เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 1)
โดย เณรโดแฮ วัดดงดินแดง
ผมเป็นสามเณรจากวัดดงดินแดง อำเภออมก๋อย
จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชาวดอยมาตั้งแต่กำเนิด
พระอาจารย์บอกให้ผมเขียนบันทึกเล่าการเดินทางและชีวิตการทำหน้าที่เผยแผ่บนดอย
ซึ่งตอนนี้เรากำลังเร่งรุดทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่ดอยต่างๆ
ผ่านการสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ซึ่งเป็นบทสวดมนต์ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า ใครได้สวดมนต์บทนี้จะได้บุญมาก
สิ่งดีๆ จะบังเกิดขึ้นอย่างอัศจรรย์
ซึ่งพวกเราก็อยากจะให้ชาวดอยที่อยู่ห่างไกลได้บุญมากๆ เช่นกัน
เพราะชาวดอยรักบุญกันมาก
บุญเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต แต่ไม่ค่อยมีพระเข้าไปเป็นเนื้อนาบุญหรือพาสวดมนต์เจริญภาวนามากนัก
ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสที่พวกผมจะได้ไปทำหน้าที่อันสำคัญนี้
สำหรับผมแล้วนับเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเขียนหรือสื่อสารอะไร
แต่พระอาจารย์ท่านคงต้องการจะฝึกผมดังนั้นบทความทุกตัวอักษรตั้งแต่บรรทัดนี้ถือว่าเป็นการฝึกเขียน
ฝึกเล่าเรื่อง ประสาเณรป่าเณรดอย
หากผิดพลาดอะไรก็ต้องขอสุมาอภัยไว้ตั้งแต่บรรทัดต้นๆ นี้เลยนะครับ
ล่าสุดผมได้เดินทางไปที่หมู่บ้านมอคลี
ตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย ซึ่งเป็นหมู่บ้านในหุบเขาที่อยู่ห่างไกลมากๆ
ขณะที่คณะของผมกำลังจะเดินทางไป มีพี่ๆ ทหารที่มาสังเกตการณ์ในหมู่บ้านพะเบี้ยวซึ่งเป็นทางผ่านถึงกับรีบมาบอกว่า
จะไปไหนกัน พอทราบคำตอบ พี่ทหารก็บอกด้วยความหวังดีว่า ไปไม่ได้นะ ตอนนี้ทางโหดมาก
พระอาจารย์ท่านก็ได้แต่ยิ้มๆ ขอบคุณแล้วก็เดินทางรุกหน้ากันต่อ
สำหรับพวกผมแล้วไม่มีอะไรที่จะขวางพวกเราได้ ต่อให้ฟ้าถล่ม แผ่นดินจะทลาย
ถ้าตั้งใจจะไปเอาบุญให้ญาติโยมทุกคนพร้อมลุย พระอาจารย์ท่านบอกว่า
พวกเราก็เหมือนทหาร แต่เป็นทหารแห่งกองทัพธรรม
ทำหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาด้วยการประกาศพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยมีเป้าหมายในการกำจัดข้าศึก คือ กิเลสทั้งในใจของเราและในใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เหมือนดังโอวาทที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ท่านได้สอนว่า
จงเป็นยอดนักรบกองทัพธรรมที่เป็นที่พึ่ง เป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่ชาวโลก
การเดินทางรอบนี้เราได้ใช้บริการคาราวานแว๊นบุญ
คือ กลุ่มแก๊งมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่รักการสั่งสมบุญ เราได้ร่วมงานกันตั้งแต่ภาคฤดูร้อนต้นปีที่ผ่านมาในภารกิจชวนคนบวชภาคฤดูร้อน
ซึ่งครั้งนั้นเราชวนคนจากหมู่บ้านต่างๆ มาบวชได้กว่า 1,000 คน
ครั้งนี้หนทางยากและไกลเกินกว่าที่จะเอาเวลาเดินทางไปถึงเราจึงได้มีโอกาสมาร่วมกันหมุนกงล้อธัมมจักรอีกครั้ง
และที่สำคัญหนทางสายนี้ทากเยอะมากๆ เพราะยังอุดมไปด้วยป่าดิบชื้น
เพื่อนของผมคนหนึ่งเคยโดนทากกระโดดเข้าตาและดูดเลือดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
พอรู้อีกทีก็ตาแดงก่ำ ทากที่น่ากลัวที่สุดคือทากตัวเล็กๆ
ที่อยู่บนต้นไม้เวลากระโดดมาดูดเลือดทีเราแทบไม่รู้สึกตัว
หากเข้าไปในหูหรือทางทวารต่างๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่อันตราย ผมบอกตามตรงว่า
การเดินทางมาอย่างนี้ผมไม่ค่อยสบายใจเลยกับเหล่าทาก
แม้พระอาจารย์ท่านจะมีสำนวนอย่างสวยงามของท่านว่า
การที่เราได้ทำหน้าที่อย่างนี้ถือเป็นกำไรชีวิต เราได้มีโอกาสได้สูดอากาศใหม่ๆ
และทักทายกับเหล่าฝูงทากที่หาดูชมได้ยากในเขตเมือง
หลังพระอาจารย์พูดจบผมไม่อาจที่จะนึกอะไรที่มันโสภาได้เลยนอกจากนึกถึงเหตุการณ์ที่อยู่ๆ เลือดก็ไหลโชกแดงฉานมาจากสบงของเพื่อนอย่างน่าตกใจ
