รักคือทุกข์


ในสมัยหนึ่งเมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าเรียนหนังสือภาษาไทยอยู่เล่มหนึ่งชื่อ กามนิต – วาสิฏฐี มีเนื้อเรื่องอยู่ตอนหนึ่ง ขณะที่พระเอกกับนางเอกของเรื่องคุยกันตามลำพังถึงเรื่องความรักของเขาสองคนที่มีอุปสรรค โดยพูดว่า รักคือทุกข์ เวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๑๔ ปี อ่านถึงตอนนี้แล้ว คำว่า รักคือทุกข์ กินใจและจับใจข้าพเจ้าเป็นที่สุด เพราะระหว่างนั้นกำลังเพิ่งเริ่มเข้าวัยรุ่น ไม่มีใครชมว่าข้าพเจ้าเป็นคนสวยแต่เขากล่าวกันว่า ข้าพเจ้าเป็นคนคมขำ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ใคร่รู้ความหมายนักในตอนนั้น แต่พอตีความหมายออกว่า คงจะมีลักษณะดีอยู่บ้าง เพราะมีผู้ชายรุ่นๆ บ้าง มีชายหนุ่มบ้างเขียนจดหมายบอกว่ารักข้าพเจ้าถึง ๖ ราย

อ่านมาถึงตอนนี้ท่านคงนึกว่าข้าพเจ้าเป็นเด็กแก่แดด คงจะเปรี้ยวน่าดู ตรงข้าม ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจเรื่องเพศตรงข้ามเลย เรื่องแต่งตัวก็ไม่ชอบแต่ง ตั้งหน้าตั้งตาอยู่อย่างเดียวคือเรื่องเรียนหนังสือและเรียนได้เก่งมาก สอบทุกครั้งไม่เคยพลาดจากตำแหน่งที่หนึ่งของชั้น ความรักตนเองมีอยู่ในขณะนั้นคือความรักที่มีต่อพ่อแม่ ข้าพเจ้ารักท่านทั้งสองมากที่สุด ทั้งรักทั้งบูชา เวลาที่ข้าพเจ้ารายงานท่านว่าสอบได้ที่หนึ่ง สีหน้าแววตา รอยยิ้มมีความสุขที่ท่านทั้งสองแสดงออกมา ทำให้ข้าพเจ้าเป็นสุขใจ จึงต้องพยายามรักษาตำแหน่งที่หนึ่งอยู่โดยตลอด เพื่อความพอใจของคนที่ข้าพเจ้ารัก เมื่อสนใจแต่เรื่องการเรียนก็ไม่มีเวลานึกถึงเรื่องอื่น ยิ่งเรื่องเพศตรงข้ามแล้ว เด็กหนุ่มสาวสมัยครั้งกระโน้นเขาจะถือกันว่า เป็นศัตรูของการเรียนเลยทีเดียว

เมื่อข้าพเจ้าอ่านพบข้อความที่ว่า รักคือทุกข์ จึงซาบซึ้งใจ คิดกว้างไกลเกินกว่าเนื้อเรื่องในหนังสือที่อ่านซึ่งเน้นเฉพาะเรื่องความรักฉันชู้สาว แต่ข้าพเจ้าเห็นว่ารักอะไรๆ ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น อย่างข้าพเจ้ารักพ่อแม่ อยากให้ท่านดีใจมีความสุขใจ เป็นการตอบแทนพระคุณ ก็พากเพียรพยายามในการเล่าเรียน อดหลับอดนอนท่องหนังสือ หนังสือเรียนสมัยนั้นแต่ละชั้นมีไม่มาก ข้าพเจ้าแทบจะหลับตาเห็นข้อความหมดทุกหน้า ด้วยความกลัวจะสอบไม่ได้ที่หนึ่ง ดูเอาเถอะ รักพ่อรักแม่ก็เป็นทุกข์

