เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 7 พระของชาวบ้าน)

โดย เณรโดแฮ วัดดงดินแดง


วันหนึ่งพวกเราตกใจกันทั้งวัด เมื่อได้รับแจ้งว่า พระอาจารย์รถคว่ำกลางดอย พวกเราพระ-เณร จึงรีบรุดไปยังจุดเกิดเหตุ เห็นพระอาจารย์และคนขับกำลังพาชาวบ้านดึงรถที่ตะแคงแอ้งแม้งอยู่ริมเหว ช่างน่าแปลกที่บรรยากาศกลับดูสนุกสนาน ที่ดูสนุกสนานเพราะเป็นพลังสามัคคีของพี่น้องชาวลาหู่หรือมูเซอเป็นจำนวนมากมาช่วยกันลากรถอย่างเบิกบาน


มองไปยังหน้าพระอาจารย์ก็มีแต่รอยยิ้ม เมื่อถามว่า พระอาจารย์เป็นอะไรไหมครับ ท่านก็ตอบว่า สบายมากสนุกดีเหมือนกัน พอมองไปทางคนขับก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ทุกคนยังคงใจจดใจจ่ออยู่กับการดึงรถให้พ้นปากเหวเสียมากกว่า และในเวลาไม่นานรถที่นอนแอ้งแม้งก็จอดอย่างเรียบร้อยข้างทาง ผมเองต้องยอมรับว่า แรงพลังของชาวลาหู่ไม่ธรรมดาจริงๆ แทบจะยกรถด้วยมือเปล่าได้ทั้งคัน

เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง พระอาจารย์ก็ขอบใจและอนุโมทนาบุญกับทุกคน ท่านชูนิ้วโป้งทั้ง 2 ข้าง เพื่อแทนสัญลักษณ์ภาษาว่า ทุกคนสุดยอดมากมีพี่น้องชาวลาหู่คนหนึ่งบอกว่า พระอาจารย์ไม่ต้องห่วงเลยครับ ถ้ารถมาตกดอยแถวนี้ ขนาดบางคันตกลึกกว่านี้ลึกลงไปเป็นกิโล พวกเราก็ดึงขึ้นมากันได้อย่างสบายๆ มีอะไรเรียกใช้ชาวลาหู่ได้


พระอาจารย์ได้แต่หัวเราะ ผมเองก็คิดในใจว่า พระอาจารย์อย่าเพิ่งใช้บริการอีกเลย ให้รถได้พักบ้างเถิด เพราะตั้งแต่ทำหน้าที่กันมา รถตกเขาตกดอยไปแล้วหลายรอบ แต่ละรอบไม่มีใครเป็นอะไรแม้แต่รอยขีดข่วน สิ่งนี้พวกเราเชื่อมั่นว่าเป็นเพราะบารมีหลวงปู่ หลวงพ่อท่านคุ้มครองรักษา ในทุกครั้งที่ออกเดินทางทำหน้าที่ พระอาจารย์จะคอยซักถามตลอดว่า แขวนเหรียญหลวงปู่หรือยัง เพื่อให้ใจของทุกคนผูกพันอยู่กับครูบาอาจารย์

จากสถิติที่ได้พบเห็นในพื้นที่มีชาวดอยจำนวนไม่น้อย เสียชีวิตเพราะอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะเดินทางมาถึงโรงพยาบาลไม่ทัน ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ญาติของสามเณรวัดดงดินแดงคนหนึ่ง เสียชีวิตระหว่างเดินทางมาโรงพยาบาลเพราะคลอดลูกแล้วมีอาการตกเลือดมาโรงพยาบาลไม่ทันเพราะเส้นทางลำบาก


บางคนเวลาป่วยไข้ก็ไม่กล้าไปโรงพยาบาล อย่างเช่น คนที่บ้านของผมคนหนึ่งมีอาการปวดแขนมาก รักษาด้วยวิธีพื้นบ้านอย่างไรก็ไม่หาย แต่ครั้นจะพาไปโรงพยาบาลก็ไม่กล้า ให้เหตุผลว่า ไม่กล้าขึ้นรถเพราะตั้งแต่เกิดมาแกไม่เคยนั่งรถเลย เดินตลอด แต่จะให้เดินไปโรงพยาบาลที่มีระยะทางห่างจากหมู่บ้านไปนับร้อยกิโลก็ลำบากเกินไป