พร้อมกับเสียงโวยวายว่าช่วยด้วยๆ “ทากกัดๆ” ทำให้ทุกคนต้องรีบหาที่ลับตาเพื่อตรวจเช็คหาทากน้อยกันจ้าละหวั่น
นอกจากเส้นทางจะชันแล้ว บางจุดก็ลื่นมากๆ
ดังนั้นมอเตอร์ไซค์จำเป็นต้องใส่โซ่ด้วยจึงจะไปได้
ดังนั้นเราก็ต้องผลัดกันทำหน้าที่เป็นระยะ คือ
บางครั้งเราขี่มอเตอร์ไซค์และบางครั้งมอเตอร์ไซค์ก็แทบจะขี่เรา เพราะต้องช่วยกันยก
ช่วยกันลากมันไปจนกว่าจะผ่านจุดที่สูงชัน เส้นทางสายนี้น้อยคนมากที่จะมา
หมู่บ้านมอคลีจึงเป็นเสมือนหนึ่งหมู่บ้านที่ถูกทอดทิ้งไม่ค่อยมีหน่วยงานใดให้ความสนใจในการเข้ามาพัฒนามากนัก
เพราะมีข้อจำกัดที่ประชากรมีไม่มาก ทำให้ไม่ค่อยมีผลต่อการบวกลบของคะแนนเสียง
ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระอาจารย์ท่านได้สอนพวกผมว่า ที่ใดที่คนไม่ค่อยอยากจะไป
เราต้องไปให้ถึง แม้บางหมู่บ้านคนน้อยหรือแม้จะมีเพียงแค่คนเดียวก็สำคัญ
เพราะการทำให้คนๆ หนึ่ง มีความเป็นสัมมาทิฏฐิ ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องก็มีคุณค่ามาก
ท่านบอกว่า คนน้อยก็เหมือนหอก คนมากก็เหมือนโล่
ที่ต่างก็มีผลต่อการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ถ้าหากหนทางไกลแล้วเราไม่ไป
ความไกลก็จะยิ่งห่างไกล จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรไกลเลย
เพราะถ้าเรายิ่งเดินไปหาเขามันก็ยิ่งใกล้
ซึ่งมันเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่เราจะขจัดความไกลไปได้
คิดไปคิดมา..พูดอีกก็ถูกอีก เพราะยิ่งเราได้เดินไปหาเขา มันก็ใกล้ขึ้นจริงๆ ใกล้ตัวและใกล้ใจ
แล้วเราก็สามารถเอาพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในใจเขาได้
ซึ่งหมู่บ้านมอคลีนี้ เมื่อได้เดินทางไปถึงแล้ว
ทำให้ผมรักพระพุทธศาสนาและภาคภูมิใจในเพศสมณะนี้มากๆ
ทำให้นึกถึงถ้อยคำที่หลวงพ่อท่านเมตตาแต่งเป็นบทประพันธ์เอาไว้ประโยคหนึ่งว่า “ทุกเผ่าพันธุ์ในป่าเขาต่างเฝ้ารอคอย
พุทธบุตรเณรน้อยไปสั่งสอนด้วยความกระหาย อยากศึกษาความรู้ขององค์พระจอมไตร
ปิดประตูอบาย เปิดประตูไปสู่สวรรค์” ซึ่งเมื่อได้ไปทำหน้าที่แล้วความจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ราวกับหลวงพ่อท่านดึงหัวใจของชาวพุทธบนยอดดอยมาเขียน ท่านมีความเมตตาและเข้าใจหัวใจชาวพุทธบนดอยมากๆ
ซึ่งผมจะขอเล่ารายละเอียดในตอนต่อไปครับ
Cr. พระปลัดบริบูรณ์ ธมฺมวิชฺโช สำนักสื่อธรรมะ
ตอนที่ 2 อานุภาพการสวด |
- คลิกอ่านที่ เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 2 อานุภาพการสวด)
- คลิกอ่านที เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 3 อานิสงส์แห่งการบูชาเจดีย์)
- คลิกอ่านที่ เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 4 ถอดรหัสกรรม แก้ไขวิกฤติโลก )
- คลิกอ่านที่ เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 5 ผ้าแห่งชัยชนะ)
- คลิกอ่านที่ เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 6 กฐินสามัคคีทั่วไทย สามัคคีธรรม สามัคคีบุญ
- คลิกอ่านที่เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 7 พระของชาวบ้าน)
- คลิกอ่านที่เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 8 ใครที่ทำให้เปลี่ยน..)
เผยแผ่การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสู่ชาวดอย (ตอนที่ 1)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:08
Rating:
กราบอนุโมทนาบุญกับผู้มีบุญ
ตอบลบทุกท่านด้วยครับ สาธุครับ
กราบอนุโมทนาบุญกับผู้มีบุญ
ตอบลบทุกท่านด้วยครับ สาธุครับ
กราบอนุโมทนาบุญกับพระอาจารย์และสามเณรทุกรูปด้วยความปลื้มสุดๆ เป็นบุญของชาวดอยจริงๆ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเมตตาไม่ทอดทิ้ง พระอาจารย์และสามเณรมีความเพียรอดทนรักบุญและเมตตาด้วย
ตอบลบ