ยิ่งพอมีพวกผู้ชายมาสนใจก็ยิ่งทุกข์หนักขึ้นไปอีก ต้องคอยหลบ คอยหลีก คอยเลี่ยงไม่ให้พวกเขาเห็น จะเดินทางไปธุระที่ไหนตามลำพังก็ให้รู้สึกหวาดหวั่น เพราะมักจะถูกคนอื่นๆ เขม่นโกรธเคืองจนถึงบางครั้งถูกทำร้ายร่างกาย ข้าพเจ้าได้เห็นความทุกข์ของคนที่มีความรักมาตั้งแต่วัยนั้น

เมื่อเติบโตมีอายุผ่านไป ยิ่งได้พบเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งของตนเองและผู้อื่นอีกมากมายนับเรื่องไม่ไหว ไม่ว่าจะรักสิ่งใดจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ล้วนแต่นำความทุกข์มาให้ทั้งสิ้น แต่ก็เป็นเรื่องแปลกจริงๆ ที่ผู้คนในโลกทั้งหมดแม้จะรู้ว่า รักแล้วทุกข์แต่ก็ไม่มีใครเลิกรักสักคน ไม่รักสิ่งนี้ก็รักสิ่งนั้น หมุนเวียนเปลี่ยนแปร ผู้คนทั้งปวงจึงไม่มีทางพ้นจากความทุกข์ได้เลย

สําหรับข้าพเจ้าเอง ใช่ว่าจะหนีจากทุกข์เหล่านั้นพ้น ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกับคนอื่นเหมือนกัน แต่ที่นับว่าได้เปรียบคนอื่นๆ อยู่เล็กน้อย ตรงที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมคําว่า รักคือทุกข์ จากหนังสือเรียนเล่มที่เล่าไว้ ข้างต้นนั้นเลย ดังนั้น ยามใดที่มีความรู้สึกจะต้อง รัก อะไรเข้า ข้อความ รักคือทุกข์ นั้นจะคอยเตือนใจข้าพเจ้าเสมอมา ทําให้รู้สึกตัวได้สติคิดทัน จึงรักสิ่งใดๆ ที่บังเอิญผ่านมาในชีวิตไม่เต็มหัวใจ คือ ไม่รักอย่างทุ่มเทชีวิต แต่รักอย่างชนิดที่คอยระมัดระวังตัว

ยิ่งเมื่อได้ฟังเทศน์และอ่านข้อความธรรมะของพระเถระ ผู้มีชื่อเสียงองค์หนึ่ง ท่านเน้นเรื่องการดําเนินชีวิตที่ดี คือ การทําหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ความรักของข้าพเจ้าที่มีต่อผู้ใดหรือมีต่อสิ่งใด จึงกลายเป็น การพยายามทําหน้าที่ที่มีต่อผู้นั้น ต่อสิ่งนั้นไปในที่สุด ทําหน้าที่ให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด พยายามถอนใจไม่ให้เกิดความรักชนิดลุ่มหลงให้มากที่สุด

ดังนั้น ในระยะหลังของชีวิต แม้จะได้รับความผิดหวังจากความรัก ไม่ว่าจะเป็นรักใคร รักสิ่งใด ข้าพเจ้าจึงยังพอประคับประคองความเป็นไปในชีวิตมาได้อย่างราบรื่น ไม่เสียขวัญ ไม่ท้อแท้หมดกําลังใจ จนกระทั่งเมื่อได้มาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง พอได้รับผลการปฏิบัติบ้างแม้เพียงเล็กน้อย ก็กลับตัดใจจากความรักในสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าปกติ ไม่ใคร่มีอารมณ์ยินดียินร้ายในสิ่งทั้งปวงเหมือนสมัยก่อน ไม่ว่าเรื่องที่ต้องพบจะเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงเพียงใด ก็พอตั้งสติสั่งสอนตนเองแก้ไขเรื่องเหล่านั้นโดยไม่ต้องทุกข์ใจอะไรมาก มีอะไรเกิดขึ้นก็จะพอปรับใจให้อยู่ในสภาพ ทนได้ เสมอมา นี่คือผลจากการรู้ความจริงว่า รักคือทุกข์ล่วงหน้า มาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย

เป็นเรื่องน่าประหลาดอยู่ประการหนึ่งคือ ข้าพเจ้าพยายามถอนใจ ห้ามใจมิให้รักสิ่งใดมาก ด้วยเกรงจะมีทุกข์จากสิ่งนั้นในเวลาที่มีอันเปลี่ยนแปลงพลัดพรากหรือมีเหตุผันแปรอื่นๆ เรื่องราวในชีวิตของข้าพเจ้า ก็ยิ่งมีเหตุการณ์ที่น่าเจ็บปวดรวดร้าว ทุกข์ทรมานทั้งกายทั้งใจรุมกระหน่ำซ้ำเติม รุกโหมทับทวีหลายเรื่องหลายราว บางเรื่องบางครั้งราวกับต้องตาย ทั้งที่ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่ บางระยะถึงกับนอนหลับไม่ลง ซาบซึ้งกับอาการที่กล่าวกันว่า น้ำตาตกในเป็นที่สุด คือใจคอแห้งผากระบมกรมเกรียมเหมือนถั่วเหมือนงาที่ถูกคั่วจนไหม้ มีควันขึ้นคลุ้งตลบบนเตาไฟ อาการทางกายของข้าพเจ้าอยู่ในสภาพพ้นจากการร้องไห้หรือบ่นเพ้อรําพันคร่ำครวญ แต่กลับนั่งนิ่งๆ ดวงตาเหม่อลอยไปเบื้องหน้าในความมืด โดยไม่ได้ขยับตัวเคลื่อนไหวแต่อย่างใดเป็นเวลานานนับได้ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง บางคืนมีอาการอย่างนี้ตั้งแต่หัวค่ำจนตลอดรุ่ง ในขณะที่ผู้คนอื่นๆ ในบ้าน พากันนอนหลับสบาย ข้าพเจ้ากลับตกอยู่ในสภาพดังนี้ ส่วนในเวลากลางวันข้าพเจ้ามีชีวิตเหมือนการแสดงละคร มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่ของบิดามารดาน้องๆ และลูกๆ ข้าพเจ้าไม่แสดงให้ใครในครอบครัวได้เห็นความรู้สึกเป็นทุกข์ที่มีอยู่ หน้าที่ทางราชการในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาจํานวนมาก ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนหลายอาชีพ จึงต้องอยู่ในบทบาทของบุคคลที่เข้มแข็ง แกร่งกล้าในการบริหารงานให้สําเร็จลุล่วงไปด้วยดี ชีวิตต้องหวานอมขมกลืนมาถึงขนาดนี

พอถึงเวลาปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าจึงได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เลิกประหลาดใจโดยสิ้นเชิง เมื่อต้องมีหน้าที่บรรยายธรรมและให้การอบรมธรรมปฏิบัติต่อผู้คนมากหน้าหลายตา ข้าพเจ้าต้องทําหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกฐานะ ซึ่งต่างก็มีความทุกข์จากปัญหาชีวิตหลายรูปแบบ แต่จะเป็นแบบใดก็ตาม ช่างเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่มักจะเป็นความทุกข์ที่ข้าพเจ้าได้เคยเผชิญมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกาย ทางใจ ที่ร้ายแรงเพียงใด