ดังนั้นพระ-เณร ดอยอย่างพวกเราเวลาขึ้นดอยก็จะต้องติดยาพาราเซตามอลหรือยาสามัญประจำบ้านไปด้วยทุกครั้ง จึงเป็นทั้งพระเป็นทั้งหมอ รักษาทั้งไข้กายและไข้ใจ พระอาจารย์จะสอนเสมอว่า เราคือพระของชาวบ้าน เราอยู่ได้เพราะชาวบ้านใส่บาตรให้ฉัน จึงมีเรี่ยวมีแรงมีเวลาสร้างบารมี พระต้องดูแลชาวบ้าน ดูแลทั้งในภพนี้และดูแลในภพเบื้องหน้า นอกจากนั้นพระอาจารย์ก็จะบอกกับชาวบ้านด้วยว่า ถ้าชาวบ้านเจ็บป่วยฉุกเฉินอะไรให้โทรแจ้งพระอาจารย์หรือทีมงานของวัดได้ทันที ท่านจะได้ให้รถรับไปส่งโรงพยาบาลได้ ซึ่งก็สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้หลายคนแล้วเหมือนกัน

ที่ผมได้เล่าประเด็นนี้ให้ฟังเพราะอยากสะท้อนให้เห็นว่า โดยสายตาของผมที่มาจากลูกชาวบ้านชาวดอย มองเห็นพระดอยหรือพระที่ทำหน้าที่เผยแผ่อยู่กลางป่ากลางดอยนั้น ท่านเป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างของชาวบ้าน เป็นทั้งครู เป็นทั้งหมอ เป็นทั้งกรมทาง เป็นทั้งป่าไม้





ไม่ว่าจะไปดอยไหน พระก็จะต้องนำชาวบ้านปลูกต้นไม้หรือไม่ก็ทำพิธีบวชป่า พร้อมทั้งกำชับให้ทุกคนรักษาดูแลป่าเพราะป่าคือ ต้นน้ำ คือชีวิตและลมหายใจ อีกทั้งพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ชาวบ้านเลี่ยงการตัดต้นไม้ บางครั้งท่านก็ส่งเสริมให้คนปลูกกาแฟหรือปลูกไผ่ซึ่งเป็นพืชที่ไม่กินพืช อีกทั้งยังเป็นการรักษาหน้าดินไว้ด้วย ล่าสุดเมื่อฤดูฝนที่ผ่านมา พระอาจารย์ท่านนำต้นไผ่กิมซุงมาปลูกเสียเต็มวัด ท่านบอกว่า เอาไว้เป็นอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงเณร พอมันโตขึ้นจะได้ทำการขยายกิ่งพันธ์ไว้แจกชาวดอย หน่อขายได้ รากรักษาป่ารักษาหน้าดิน ลำต้นนำมาถักสานหรือใช้ในงานก่อสร้าง

ผมเคยได้ยินพี่ๆ ที่ทำงานส่วนงานป่าไม้คนหนึ่งบอกว่า การที่พระได้นำพาชาวบ้านปลูกป่าหรือบวชป่านี้ดีมากๆ ช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐได้มาก อย่างเช่นบางปีมีนโยบายและมีงบให้เพาะพันธ์กล้าไม้ แต่ไม่มีงบประมาณในการปลูก หรือบางที่มีงบประมาณปลูกแต่ปลูกแล้วก็ไม่ค่อยมีคนดูแล แต่เมื่อพระท่านพาชาวบ้านช่วยปลูกหรือปลูกในวัดในวา ก็ประหยัดทั้งงบปลูกและต้นไม้ที่ปลูกก็มีคุณภาพเพราะมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพระ-เณรของวัด



หมู่บ้านไหนขาดน้ำดื่มน้ำใช้ พระ-เณรก็สร้างฝายให้อีกทั้งต่อท่อ ต่อระบบน้ำให้ส่งมาถึงชาวบ้านทุกหลังคาเรือน ดังที่พระอาจารย์ได้พาทีมงานมาทำให้ที่หมู่บ้านโกจีโกร ทำให้ทุกบ้านมีน้ำดื่มน้ำใช้อย่างสะดวกสบาย


