงคโปร์จะก้าวหน้ายิ่งขึ้นแน่นอนค่ะ

    ตอบลบ
  4. อนุโมทนาบุญกับพระอาจารย์และผู้นำบุญทั้งหลายที่ทำกิจที่สำเร็จยากให้สำเร็จได้โดยราบรื่น

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.