ความจริงชีวิตตอนต้นของข้าพเจ้า ตั้งแต่เริ่มประกอบอาชีพอายุ เพียง ๒๓ ปี ก็ต้องอยู่ในฐานะให้ความคิดเห็น คําแนะนํา และช่วยเหลือแก้ไขในความทุกข์ของผู้อื่นอยู่ตลอดมา ทั้งนี้เพราะบังเอิญเรียนจบ ปริญญาถึง ๒ อย่างในสมัยครั้งกระโน้น ซึ่งผู้คนยังไม่นิยมเรียนกันนัก จึงได้ทํางานในหน้าที่ใหญ่ทั้งที่วัยยังน้อย ต้องพบปัญหาต่างๆ ของผู้ใต้บังคับบัญชาในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ จําได้ว่าข้าพเจ้าพยายามเต็มที่อย่างดีที่สุดในการแก้ปัญหา จะทําได้ผลเฉพาะปัญหาที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง และไม่ทําความทุกข์โดยเฉพาะทุกข์ใจอะไรมากนัก แต่สําหรับกรณีปัญหาที่เป็นความทุกข์ร้ายแรง โดยเฉพาะเรื่องความแตกแยกของชีวิตครอบครัว บ้านแตกสาแหรกขาด การห้ำหั่นกันด้วยสงครามทางจิต ข้าพเจ้ามักให้คําแนะนําไปไม่สมใจผู้มีปัญหาดังกล่าว บางครั้งผู้มาขอร้องถึงกับต่อว่าข้าพเจ้า

อาจารย์ อาจารย์ใหญ่ไม่เข้าใจปัญหาของหนูหรอกค่ะ อาจารย์ไม่เคยตกอยู่ในสภาพอย่างหนูนี่คะ!หรือ

หัวหน้า ผมทําใจอย่างที่หัวหน้าแนะนําไม่ได้หรอกครับ ผมแค้นใจจนพูดไม่ถูก ถ้าไม่ตายกันไปข้างหนึ่ง ไม่หายแค้นแน่ มันใส่ความผมด้วยเรื่องไม่มีมูลความจริงสักนิดเดียว ถ้าหัวหน้าโดนอย่างผม หัวหน้าก็ต้องทนไม่ได้เหมือนกัน!

ในเวลานั้น เมื่อถูกท้วงด้วยถ้อยคําประเภทนี้ ข้าพเจ้าก็ถึงกับนิ่งอึ้งไปเหมือนกันเพราะเป็นเรื่องจริงตามที่ถูกท้วง ข้าพเจ้ามีชีวิตที่ร่มเย็น เป็นสุขจริงๆ มีแต่คนที่รักและคนที่จริงใจ พร้อมที่จะสนับสนุนอยู่รอบข้าง ไม่เคยรู้จักความทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การต้องพบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ว่าเรื่องอะไรๆ ดูราบรื่นสะดวกสบายไปจนหมด การพูดหรือทําการใดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้อื่น จึงไม่ประทับใจ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่เคยพบปัญหานั้นๆ ด้วยตนเองนั่นเอง

เมื่อวันเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้าได้พานพบทุกข์ยากเหล่านั้นมากมายจริงๆ พบกับชีวิตของตนเองโดยตรง ได้ลองผิดลองถูกแก้ปัญหาของตนเองมาอย่างลําบากยากเย็นด้วยวิธีการหลายแบบหลายอย่าง กว่าจะแก้ไขปัญหาของตนเองสําเร็จ บทเรียนเหล่านี้เองทําให้ข้าพเจ้าพอจะสามารถให้คําแนะนําการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ผู้คนอย่างที่เขานําไปใช้ได้ผล มีความเข้มแข็งในการให้กําลังใจ ปลุกปลอบให้เกิดพลังในการสู้ชีวิต บางคนเพียงฟังคําพูดของข้าพเจ้าประโยคเดียว ถึงกับหัวเราะออกมาได้ทั้งน้ำตา บอกว่าพอฟังคําพูดของข้าพเจ้าแล้ว เขาหายทุกข์เหมือนปลิดทิ้ง และหายได้โดยตลอด

ความสามารถอย่างนี้ ข้าพเจ้าได้มาเพราะเคยผ่านความทุกข์เหล่านั้นมาก่อน ถึงเวลานี้ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเข้าใจและซาบซึ้งเป็นอย่างดี ว่าเหตุใดชีวิตของข้าพเจ้าจึงต้องเผชิญความทุกข์นานาชนิดเหล่านั้น ด้วยเหตุเพื่อเป็นการสั่งสอนบทเรียน ให้ข้าพเจ้ามีความรู้ความชํานาญในงานเผยแผ่ธรรมะตามหน้าที่ในปัจจุบันนี้นั่นเอง