บางครั้งพระก็เป็นเหมือนกรมทางเพราะทางไหนลำบากคนสัญจรไปมาด้วยความเสี่ยง ดังที่เล่าแต่ต้นว่า ทางลำบากไปหาหมอก็ไม่ทันการสิ้นลมหายใจไปรายตัวในยมโลกกันก่อนถึงมือแพทย์เสียอีก พระท่านก็นำพาชาวบ้านช่วยกันพัฒนาทำถนนหนทางโดยไม่ต้องรบกวนเวลาหรืองบประมาณของส่วนงานภาครัฐซึ่งจะมีโอกาสเข้ามาพัฒนาให้นั้น น้อยถึงน้อยที่สุด



การพัฒนาถนนหนทางของพระและชาวบ้านเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น สนุกสนานเบิกบาน สร้างความสามัคคี ระหว่างสร้างทางพระก็สอนธรรมะ โยมได้ถวายน้ำปานะ ถวายภัตตาหารเช้าเพล ตกเย็นก็มารวมตัวกันสวดมนต์และฟังธรรม มอบทั้งหนทางในโลกมนุษย์และเปิดหนทางไปสู่สวรรค์และพระนิพพานในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ในขณะสร้างถนนหนทางหากเจอหินก้อนใหญ่ ขวางทางจะใช้อะไรทุบก็ลำบากหรือจะใช้ระเบิดมาระเบิดก็ไม่เหมาะสม ท่านก็ให้เอาฟืนเอาไฟมาสุมจนก้อนหินร้อนเต็มที่ แล้วระดมชาวบ้านรุดราดน้ำเย็นๆ เข้าใส่ เมื่อร้อนกระทบเย็นในฉับพลันหินก้อนใหญ่ก็แตกเพลาะเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย ขนไปถมถนนได้อีกทอดหนึ่ง


วิถีการทำหน้าที่อย่างนี้เป็นวิถีที่ทำให้สังคมชาวดอยมีความสุข เพราะเป็นวิถีของการเกื้อกูล โดยมีพระเป็นศูนย์รวมกล่อมเกลาจิตใจและผสานความสมัครสมานสามัคคี บางทีได้ยินข่าวว่า พระถูกเจ้าหน้าที่ตามจับหรือโดนข้อหาบุกรุกทำลายป่า ผมได้ยินข่าวอย่างนี้ก็ไม่เข้าใจวิธีคิดหรือเหตุผลที่แท้จริงของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะดอยบางแห่งต้องบอกเลยว่า ถ้าไม่มีพระคอยดูแลคอยรักษาให้ ป่านนี้เห็นแต่ดอยหัวโล้นไปแล้ว นอกจากนั้นเด็กติดยา คนติดการพนันก็คงเต็มบ้านเต็มเมืองไปแล้วเหมือนกัน เพราะที่จริงแล้วพระนั่นเองที่ช่วยดูแลป่า ดูแลความสงบสุขของสังคม ซึ่งผมคิดว่า ไม่ว่าพระป่าพระดอยหรือพระในเมือง ต่างก็ล้วนมีบทบาทและหน้าที่อย่างนี้มายาวนาน บ้านเมืองเราจึงสงบสุข การแก้ปัญหาการสูญเสียไปของป่าโดยการตั้งข้อหาบุกรุกทำลายป่าให้แก่วัดหรือให้กับพระ ไม่ต่างอะไรกับการกำจัดหมอ เพื่อรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ผมเชื่อว่าคนที่มีวิธีคิดอย่างนี้ ถ้าไม่ปัญญาอ่อนก็มีจิตใจที่ประสงค์ร้ายไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง


วิธีการรักษาป่า รักษาความสงบสุขของบ้านเมืองหรือรักษาความพิการทางสังคมได้ดีที่สุด คือ การดูพระดูแลเณรและช่วยกันดูแลรักษาพระพุทธศาสนา เหมือนจะรักษาคนป่วยคนไข้ก็ต้องดูแลหมอดูแลพยาบาลให้ดี เพราะพระพุทธศาสนา คือ หนทางในการแก้สารพัดปัญหาของทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ดีที่สุด โดยไม่เดือดร้อนงบประมาณแผ่นดินหรือภาษีของประชาชนเลยแม้แต่น้อย

Cr. พระปลัดบริบูรณ์ ธมฺมวิชฺโช สำนักสื่อธรรมะ

ตอนที่ กฐินสามัคคีทั่วไทย สามัคคีธรรม สามัคคีบุญ
ตอนที่ 8 ใครที่ทำให้เปลี่ยน..







เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 7 พระของชาวบ้าน) เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 7 พระของชาวบ้าน) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:30 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.