วัดพระธรรมกายชอบบอกบุญถี่ ๆ แถมยังเร่งให้ทำบุญก่อนจริงหรือ ? ถือว่าสอนผิดหรือไม่ ?




ก่อนจะตอบคําถามเหล่านี้ อยากให้เราลองศึกษาประวัติของพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นเลิศในด้านการบรรลุธรรมก่อนและได้บวชก่อนใคร ว่าท่านสร้างเหตุมาอย่างไรถึงได้เป็นเลิศด้านนี้

หากย้อนไปดูเหตุในอดีตของพระอัญญาโกณฑัญญะจะพบว่า ท่านมีอุปนิสัยในการทําบุญที่ไม่เหมือนใครอย่างสิ้นเชิง คือ ท่านชอบทําบุญก่อนด้วยของที่เลิศที่สุด และชอบทำบุญถี่ ๆ

เนื่องจากท่านมักเห็นโอกาสที่จะเป็นทางมาแห่งบุญก่อนคนอื่น และรีบชิงช่วงทําบุญก่อนทันที ซึ่งถ้าหากเราศึกษาจาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ เรื่องบุรพกรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะ และอรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา โสฬสกนิบาต อัญญาโกณฑัญญเถรคาถา จะทําให้เราที่งในอัธยาศัยการทําบุญของท่านเลยทีเดียว

ปกติในสมัยก่อนชาวนานิยมเอาข้าวไปทําบุญช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จหมดแล้ว เพราะคิดว่าถ้าหากเก็บเกี่ยวก่อนจะทําให้ได้ผลผลิตที่เป็นข้าวเปลือกน้อย แต่ในอดีตชาติของพระอัญญาโกณฑัญญะท่านไม่ทําเช่นนั้น ท่านเก็บเกี่ยวตั้งแต่เมล็ดข้าวยังอ่อน ยังเป็นน้ำเขียว ๆ อยู่ โดยเอามาเคี่ยวเป็นน้ำนมจนข้น ปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด แล้วเอาไปถวายพระ อีกทั้งยังชอบทําบุญแบบถี่ ๆ แบบที่ใครเขาไม่ทํากัน คือ พอถึงช่วงที่ข้าวเป็นข้าวเม่า ก็จะเอาข้าวเม่าไปถวายพระ พอถึงช่วงเก็บเกี่ยว ท่านก็เอาข้าวที่เก็บเกี่ยวไปถวาย พอถึงช่วงที่ทำเขน็ด ก็เอาข้าวที่ทำเขน็ดไปถวาย พอถึงช่วงที่มัดเป็นฟ่อน ก็เอาข้าวที่มัดเป็นฟ่อนไปถวาย พอถึงช่วงฝัดข้าว ก็เอาข้าวที่อยู่ในลานไปถวาย พอถึงช่วงที่เอาข้าวไปขาย ก็เอาข้าวช่วงที่ขายไปถวาย พอถึงช่วงนับผลผลิตข้าวที่เหลือ ก็เอาข้าวช่วงที่นับผลผลิตไปถวาย พอถึงช่วงที่เอาข้าวเก็บไว้ในฉาง ก็เอาข้าวในฉางไปถวาย คือ ถวายเป็นช่วง ๆ ทํานองนี้ โดยคัดสรรผลผลิตส่วนที่ดีเลิศที่สุดของช่วงนั้นไปถวาย ซึ่งรวมแล้วได้ถวายทานอันเลิศแด่พระสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุขถี่ถึง ๙ ครั้ง ในฤดูการทํานาข้าวครั้งหนึ่ง

ด้วยอานิสงส์ในการเห็นโอกาสที่เป็นทางมาแห่งบุญก่อน และตัดสินใจทําบุญก่อนคนอื่น อีกทั้งยังทําบุญถี่ ๆ ด้วยของเลิศนี้เอง บุญเลยส่งผลทําให้พระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุมรรคผลก่อนคนอื่นทั้งหมด

ดังนั้น เราจะเห็นว่า การทําบุญก่อน ทําบุญทันที ทําบุญถี่ ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ผิดเลย เพราะถ้าผิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงทรงตําหนิการถวายทานของพระอัญญาโกณฑัญญะในอดีตชาติไปแล้ว มิหนําซ้ำการทําบุญก่อน ทําบุญทันที ทําบุญถี่ ๆ ยังเป็นสิ่งที่ควรทํา เพราะจะทําให้ได้อานิสงส์ดังพระอัญญาโกณฑัญญะ

ถ้าคนทั่วไปได้รู้ข้อมูลความจริงตรงนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า คงมีคนอยากทําบุญตามพระอัญญาโกณฑัญญะกันมาก เพราะหากชาติที่เรามีบุญเกิดมาเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็คงอยากหมดกิเลสบรรลุธรรมเร็ว ๆ เนื่องจากไม่อยากมีความทุกข์ในชาตินั้นนาน ๆ

การทําบุญก่อนทันทีให้ผลแตกต่างจากการทําบุญช้าอย่างไร ?

จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙ เรื่องพราหมณ์ชื่อ จูเพักสาฎก พบว่า การตัดสินใจทําบุญก่อน เวลาบุญส่งผลจะทําให้เราได้สมบัติในปริมาณมาก เหมือนในเรื่อง จูเพักสาฎกพราหมณ์ สองสามีภรรยาที่ยากจนมากถึงขนาดไม่ค่อยมีเสื้อผ้าจะใส่ แต่ตัดใจทําบุญถวายผ้าคลุมกายที่มีเพียงผืนเดียวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เนื่องจากตัดสินใจช้า คือกว่าจะถวายก็จวนจะใกล้รุ่งแล้ว ด้วยเหตุนี้เวลาบุญส่งผลจึงได้สมบัติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายถึงการส่งผลของบุญของพราหมณ์ท่านนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเอกสาฎกนี้จักได้อาจเพื่อถวายแก่เราในปฐมยามไซร้ เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ ๑๖, ถ้าจักได้อาจถวายในมัชฌิมยามไซร้ เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ, แต่เพราะถวายในเวลาจวนใกล้รุ่ง เขาจึงได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔, แท้จริงกรรมงามอันบุคคลผู้เมื่อกระทำ ไม่ให้จิตที่เกิดขึ้นเสื่อมเสีย ควรทําในทันทีนั้นเอง, ด้วยว่ากุศลที่บุคคลทำช้า เมื่อให้สมบัติย่อมให้ช้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทํากรรมงามในลําดับแห่งจิตตุปบาททีเดียว

ดังนั้น จะเห็นว่า หากเรารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นบุญ แล้วตัดสินใจทําทันที เวลาบุญส่งผลก็จะทําให้เราได้สมบัติปริมาณที่มาก ทั้ง ๆ ที่เราก็ทําบุญนั้นในปริมาณที่เท่ากัน ฉะนั้นเราควรจะรีบทําบุญก่อนหรือทําช้า ๆ ดี ?

ที่สําคัญ หากเรามีวิบากกรรมที่กําลังรอส่งผลอยู่พอดี การทําบุญทันทีจะไปชิงช่วงตัดรอนวิบากกรรมได้ทันเวลา ทําให้หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย แม้ตายก็ไปดี




Cr. ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ
วัดพระธรรมกายชอบบอกบุญถี่ ๆ แถมยังเร่งให้ทำบุญก่อนจริงหรือ ? ถือว่าสอนผิดหรือไม่ ? วัดพระธรรมกายชอบบอกบุญถี่ ๆ แถมยังเร่งให้ทำบุญก่อนจริงหรือ ? ถือว่าสอนผิดหรือไม่ ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:53 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.