คําสอนของพระบรมศาสดาของเราในเรื่อง อริยสัจ ๔ ตรัสเรื่องความทุกข์ไว้ว่า ความทุกข์เกิดมาจากตัณหาเป็นเหตุ ตัณหา คือ ความอยากได้ ความรักก็คือความอยากได้ชนิดหนึ่ง ฉะนั้นรักจึงต้องทําให้เกิดทุกข์

ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ เดือนกรกฎาคม บิดาของข้าพเจ้าขอให้ซื้อหนังสือพระไตรปิฎก ๒ ชุด ชุดหนึ่งถวายวัดอีกชุดหนึ่งท่านต้องการอ่านเอง ข้าพเจ้าจึงได้อาศัยอ่านกับท่านไปด้วย มีข้อความในพระสุตตันตปิฎกตอนหนึ่งเล่าเรื่องไว้ว่า

ครั้งหนึ่งหลานสาวที่รักของนางวิสาขาคนหนึ่งถึงแก่กรรม นางวิสาขาแม้จะเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังเศร้าโศกเสียใจร้องไห้น้ำตาเปียกชุ่มหน้าตาและผมเผ้าเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลเล่าความทุกข์ของตนถวายต่อพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสถามนางว่า นางชอบมีหลานรักจํานวนมากๆ หรือไม่ นางวิสาขาทูลตอบว่าชอบ พระองค์จึงตรัสถามว่าให้มีจํานวนมากเท่าผู้คนในเมืองสาวัตถีนี้เอาหรือไม่ นางทูล ตอบว่านางต้องการอย่างนั้น จึงทรงถามว่าคนในเมืองนี้ตายทุกวันหรือเปล่า นางตอบว่ามีคนตายทุกวัน พระองค์จึงย้อนถามนางว่า ถ้านางวิสาขามีลูกหลานจํานวนมากเท่าผู้คนในเมืองก็จะต้องร้องไห้อย่างนี้ทุกวัน

นางวิสาขาฟังแล้วเข้าใจหายโศกเศร้าทันที พระบรมศาสดายังทรงสอนเพิ่มเติมว่า ถ้าเรามีของที่รักจํานวนพันก็จะต้องทุกข์ถึงพัน ถ้ามีจํานวนร้อยก็ทุกข์ถึงร้อย แล้วทรงตรัสลดจํานวนสิ่งที่รักเรื่อยลงมาจนถึง มีสิ่งที่รักจํานวนหนึ่ง ก็ต้องเป็นทุกข์หนึ่ง ถ้าไม่มีสิ่งที่รักเลย ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เลย

ที่เขียนเล่าให้ท่านฟังมาทั้งหมดนี้เป็นความจริงที่พวกเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลสก็จะต้องมีรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ในหัวใจเสมอ จึงทําให้เราต้องพบกับความทุกข์มาตลอดกาลอันยาวนาน และเพื่อให้เห็นตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องของคนใกล้ชิดที่ข้าพเจ้ารู้จักให้ท่านฟังเป็นอุทาหรณ์ประกอบเรื่อง รักคือทุกข์ ว่าที่จริง ข้าพเจ้าควรจะเล่าเรื่องชีวิตรักของข้าพเจ้าเองว่าเกิดทุกข์อย่างไรให้ท่านฟัง แต่ข้าพเจ้ายังไม่หมดกิเลส ถ้าต้องให้นึกถึงอดีตอันขมขื่นทุกข์ร้อน ก็อดที่จะทําให้จิตใจหม่นหมองไม่ได้ จึงต้องขออนุญาตไม่พูดถึง ขอพูดถึงเรื่องของคนอื่นๆ แทน

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล  จากความทรงจำ เล่ม ๓ บทที่ ๑
รักคือทุกข์ รักคือทุกข์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:16 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.